“ค้างคาว” แหล่งรวมเชื้อไวรัสอันตราย แต่ทำไมพวกมันถึงไม่เป็นอะไร?
เชื่อกันว่าค้างคาวอาจเป็นต้นกำเนิดของการระบาดของโคโรนาไวรัสจากจีน แต่กลับกลายเป็นว่า พวกมันอาจมีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้สามารถใชัชีวิตร่วมกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหลายชนิดได้
บทความจากนิวยอร์กไทม์สวิเคราะห์ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่าทำไมค้างคาวถึงเป็นพาหะนำเชื้อหลายอย่างและทานทนต่อไวรัสได้เป็นอย่างดี
ดร.ปีเตอร์ ดาสแซ็ก ประธานกลุ่ม “อีโค่เฮลธ์ อัลลายแอนซ์” (EcoHealth Alliance) ซึ่งเคยศึกษาเกี่ยวกับโรคที่แพร่จากสัตว์ไปสู่มนุษย์ในจีนมากว่า 15 ปี กล่าวว่า แม้เราจะยังไม่ทราบต้นกำเนิดของเชื้อไวรัส แต่มีหลักฐานที่พอจะชี้ได้ว่า ค้างคาวคือต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนา และอาจเป็นไปได้ว่าคือ “ค้างคาวเกือกม้าเล็ก” ค้างคาวขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเพียงไม่กี่กรัม
หากการคาดการณ์นี้ถูกต้อง นี่จะเป็นอีกหนึ่งไวรัสโคโรนาที่มีค้างคาวเป็นพาหะ เช่นเดียวกับไวรัสโรคซาร์ส (SARS) และไวรัสโรคเมอร์ส (MERS)
ทั้งนี้ ค้างคาวหนึ่งตัวสามารถเป็นแหล่งอาศัยของไวรัสหลายชนิด โดยที่ตัวมันไม่เป็นโรคใดๆ ค้างคาวเป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของไวรัส “มาร์เบิร์ก” (Marburg) “นิปาห์” (Nipah) และ “เฮนดรา” (Hendra) ซึ่งก่อให้เกิดโรคระบาดในมนุษย์ ทั้งในทวีปแอฟริกา มาเลเซีย บังกลาเทศ และออสเตรเลีย และเชื่อกันว่าค้างคาวเป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของไวรัสอีโบลา และเชื่อว่าพวกมันคือพาหะของไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า แต่ในกรณีนี้ พวกมันจะได้รับผลกระทบด้วย
“ความทน” ต่อเชื้อไวรัสของค้างคาว ซึ่งอยู่เหนือสัตว์ชนิดอื่น คือหนึ่งในคุณลักษณะโดดเด่นของมัน ค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่บินได้ พวกมันสามารถกินแมลงที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ ได้ปริมาณมหาศาล ค้างคาวยังเป็นสัตว์ที่มีความจำเป็นต่อการผสมเกสรของผลไม้หลายชนิด เช่น กล้วย อะโวคาโด และมะม่วง ค้างคาวยังเป็นสัตว์ที่มีหลากหลายสายพันธุ์ และมีจำนวนราว 1 ใน 4 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด
แต่ความสามารถในการอยู่ร่วมกับไวรัสชนิดต่างๆ อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อมนุษย์ได้ หากเรารับประทานมัน หรือนำไปจำหน่ายเพื่อการบริโภคในตลาดและการบุกรุกแหล่งอาศัยของมัน
การเรียนรู้ถึงวิธีการที่พวกมันใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสจำนวนมาก ยังคงเป็นคำถามที่ยังคงหาคำตอบไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ และการศึกษาชิ้นใหม่ชี้ว่า คำตอบที่เป็นไปได้คือ การปรับตัวของวิวัฒนาการของค้างคาวในการบิน เปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันของพวกมันได้อย่างไร
ผลการวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร “เซลล์ โฮสต์ แอนด์ ไมโครบ” (Cell Host and Microbe) เมื่อปี 2018 นักวิทยาศาสตร์จากจีนและสิงคโปร์ได้รายงานถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการของค้างคาว กับระบบที่มีชื่อว่า “ดีเอ็นเอ เซนส์ซิ่ง” (DNA sensing)
โดยพบว่าพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ในการบินของค้างคาวมีปริมาณมหาศาล ทำให้เซลล์ในร่างกายแตกตัวและปล่อยดีเอ็นเอออกมาส่วนหนึ่งและลอยอยู่ในจุดจุดหนึ่ง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่รวมถึงค้างคาว มีวิธีในการพิสูจน์และตอบสนองต่อดีเอ็นเอดังกล่าว ซึ่งอาจช่วยบ่งบอกถึงการบุกรุกของสิ่งมีชีวิตที่ทำให้เกิดโรค แต่ในกรณีของค้างคาว พบว่าการวิวัฒนาการได้ทำให้ระบบนี้ด้อยประสิทธิภาพลง ซึ่งตามปกติแล้ว จะทำให้เกิดการติดเชื้อเมื่อต้องต่อสู้กับไวรัส
การต่อสู้กับไวรัสทำให้ค้างคาวสูญเสียยีนไปบางส่วน ซึ่งนั่นทำให้พวกมันสามารถรักษา “สถานะสมดุล” ของการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ตอบสนองมากเกินไปกับไวรัส”
แม้การจัดการและการควบคุมการระบาดของไวรัสที่มีชื่อว่า “nCoV-2019” จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในขณะนี้ แต่การสืบหาต้นกำเนิดและหามาตรการเพื่อต่อสู้กับการระบาด ส่วนหนึ่งอาจต้องพึ่งพาความรู้และการสังเกตพฤติกรรมของค้างคาว
ดร.ดาสแซ็ก กล่าวว่า การระบาดสามารถควบคุมและจำกัดวงได้ แต่หากเราไม่ทราบถึงต้นกำเนิดของไวรัสในระยะยาว ไวรัสก็สามารถระบาดต่อไปได้อีก
นักวิทยาศาสตร์ในจีนได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับค้างคาวอย่างระมัดระวัง โดยตระหนักดีว่า การแพร่ระบาดในลักษณะเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นได้อีก
ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาในค้างคาวเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มนักวิจัยชาวจีนเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “เป็นที่เชื่อกันว่า ไวรัสโคโรนาที่เกิดจากค้างคาว จะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งและก่อให้เกิดการระบาด โดยคาดว่าจีนจะเป็นจุดศูนย์กลาง
ทั้งนี้ สัตว์ประเภทหนู ลิง และนก ยังสามารถเป็นพาหะของโรคที่ติดต่อไปยังมนุษย์ได้ง่าย ขณะที่ค้างคาวแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ค้างคาวเข้าไปเกี่ยวข้องในการระบาดของโรคหลายครั้ง และมีแนวโน้มที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น ค้างคาวมีจำนวนมากและอาศัยอยู่ทั่วไปในทุกพื้นที่ของโลก ยกเว้นบริเวณขั้วโลก โดยมีความใกล้ชิดกับมนุษย์และพื้นที่การเกษตร
นอกจากนั้น พวกมันยังสามารถบินได้ในระยะทางไกลๆ ซึ่งช่วยในการเผยแพร่เชื้อไวรัส และมูลของมันสามารถแพร่เชื้อโรคได้อีกด้วย
ผู้คนในหลายประเทศทั่วโลกนิยมบริโภคค้างคาว และจำหน่ายเป็นอาหารในตลาด ซึ่งนั่นคือสาเหตุของโรคซาร์ส และอาจเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดครั้งล่าสุดที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเมืองอู่ฮั่นของจีน นอกจากนั้น ค้างคาวมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในถ้ำ ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการส่งต่อเชื้อไวรัส
ในรายงานในวารสาร “เนเจอร์” เมื่อปี 2017 ดร. ดาสแซ็ก, นายเควิน เจ. โอลิวัล และนักวิจัยคนอื่นๆ จากอีโค่เฮลธ์ อัลลายแอนซ์ รายงานว่า พวกเขาได้สร้างฐานข้อมูลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 754 สปีชีส์ และสิ่งมีชีวิตที่เป็นพาหะของไวรัส 586 สปีชีส์ และวิเคราะห์ว่าไวรัสชนิดใดอาศัยอยู่ในสัตว์ชนิดใด และส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่อาศัยด้วยอย่างไร
พวกเขาระบุว่า ค้างคาวเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในสัดส่วนที่สูงกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น
ค้างคาวยังเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนเมื่อเทียบกับขนาดของร่างกาย โดยค้างคาวสีน้ำตาลขนาดใหญ่ ซึ่งมักพบได้ทั่วไปในสหรัฐอเมริกา มีอายุยืนเกือบ 20 ปี และบางชนิดมีอายุเกือบ 40 ปี ขณะที่ค้างคาวขนาดเล็กชนิดหนึ่งในเขตไซบีเรีย มีอายุอย่างน้อย 41 ปีโดยเฉลี่ย
ในขณะที่เราต้องทำการศึกษาค้างคาว แม้จะเคยมีการศึกษาในด้านสรีรวิทยาและไวรัสชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่บนตัวมันมาแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ค้างคาวจะถูกตราหน้าว่าเป็นสาเหตุของโรคระบาด เพราะมนุษย์ต่างหากที่เป็นฝ่ายเข้าไปรุกรานชีวิตของพวกมัน
ดร.ดาสแซ็กย้ำว่า การหยุดยั้งการจำหน่ายสัตว์ป่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยุติการแพร่ระบาดของไวรัสในอนาคต แต่เนื่องจากการระบาดดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การเฝ้าสังเกตและการศึกษาสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว จึงมีความสำคัญ เขาเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับการก่อการร้าย เพราะทั้งสองสิ่งต่างก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน และการที่จะเอาชนะมันได้ เขาบอกว่า ต้องใช้ “สติปัญญา” เท่านั้น