SHARE

คัดลอกแล้ว

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมงานศิลปะบางงานถึงราคาสูง ทั้งๆ ที่ในสายตาคนทั่วไปก็ดูเหมือนจะ ‘ไม่ได้มีอะไร’ แถมบางทีก็กลายเป็นไวรัลฮาๆ ในโซเชียลมีเดีย แต่ก็ยังมีคนยอมควักเงินซื้อในราคาเป็นล้านๆ 

อย่างผลงานชื่อ ‘Comedian’ ซึ่งหากคุณเอาเงิน 120,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 4 ล้านกว่าบาท ไปซื้อผลงานศิลปะชิ้นนี้ สิ่งที่คุณได้คือ เทปกาวม้วนนึง กล้วยหนึ่งใบ ใบรับรอง และคู่มือติดตั้งว่าจะเปลี่ยนกล้วยอย่างไรตอนกล้วยเน่า เป็นผลงานของ เมาริซิโอ คัตเตลัน ศิลปินชาวอิตาเลียน ซึ่งมีเพียงแค่ 3 เอดิชันในโลกเท่านั้น

Comedian (2019), Maurizio Cattelan

ล่าสุดเอดิชันหนึ่งของผลงานชิ้นดังกล่าวถูกประมูลโดย จัสติน ซุน นักสะสมชาวจีนที่เป็นผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มคริปโทฯ ไปในราคากว่า 214 ล้านบาท

นอกจากเรื่องพื้นฐานของกลไกทางการตลาดอย่าง ‘อุปสงค์’ และ ‘อุปทาน’ ที่ทำให้ผลงานศิลปะมีมูลค่าสูงขึ้นแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ผลงานศิลปะบางชิ้นมีราคาแพงกว่าชิ้นอื่น และเหตุผลที่ทำไมคนยังทุ่มเงินซื้อกัน Bizview Bling สรุปมาให้ใน 5 ข้อนี้

[1.ฝีมือและความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์]

หนึ่งในผลงานศิลปะที่หลายคนรู้จักอย่างภาพวาด ‘โมนาลิซา’ (Mona Lisa) ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี เป็นหนึ่งในภาพวาดที่แพงที่สุดในโลก ซึ่งนอกจากความเก่าแก่ของภาพวาดแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังได้รับการยอมรับในฝีมือที่ใช้เทคนิคล้ำสมัยสำหรับยุคนั้น

Mona Lisa, Leonardo da Vinci

นอกจากนั้นยังมีผลงานดังๆ อีกหลายชิ้น เช่น ภาพ ‘ราตรีประดับดาว’ หรือ ‘Starry Night’ ของศิลปิน วินเซนต์ แวนโก๊ะ ที่ฝีมือของเขาได้ปฏิวัติงานจิตรกรรมแนวเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) และเปลี่ยนมุมมองต่อการแสดงออกทางอารมณ์ในงานศิลปะอย่างสิ้นเชิง

The Starry Night (1889), Vincent van Gogh

[2.งานแพงเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก]

ไม่ใช่แค่เรื่องฝีมือทางศิลปะ แต่ผลงานบางชิ้นได้ปฏิวัติความคิดและตั้งคำถามต่อสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ศิลปะ’ และยังท้าทายความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการสร้างสรรค์และคุณค่าของผลงาน ออกมาเป็นศิลปะเชิงแนวคิดหรือ Conceptual Art 

Fountain (1917), Marcel Duchamp

หนึ่งในผลงานขึ้นชื่อคือศิลปะโถฉี่หรือ ‘น้ำพุ’ (Fountain) ของ มาร์แซล ดูว์ช็อง นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ฉีกกรอบและนำมาสู่การตั้งคำถามว่าศิลปะคืออะไร จนกลายเป็นใบเบิกทางที่ทำให้มีผลงานศิลปะในรูปแบบ Installation Art หรือการนำเอาวัตถุต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาประกอบกันเพื่อสร้างความหมาย ตามมาพร้อมกับมูลค่าที่สูงมากยิ่งขึ้น เช่น ‘ซากฉลามในบ่อฟอร์มาลีน’ (The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living) ของ เดเมียน เฮิร์สต์ หรือ ผลงาน ‘กระป๋องซุปแคมป์เบลล์’ (Campbell’s Soup Cans) ของ แอนดี วอร์ฮอล ที่ได้เปลี่ยนความเข้าใจต่อพาณิชย์ศิลป์และช่วยสร้างป๊อปอาร์ตให้กลายเป็นงานศิลปะกระแสหลัก

The Scream (1983), Edvard Munch

Campbell’s Soup Cans (1962), Andy Warhol

[3.คุณค่าทางสุนทรียะ]

คุณค่าทางสุนทรียภาพของภาพวาดเกิดขึ้นได้จากหลากหลายองค์ประกอบ เช่น ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค การจัดวางองค์ประกอบศิลป์ สี แสงเงา และลายเส้น หรือพลังในการสื่อสารที่สามารถสร้างผลกระทบทางอารมณ์ได้ทันที และการมีรายละเอียดที่น่าสนใจให้จ้องมองหรือจดจำได้

ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร เช่น ผลงาน ‘เสียงกรีดร้อง’ หรือ ‘The Scream’ ของ เอ็ดวัด มุงก์ จิตรกรชาวนอร์เวย์ ด้วยสไตล์การสร้างสรรค์ทิวทัศน์ที่บิดเบี้ยวเป็นคลื่นและตัวละครหลักที่เป็นไอคอนิก สร้างภาพที่น่าจดจำและแสดงถึงความสมดุลระหว่างเทคนิคทางศิลปะกับการถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่งผลให้มูลค่าราคาขายพุ่งสูงไปถึงราว 4,196 ล้านบาท 

The Scream (1983), Edvard Munch

[4.เรื่องข้างหลังภาพ]

เรื่องราวเบื้องหลังของผลงานก็ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้มูลค่าของผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ทะยานสูงขึ้นได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือสตอรี่ที่ดีทำให้ราคาแพงขึ้น 

อย่างเช่นภาพ ‘Portrait of Adele Bloch-Bauer’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘The Woman in Gold’ ของกุสทัฟ คลิมท์ ซึ่งไม่ได้มีมูลค่าสูงเพียงเพราะการใช้ทองคำเปลวมาประกอบรูป แต่ยังสะท้อนถึงความเจ็บปวดของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้หญิงในภาพคือ อเดล บล็อค-บาวเออร์ ภรรยาของนักธุรกิจชาวยิวที่มั่งคั่ง ภาพนี้ถูกนาซียึดไป ก่อนจะถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของออสเตรียมมาอย่างยาวนาน ต่อมาหลานสาวของบุคคลในภาพใช้เวลา 7 ปีต่อสู้เรียกร้องภาพนี้คืนจนชนะคดี เรื่องราวนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดด้วยเช่นกัน ภาพดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึงราว 4,673 ล้านบาทไทยเลยทีเดียว

Adele Bloch-Bauer I (1903-1907), Gustav Klimt

[5.แพงเพราะเจ้าของ]

หากผลงานศิลปะเคยเป็นของคนดังมาก่อน หรืออยู่ในคอลเลกชันของนักสะสมที่มีชื่อเสียง อาจทำให้มูลค่าของผลงานสูงขึ้นได้เช่นกัน ยิ่งถ้าเคยอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เคยถูกจัดแสดงในนิทรรศการที่มีชื่อเสียง หรือเคยได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือสำคัญก็ยิ่งทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

นอกเหนือจากความชอบส่วนบุคคลแล้ว สำหรับคนหลายกลุ่มผลงานศิลปะถือเป็นการลงทุน เมื่อการซื้อจากตลาดแรก (Primary Market) สามารถเก็บไว้และนำไปเก็งกำไรขายต่อในตลาดรอง (Secondary Market) ได้ อย่างไรก็ตามการซื้อขายหรือประมูลผลงานศิลปะยังคงมีอีกความเห็นที่มองว่าตลาดงานศิลปะไม่ได้สร้างประโยชน์ในกับใครนอกจากคนกลุ่มเล็กๆ เนื่องจากหลายครั้งที่มูลค่าที่สูงลิบลิ่วของชิ้นงานไม่ได้ตกไปถึงมือของศิลปินที่สร้างสรรค์ขึ้นมา เนื่องจากศิลปินมักจะทำรายได้จากการขายครั้งแรกเท่านั้น

อย่างไรก็ตามคุณค่าของศิลปะอาจจะประเมินด้วยราคาอย่างเดียวไม่ได้ งานที่มูลค่าสูงกว่าก็ไม่ได้เป็นเครื่องหมายว่าเป็นผลงานที่ดีกว่า สวยกว่า เนื่องจากความงามและคุณค่าของศิลปะก็คิดอยู่กับสายตาและความรู้สึกของผู้ที่ได้รับชมที่แตกต่างกันไป

รับบชมรายการ Bizview Bling ได้ที่ : https://youtu.be/PmLLQZAE7Hg?si=rTeEBB02zD8LEk7E

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า