SHARE

คัดลอกแล้ว

แบงก์ชาติตั้งใจจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจังและยั่งยืน โดยคาดหวังว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะลดลงต่ำกว่า 80% ภายในปี 2570

‘สุวรรณี เจษฎาศักดิ์’ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า แบงก์ชาติต้องการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยอยากเห็นหนี้ครัวเรือนในภาพรวมลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืน (ต่ำกว่า 80%) เพื่อให้ครัวเรือนมีความเป็นอยู่และสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น

[ 2 ใน 3 เป็นหนี้เพื่อการบริโภค ]

โดยหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบัน มูลค่ากว่า 14.9 ล้านล้านบาท พบว่าสัดส่วน 2 ใน 3 เป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ขณะที่ 1 ใน 3 เป็นหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งหนี้แบบหลังเป็นหนี้ที่มีประโยชน์และมีความจำเป็นมากกว่า

แต่หากดูสัดส่วนหนี้ของประเทศอื่น พบว่า ภาพรวมจะกลับด้านกับของไทย เพราะ 2 ใน 3 ของหนี้ต่างประเทศเป็นหนี้บ้าน มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค ทำให้ครัวเรือนมีเสถียรภาพมากกว่า

เมื่อดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปัจจุบัน แม้จะลดลงมาอยู่ที่ 86.8% จากช่วงโควิด-19 ที่เคยพุ่งแตะ 90.1% อย่างไรก็ตาม เป็นการลดลงจากจีดีพีที่ขยายตัวเป็นหลัก แต่สภาพหนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

โดยแบงก์ชาติคาดการณ์ว่า หากไม่แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ในปี 2570 หรือในอีก 4 ปีต่อจากนี้ หนี้ครัวเรือนไทยจะยังทรงตัวสูงที่ระดับ 84% ซึ่งสูงกว่าที่ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) กำหนดเอาไว้ที่ 80%

‘ถ้าสูงเกินกว่านี้ อาจจะฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะคนส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้ พอได้รายได้มา เงินเดือนออกมา ก็จะถูกหักออกไปใช้หนี้ แทนที่จะเอาไปใช้จ่ายเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัว’

นอกจากนี้ อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ หากมีลูกหนี้จำนวนมากชำระหนี้ไม่ได้พร้อมๆ กัน ก็อาจจะกระทบต่อฐานะของเจ้าหนี้ หนี้เสียอาจลุกลาม

[ 8 ข้อที่ทำให้ปัญหาหนี้เรื้อรัง ]

จากการสำรวจของแบงก์ชาติ พบว่า การเป็นหนี้ของคนไทยที่ทำให้เกิดปัญหาสะสม คือ

1. เป็นหนี้เร็ว คนวัยเริ่มทำงาน (อายุ 25-29 ปี) มากกว่า 58% เป็นหนี้ และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย (NPL)

2. เป็นหนี้เกินตัว เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน จนทำให้รายได้เกินกว่าครึ่งต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ ขณะที่ต่างประเทศอยู่ที่ 5-12 เท่า เท่านั้น

3. เป็นหนี้โดยไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนหรือถูกต้อง 4 ใน 5 ของปัญหาในขั้นตอนการเสนอขายสินเชื่อของสถาบันการเงิน คือ ลูกหนี้มักได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง

4. เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น กว่า 62% ของครัวเรือนไทยมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ และหากเกิดเหตุที่ทำให้รายได้ลดลง 20% จะมีครัวเรือนเกินครึ่งที่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้

5. เป็นหนี้นาน มากกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ ที่ต้องผ่อนชำระ โดยมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน รวมทั้งลูกหนี้มักผ่อนจ่ายขั้นต่ำ (เกือบ 40%)

6. เป็นหนี้เสีย ลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสีย เกือบครึ่งหรือ 4.5 ล้านบัญชี เพิ่งเป็นหนี้เสียในช่วงโควิด-19

7. เป็นหนี้ ไม่จบไม่สิ้น เกือบ 20% ของบัญชีหนี้เสียถูกยื่นฟ้อง โดย 1 ใน 3 ของลูกหนี้ในคดีที่จบด้วยการยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดแล้ว ก็ยังปิดหนี้ไม่ได้

8. เป็นหนี้นอกระบบ 42% ของกว่า 4,600 ครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างจากทั่วทุกภูมิภาค มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท

[ 4 กลุ่มเป้าหมายที่ต้องแก้หนี้ ]

สำหรับ 4 กลุ่มที่แบงก์ชาติเห็นว่าต้องรีบเข้าไปดูแลเพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน คือ

1. กลุ่มหนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกิดในช่วงโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล และหนี้ในภาคเกษตร แบ่งเป็นหนี้ที่อยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) 70% สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) 20% และธนาคารพาณิชย์ 10%

โดยแบงก์ชาติอยากเห็นลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือเหมาะสม มีผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีคุณภาพและเพียงพอ หากลูกหนี้ไปต่อไม่ไหว มีทางเลือกที่จะฟื้นฟู/ล้มเร็วลุกเร็วได้

เพื่อให้ลูกหนี้เดินต่อได้ ลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง ตั้งตัวกลางในการแก้ปัญหาหรือเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ หากลูกหนี้ไปต่อไม่ไหว ต้องมีแนวทางให้ลูกหนี้ฟื้นฟูและกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้เร็ว

2. กลุ่มหนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่ปิดจบไม่ได้ เช่น กู้หนี้ใหม่ไปจ่ายหนี้เก่า จ่ายขั้นต่ำหนี้บัตรกดเงินสด กู้สหกรณ์เพิ่มตามเงินเดือนที่เพิ่มจนเกษียณ หนี้เกษตรกรที่ชำระดอกเบี้ยเป็นหลัก ซึ่งแบงก์ชาติคาดหวังว่า ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ปกติแต่เรื้อรัง ควรได้เห็นทางปิดจบหนี้

เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น หลุดจากกับดักหนี้ได้ ลดโอกาสการเป็นหนี้เสีย

3. กลุ่มหนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต ได้แก่ หนี้ภาคเกษตร และหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล ความคาดหวังของแบงก์ชาติต่อกลุ่มนี้ คือ

หนี้ใหม่ต้องเป็นหนี้มีคุณภาพ ลูกหนี้ที่มีประวัติชำระคืนหนี้ดีกว่า จะได้เงื่อนไขสินเชื่อดีกว่า ประชาชนสามารถบริหารเงิน/บริหารหนี้ ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองที่สุด (Responsible Borrowing)

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ไม่กลับมาก่อหนี้เกินตัวจนติดกับดักหนี้อีก โดยเจ้าหนี้จะต้องปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติ

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางสนับสนุนลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้ที่มีประวัติชำระคืนหนี้ดีกว่า ได้เงื่อนไขสินเชื่อดีกว่า เป็นต้น โดยเปิดให้สถาบันการเงินนำโมเดลธุรกิจมาปรึกษากับแบงก์ชาติก่อนทำจริง

4. กลุ่มหนี้ที่ยังไม่รวมในตัวเลขหนี้ครัวเรือนแต่มีปัญหา/อาจเกิดปัญหาในอนาคต เช่น หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และสินเชื่อสหกรณ์อื่น (7 แสนล้านบาท หรือ 4.3% ของจีดีพี) รวมทั้งหนี้นอกระบบ

สิ่งที่แบงก์ชาติอยากเห็น คือ ระบบติดตามหนี้ครัวเรือนครอบคลุมข้อมูลลูกหนี้เพียงพอ ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบด้วยต้นทุนที่ตรงความเสี่ยงของตน

โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ที่สำคัญลูกหนี้ต้องได้รับสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะกับความเสี่ยง ซึ่งต้องมีฐานข้อมูลในระบบที่ครบถ้วน

[ เข้าใจการแก้หนี้แบบยั่งยืน ]

สำหรับหลักการในการแก้หนี้อย่างยั่งยืน คือ 1. ทำครบวงจร ทั้งก่อนเป็นหนี้ ขณะเป็นหนี้ และเมื่อหนี้มีปัญหา 2. ทำให้ถูกหลักการ

  • ตรงจุด: เหมาะกับสถานการณ์/ปัญหาของลูกหนี้
  • ไม่สร้างภาระเพิ่ม: ไม่พักชำระหนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • ไม่ลดโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ: ไม่ลบประวัติข้อมูลเครดิต
  • ตั้งใจจริง: เจ้าหนี้และลูกหนี้ร่วมใจกันแก้ปัญหา

3. ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน แม้ว่า 4 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือนในระบบจะเป็นหนี้ที่ ธปท.ดูแล แต่ยังมีหนี้อื่น เช่น หนี้สหกรณ์ หนี้ กยศ. หนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้นอกระบบ ที่ต้องการความร่วมมือจากภาครัฐ เจ้าหนี้ภาคเอกชน และลูกหนี้

สุดท้ายคือ ต้องแก้จน/สร้างรายได้ไปพร้อมกับการแก้หนี้ เช่น พัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มรายได้ ป้องกันไม่ให้กลุ่มรายได้ต่ำหรือไม่มีรายได้ต้องเป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยเหลือให้ถูกจุด เช่น ปรับปรุงสวัสดิการรัฐให้ตรงจุด

เมื่อถามถึงการหาเสียงของพรรคการเมืองด้วยข้อเสนอให้ลบข้อมูลเครดิตบูโร แบงก์ชาติมองว่า การลบข้อมูลเครดิตบูโรอาจส่งผลให้เพดานดอกเบี้ยปรับขึ้น เพราะเมื่อไม่มีข้อมูลมาประกอบการให้สินเชื่อ สถาบันการเงินก็ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามความเสี่ยง

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ Consultation Paper เรื่อง แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งเปิดรับฟังความเห็นในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ก่อนจะปิดรับฟังความเห็นและเริ่มบังคับใช้จริงในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

ผู้ช่วยผู้ว่าการระบุว่า ‘สำหรับความคาดหวังจะเห็นหนี้ครัวเรือนต่ำกว่า 80% ต้องเรียนว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เราใช้เวลาสะสมมาค่อนข้างนาน

การจะแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้อย่างยั่งยืน จริงๆ ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป อันไหนรีบต้องเร่งทำก่อน แต่อันไหนที่ต้องใช้เวลาในการสร้าง เพื่อบาลานซ์ระหว่างข้อดีที่ได้ และไม่ให้เกิดข้อเสีย คาดว่าจะใช้เวลาพอสมควรเหมือนกัน

ตอนนี้เราประมาณการถึงปี 2570 ว่าถ้าเราไม่ทำอะไร มันก็จะเกิน 80% ไปเรื่อยๆ แต่การจะอยู่ที่ 80% ถ้าเราถึงนอกระบบเข้ามาได้จริงๆ ตัวเลขนี้อาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่ใช่ก็ได้

เพราะตอนนี้ก็ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลายาวขึ้นเพื่อที่จะพาสัดส่วนนี้ลงไป 80% ซึ่งคิดว่าเป็นทางที่ถูกในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน’

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า