SHARE

คัดลอกแล้ว

ความสำเร็จในการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ (Pfizer) และไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ที่มีประสิทธิภาพกระตุ้นให้ร่างกายอาสาสมัครสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 90% ทำให้มนุษยชาติเริ่มมีความหวังว่า ความยากลำบากในการใช้ชีวิตภายใต้โรคโควิด-19 ใกล้ถึงจุดจบแล้ว

แต่ใครจะเชื่อว่า เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ มีจุดเริ่มต้นจากสามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่เกิดจากครอบครัวผู้อพยพ ซึ่งทั้งคู่ได้สั่งสมประสบการณ์ผ่านงานวิจัยหลายสิบปี จนทำให้วัคซีนโควิด-19 นี้เกิดขึ้นได้

วันนี้ workpointTODAY จะพาไปอ่านเรื่องราวของทั้งคู่ รวมทั้งเส้นทางการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ก่อนจะมาถึงวันนี้

💉

ความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 ครั้งนี้ต้องยกเครดิตให้อูกูร์ ซาฮิน (Ugur Sahin) ซีอีโอและอุซเล็ม ตุเรชี (Oezlem Tuereci) หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ของบริษัทไบโอเอ็นเทค

นอกจากเป็นเพื่อนร่วมงาน ทั้งคู่ยังเป็นสามีภรรยาที่มีความเหมือนกันหลายเรื่อง อย่างแรกคือพื้นฐานครอบครัวที่ทั้งสองคนมาจากครอบครัวผู้อพยพชาวตุรกีเหมือนกัน โดยซาฮินเป็นลูกชายของผู้อพยพชาวตุรกีคนหนึ่งที่เข้ามาเป็นแรงงานในโรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ดในเยอรมนี ส่วนตุเรชีเป็นลูกสาวของแพทย์ชาวตุรกีที่ย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากในเยอรมนี

ส่วนความเหมือนอย่างที่สองที่เป็นต้นเหตุให้ทั้งคู่พบรักกัน คือความหลงใหลในการทำงานวิจัย โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งวิทยา (Oncology) ซึ่งความหลงใหลนี้ถูกพิสูจน์ในวันแต่งงาน ที่ทั้งคู่ยังสละเวลาทำงานในห้องแล็บ ทั้งๆ ที่เป็นวันแต่งงานของตัวเอง

การศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งวิทยาของทั้งคู่เน้นไปที่การพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเซลล์มะเร็งในร่างกายมนุษย์ และจุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้นักวิจัย 2 คนสวมหมวกนักธุรกิจ จัดตั้งบริษัท Ganymed Pharmaceuticals เมื่อปี 2544 เพื่อระดมทุนสนับสนุนการวิจัยให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในอีก 15 ปีต่อมา บริษัท Ganymed ถูกบริษัทแอสเทลลัส (Astellas) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นซื้อไปด้วยมูลค่ากว่า 42,600 ล้านบาท

ซาฮินและตุเรชีตั้งบริษัทไบโอเอ็นเทคขึ้นมาอีกแห่งเมื่อปี 2551 โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายการวิจัยเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันมะเร็งให้กว้างขวางขึ้น หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า mRNA ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ทำการวิจัยเชิงลึกมาไม่ต่ำกว่า 25 ปี

โดย mRNA คือสารระดับโมเลกุลที่จะทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ส่งสาร ถ้าหากเราใส่สารพันธุกรรมของเชื้อโรคไปใน mRNA แล้วฉีดเข้าร่างกายมนุษย์ในลักษณะของวัคซีน ร่างกายมนุษย์ที่ได้วัคซีนนั้นจะตอบสนองด้วยการสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา

วัคซีน mRNA ถือเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก แทบจะไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่มีข้อดีคือถ้าพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ขึ้นมาได้ ประสิทธิภาพของวัคซีนจะดีกว่าวัคซีนในปัจจุบันที่พัฒนาโดยนำไวรัสชนิดนั้นๆ มาทำให้มีฤทธิ์อ่อนลง แล้วฉีดเข้าไปเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา

💉💉

ซาฮินเริ่มเห็นแนวโน้มความรุนแรงของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนมกราคม ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดในประเทศจีน ในฐานะซีอีโอของไบโอเอ็นเทค เขาตัดสินใจเรียกทีมประชุมด่วน และขอระงับการพัฒนาวัคซีนที่กำลังเดินหน้าอยู่ชั่วคราว เพื่อนำเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบ mRNA มาทดลองพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ

ซาฮินและและตุเรชีตั้งโปรเจคชื่อ “Light Speed” และตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญ 500 คน เพื่อเริ่มการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จนกระทั่งเดือนมีนาคม ไบโอเอ็นเทคตัดสินใจร่วมมือกับบริษัทยายักษ์ใหญ่อย่างไฟเซอร์ ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นทางการ

โดยในข้อตกลง ไบโอเอ็นเทคจะต้องถ่ายทอดงานวิจัยเกี่ยวกับ mRNA ให้กับไฟเซอร์ แลกกับการที่ไฟเซอร์ต้องให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ รวมทั้งต้องยอมให้วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาได้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของไบโอเอ็นเทคแต่เพียงผู้เดียว เว้นแต่จะมีการพัฒนาใหม่ๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่อาจต้องเจรจากันอีกครั้งว่า ใครจะได้สิทธิ์ในส่วนนั้นไป

แม้จะฟังดูแล้วเป็นข้อตกลงที่ไฟเซอร์เสียเปรียบ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยี mRNA เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากถึงขั้นที่ไฟเซอร์ยอมให้ทุกอย่างเพื่อแลกกับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้

ส่วนทางไบโอเอ็นเทคที่ยืนยันว่าจะต้องเป็นเจ้าของวัคซีนนี้ เนื่องจากเชื่อว่าวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาได้จะช่วยบริษัทต่อยอดไปยังการพัฒนาวัคซีนอื่นๆ รวมทั้งการรักษามะเร็งด้วยการใช้ mRNA ที่ไบโอเอ็นเทคกำลังอยู่ในการทดลองขั้นสุดท้ายเช่นกัน

💉💉💉

รายงานระบุว่า การทำงานระหว่างไฟเซอร์กับไบโอเอ็นเทคในช่วงแรก ติดปัญหาการเดินทางเป็นหลัก เนื่องจากในตอนนั้นสหรัฐฯ สั่งระงับการเดินทางจากสหภาพยุโรป ทำให้เครื่องบินส่วนตัวของผู้บริหารไฟเซอร์ กลายเป็นยานพาหนะหลักในการขนส่งข้อมูล อุปกรณ์และงานวิจัยสำคัญข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก

ซาฮินยอมรับว่า การที่บริษัทเล็กๆ อย่างไบโอเอ็นเทคที่มีพนักงานราว 1,500 คน ไปทำงานเป็นพันธมิตรกับบริษัทยาเก่าแก่อายุ 170 ปีที่มีพนักงานเกือบ 100,000 คนอย่างไฟเซอร์ ทำให้เขากังวลอย่างมากในช่วงแรก แต่ก็ต้องแปลกใจเพราะเมื่อทำงานด้วยกันจริงๆ ทั้งสองบริษัทแทบจะไม่มีความขัดแย้งต่อกันเลย เพราะทุกคนต่างลดอีโก้ของตัวเองลง และพูดคุยด้วยเหตุผลเป็นหลัก

ในที่สุดผลการทดลองกับอาสาสมัครในระยะที่สามพบว่า วัคซีนที่ไฟเซอร์พัฒนาร่วมกับไบโอเอ็นเทคให้ผลต่อต้านไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 90% ซึ่งถือว่าได้ผลดีจนประธานบริษัทไฟเซอร์ระบุว่า นี่ถือเป็นวันที่ดีที่สุดของแวดวงวิทยาศาสตร์และมนุษยชาติ

ผลการทดลองเบื้องต้นสอดคล้องกับความเห็นของ ดร.แอนโทนี ฟาวชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อและภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญประจำรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า วัคซีนจะต้องมีประสิทธิภาพให้ได้อย่างน้อย 70-75% ขึ้นไปจึงจะเหมาะสมในการนำมาใช้งาน ซึ่งที่ผ่านมาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือวัคซีนโรคหัดที่ทดสอบแล้วเห็นผลถึง 97-98%

💉💉💉💉

ก้าวต่อไปของวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค คือการรวบรวมข้อมูลด้านความปลอดภัยเพื่อส่งเรื่องไปขออนุมัติให้ใช้วัคซีนได้ในกรณีฉุกเฉินต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการยื่นเรื่องภายในเดือนนี้

โดยหลังได้รับการอนุมัติ ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคคาดว่า น่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 50 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ และจะผลิตได้ 1,300 ล้านโดสในปีหน้า ซึ่งในตอนนี้มีหลายประเทศที่ทำข้อตกลงซื้อวัคซีนของไฟเซอร์กับไบโอเอ็นเทคแล้ว เช่น
🇪🇺 สหภาพยุโรป จอง 200 ล้านโดส
🇯🇵 ญี่ปุ่น จอง 120 ล้านโดส
🇺🇸 สหรัฐฯ จอง 100 ล้านโดส
🇬🇧 สหราชอาณาจักร จอง 30 ล้านโดส

ส่วนข้อจำกัดของวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค มีอยู่หลักๆ แล้ว 2 เรื่อง เรื่องแรกคือผู้ที่จะได้รับวัคซีน จะต้องได้รับวัคซีน 2 โดส โดยจะต้องทิ้งระยะการให้วัคซีนโดสแรกกับโดสที่สองประมาณ 3 สัปดาห์ ขณะที่วัคซีนนี้จะต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคในการขนส่งในที่ห่างไกล

💉💉💉💉💉

ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน ทำให้ราคาหุ้นของไฟเซอร์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 15% ทันทีที่เปิดตลาดที่สหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (9 พ.ย.) ขณะที่ราคาหุ้นของไบโอเอ็นเทคปรับเพิ่มขึ้น 25% โดยมูลค่าของบริษัทไบโอเอ็นเทคของซาฮินและตุเรชีในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) อยู่ที่เกือบ 760,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของเมื่อปีที่แล้วถึง 5.4 เท่าตัว

ปัจจุบันซาฮินถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ชาวเยอรมันที่รวยที่สุด อย่างไรก็ตาม คนที่ทำงานใกล้ชิดหรือรู้จักซาฮินจะบอกตรงกันว่า เขาไม่ใช่นักธุรกิจที่ดูร่ำรวยไปตามราคาหุ้นของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้น กลับกันซาฮินยังเป็นผู้ชายที่สวมกางเกงยีนส์ สะพายเป้ ขี่จักรยานมาทำงานตามปกติ แถมยังเป็นคนที่เพื่อนร่วมงานบอกตรงกันว่า เป็นผู้ชายที่มีเสน่ห์แต่ถ่อมตัวเมื่อได้ทำงานด้วย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า