SHARE

คัดลอกแล้ว

ตลอดทั้งปี 2564 มีหลากหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น… ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เหมือนจะคลี่คลาย แต่แล้วก็กลับกลายต้องเฝ้าระวังกันต่อ กลายเป็น “ปีที่คนเฝ้ารอความหวัง ที่ยังต้องร่วมต่อสู้กันต่อไป” 

ทีมข่าวในประเทศ workpointTODAY คัดข่าวและเรื่องราวที่ถูกพูดถึงภายในปีนี้รวบรวมเป็น “สรุป 10 ข่าวเด่น”

โดยทั้ง 10 ข่าวไม่ได้เรียงลำดับตามความสำคัญ โดดเด่นแต่อย่างใด และมีอีกหลายข่าวที่ไม่ได้นำเสนอในที่นี้

1. “ล็อกดาวน์ ปี 64 – ความสูญเสียจากโควิด”

21 มิถุนายนปีนี้ ศบค. ให้เริ่มคลายล็อก เปิดร้านอาหารให้นั่งรับประทานได้ แต่ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 “สายพันธุ์เดลตา” ก็ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดอีกครั้ง นายกฯ ประชุมกับคณะที่ปรึกษา ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สั่งปิดแคมป์คนงาน ประกาศ “10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม” กทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้านอาหาร เครื่องดื่ม รวมในห้าง ให้เปิดขายเฉพาะนำไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น (Take away) เริ่มตั้งแต่ 28 มิถุนายน และในที่สุด 12 กรกฎาคม ศบค. ต้องประกาศ “ล็อกดาวน์” เข้มข้นอีกครั้ง หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงรายวันจนทะลุหมื่น จำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มมากขึ้น

“โรงพยาบาลสนาม” ถูกเปิดขึ้นเกือบทุกจังหวัดเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วย โรงพยาบาล เจอกับสถานการณ์ “เตียงไม่พอ” บุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานหนักขึ้นและแข่งกับเวลา ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ต้องใช้แนวทางแยกรักษาตัวที่บ้าน หรือHome isolation ภาคสังคมลุกขึ้นมาช่วยกันดูแล แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นคือ “ติดโควิดเสียชีวิตคาบ้าน” และ “ศพข้างถนน” ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่สร้างความสะเทือนใจให้ประชาชนอย่างมาก

ท่ามกลางความสูญเสียที่ถาโถมเข้ามาในหัวใจของคนไทยช่วงนั้น ยังกระหน่ำซ้ำด้วยเรื่อง “วัคซีน” ความหวังเดียวที่จะใช้ป้องกันความรุนแรงของโควิด-19 ก็เกิดปัญหาติดขัดไม่มีตามแผน อย่างที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศไว้ในรัฐสภาวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ ว่า

“ไตรมาส 3 วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทยอยู่เต็มโรงพยาบาลแล้วครับ อยู่เต็มแขนของพี่น้องประชาชนคนไทยแล้ว”

บรรยากาศอึมครึมของสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงนั้นยังเกิดกระแสเรียกร้องเรื่องวัคซีน mRNA ทั้งไฟเซอร์, โมเดอร์นา ที่ภาครัฐควรต้องเร่งจัดหามาฉีดให้ฟรี นอกเหนือจากช่วยนำเข้ามาให้โรงพยาบาลเอกชน

2. “1 พ.ย. เปิดประเทศ – สายพันธุ์ใหม่โอไมครอน – งดรับนักท่องเที่ยวส่งท้ายปี”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ตัดสินใจ “เปิดประเทศใน 120 วัน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้เงื่อนไขจะต้องฉีดวัคซีน “เข็มแรก” ให้ประชาชนอย่างน้อย 50 ล้านคน หลังจากปิดประเทศเพราะสถานการณ์โควิด-19 มานานเกือบ 2 ปี

จากนั้น 11 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาแถลงไทม์ไลน์ “เปิดประเทศ” อย่างเป็นทางการ จะเริ่ม 1 พฤศจิกายน เฉพาะการเดินทางทางอากาศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจาก “46 ประเทศ/พื้นที่” เข้าไทยได้แบบไม่กักตัว และประกาศเพิ่มก่อนวันเปิดประเทศเป็น “63 ประเทศ/พื้นที่” ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น ฉีดวัคซีนครบโดส, มีผลตรวจ RT-PCR

แผนเปิดประเทศของไทยต้องหยุดชะงักลง เช่นเดียวกับหลายประเทศ เมื่อเกิดสายพันธุ์โควิด-19 ที่ชื่อว่า Omicron (โอไมครอน, โอมิครอน) ที่พบการแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา โดยการตรวจพบที่กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันคือ 6 ธันวาคม ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่เดินทางมาจากสเปน และ 20 ธันวาคม พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศรายแรก เป็นหญิงไทย ที่ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ แต่สามีซึ่งมีอาชีพนักบิน ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

21 ธันวาคม นายกฯ สั่งปิดรับนักท่องเที่ยวใหม่ 2 สัปดาห์ ถึง 4 มกราคม 2565 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน แต่ยังอนุญาตให้ผู้ที่ลงทะเบียนเข้าประเทศที่อนุมัติไว้แล้วยังสามารถเดินทางเข้ามาได้ โดยให้ทุกหน่วยงานเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และจะประเมินอีกครั้งหลังปีใหม่ บรรยากาศเตรียมการฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่หลายพื้นที่ต้องปรับเปลี่ยนอย่างกะทันหัน

3. “คดีสะเทือนวงการสีกากี ‘ผู้กำกับโจ้’ ใช้ถุงคลุมหัวผู้ต้องหา”

กลายเป็นคดีดังฉาววงการตำรวจ คลิปเหตุการณ์ว่อนอินเทอร์เน็ต เมื่อ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนพล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ หรือ ผู้กำกับโจ้ ในขณะนั้น อยู่ในคลิปพร้อมลูกน้อง ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัว ‘จิระพงศ์ ธนะพัฒน์’ อายุ 24 ปี ผู้ต้องหาคดียาเสพติด พร้อมเรียกเงิน 2 ล้านบาท เพื่อแลกกับการปล่อยตัว แต่ในที่สุด ‘จิระพงศ์’ เสียชีวิต

26 สิงหาคม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดแถลงข่าวใหญ่ที่กองปราบปราม หลังการเข้ามอบตัวของผู้กำกับโจ้ โดยมีการเปิดโฟนอินให้ผู้กำกับโจ้ตอบคำถามของสื่อมวลชน ซึ่งเจ้าตัว อ้างว่า ไม่ได้เรียกรับเงิน, ลูกน้องห้ามแล้ว, ไม่ได้ตั้งใจทำให้เสียชีวิต ยอมรับว่าทรมานจริง แต่พลั้งมือ

อย่างไรก็ตาม คดีนี้อัยการสูงสุดได้แถลงข่าวเมื่อ 15 พฤศจิกายน มีความเห็นสั่งฟ้อง ผู้กำกับโจ้ และลูกน้อง รวม 7 คน ร่วมกันฆ่าและข้อหาหนักอื่นๆ รวม 4 ข้อหา คดีเข้าสู่กระบวนการศาล อีกทั้งกระแสสังคมยังจี้ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้กำกับหนุ่ม ที่มีทั้งบ้านและรถหรูมูลค่า 230 ล้านบาท

4. “ไฟไหม้โรงงานย่านกิ่งแก้ว”

เหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้งในปีนี้ แต่หนึ่งเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงคือ ไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกของบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ประเทศไทย ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อ 5 กรกฎาคม ต่อเนื่องถึง 6 กรกฎาคม ที่มีสารเคมีไวไฟเก็บไว้จำนวนมาก ระหว่างเกิดเหตุมีการระเบิดขึ้นมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 43 คน ต้องอพยพประชาชน สัตว์เลี้ยง หนีพิษจากสารเคมี บ้านเรือนใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุได้รับความเสียหาย

ไฟไหม้ใหญ่ครั้งนี้ยังมีเสียงสะท้อนอีกหลายเรื่อง เช่น การเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ที่พลังจากโซเชียลดูเหมือนรวดเร็วกว่า แล้วยังมีเรื่องอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ป้องกันของนักดับเพลิงโดยเฉพาะเหตุไฟไหม้ที่มีสารเคมี รวมถึงความสูญเสีย ‘พอส นายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์’ อาสาสมัครดับเพลิง วัย 19 ปี และการเยียวยาที่มีเจ้าของบ้านรายหนึ่ง ได้รับเงินเยียวยาจากคณะกรรมการเพียง 40 บาท  ปภ.สมุทรปราการ เข้าตรวจสอบ พบว่า เพราะเจ้าของบ้านมีการซ่อมแซมไปก่อน ไม่ได้ยื่นหลักฐานหรือรูปถ่ายนำไปพิจารณาให้ความช่วยเหลือได้

5. “ธรรมนัส รอด – แต่มาถูกปลดจากเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะแผนล้มฯ”

หนึ่งบุคคลในแวดวงการเมืองที่เส้นทางการพลิกผันและถูกจับตามองมากที่สุด หนีไม่พ้น ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อ 5 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ต้องพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรี จากกรณี 51 ส.ส. ยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรให้วินิจฉัยสถานะทางการเมือง เนื่องจากเขาเคยต้องโทษจำคุกคดียาเสพติด ตามคำพิพากษาของศาลออสเตรเลีย

แต่แล้ว 9 กันยายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ให้ ร.อ.ธรรมนัส ออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ลงวันที่ 8 กันยายน โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

โดยก่อนหน้านั้นไม่กี่นานที ร.อ.ธรรมนัส ได้เปิดแถลงข่าวด่วน แจ้งการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งมีตั้งแต่เมื่อวานนี้ ที่รัฐสภา

ท่ามกลางกระแสข่าว “เก้าอี้” ครั้งนี้ เพราะแผนโค่นตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ที่เกิดขึ้นในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับความไว้วางใจจาก ส.ส. ในสภาน้อยที่สุด ในบรรดารัฐมนตรีที่ถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส กลับมาเป็น ส.ส.พะเยา ร้อยร้าวครั้งนี้ถือเป็นร้อยร้าวใหญ่ที่เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้ง “พี่น้อง” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

6. “พายุเตี้ยนหมู่ถล่มต่างจังหวัด-มาถึงน้ำท่วมที่กรุงเทพฯ”

ช่วงปลายเดือนกันยายน อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู ทำให้หลายจังหวัด เช่น สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กําแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมสูงฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก อย่างน้อย 31 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต ประชาชนเดือดร้อนแบบไม่ทันตั้งตัว ปริมาณน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในระดับที่สูงจนต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนโดยเร็ว ส่งผลกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีเหตุการณ์ที่ทำให้แตกตื่นเกิดขึ้นด้วย เมื่อมีภาพมุมสูงของมวลน้ำไหลผ่านอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง ใน จ.นครราชสีมา ทำนบคันดินพัง จนเกิดกระแสว่า อ่างเก็บน้ำแตก กรมชลประทานต้องรีบออกมาชี้แจงและยืนยันว่า อ่างลำเชียงไกรตอนล่างไม่ได้แตก และยังสามารถควบคุมสถานการณ์น้ำท่วมได้ 

โดย 26 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี นำคณะลงพื้นที่ จ.สุโขทัย  กล่าวกับประชาชนผู้ประสบภัยว่า “วันนี้พายุมาลูกหนึ่ง ปีก่อน ปี 63 เข้ามา 5 ลูก นี่ลูกเดียวนะ… สวดมนต์ อย่ามาอีกเลย” เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทันทีในทำนองว่า พายุเข้า น้ำท่วม นายกฯ แนะให้สวดมนต์

ขณะนี้น้ำท่วมในหลายจังหวัดทยอยคลี่คลาย แต่จู่ๆ 8 พฤศจิกายน ก็เกิดน้ำทะเลหนุนในพื้นที่กรุงเทพฯ หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัย บ้านเรือน ถนนหลายสายใช้สัญจรได้ยากลำบาก อิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง กินพื้นที่ตั้งแต่ จ.สมุทรปราการ เข้ามาถึงพื้นที่ชั้นในกรุงเทพ ย่านพระราม 3 บางรัก และ นนทบุรี

มีเสียงสะท้อนเรื่อง “ระบบเตือนภัย” จน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ต้องออกมาขอโทษประชาชน

7. “ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินคดีล้มล้างการปกครอง”

10 พฤศจิกายน คดีใหญ่จากการชุมนุมทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ ‘อานนท์ นำภา-ไมค์ ภานุพงศ์-รุ้ง ปนัสยา’ แกนนำราษฎร จัดชุมนุมปฏิรูปสถาบันฯ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ขัดรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ข้อสรุปว่า ความต้องการปฏิรูป กับการล้มล้าง “มีความหมายเดียวกัน” โดยศาลระบุว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าการพูด เขียน หรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรืออ่อนแอลง ย่อมมีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์”

“เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การปกครองของไทย อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ … พระมหากษัตริย์จึงเป็นที่เคารพศรัทธา ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดหลายร้อยปี”

นอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบุว่า การประชุมของกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งที่งานในธรรมศาสตร์ และในช่วงหลังจากนั้น มีการลบสีน้ำเงินออกจากธงชาติ และมีเจตนาซ่อนเร้นอย่างจะล้มล้างสถาบัน ไม่ใช่การปฏิรูป เป็นการแสดงความเห็นโดยไม่สุจริต

ดังนั้นข้อสรุปคือการกระทำที่ผ่านมาทั้งหมดของ อานนท์ นำภา, ไมค์ ระยอง และ รุ้ง-ปนัสยา ในการปราศรัยที่ธรรมศาสตร์ คือเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองของประเทศนี้ และจากนี้ต่อไป ห้ามมีการวิจารณ์ และพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อีก

ย้อนคำปราศรัย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปี 2563 ในเวทีการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่รุ้ง-ปนัสยาอ่าน เช่น ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อสถาบันกษัตริย์, ลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ และ ห้ามลงพระปรมาธิไธยรับรองรัฐประหาร เป็นต้น

8. “ปรากฏการณ์ 2 พส. – ประกาศสึก” 

พระมหาไพรวัลย์ พระลูกวัดสร้อยทองได้รับความนิยมจากชาวเน็ต เพราะลีลาการเทศน์ผ่านไลฟ์เฟซบุ๊กทันสมัยเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และได้ พระมหาสมปอง มาร่วมไลฟ์คู่ สนทนาธรรมแมตช์หยุดโลก “ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง” กลายเป็นปรากฏการณ์ไวรัลทั่วโลกโซเชียล ยอดคนดูพร้อมกันสูงสุดกว่า 2 แสนคน เมื่อ 3 กันยายน และได้เกิดศัพท์ใหม่ที่ใช่เรียกพระทั้ง 2 รูปนี้ว่า “พส.” แต่ทว่า 9 กันยายน 2 พส. ต้องไปที่รัฐสภา เพื่อชี้แจงต่อ กมธ.ศาสนา มีการขอให้ปรับความตลกขบขันลง เพิ่มเนื้อหาสาระธรรมะเข้าไปแทน

29 ตุลาคม พระมหาไพรวัลย์ ได้แจ้งผ่านไลฟ์ว่าเตรียมสึก เพราะทวงความเป็นธรรมให้พระราชปัญญาสุธี รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง ที่มีกระแสข่าวว่าจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสร้อยทอง โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการตนเอง ในที่สุด 3 ธันวาคม พระมหาไพรวัลย์สึก ออกมาเป็นคนธรรมดา รับงานรีวิวสินค้าที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก

ขณะที่ พระมหาสมปอง ก็สึกเช่นเดียว แต่ช่วงแรกมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดสึก จน 17 ธันวาคม พระมหาสมปอง เข้ากราบลา พระพยอม เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ประกาศสึกในวันที่ 29 ธันวาคม มาทำธุรกิจครบวงจรแบรนด์ ‘แม่ปอง’ และสนใจเป็นทำงาน “โฆษก” ให้กับพรรคการเมือง ซึ่งแนวโน้มสูงว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย แต่ในการแถลงข่าวครั้งแรกหลังสึก ‘ทิดสมปอง’ บอกว่า ไม่เล่นการเมืองแล้ว เพราะลูกเพจ (ผู้ติดตาม) ไม่แฮปปี้ แต่ถ้าวันใดลูกเพจสนับสนุนก็พร้อมตั้งพรรคการเมืองเอง

9. “กระแสพิมรี่พาย” 

แม่ค้าออนไลน์ ‘พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์’ หรือที่รู้จักคุ้นชินในชื่อ ‘พิมรี่พาย’ มีกระแสแรงต่อเนื่องตลอดทั้งปี เริ่มตั้งแต่ ยูทูบเบอร์ขึ้นดอยไปมอบของขวัญวันเด็ก เป็นทีวีจอยักษ์กับแผงโซล่าเซลล์ ขุดบ่อน้ำบาดาลช่วยชาวบ้านที่เจอภัยแล้ง ด้วยงบ 190,000 บาท จนทำให้สังคม ตั้งคำถามว่า เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่ดำเนินการ รวมถึงการไปติดไฟส่องสว่างในชุมชนคลองเตย พิมรี่พายกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยพิมรี่พายยังคงขายของทุกอย่าง

และในช่วงปลายปี พิมรี่พาย ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กประกาศทำ ‘กล่องสุ่ม’ ราคา 100,000 บาท มีลูกค้าสั่งซื้อประมาณ 100 คน ภายใน 10 นาที จนเป็นกระแสฮือฮาสลับกับดราม่า มาถึงกรณี ‘หมอปลอม’ ในคลินิกเสริมความงามของตัวเองจนต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดี หลังเจอดราม่ารุมเร้ามีลูกค้าไม่พอใจกับ ‘กล่องสุ่ม’ ที่ขาย ในที่สุด 26 ธันวาคม พิมรี่พายได้ประกาศหยุดไลฟ์ เร่งแก้ปัญหาสินค้าตกค้าง

10. “สนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ขยับ”

แม้จะยังไม่แน่ชัดว่า ชาวกรุงเทพฯ จะได้เลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” เมื่อไหร่ แต่การขยับเปิดตัวของ “ว่าที่ผู้สมัคร” ก็ทำให้มีบรรยากาศคึกคักมากขึ้น แคนดิเดตตัวเต็ง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ที่ประกาศตัวพร้อมลงชิงเก้าอี้พ่อเมืองกทม. ย้ำการลงสมัครในนามอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยมีฐานเสียงหนักแน่นในกทม. เปิดตัว ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ อดีตอธิการบดีไฟแรงจากลาดกระบัง

พรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่ได้ประกาศชัดว่าจะส่งใครหรือไม่ หลัง ผู้ว่าฯ หมูป่า ‘ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร’ ถอยจากศึกครั้งนี้ ส่วนพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า จะส่งผู้สมัครเพื่อเป็นตัวแทนอุดมการณ์มาสู้อย่างแน่นอน รอเปิดตัว 23 มกราคมหลังปีใหม่

คงต้องลุ้นไปพร้อมๆ กันว่า ปีหน้าจะมีเลือกตั้งเกิดขึ้นตามไทม์ไลน์ที่หลายคนตั้งความหวังในปีใหม่นี้…กันหรือไม่

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า