SHARE

คัดลอกแล้ว

ช่วงล็อกดาวน์เข้มข้น ไม่มีอุตสาหกรรมไหน จะรุ่งเรืองเท่าเทคโนโลยีอีกแล้ว ผลประกอบการหลายๆ บริษัทโดยเฉพาะกลุ่ม Big Tech ขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ เพราะคนต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และฮาร์ดแวร์ในการใช้ชีวิต

นักลงทุนตอนนั้นหน้าชื่นตาบาน มีการวิเคราะห์กันด้วยว่า เทคโนโลยีนี่แหละ จะเป็นธุรกิจแห่งอนาคต เป็นแหล่งการลงทุนที่ปลอดภัย และจะไม่มีวันตาย ใครที่มีทักษะเขียนโค้ด ก็จะเป็นที่ต้องการมาก ได้ค่าตัวแรงงานสายอื่น

เราจึงเห็นการหาคน ดูดคนในกลุ่มเทค เพราะธุรกิจกำลังโต องค์กรกำลังทำ digital transformation เป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้า (อีกอย่างคือมีเรื่องการลาออกครั้งใหญ่เข้ามาแทรกด้วย ทำให้ต้องเร่งหาคนมาทำงาน)

แต่หลังล็อกดาวน์ อนาคตกลับไม่สดใสอย่างที่คิด หุ้นตก กำไรลด บริษัทเทคทยอยลดคน ชะลอจ้างงาน ที่เกิดขึ้นแล้วในไทยคือ Shopee ฝั่ง Shopee Pay, Shopee Food โดนปลดแทบยกทีม ไม่เว้นแม้แต่โปรแกรมเมอร์ 

ในบทความนี้จะค่อยๆ ฉายภาพให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในกลุ่มเทค เสื่อมมนต์ขลังแล้วจริงหรือ และเราจะเจอกับอะไรในอนาคต 

[ ใหญ่แค่ไหนก็หนีไม่พ้นพิษเงินเฟ้อ-สงคราม ] 

มีประโยคหนึ่งที่พูดกันในกลุ่มเทคว่า พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปแล้ว และจะไม่หันกลับไปเหมือนเดิม ก็คือการเอาเทคโนโลยีไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้หลังล็อกดาวน์ ธุรกิจเทคโนโลยีจะยังไปต่อได้

แต่หลังล็อกดาวน์กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่าง สงคราม, จีนล็อกดาวน์กระทบซัพพลายเชน, เงินเฟ้อ เป็นวิกฤตเศรษฐกิจรอบทิศ กระแทกเข้ามาพร้อมกันแบบ Perfect Storm

หุ้นเทคโนโลยีเริ่มร่วงลงทันที ตั้งแต่กลุ่ม Hard Tech อย่างผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ไปยังโซเชียลมีเดีย สตรีมมิ่ง

กลุ่มเทคบิ๊กเนม ที่เราไม่คิดว่าจะเลย์ออฟก็เริ่มเลย์ออฟ อย่าง Tesla ลดพนักงาน 14% และ Netflix ปลดพนักงานกว่า 400 คน Meta, Microsoft, Spotify, Salesforce, Intel ก็เริ่มชะลอจ้างงาน ซัมซุงเริ่มเปลี่ยนแผนการผลิตเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน 

รายใหญ่ยังกระทบ สตาร์ทอัพก็สั่นคลอนด้วย VC ใหญ่ๆ ชะลอการลงทุนในสตาร์ทอัพ และเตือนสตาร์ทอัพให้พร้อมรับมือกับช่วง Recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ดังนั้น บรรยากาศการระดมทุน การ pitch งานที่เราคุ้นเคยกันก่อนโควิด ก็จะซาลงไป เพราะทุกอย่างหยุดชะงัก

ปรากฏการณ์นี้ ทำให้นึกถึงช่วง dot-com bubble หรือฟองสบู่อินเทอร์เน็ตช่วงปี 2000  ที่มีการเก็งกำไรในกลุ่มบริษัท ที่ทำอะไรก็ได้ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง จนฟองสบู่แตก 

ก็เกิดการวิเคราะห์กันว่า ครั้งนี้จะซ้ำรอย dot-com bubble หรือไม่ 

[ คนทำงานสายไอที อนาคตยังสดใสอยู่ไหม ]

ทีนี้ ก็เข้าสู่คำถามสำคัญว่า คนทำงานไอที โปรแกรมเมอร์ ยังมีอนาคตสดใสท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้หรือไม่ แล้วเรายังต้องรีสกิล อัพสกิลให้ตอบรับตลาดอยู่รึเปล่า

มีบทความน่าสนใจจาก Business Insider เป็นสกู๊ปรวบรวมดาต้า และพูดคุยกับคนจัดหางานสายไอที พบว่า ไม่ต้องกังวล เทคโนโลยียังเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ยังคงจ้างงานอย่างต่อเนื่อง

Chris Bakke ซีอีโอของ Laskie แพลตฟอร์มหางาน บอกว่า  เทคโนโลยียังเป็นธุรกิจที่ healthy ยังคงมีการแข่งขันสูงเพื่อหาคนมาทำงาน ตัวเลขคนว่างงานในกลุ่มคนไอที ก็ยังถือว่าต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ 

Megan Slabinski ผู้มีประสบการณ์ดูแลจ้างงานไอทีที่ Robert Half บอกว่า ยังไม่เห็นวี่แวว ที่บริษัทที่เธอดูแลจะเลิกจ้างลดคน 

แน่นอนว่าที่ผ่านมา Slabinski  ก็พอได้ยินข่าวเลย์ออฟของบริษัทอื่นๆ บ้าง แต่ส่วนที่เธอดูแลอยู่ยังไม่มีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ตอนนี้ยังมีตำแหน่งว่างอยู่มากมาย และมีคนจับจองไม่กี่คน

แต่คนที่ทำงานสายเทค ไม่ได้มีแค่โปรแกรมเมอร์ ยังมีอาชีพอื่นๆ อย่าง Product Manager บัญชี ฝ่ายซัพพอร์ต มาร์เกตติ้ง ที่อยู่ในบริษัทเทค แต่ไม่ได้มีทักษะไอทีตรงๆ กลุ่มนี้ก็จะเสี่ยงโดนเลย์ออฟมากกว่า

สรุปก็คือ ไม่ได้ปฏิเสธว่า ไม่มีการเลย์ออฟกันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่มันไม่ได้มีโมเมนตัมที่เยอะอย่างที่ข่าวสารพยายามทำให้เราเชื่อ ที่จะรู้สึกได้คือ การจ้างงาน มันไม่ได้บ้าคลั่งเหมือนตอนที่เคยเกิดขึ้นช่วงโควิดเท่านั้นเอง

และต่อให้ถูกเลย์ออฟ ตราบใดที่คุณยังมีสกิลเทคโนโลยีติดตัว หรือมีประสบการณ์ในองค์กรเทคโนโลยี การหางานใหม่ก็ง่ายกว่าสายงานอื่นๆ และมีหลายบริษัทที่พร้อมรับคนไอที ยกตัวอย่าง Citigroup เพิ่งประกาศ จะจ้างคนไอที 4,000 คนเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัย.

ข้อมูล JobsDB ก็ยืนยันสิ่งนี้ ว่าสายงานไอทียังเป็นที่ต้องการ มีการรับสมัครงานมากที่สุดบนแพลตฟอร์มในปีที่แล้ว 

ใครที่กำลังเรียนและทำงานในสายนี้ ก็คงจะคลายความกังวลไปได้บ้าง แต่ต้องบอกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย กระทบเราทุกคน และมีความเป็นไปได้เหมือนกัน ที่การต่อรองเงินเดือน อาจไม่สูงอย่างที่คาดหวัง เพราะบริษัทก็ต้องรัดเข็มขัดกันยาวๆ จนกว่าสถานการณ์โลกจะดีขึ้น

ที่มา : CNBC,  CNBC Business Insider , TIME, 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า