SHARE

คัดลอกแล้ว

การหารือระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เมื่อวันจันทร์ (14 พ.ย.) ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง แม้ทำเนียบขาวจะออกตัวก่อนหน้านี้ว่า ไม่คาดหวังถึงความคืบหน้าสำคัญ หรือข้อตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ 

การพบกันตัวต่อตัวของผู้นำจีนและสหรัฐฯ ครั้งนี้ เกิดขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกำลังตกต่ำลงถึงขีดสุด หลังการเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้จีนไม่พอใจมาก เพราะมองว่าเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยอย่างชัดเจน 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พบกันที่โรงแรมมูเลีย ซึ่งเป็นโรงแรมหรูบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย หลังจากที่ทั้งสองเดินทางมาร่วมการประชุม G20 การพบกันระหว่างไบเดนและสีในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกหลังจากที่ไบเดนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสีเพิ่งจะต่ออำนาจเป็นประธานาธิบดีจีนสมัยที่ 3 มาหมาดๆ โดยทั้งสองกล่าวทักทายกันเล็กน้อย ก่อนที่จะจับมือกันด้วยรอยยิ้มต่อหน้าธงชาติจีนและสหรัฐฯ ดังที่เป็นภาพปรากฏบนสื่อทั่วโลก 

โดยประธานาธิบดีสีกล่าวกับประธานาธิบดีไบเดนในขณะพบกันครั้งแรกว่า ยินดีที่ได้พบหน้ากันอีกครั้ง หลังจากที่เจอกันครั้งล่าสุดที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว แม้เราจะมีการสนทนาทางออนไลน์กันมาหลายครั้ง แต่ไม่มีอะไรมาทดแทนการพบกันได้  

“เราได้รับประสบการณ์ และได้เรียนรู้บทเรียน ประวัติศาสตร์เป็นตำราที่ดีที่สุด ดังนั้นเราจึงควรนำประวัติศาสตร์มาเป็นกระจกเงา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนตอนนี้กำลังมีประเด็นและเราเป็นห่วงมาก ในฐานะของผู้นำ 2 ประเทศสำคัญ เราควรต้องกำหนดทิศทางที่ถูกต้อง โลกคาดหวังว่าเราจะจัดการความสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสม และเราทำงานร่วมกับทุกประเทศเพื่อสันติภาพของโลก” ประธานาธิบดีสีกล่าว

ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนตอบกลับว่า สหรัฐฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน  และเห็นด้วยในเรื่องที่ว่าไม่มีอะไรมาทดแทนการพบหน้ากันได้ โดยสหรัฐฯ จะยังคงมุ่งมั่นรักษาช่องทางการสื่อสารกับจีน เพื่อที่ทั้งสองจะได้ทำงานร่วมกันในประเด็นเร่งด่วนของโลก รวมถึงในเรื่องปัญหาสภาพอากาศและความไม่มั่นคง ซึ่งโลกกำลังคาดหวังให้เราร่วมมือกันในฐานะหุ้นส่วน 

 

การพบกันครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นการหารือปิดที่มีแต่ผู้นำและคณะผู้ติดตามฝ่ายละ 9 คนเข้าร่วม และไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม หลังเสร็จสิ้นการหารือ ตามที่ทำเนียบขาวได้ออกมาระบุไว้ก่อนหน้านี้ แต่ทั้งสองประเทศต่างออกแถลงการณ์ชี้แจงประเด็นสำคัญจากการหารือ โดยสรุปได้ดังนี้ 

แถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศจีน

ในแถลงการณ์ 1,600 ของกระทรวงต่างประเทศจีน มีการสรุปประเด็นสำคัญจากการหารือระหว่างสองผู้นำ แบ่งออกเป็น 6 ประเด็น

– ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ: ในความพยายามที่จะจัดการกับข้อกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับความทะเยอทะยานของจีน ประธานาธิบดีสีได้กล่าวกับประธานาธิบดีไบเดนว่า “จีนไม่ได้พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบระหว่างประเทศที่มีอยู่ หรือแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐฯ และไม่มีเจตนาที่จะท้าทายหรือเข้าไปแทนที่สหรัฐฯ” พร้อมกับเน้นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ควรเป็นความสัมพันธ์แบบที่ต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะ เพราะโลกนี้กว้างใหญ่พอที่ทั้งสองประเทศจะอยู่ร่วมกัน และเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกันได้ 

– ไต้หวัน: ประธานาธิบดีสี เน้นกับประธานาธิบดีไบเดนว่า “ประเด็นเรื่องไต้หวันเป็นหัวใจสำคัญของผลประโยชน์หลักของจีน เป็นรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และเป็นเส้นสีแดงเส้นแรกที่สหรัฐฯ ไม่ควรล้ำเข้ามา” โดยประธานาธิบดีสีได้เรียกร้องไปยังสหรัฐฯ ให้แสดงคำพูดและการกระทำที่เป็นไปตามนโยบายจีนเดียวที่สหรัฐฯ เคยรับปากว่า จะยอมรับจุดยืนของรัฐบาลปักกิ่งว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และไม่ยอมรับอธิปไตยเหนือเกาะปกครองตนเองแห่งนี้ 

– ปกป้องระบอบการปกครองของจีน: ประธานาธิบดีสีได้โต้แย้งในสิ่งที่สหรัฐฯ ตีกรอบการแข่งขันระหว่างทั้งสองประเทศว่าเป็นเรื่องระหว่าง ‘ประชาธิปไตยและเผด็จการ’ โดยระบุว่าจีนมี ‘ประชาธิปไตยในแบบของจีน’ และเราทั้งสองไม่ควรที่จะพยายามสร้างรูปแบบการปกครองใดๆ ขึ้นมาใหม่โดยอิงตามสิ่งที่ตนเป็น หรือแม้แต่พยายามเปลี่ยนแปลง และล้มล้างระบอบการปกครองของอีกฝ่าย 

– การแยกตัวทางเศรษฐกิจ: ประธานาธิบดีสี ได้วิจารณ์สหรัฐฯ ว่ากำลังพยายามสร้างกำแพงและอุปสรรค ตลอดจนผลักดันให้เกิดการแยกตัวขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน โดยผู้นำจีนย้ำว่า “จีนไม่เห็นด้วยกับต่อต้านการสร้างสัมพันธ์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ การค้า ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

– เรื่องสงครามในยูเครน: ประธานาธิบดีสีระบุว่า จีนมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนปัจจุบันนี้ และยืนหยัดอยู่เคียงข้างสันติภาพมาโดยตลอด อีกทั้งยังพร้อมที่จะสนับสนุนการเจรจาสันติภาพต่อไป 

– การสื่อสารระหว่างกัน: จากแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศจีน มีการระบุว่า ผู้นำทั้งสองประเทศได้สั่งการให้คณะทำงานของแต่ละฝ่ายติดตามและดำเนินการตามความเข้าใจที่มีร่วมกันทันที พร้อมทั้งเห็นพ้องที่จะรักษาการสื่อสารระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ

แถลงการณ์ทำเนียบขาว

ขณะที่แถลงการณ์ของทำเนียบขาว ได้มีการสรุปประเด็นสำคัญของฝั่งสหรัฐฯ เอาไว้ดังนี้ 

– การแข่งขันระหว่างสองประเทศ: ประธานาธิบดีไบเดนได้อธิบายต่อผู้นำจีนไปว่า สหรัฐฯ จะยังคงทำการแข่งขันกับจีนต่อไป ซึ่งรวมถึงการลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในสหรัฐฯ และการดำเนินการร่วมกับพันธมิตรทั่วโลก แต่ไม่ใช่การแข่งขันที่จะเป็นไปในแนวทางสู่ความขัดแย้ง พร้อมกับย้ำว่าจีนและสหรัฐฯ ควรต้องดำเนินการแข่งขันกันอย่างมีความรับผิดชอบและรักษาช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง

– การทำงานร่วมกัน: ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวกับผู้นำจีนว่า สหรัฐฯ และจีนต้องทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับความท้าทายระหว่างประเทศ อย่างเช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงเรื่องการบรรเทาหนี้ ความมั่นคงด้านสุขภาพ และความมั่นคงในด้านอาหารของโลก เพราะนั่นคือสิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศคาดหวัง โดยทั้งสองผู้นำได้เห็นพ้องกันที่จะตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อรักษาการสื่อสาร และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างทั้งสองฝ่าย

– ประเด็นไต้หวัน: ประธานาธิบดีไบเดนได้ย้ำกับผู้นำจีนว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว และไม่ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนต่อไต้หวัน ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของจีนที่เป็นการบีบบังคับและก้าวร้าวมากขึ้นต่อไต้หวัน ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาค ทั้งยังเป็นภัยต่อความเจริญรุ่งเรืองของโลก นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดนยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของจีนในซินเจียง ทิเบต และฮ่องกง รวมถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในไต้หวันด้วย 

– ความท้าทายระดับโลก: ระหว่างการหารือ ทั้งสองผู้นำยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องความท้าทายที่สำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยประธานาธิบดีไบเดนได้พูดถึงประเด็นเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน ซึ่งผู้นำทั้งสองต่างก็เห็นพ้องกันว่าสงครามนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และจะไม่มีฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะจากสงครามนี้ 

– เกาหลีเหนือ: ประธานาธิบดีไบเดนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมยั่วยุของเกาหลีเหนือไปยังประธานาธิบดีสี โดยระบุว่า ประชาคมโลกต่างก็ต้องการให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตนอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมกับย้ำว่า สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะปกป้องพันธมิตรในอินโดแปซิฟิกจากภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ

– สหรัฐฯ ยังเตรียมการที่จะส่ง นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ เดินทางเยือนจีนเพื่อสานต่อการเจรจาทวิภาคี โดยการเดินทางดังกล่าวอาจมีขึ้นในช่วงต้นปี 2566

 

ที่มา: BBC, White House, Fox News

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า