Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

“ถ้าเรามานั่งรอให้คนมาช่วย ก็คงจะไม่เกิดเป็นเมย์ ไม่เกิดวิวขึ้นมา ถ้ามัวแต่นั่งรอรัฐมาช่วยก็คงจะเป็นเรื่องยาก”

แม่ปุก-กมลา ทองกร ผู้ก่อตั้งโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด และ ประธานโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด เล่าให้ TODAY ฟังถึงเรื่องราวการฝึกฝนและส่งนักกีฬาไปแข่งโอลิมปิก อุปสรรคและความยากลำบากในการปั้นนักกีฬาไทยสู่การแข่งขันระดับโลก ที่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาระดับโลกขวัญใจชาวไทยมาแล้วหลายคนก็ตาม พร้อมยืนยันว่าทางโรงเรียนไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเลยแม้แต่บาทเดียว

โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดก่อตั้งมามากกว่า 20 ปี จุดเริ่มต้นมาจากความชอบส่วนตัวของแม่ปุกเองที่ชอบเล่นกีฬาแบดมินตันเพื่อออกกำลังกายอยู่แล้ว วันหนึ่งเห็นเด็กๆ ได้เรียนแบดมินตันก็เกิดความคิดที่ว่า ถ้าลูกของตนได้เรียนแบดมินตันเหมือนกัน ก็จะทำให้เขามีพื้นฐานที่ดีที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ หรือช่วยให้เหนื่อยน้อยลง

แต่เมื่อโค้ชบอกว่าลูกของเธอเก่งและมีแววที่จะเป็นนักกีฬามืออาชีพได้ เธอจึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไปๆ มาๆ ก็มาลงเอยด้วยการเปิดโรงเรียนสอนแบดมินตันด้วยเงินทุนของตัวเอง พร้อมจุดมุ่งหมายที่จะปั้นนักกีฬาสู่โอลิมปิก ที่แม้ว่าจะเป็นความคิดที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝันในตอนเริ่มแรก แต่เป็นเรื่องที่เธอคิดและวางแผนเอาไว้ตั้งแต่วันแรกที่เปิดโรงเรียน และเหล่าผู้ปกครองก็คงมีความเชื่อนั้นอยู่เหมือนกัน จึงส่งลูกหลานมาเรียนแบดมินตันกันจริงจัง จนหลายคนพัฒนาตัวเองจนเป็นนักกีฬาแบดมินตันมืออาชีพจากที่นี่

“ก่อนที่จะเปิดเป็นโรงเรียนจริงจัง เรามีนักกีฬาแบดมินตันอยู่ 70 กว่าคน สมัยก่อนหากมีนักกีฬาฝึกซ้อมเยอะขนาดนี้ คอร์ทแบดมันไม่พอให้เช่า และหายากมาก แม่เลยพยายามหาที่เพื่อสร้างคอร์ทเอง จนสร้างมาได้ 18 คอร์ท ซึ่งก็ถือว่าเยอะที่สุดเท่าที่จะสร้างได้ในตอนนั้นแล้ว จากที่ใช้คอร์ทซ้อมกันแต่ตอนเช้าและเย็น ตอนนี้นักกีฬาเราเยอะมากจนใช้คอร์ทกันทั้งวันตั้งแต่เจ็ดโมงเช้ายันสามทุ่ม ยิ่งเสาร์อาทิตย์นักกีฬาซ้อมหนักมากขึ้น ทำให้เราต้องเช่าคอร์ทแบดที่สนามแบดมินตันศิริกาญจนาเพิ่มอีก 25 คอร์ท เพราะ 1 คอร์ทตีได้แค่ 2 คน หรือถ้าตีแบดคู่ก็ได้แค่ 4 คน คอร์ทเลยมีเท่าไรก็ไม่พอ”

การฝึกสอนเหล่านักกีฬาย่อมมีต้นทุน และทุนโดยส่วนใหญ่ก็มาจากแม่ปุกเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปแม่ปุกก็เริ่มได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยการที่เธอยื่นเสนอโครงการไปที่บริษัทต่างๆ เพื่อขอเงินสนับสนุนให้เหล่านักกีฬาได้เรียนและฝึกซ้อมกันอย่างเต็มที่ สำหรับการปูทางสู่โอลิมปิกอย่างที่ฝันเอาไว้

เมย์-รัชนก อินทนนท์, วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์

จนในวันหนึ่งความฝันที่คิดว่าอาจจะเป็นเพียงแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ ก็กลายเป็นเรื่องจริง เมื่อ เมย์-รัชนก อินทนนท์ เป็นหนึ่งในผลิตผลแรกๆ จากโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด เป็นคนไทยคนแรกที่ครองตำแหน่งนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือหนึ่งของโลกในปี พ.ศ. 2559 สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งประเทศเป็นอย่างมาก พร้อมจุดกระแสกีฬาแบดมินตันให้เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย

“ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว น้องเมย์เป็นเด็กอายุแค่ 14 ปีที่ได้เป็นแชมป์เยาวชนของประเทศไทย ได้มีโอกาสไปแข่งเยาวชนโลกและได้แชมป์กลับมา ซึ่งเป็นนักแบดมินตันเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ได้แชมป์นี้ และต่อมาเธอก็สร้างสถิติเป็นคนไทยคนแรก และเป็นคนแรกของโลกที่ครองแชมป์เยาวชนชิงชนะเลิศแห่งโลกได้ 3 ปีซ้อนเช่นกัน”

เมื่ออยู่ในช่วงที่กำลังจะตัดสินใจว่าจะส่งเมย์ไปทำลายสถิติครองแชมป์เยาวชนโลกเป็นสมัยที่ 4 ที่ 5 เพื่อสร้างเป็นตำนานไม่ให้ใครมาทำลายได้ง่ายๆ ต่อ หรือจะยกระดับความท้าทายของเมย์ด้วยการส่งเมย์ไปแข่งโอลิมปิกอย่างที่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดเคยตั้งเป้าเอาไว้ สุดท้ายแม่ปุกกับโค้ชก็เห็นสมควรว่า ด้วยความสามารถของเมย์ในตอนนั้น แม้จะอายุได้เพียง 17 ปี แต่ก็พร้อมแล้วสำหรับการแข่งขันโอลิมปิก

แม้ว่าสุดท้ายแล้วเมย์จะไม่สามารถคว้าเหรียญโอลิมปิกมาให้แฟนๆ ชาวไทยได้ เพราะแม้ว่าทักษะการเล่นจะสูสีกับคู่ต่อสู้ แต่สิ่งที่เราขาดคือประสบการณ์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทุกคนในโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการส่งเมย์ไปแข่งโอลิมปิกในครั้งนี้ ทางโรงเรียนนำกลับมาปรับใช้เพื่อพัฒนานักกีฬาคนอื่นๆ ในโรงเรียน เพื่อไปสู่เป้าหมายในการแข่งโอลิมปิกในครั้งต่อไป

เมื่อถึงเวลาที่จะปั้น วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักกีฬาผู้ท้าชิงเหรียญโอลิมปิกคนต่อไป จึงมีการดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น ประคบคู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนก่อนแข่งโอลิมปิก แม่ปุกเล่าว่าได้ โค้ชเป้-ภัททพล เงินศรีสุข มาช่วยดูแลวิวอย่างใกล้ชิด นอกจากการฝึกซ้อมที่มีการวางตารางเวลาเอาไว้เป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องใส่ใจถึงเรื่องสุขภาพ จัดอาหารการกินโดยผู้เชี่ยวชาญ สุขภาพตามีปัญหาก็ส่งไปรักษากับจักษุแพทย์ คอยเตือนเรื่องการดูแลตัวเองเมื่อมีอาการภูมิแพ้ และอื่นๆ อีกมากมาย ราวกับว่าแม่ปุก โค้ชเป้ และทีมงานที่โรงเรียนเป็นสมาชิกในครอบครัวของนักกีฬาอย่างไรอย่างนั้น

“เรื่องการดูแลสุขภาพต่างๆ โค้ชเป้เขาอาจจะไม่ถนัดเพราะเขายังไม่เคยมีลูก (หัวเราะ) แต่เรามีลูกแล้ว เรารู้ว่าควรจะดูแลเมื่อลูกเจ็บป่วยยังไง ต้องพาไปหาหมอยังไง ตอนไปแข่งที่ต่างประเทศ เรายังต้องให้เขาพกน้ำเกลือไปล้างจมูกด้วยเลย”

ช่วง 6 เดือนก่อนไปแข่งโอลิมปิก วิวประสบปัญหาสุขภาพต่างๆ ไม่น้อย ทั้งเป็นไข้หวัดใหญ่ ทั้งเพิ่งรู้ตัวว่าสายตาสั้น และเมื่อต้องตีแบดจริงเลือกที่จะใส่คอนแทคเลนส์ จึงต้องฝึกใส่คอนแทคเลนส์ครั้งแรก ช่วงแรกๆ มีปัญหากับการใส่คอนแทคเลนส์มากจนถึงขนาดที่หมอช่วยสอนช่วยใส่ให้นานอยู่เป็นชั่วโมง เมื่อใส่คอนแทคเลนส์นานๆ ก็ทำให้ตาแดงอีก อาการของโรคภูมิแพ้ก็ยังมาอยู่เรื่อยๆ เรียกได้ว่ามีอุปสรรคทางกายภาพไม่น้อย ทำให้วิว โค้ช แม่ปุก และทีมงานโรงเรียนบ้านทองหยอดไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะรู้ว่าร่างกายไม่พร้อม 100% แต่ถึงกระนั้นทั้งนักกีฬาและทีมงานก็สู้ไม่ถอย และยังพยายามกันอย่างสุดความสามารถ

สุดท้าย การไม่คาดหวังก็ทำให้สมหวัง เมื่อวิว ได้เป็นนักแบดมินตันคนแรกของไทยที่คว้าเหรียญจากโอลิมปิกมาครองได้สำเร็จ เป็นเหรียญเงินที่คนไทยทั้งประเทศแสนจะภาคภูมิใจ รวมถึงโค้ช แม่ปุก และทีมงานจากโรงเรียนบ้านทองหยอดทุกคน

วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์

เบื้องหลังความสำเร็จของทั้งเมย์และวิวเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่ามาจากการเรียนรู้และฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นจากโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด จากการเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาแผนการสอนแผนการฝึกซ้อมไปด้วยกันกับนักกีฬามาตลอดระยะเวลาหลายปี

แม่ปุกเล่าว่า “เป้เองก็เริ่มเรียนแบดมินตันตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เราก็ได้ข้อมูลและประสบการณ์จากการสอนเป้มาใช้ต่อในการสอนเมย์ ทำให้เมย์ได้รับการสอนและวิธีการฝึกซ้อมต่างๆ อย่างถูกต้องมาตั้งแต่แรก โค้ชที่สอนเป้ก็มาสอนเมย์ เมย์ได้เรียนรู้เทคนิคในการพัฒนาทักษะต่างๆ ในระดับที่สูงกว่า ในช่วงวัยที่อายุน้อยกว่า คือเริ่มเรียนรู้เทคนิคขั้นสูงเร็วกว่าปกติ เมื่อลองทำแล้วเห็นผลสำเร็จ เราก็เอาเป็นโมเดลเพื่อไปฝึกหัดให้กับเด็กๆ รุ่นหลัง ได้เรียนวิธีการที่ดี ที่ถูกต้องตั้งแต่เล็กๆ วางแผนการซ้อมการแข่งขันให้ใกล้เคียงกับของน้องเมย์ มันก็เป็นบันไดต่อไปเรื่อยๆ”

วิวเองก็ได้เดินรอยตามเมย์มาเช่นกัน แม้จะเริ่มเข้ามาเรียนที่โรงเรียนบ้านทองหยอดในช่วงวัย 12 ปี อาจจะช้ากว่าเด็กในโรงเรียนคนอื่นๆ ที่ได้มีประสบการณ์การแข่งขันมากกว่า โดยเฉพาะในต่างประเทศ ที่แม่ปุกเล่าว่าแม้ว่าวิวจะเป็นเด็กเก่งที่แข่งกับเด็กๆ ในประเทศได้หลายต่อหลายคน แต่เมื่อได้ไปแข่งต่างประเทศที่สิงคโปร์ครั้งแรก วิวกลับแพ้ตั้งแต่รอบแรก และทำให้วิวถึงกับต้องเสียน้ำตา เพราะเป็นคนแรกของทีมที่แข่งเสียด้วย ดังนั้นการส่งนักกีฬาไทยไปแข่งขันที่ต่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะเป็นการเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆ แล้ว การจัดการกับอารมณ์ ความเครียด และเรียนรู้คู่แข่งจากทั่วโลกก็เป็นเรื่องสำคัญในการปั้นนักกีฬาไทยไปสู่เวทีโอลิมปิก

แต่การส่งนักกีฬาไทยไปแข่งต่างประเทศย่อมต้องใช้เงินทุนจำนวนไม่น้อย นั่นจึงเป็นที่มาของการขอการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน

“สมัยน้องเมย์ แม่ก็เป็นคนออกเงินสนับสนุนเอง ตอนนั้นมีนักกีฬาอยู่ 8-9 คน มันก็ยังได้อยู่ แต่พอมีรุ่นหลังๆ เข้ามาเพิ่ม ทุกคนเติบโตเรื่อยๆ ไม่หยุด แม่ก็จะเริ่มทำต่อไม่ได้หากไม่มีผู้มาสนับสนุน”

แม้ทักษะกีฬาอันโดดเด่นน่าประทับใจที่มาจากความอุตสาหะเพียรพยายามจนสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศจากรุ่นสู่รุ่นมาเนิ่นนานหลายปีจะเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวไทย และภาคเอกชนหลายแห่ง ทั้ง Yonex Thailand และสิงห์ ที่ให้การสนับสนุนนักกีฬาและโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดมาตลอดหลายปี แต่เมื่อถามถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ แม่ปุกตอบตรงๆ ว่า ‘ไม่มี’

“ถ้ามีหน่วยงานของรัฐโดยตรงเข้ามาให้การสนับสนุน จะทำให้นักกีฬาอีกหลายคน หรือทำให้เราได้เฟ้นหา และค้นพบนักกีฬาฝีมือดีได้มากกว่านี้ เพราะถึงแม้ว่าเราจะได้สปอนเซอร์จากเอกชนเข้ามา แต่มันก็ยังไม่พอ กว่าจะเทรนเป็นเวลานานจนได้ผลผลิตนักกีฬาจำนวนมากขนาดนี้ มันก็ไม่ได้ใช้เงินน้อยๆ”

Olympic Paris 2024 วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์

แม่ปุกเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า ที่ผ่านมาเมื่อนักกีฬาแข่งขันได้รางวัลกลับมา ภาครัฐจะมอบเงินเป็นรางวัลให้กับนักกีฬาโดยตรง แต่ทางโรงเรียนเองไม่เคยได้รับเงินจากภาครัฐแม้แต่บาทเดียว

“ตอนน้องเมย์ได้แชมป์ น้องเมย์ก็ได้เงินจากกองทุนกีฬา (กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ) ช่วงนั้นท่านบรรหาร (บรรหาร ศิลปอาชา) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา น่าจะ 1 ล้านไม่แน่ใจ แต่โรงเรียนบ้านทองหยอดไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว เพราะเขาบอกว่ามันเป็นกฎระเบียบของกระทรวงกีฬา และการกีฬาแห่งประเทศไทย จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน เงินสนับสนุนที่ได้จะเข้ามาในสมาคม (สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย) เมื่อไรที่นักกีฬาแข่งได้รางวัลมา กกท.ก็จะมอบเงินรางวัลให้ในวันกีฬาแห่งชาติ แล้วทางสมาคมก็จะรับเงินไป โดยไม่เกี่ยวกับทางบ้านทองหยอดเลย”

“จริงๆ ตอนที่ท่านบรรหารให้ ท่านบอกว่า ‘ผมต้องให้สมาคมตามระเบียบก่อนนะ แต่สมาคมจะให้บ้านทองหยอดยังไง ก็อยู่ที่สมาคม’ สมาคมก็ไปประชุมกัน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ เพราะที่ประชุมบอกว่าไม่ให้”

“ถ้ามันเป็นที่กฎ มันก็คงต้องแก้ที่กฎมั้งคะ แม่ปุกก็ไม่รู้ได้ เพราะเรามีหน้าที่ทำ เราก็ทำของเราไป ถ้าเรามานั่งรอให้คนมาช่วย ก็คงจะไม่เกิดเป็นเมย์ ไม่เกิดวิวขึ้นมา ถ้ามัวแต่นั่งรอรัฐมาช่วยก็คงจะเป็นเรื่องยาก เราก็เลยเข้าไปหาเอกชนที่เขาพอจะมีกำลังสนับสนุน เท่าที่เขาสะดวก”

“ประเทศไทยเนี่ย ต้องเห็นผลก่อนถึงจะเข้ามาช่วย แต่ถ้าไม่เห็นผลก่อน ก็จะไม่มีใครเข้ามาช่วย และส่วนใหญ่ถ้าจะให้รางวัลก็จะให้กับนักกีฬา แต่ไม่ค่อยมีใครมองที่ต้นทางว่าทำยังไงที่นักกีฬาจะมาถึงระดับนี้ได้ นักกีฬาต้องประสบความสำเร็จก่อน ถึงจะได้รับความช่วยเหลือกลับมา การให้รางวัลแบบนั้นมันก็ดี แต่ถ้าให้แต่แบบนั้น ก็จะทำให้เกิดนักกีฬารุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาได้น้อย การจะมีใครที่เริ่มต้นทำสิ่งนี้โดยไม่ได้หวังว่าจะมีใครมาช่วยมันมีน้อยมาก”

“เคยมีช่วงหนึ่งที่ได้ยินมาว่า กกท. หรือกระทรวงกีฬามีงบมา 4,000 ล้าน (บาท) แต่ไม่มีใครสามารถเอา (เงิน) ออกมาใช้ได้สักเท่าไร คือจริงๆ งบมันมี แต่ไม่รู้ว่าต้องเอาเงินตรงนั้นออกมาใช้ได้ยังไง อยากให้ผู้ที่มีอำนาจจัดการเข้ามาคุยหรือสอบถามถึงความต้องการความช่วยเหลือของแต่ละที่ อยากให้เข้ามาลงลึกๆ จริงๆ ไม่ใช่แค่ทำไปตามระบบ”

ถึงกระนั้น แม่ปุกก็ยังยิ้มสู้ พร้อมยืนยันว่าบ้านทองหยอดจะยังคงทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป ตามปณิธานที่วางเอาไว้ว่า อยากจะส่งนักกีฬาไทยไปเป็นแชมป์ ไปคว้าเหรียญจากโอลิมปิกให้ได้มากๆ ไม่ใช่แค่คนสองคน มีโอกาสได้ส่งนักกีฬาไทยไปลองสนามโอลิมปิกให้ได้มากที่สุด เพื่อไปช่วยกันปูทางให้กับนักกีฬาไทยรุ่นอื่นๆ อีกต่อไปเรื่อยๆ

“ถ้าเขามีโควต้าให้นักกีฬาไทยเท่าไร ก็อยากจะส่งไปเท่านั้น อยากให้ไปช่วยกันคว้าเหรียญกลับมา”

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า