SHARE

คัดลอกแล้ว

ภาพจาก pixabay.com

“ไบโพลาร์” หรือ “โรคอารมณ์ 2 ขั้ว” เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์ ถ้าได้รับการรักษาเนิ่นๆ ผู้ป่วยก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ทำการรักษา ปล่อยให้อาการป่วยเรื้อรัง สุดท้ายแล้วชีวิตก็อาจต้องพบกับบทสรุปที่สุดเศร้า

ซึ่งจากการที่ผู้เขียน เคยเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ป่วย ผู้ดูแล และจิตแพทย์ จึงขอนำประสบการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว มาถ่ายทอดเป็นข้อมูลเพื่อให้ผู้อ่านนำไปสำรวจบุคคลใกล้ชิด บุคคลในครอบครัว ว่ามีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไบโพลาร์หรือไม่ หากพบว่าเข้าข่าย จะได้ปฏิบัติกับผู้ป่วยหรือผู้อาจป่วย ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

สาเหตุของโรคไบโพลาร์

ในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ชัดเจนของโรคนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ กรรมพันธุ์ เพราะพบว่า หากพ่อแม่รวมถึงปู่ย่าตายายมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้ ลูกหลานก็มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคไบโพลาร์

ปัจจัยต่อมาก็คือ ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ได้เเก่ นอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) สารที่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และการตอบสนองต่อความเครียด ความกลัว ความตื่นเต้น รวมถึงระบบความจำ การรับรู้ การรู้สึกตัว , เซโรโทนิน (Serotonin) สารควบคุมการรับรู้ความรู้สึก ควบคุมการทำงานของสมองสั่งการ เช่น การนอนหลับ ความอยากอาหาร ฯลฯ เเละ โดปามีน (Dopamine) สารที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ตอบสนองต่อสิ่งเร้า ด้วยการหลั่งสาร ทำให้ตื่นตัว กระฉับกระเฉง

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า “ยาเสพติด” เป็นสาเหตุของโรคนี้หรือไม่ ? ก็ขอตอบว่า ยาเสพติด ไม่ใช่สาเหตุของโรคไบโพลาร์ แต่เป็นตัวกระตุ้น ทำให้อาการป่วยรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่มีใครรู้หรอกว่า ตัวเองมีกรรมพันธุ์ของโรคนี้อยู่หรือเปล่า และสารสื่อประสาทในสมองสมดุลกันหรือไม่ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือ การหลีกเลี่ยงยาเสพติดทุกชนิด แม้จะไม่ใช่สาเหตุ แต่ก็เป็นตัวกระตุ้นที่น่ากลัวมาก

ภาพจาก pixabay.com

อาการของโรคไบโพลาร์

อาการของโรคไบโพล่าร์ แบ่งออกได้ 2 ช่วง คือ ระยะแมเนีย (Mania) กับ ระยะซึมเศร้า (Deppression)

ระยะแมเนีย (mania) อาการในช่วงนี้ก็อาทิเช่น อารมณ์รุนเเรง , อารมณ์ดีเกินเหตุ , หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ฯลฯ เเละยังแบ่งย่อยได้อีก 2 ช่วงคือ ไฮโปแมเนีย (Hypomania) หรือ แมเนียอ่อนๆ กับ แมเนียเต็มรูปแบบ

ในช่วงไฮโปแมเนีย อาการยังไม่รุนแรง แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตัวเองมีพลังล้นเหลือ สามารถทำงานได้อย่างหามรุ่งหามค่ำ ความคิดความอ่านรวดเร็วฉับไว จึงมักพบว่า ผู้ป่วยหลายรายที่อยู่ในระยะนี้ จะกลายเป็นคนทำงานเก่ง และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน (ในเวลานั้น) อย่างรวดเร็ว

แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่รีบรักษา พออาการหนักขึ้นจนเข้าสู่ช่วง มาเนียเต็มรูปแบบ ก็จะมีอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว ท้ารบท้าชนกับคนอื่นไปทั่ว ไม่ยอมหลับยอมนอน (บางรายไม่หลับไม่นอนสามสี่วันติดต่อกัน) ความคิดต่างๆ เกิดขึ้นเร็วเเละมากมาย ทำให้พูดมาก พูดเร็ว เพราะความคิดพรั่งพรู แต่ไม่ต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียว อยากทำนู่นทำนี่ แต่ทำไม่เสร็จหรือสำเร็จ เพราะความสนใจในเเต่ละเรื่อง จะอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

อีกทั้งยังชอบความท้าทาย ความเสี่ยง ความตื่นเต้นโลดโผน ขาดความยับยั้งชั่งใจ บางรายใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย บ้างก็ติดการพนันงอมแงม จนหมดเนื้อหมดตัว ในบางเคสมีความต้องการทางเพศสูง ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา ถ้าปล่อยไว้จนอาการหนัก ก็อาจถึงขั้นหลงคิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ

ระยะซึมเศร้า (Depression) หลายคนมักเข้าใจผิดว่า ผู้ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ จะมีอารณ์เดี๋ยวสนุกเดี๋ยวเศร้า สลับขั้วไปมาอย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลำดับอาการของโรคนั้น ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะมาเนียอ่อนๆ ระยะหนึ่ง ก่อนเข้าสู่ช่วงมาเนียเต็มรูปแบบ ซึ่งก็จะอยู่ในระยะนี้ไปอีกนานเป็นเวลาหลายปี หากไม่ได้รับการรักษา ก็จะเข้าสู่ช่วงซึมเศร้า ที่หากอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

โดยผู้ป่วยที่อยู่ในระยะซึมเศร้า จะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีกระจิตกระใจทำอะไร อยากนอนอย่างดียว (เเม้จะหลับยาก) เบื่ออาหาร ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รู้สึกอ่อนล้า ห่อเหี่ยว ชอบอยู่คนเดียว มองโลกในแง่ร้าย มีความคิดซ้ำๆ เกี่ยวกับเรื่องความตาย จนอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ในที่สุด

ภาพจาก pixabay.com

การดูแล และรักษาผู้ป่วยโรคไบโพลาร์

หากสงสัยว่า คนใกล้ตัว หรือคนในครอบครัว ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนก็คือนำไปพบจิตแพทย์ เพื่อวินิจฉัย และทำการรักษา

โดยการรักษาทางการแพทย์ หลักๆ ก็คือ จะใช้ยาเพื่อปรับระดับสารสื่อประสาทในสมองให้สมดุลกัน ถ้าผู้ป่วยเป็นเฉพาะโรคไบโพลาร์ ไม่มีโรคจิตเภทอื่นๆ แทรกซ้อน หากทานยาอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้ ส่วนจะเร็วหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการ

แต่ก็มีหลายกรณี ที่แม้ว่าผู้ป่วยจะเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว แต่ไม่ทานยาอย่างต่อเนื่อง อาการของโรคก็ไม่ดีขึ้น และหลายรายเมื่อทานยาเข้าไประยะหนึ่ง จนอาการดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ก็เข้าใจว่าตัวเองหายแล้ว จึงไม่ยอมทานยาต่อ สุดท้ายอาการของโรคไบโพลาร์ก็กลับมาอีก

หลายคนอาจสงสัยว่า โรคไบโพล่าร์ สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่ ? คำตอบก็คือ หายได้ แต่เป็นการหายอย่างมีเงื่อนไข นั่นก็คือ ถึงแม้อาการจะดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว เเต่ก็ยังต้องทานยาต่อไป

พอบอกว่าต้องทานยาไปเรื่อยๆ หลายคนอาจนึกแย้งว่า อย่างนี้ก็แปลว่า เป็นโรคที่รักษาไม่หายซิ ? แต่ทางการแพทย์ มีหลายโรคที่ถึงแม้จะได้รับการวินิจฉัยว่าหายแล้ว แต่ผู้เข้ารับการรักษา ก็ยังต้องทานยาต่อไป โดยโรคไบโพลาร์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

และตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ปัจจัยในการเป็นโรคไบโพลาร์ ก็คือ กรรมพันธุ์ , สารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุล ดังนั้นถึงแม้ผู้เข้าทำการรักษาจะได้รับการวินิจฉัยว่าหายแล้ว แต่ปัจจัยในการเกิดโรคก็ยังมีอยู่ และไม่อาจรู้ได้ว่า จะกลับมาเป็นโรคนี้อีกเมื่อใด จึงมีความจำเป็นที่ต้องทานยาอย่างต่อเนื่องต่อไป

นอกจากการทานยา การรักษาตามกระบวนการของจิตแพทย์แล้ว อีกปัจจัยหนี่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ ผู้ดูแล โดยช่วงที่ทำการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่ของการให้ผู้ป่วยทานยาอย่างสม่ำเสมอ โดยการให้ความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจจนมีอาการดีขึ้น และสามารถหายจากโรคนี้ได้ในที่สุด

อ้างอิงจากหนังสือ “คนสองโลก” (ปีที่พิมพ์ 2558) เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร : ผู้เขียน , ศราวุธ เอี่ยมเซี่ยม : ผู้เรียบเรียง , สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า