SHARE

คัดลอกแล้ว

ธนาคารแห่งประเทศไทย ตอบกรณีการเมืองไทย ไม่สะเทือนเศรษฐกิจประเทศ เพราะนักลงทุนให้น้ำหนักการฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพมากกว่า

วันนี้ (30 ก.ย. 2565) ‘ชญาวดี ชัยอนันต์’ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีการเมืองไทย ว่า

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการเมือง แม้ในแง่ของความเชื่อมั่นนักลงทุนอาจถูกกระทบบ้าง เพราะนักลงทุนจะต้องพิจารณาถึงมุมมองต่างๆ แต่เชื่อว่านักลงทุนจะโฟกัสกับเศรษฐกิจมากกว่า ว่าจะสามารถเดินหน้าต่อจากนี้ได้อย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถทำได้

สำหรับแผนการใช้จ่ายของภาครัฐ เชื่อว่าจะไม่ถูกกระทบและจะไม่เกิดภาวะสุญญากาศไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม เพราะงบประมาณของภาครัฐได้ถูกพิจารณาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในวันเดียวกัน ธปท.เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ส.ค. 2565 พบว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัวประกอบกับมีปัจจัยกดดันชั่วคราวด้านอุปทาน

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

สำหรับตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ปรับดีขึ้น ขณะที่ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

[ รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้ ]

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดสินค้าไม่คงทน

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนทยอยปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าทุนของเอกชนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์

ขณะที่หมวดการก่อสร้างปรับดีขึ้นเล็กน้อย ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตได้รับชิ้นส่วนการผลิตต่อเนื่องจากเดือนก่อน

นอกจากนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผลิตบางหมวดปรับลดลง เช่น หมวดเคมีภัณฑ์ และหมวดยางและพลาสติก

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติ เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงถึง 1.2 ล้านคน หลังประเทศไทยยกเลิก Thailand Pass และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของแต่ละประเทศ

ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศแล้ว 4.4 ล้านคน และคาดว่าเทรนด์การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว จะเห็นต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากการลงทุนด้านพลังงานเป็นสำคัญ

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและโลหะไปจีน

ประกอบกับมีปัจจัยกดดันชั่วคราวด้านอุปทานในหมวดปิโตรเลียมจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังของโรงกลั่นน้ำมัน และในหมวดสินค้าเกษตรจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์และชิ้นส่วน

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากการนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ และสินค้าอุปโภคและบริโภคตามการนำเข้าสินค้าคงทน

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางรวมทั้งสินค้าทุนปรับลดลงจากที่ได้เร่งนำเข้าในเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 7.86% (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) จากอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดตามราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากทั้งหมวดอาหารและที่ไม่ใช่อาหาร ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ด้านตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ปรับดีขึ้นจากการส่งกลับกำไรของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ส.ค.ขาดดุลต่อเนื่อง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.3 แสนล้านบาท) แต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า (ก.ค. 2565) ที่ 4.2 พันล้านเหรียญ (ราว 1.6 แสนล้านบาท) ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ประเทศไทยขาดดุลรวม 1.83 หมื่นล้านเหรียญ (ราว 7 แสนล้านบาท)

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์ช่วงเดือน ส.ค.ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดน้อยลง ประกอบกับตลาดมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในไทย

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 26 ก.ย. 2565 อัตราแลกเปลี่ยนไทยอ่อนค่าลง หลักๆ เพราะเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศ และตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้

สำหรับแนวโน้มเดือน ก.ย. จากข้อมูลเร็วพบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปยังต้องติดตาม 1. การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า 2. อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว และ 3. การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2565 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น เชื่อว่าไตรมาส 3 และ 4 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่อง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า