หลังจากมีกระแสข่าว เดอะมอลล์ กรุ๊ป x บิทคับ ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า ทั้ง 2 บริษัทจะตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ ‘บิทคับ เอ็ม’
บิทคับ เอ็ม คืออะไร และ จะทำอะไรบ้าง?
– บิทคับ เอ็ม (Bitkub M) จะเป็นบริษัทใหม่ของบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮดดิ้ง จำกัด และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ในสัดส่วน 50:50 เพื่อร่วมลงทุนและบริหาร BITKUB M SOCIAL
-BITKUB M SOCIAL คือดิจิทัลคอมมูนิตี้ (Digital Community) โดยจะมีหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยน ความรู้ (Knowledge) ทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) การปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) สนับสนุนในการสร้างองค์ความรู้สำหรับ สตาร์ทอัพ (Startup) และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Entrepreneur Economy) และเป็นแหล่งพบปะของนักลงทุนที่สนใจในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets Investment) ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
-BITKUB M SOCIAL จะให้บริการที่ชั้น 8-9 โซนฮีลิกซ์ ดิ เอ็มควอเทียร์

BITKUB M SOCIAL ครอบคลุมพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร บริเวณชั้น 8-9 ดิ เอ็มควอเทียร์

BITKUB M SOCIAL ครอบคลุมพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร บริเวณชั้น 8-9 ดิ เอ็มควอเทียร์
-จะเข้า BITKUB M SOCIAL ต้องสมัครค่าสมาชิก ดังนี้ Bitkub M Social ระดับ Lunar ค่าสมาชิก 12,000 บาทต่อปี, Bitkub M Social ระดับ Zircon ค่าสมาชิก 20,000 บาทต่อปี, Bitkub M Social ระดับ Emerald ค่าสมาชิก 50,000 บาทต่อปี (เฉพาะท่านที่ได้รับเชิญเท่านั้น)
-เดอะมอลล์ กรุ๊ป และ บิทคับ บอกว่า นี่คือดิจิทัลคอมมูนิตี้แห่งแรกของเมืองไทย

ตัวอย่างหน้าตาบัตรสมาชิก ทีมงาน TODAY Bizview ร่วมงาน และได้ข้อมูลว่า เป็นบัตรแบบไทเทเนี่ยม (Titanium Card) ไม่ใช่บัตรพลาสติกทั่วไป
เป้าหมายคือทำไทยให้เป็นฮับสินทรัพย์ดิจิทัล + ดึงนักท่องเที่ยวมีเงิน ถือคริปโท

คริปโท 7 สกุลที่ลูกค้าสามารถนำมาแลกสินค้าและบริการในห้างของเครือเดอะมอลล์แบบไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ระหว่าง 1 ธ.ค. 2564 – 28 ก.พ. 2565 ได้แก่ Bitcoin, Tether, Ethereum, Stellar, XRP, Bitkub Coin, JFIN
ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของและผู้พัฒนาห้างเดอะมอลล์ สยามพารากอน ดิเอ็มโพเรียม ดิเอ็มควอเทียร์ บอกว่า การระบาดของโควิดในครั้งนี้ ได้สร้างวิกฤตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ ประเทศไทยจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไร แบบไม่ให้เป็นในลักษณะ K-Shaped หรือแบบที่คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลง เราจะลดช่องว่างตรงนี้ได้อย่างไร
“คำตอบคือภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งหากลองมองดูจะพบว่า ประเทศไหนๆ ก็อยู่ไม่ได้ ถ้าพึ่งพาแค่กำลังซื้อในประเทศ นั่นหมายถึง เราต้องหันกลับมาร่วมมือกันสร้างเอกภาพเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกครั้ง”
ศุภลักษณ์ ชี้ว่า แต่สิ่งที่ปรับมุมมองคือ นักท่องเที่ยวที่ไทยควรให้ความสำคัญต่อไป ควรจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่มีเงิน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กล้าใช้เงิน และคนกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มที่ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเรียกได้ว่าเป็นกลุ่ม Digital Wealth
ทั้งนี้ เดอะมอลล์ กรุ๊ป และบิทคับ ยังสร้างมิติใหม่ของการช้อปปิ้ง ด้วยการเปิดให้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาแลกสินค้าและบริการที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในเครือเดอะมอลล์ ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 2564 – 28 ก.พ. 2565 โดยไม่มีค่าธรรมเนียม
โดยเหรียญคริปโทฯ ที่เปิดรับ มีทั้งหมด 7 เหรียญด้วยกัน คือ Bitcoin, Tether, Ethereum, Stellar, XRP, Bitkub Coin และ JFIN
นอกจากนี้ได้มีการร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สายการบินแอร์เอเซีย, สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, โรงแรมในเครือดุสิต, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์, อนันดา พร้อพเพอร์ตี้ และบริษัทฯในเครือ, และมิลเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป เพื่อจัดแคมเปญสร้างประสบการณ์การใช้สินทรัพย์ดิจิทัล และส่งเสริมสินทรัพย์ดิจิทัลในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ
ตัวอย่างที่จะเกิดขึ้นจากพันธมิตรเหล่านี้ มีดังต่อไปนี้
-แอร์เอเชีย ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเปิดให้ใช้สกุลเงินดิจิทัลแลกเปลี่ยนเป็นเที่ยวบินหรือสินค้าและบริการของแอร์เอเชีย
-บางกอกแอร์เวย์ส เร่งประสานกับ บิทคับ เพื่อเปิดรับชำระค่าตั๋วเครื่องบินด้วยคริปโทฯ ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 นี้ ที่สำนักงานขายบัตร สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดีรังสิต
-เครือ รพ.เกษมราษฎร์ เห็นโอกาสในการใช้บล็อกเชน เพื่อเพิ่มช่องทางรับแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล อำนวยความสะดวกให้กลุ่มนักท่องเที่ยวสุขภาพชาวต่างชาติ
-อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นอสังหาฯ รายแรกที่ให้ลูกค้าใช้เหรียญคริปโทฯ ชำระแทนเงินสดกับบ้านและคอนโดฯ ทุกโครงการ ผ่านวอลเล็ตของบิทคับ

ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของและผู้พัฒนาห้างเดอะมอลล์ สยามพารากอน ดิเอ็มโพเรียม ดิเอ็มควอเทียร์
จุดมุ่งหมายคือต้องการจะยกระดับประเทศไทย สู่การเป็นศูนย์กลางของสินทรัพย์ดิจิทัลระดับภูมิภาคเอเชีย (HUB OF DIGITAL ASSETS IN ASIA) นอกจากนั้นจะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่มที่มีรายได้สูง และถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซีเข้าสู่ประเทศไทยในอนาคต
ด้านของ ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด บอกว่า กฎของเกมเศรษฐกิจยุคใหม่คือ การที่อีกไม่นาน เศรษฐกิจที่ใหญ่จะเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล บริษัทที่จะอยู่ได้คือบริษัทที่เปิดใจในเรื่อง Digital Economy
“ขณะที่ประเทศไทยต้องการเป็น Top Tourism แต่สิ่งที่ต้องคิดใหม่คือการเป็น Top Quality Tourism Destination หรือการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีคุณภาพ มีกำลังซื้อ ซึ่งกลุ่มคนที่มีคุณภาพยุคใหม่ คือคนที่ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถ้าประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อสินทรัพย์ต่อดิจิทัล ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ และดันจีดีพีไทยเติบโตทันที”
“Bitkub M จะเป็นพื้นที่เหมือน Academy ให้คนมาเรียนรู้และปรับตัวเข้าสู่อนาคต บ่มเพาะสตาร์ทอัพไทยให้ scale up เพื่อผลักดันจีดีพีไทยต่อไปในอนาคต” ผู้ก่อตั้งบิทคับ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด