SHARE

คัดลอกแล้ว

Explainer ดราม่านักกีฬาชาวเบลารุส ไปแข่งโอลิมปิกที่โตเกียว แต่ไม่ยอมกลับประเทศ กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในเวทีการเมืองโลก เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของนักกีฬาไม่อยากกลับบ้านเท่านั้น แต่มันมีความซับซ้อนมากกว่า workpointTODAY จะอธิบายภาพรวม ให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 21 ข้อ

1) เบลารุส เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกติดทะเล (Landlocked Country) ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป มีพรมแดนติดกับ รัสเซีย โปแลนด์ ยูเครน ลิทัวเนีย และ ลัตเวีย มีประชากร 10 ล้านคน โดยผู้นำประเทศมีชื่อว่า อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ เป็นประธานาธิบดีมายาวนาน 27 ปีติดต่อกัน จนได้รับฉายาว่า “เผด็จการคนสุดท้ายของทวีปยุโรป”

2) ตามกฎหมายเดิม ประธานาธิบดีของเบลารุส จะปกครองได้ไม่เกิน 2 สมัย แต่ลูกาเชนโก้ แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เขาปกครองได้ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีขีดจำกัด จนสุดท้ายได้เป็นประธานาธิบดีมา 6 สมัย นอกจากนั้น การเลือกตั้งแต่ละครั้ง ยังโดนสื่อต่างประเทศวิจารณ์ยับเยินว่าโกงกันกระจาย ตัวอย่างเช่น การเลือกประธานาธิบดีครั้งล่าสุด (9 สิงหาคม 2020) คู่แข่งคนสำคัญ ได้คะแนนเสียงแค่ 10.12% ขณะที่ลูกาเชนโก ที่ประชาชนด่าทุกวัน ได้คะแนนเสียงสูงถึง 80.10% ทำให้ประชาชนนับแสนเดินประท้วง โจมตีว่าการเลือกตั้งเต็มไปด้วยความทุจริต

3) ลูกาเชนโก้ ครองอำนาจตั้งแต่ปี 1994 โดยใช้กลวิธีปกครองประเทศด้วยความหวาดกลัวเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยในประเทศ และทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ใครกล้าลุกขึ้นมาต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นการคุมขังนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมถึงควบคุมสื่อมวลชน ห้ามเสนอในมุมลบของรัฐบาล

ครั้งหนึ่งมีนักข่าวชื่อ โรมัน โปรตาเซวิช ที่นำเสนอข่าววิจารณ์รัฐบาล เขากำลังนั่งเครื่องบินไรอัน แอร์ บินออกจากกรีซไปลิทัวเนีย แต่ระหว่างที่เครื่องบินกำลังลอยอยู่เหนือน่านฟ้าเบลารุส ประธานาธิบดีลูกาเชนโก้ สั่งเครื่องบินไอพ่นไปประกบติดเครื่องบิน และออกคำสั่งให้กัปตันลงจอดที่สนามบิน ในกรุงมินส์ก ของเบลารุส และเมื่อเครื่องบินลงจอด ตำรวจจึงจับกุมโปรตาเซวิชแล้วจับเข้าคุกในที่สุด

4) นอกจากนั้น ลูกาเชนโก้ ออกกฎหมาย หากดูหมิ่นประธานาธิบดี และวิจารณ์รัฐบาล มีโอกาสจำคุกสูงสุด 5 ปี โดยใน 180 ประเทศทั่วโลก เบลารุส มีเคยถูกจัดอันดับว่ามีเสรีภาพสื่อ อยู่อันดับ 153 ของโลก

5) เมื่อการเมืองในประเทศเป็นแบบนี้ ใครเห็นต่างโดนจับ ทำให้ประชาชนมีความหวั่นใจว่า สักวันถ้าตัวเองไปทำอะไรขัดใจคนของรัฐ ก็อาจจะโดนจับกุม หรือลงโทษโดยไม่มีเหตุผลก็เป็นได้

6) ตัดกลับไปที่กีฬาโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว เบลารุสส่งนักกีฬามาแข่งขันทั้งหมด 101 คน จุดที่น่าสนใจคือ ความสัมพันธ์ของนักกีฬากับ คณะกรรมการโอลิมปิกของเบลารุส จะมีความคล้ายเผด็จการ เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสั่งอะไร นักกีฬาก็ต้องทำตาม

7) ในอดีตประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของเบลารุส คือ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเขาวางมือ และให้ลูกชาย วิคเตอร์ ลูกาเชนโก้ เป็นประธานต่อ แต่ลักษณะการบริหารงานก็คล้ายๆกัน คือคำสั่ง เป็นคำสั่ง

8 ) หนึ่งในนักกีฬาของทีมเบลารุส มีนักวิ่งหญิงที่ชื่อ คริสติน่า ซิมานอสกาย่า วัย 24 ปี เธอได้โควต้ามาลงแข่งขันวิ่ง 100 เมตร และ 200 เมตร ซึ่งเธอวิ่ง 100 เมตร ตกรอบคัดเลือก อย่างไรก็ตาม เธอยังเหลือวิ่ง 200 เมตร ที่กำลังรอแข่งขันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

9) วันที่ 30 กรกฎาคม 2021 ทีมกรีฑาของเบลารุสมีปัญหา เนื่องจากในทีมนักวิ่ง 4×400 เมตรหญิง มีคนที่ตรวจโด๊ปไม่ผ่าน ทำให้ทีมวิ่งผลัดมีนักวิ่งไม่พอ คณะกรรมการโอลิมปิกของเบลารุส จึงออกคำสั่งให้ ซิมานอสกาย่า ไปอยู่ในทีมวิ่งผลัดด้วย เพื่อจะได้มีคนครบ 4 ไม้ สามารถลงแข่งขันได้ตามปกติ

แต่ปัญหาคือ ตัวซิมานอสกาย่าปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเธอซ้อมวิ่งเดี่ยวระยะสั้นมา และจู่ๆจะไปบังคับให้เธอไปวิ่งผลัด 4×400 เมตร ที่เธอไม่เคยวิ่งมาก่อนได้อย่างไร

10) ซิมานอสกาย่า ทำการโพสต์คลิปในอินสตาแกรม เพื่ออธิบายว่า โดนคณะกรรมการโอลิมปิกบังคับขู่เข็ญ ให้ทำในสิ่งที่เธอไม่เต็มใจ ซึ่งเมื่อเธอโพสต์ปั๊บ ภาครัฐก็โดนคนด่าทันที ว่านักกีฬาเขาซ้อมมาทั้งชีวิตกับกีฬาประเภทหนึ่ง คุณจะไปบังคับให้เขาแข่งโน้นแข่งนี่ ตามใจชอบไม่ได้หรอก เมื่อซิมานอสกาย่าไม่ยอม สุดท้ายทีม 4×400 เมตรหญิงของเบลารุส ก็เลยคนไม่ครบ ไม่สามารถลงแข่งขันได้ ต้องดิสควอลิฟายไป

11) เรื่องนี้ ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกของเบลารุส รู้สึกเสียหน้ามากที่โดนขัดคำสั่ง แถมยังโดนแฉในโลกออนไลน์อีก จึงพาเจ้าหน้าที่ไปประกบซิมานอสกาย่า สั่งให้เก็บกระเป๋าใน 1 ชั่วโมง แล้วตรงไปที่สนามบินฮาเนดะทันที เพื่อพาตัวบินกลับเบลารุสในวันนั้นเลย แม้ตัวเธอจะมีแข่งขันวิ่ง 200 เมตร รออยู่ก็ไม่สน เจ้าหน้าที่จะเอาตัวเธอกลับไปเดี๋ยวนี้

12) ซิมานอสกาย่า อยู่ที่สนามบินฮาเนดะ และหวาดกลัวว่าเมื่อกลับไปแล้วเธอจะโดนลงโทษ เพราะมันไม่มีทางคาดเดาได้เลยว่า ภาครัฐจะโมโหแค่ไหนที่เธอขัดคำสั่ง รัฐบาลที่ปกครองด้วยเผด็จการ อาจจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น บางทีเธออาจจะต้องติดคุกก็ได้

ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เยเลน่า ลูแชนก้า อดีตนักบาสเกตบอล WNBA ออกไปประท้วงรัฐบาลด้วยความสงบ โดนจับขังคุก เช่นเดียวกับ มาเรีย ชาคูโร่ กัปตันรักบี้ทีมชาติ ที่ทำให้รัฐบาลไม่พอใจก็โดนขังคุกเช่นกัน รัฐบาลเบลารุสไม่ลังเลที่จะส่งนักกีฬาเข้าคุก ต่อให้ดังแค่ไหนก็เถอะ

13) ด้วยความหวาดกลัว ทำให้เมื่อไปถึงสนามบินแล้ว ซิมานอสกาย่าไม่ยอมขึ้นเครื่อง แต่วิ่งไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจสนามบินชาวญี่ปุ่นขอให้ปกป้องเธอ ในระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ของเบลารุส พยายามจะเอาตัวเธอขึ้นเครื่องให้ได้ แต่เมื่อเธออยู่กับตำรวจญี่ปุ่นแล้ว ก็ได้รับการคุ้มครอง โดยซิมานอสกาย่ากล่าวว่า “ฉันกลัวว่าถ้ากลับไปต้องไปติดคุกที่เบลารุส”

ซึ่งระหว่างนั้นเอง เธออัดคลิปขอให้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ช่วยแทรกแซงเรื่องนี้ เพราะเธอกำลังโดนบังคับให้ส่งกลับประเทศ ทั้งๆ ที่เธอไม่เต็มใจ ซิมานอสกาย่ากล่าวว่า “ฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่พวกเขากำลังจะพรากสิทธิ์ในการแข่งวิ่ง 200 เมตรของฉัน ด้วยการส่งฉันกลับบ้าน”

14) ฝั่งญี่ปุ่น แม้จะไม่รู้เรื่องตื้นลึกหนาบาง แต่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ โทชิมิตสึ โมเตกิ ก็ส่งซิมานอสกาย่า ไปพักที่แอร์พอร์ท โฮเทล ชั่วคราว 1 คืนก่อน โดยมีตำรวจคุ้มกัน ไม่ให้เจ้าหน้าที่เบลารุสเข้าถึงตัวได้ คือขั้นแรกต้องทำให้นักกีฬาอยู่ใน Safe Situation หรือสถานการณ์ปลอดภัยก่อน จากนั้นค่อยว่ากันอีกที

ในระหว่างนั้น IOC ก็รับทราบเรื่องแล้ว และพยายามหาทางแก้ปัญหา เพราะฝั่ง IOC เองก็ยอมไม่ได้เหมือนกัน ที่นักกีฬาที่มาแข่งโอลิมปิกจะโดนอำนาจการเมืองเล่นงาน จนอาจติดคุกติดตาราง

15) คณะกรรมการโอลิมปิกเบลารุสอธิบายว่า ที่เอาตัวซิมานอสกาย่ากลับประเทศ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่า เธอมีปัญหาสภาพจิตใจ ก็เลยไม่ต้องการให้อยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาต่อ ส่งกลับประเทศจะดีกว่า แต่ตัวซิมานอสกาย่าก็แฉกลับว่า ไม่เคยมีแพทย์คนไหนมาตรวจเธอเสียหน่อย

16) วันรุ่งขึ้น 2 สิงหาคม 2021 กระบวนการทุกอย่างเดินหน้าอย่างรวดเร็วมาก รัฐบาลโปแลนด์ที่ได้รู้ข่าว ยื่นข้อเสนอให้เธอลี้ภัยการเมือง โดยมาอาศัยในประเทศโปแลนด์ได้เป็นการชั่วคราว โดยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ มาร์ซิน เพอร์ซีดัคซ์ กล่าวว่า “เธอสามารถไล่ตามความฝันในอาชีพนักกีฬาของเธอได้ต่อไป ถ้าเธอเลือกมาอยู่ที่โปแลนด์”

17) ซิมานอสกาย่า ตอบตกลงจะลี้ภัยไปโปแลนด์ แต่การเดินทางจากญี่ปุ่นไปโปแลนด์ ก็ไม่ได้ทำง่ายๆนัก กล่าวคือรัฐบาลโปแลนด์ต้องวางแผนการบินที่ซับซ้อน โดยเปลี่ยนจากสนามบินฮาเนดะ ไปบินที่สนามบินนาริตะแทน จากนั้นขึ้นเครื่องไปลงที่กรุงเวียนนาในออสเตรีย จากนั้นค่อยหาเที่ยวบินสั้น ต่อเข้ามาในกรุงวอซอว์ ในโปแลนด์อีกที การที่ต้องทำอะไรซับซ้อนแบบนี้ เพราะรัฐบาลโปแลนด์นั้นทราบดีว่า ครั้งหนึ่งเบลารุสเคยสั่งเครื่องบินที่ลอยอยู่บนฟ้า ให้วนกลับมาจอด เพื่อลากตัวนักข่าวเข้าคุกมาแล้ว ดังนั้นครั้งนี้ ทุกอย่างต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ฝั่งเบลารุสหาจังหวะชิงตัวซิมานอสกาย่าไปได้ และสุดท้าย 4 สิงหาคม 2021 ซิมานอสกาย่าก็ถึงโปแลนด์เป็นที่เรียบร้อย

18) สำหรับประเด็นนี้ ฝั่งฝ่ายค้านเบลารุสหยิบมาเอาโจมตีรัฐบาลลูกาเชนโก้ โดยสเวตลาน่า ซิกานอสกาย่า ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า “ไม่มีชาวเบลารุสคนไหน ที่ออกจากประเทศของเราไปแล้วจะรู้สึกปลอดภัยหรอก เพราะพวกเขาอาจถูกจับตัวกลับประเทศ แบบคริสติน่า ซิมานอสกาย่า หรือ โรมัน โปรตาเซวิช ได้ตลอด” กล่าวคือ ต่อให้คุณอยู่ประเทศไหน ถ้าทำอะไรขัดใจลูกาเชนโก้ ก็อาจโดนส่งคนมาเล่นงานได้เสมอ

19) ขณะที่ ประชาชนฝั่งกองเชียร์รัฐบาลเบลารุส ส่งข้อความไปขู่ซิมานอสกาย่า แม้เธอจะลี้ภัยไปแล้ว ว่าไม่รักชาติ เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ช่อง เบลารุส-1 ที่เป็นทีวีของฝ่ายรัฐ ก็ใช้คำโจมตีเธอว่า “สันหลังยาว”, “ไม่รักชาติ” และ “ไม่คู่ควรกับการรับใช้ประเทศเบลารุส” กล่าวคือ มองว่าเสียสละเพื่อชาติไปวิ่ง 4×400 เมตร มันจะเรื่องมากอะไรขนาดนั้น แถมยังหนีไปประเทศอื่น และสร้างความรู้สึกให้คนประเทศอื่นๆ มองรัฐบาลไม่ดีอีก

20) เรื่องราวการลี้ภัยของซิมานอสกาย่าก็จบตรงนี้ โดยเธอจะไปอยู่ในโปแลนด์ระยะหนึ่ง ด้วยวีซ่า Humanitarian Visa หรือวีซ่าเพื่อมนุษยธรรมที่ออกให้เป็นกรณีพิเศษ ก่อนจะวางแผนต่อไปว่าจะเอาอย่างไรต่อ โดยในเหตุการณ์นี้ รัฐบาลญี่ปุ่น IOC และ รัฐบาลโปแลนด์ ก็ได้รับคำชมอย่างมาก ว่าเทกแอ็กชั่นได้อย่างรวดเร็ว และคิดถึงมนุษยธรรมเป็นหลัก แม้จะต้องมีข้อโต้แย้งกับรัฐบาลเบลารุสก็ตาม

21) สุดท้ายในเรื่องนี้ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่าในประเทศที่เป็นเผด็จการแม้จะอยู่ในคราบประชาธิปไตย ก็สามารถสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนได้อย่างมหาศาล เพราะคุณไม่มีทางรู้เลย ว่าถ้าไปขัดใจคนมีอำนาจของรัฐเมื่อไหร่ แล้วชีวิตคุณจะไปลงเอยที่คุกหรือเปล่า ขนาดนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ มีฐานแฟนคลับมากมายก็ยังไม่เว้น แล้วกับคนธรรมดาที่ทำมาหากินทั่วไป ถ้าโดนภาครัฐจ้องเล่นงาน แทบไม่มีทางเลย ที่จะไปต้านอำนาจนั้นได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า