SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังจากมีเหตุการณ์สูญเสียขณะข้ามถนนบนทางม้าลายให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ได้ทำให้คนใช้รถและคนข้ามถนนตระหนักถึงความปลอดภัย และการชะลอรถก่อนถึงทางข้าม-ทางแยกกันเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สถิติในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-เมษายน 2565) จากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ยังพบว่ามีคนเดินถนนใน กทม. เสียชีวิตสะสมถึง 28 ราย อีกทั้งผลสำรวจจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิไทยโรดส์ ได้ชี้ว่า มีคนใช้รถมากถึง 79% ที่ใช้ความเร็วเกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนถึงทางม้าลาย โดยคิดเป็นรถจักรยานยนต์ 90% รองลงมาคือรถยนต์และรถโดยสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เน้นย้ำว่าทางม้าลาย ทางข้าม และทางแยกในเขตพื้นที่กทม. ยังคงต้องการการร่วมสร้างความปลอดภัยจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง

โอกาสนี้ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับสภากาชาดไทย สำนักงานเขตเขตพระนคร สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 5 พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “Smart City : เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย” เพื่อสร้างจิตสำนึกเน้นย้ำการหยุดรถตรงทางม้าลาย ลดความเร็วเขตชุมชน และชะลอรถก่อนถึงทางแยกทางข้าม ช่วยคน กทม. ให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อุบัติเหตุจากการข้ามทางม้าลายยังเกิดเป็นระยะและมักเกิดกับเด็ก

กิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 5 แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากได้ขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มโรงเรียนในสังกัด กทม. ด้วย เพราะข้อมูลจากผลสำรวจเปิดเผยว่า อุบัติเหตุจากการข้ามทางม้าลายยังเกิดขึ้นเป็นระยะ และมักเกิดกับกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การสูญเสีย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือคุณหมอกระต่าย เมื่อ 5 เดือนก่อน ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนไทยตระหนักถึงความปลอดภัยจากการข้ามทางม้าลาย ทั้งผู้ขับขี่ และผู้ที่ต้องเดินข้ามทางม้าลายมากยิ่งขึ้น และขณะนี้ก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงและมีการหยุดรถที่ทางม้าลายมากขึ้น

แต่จากการที่สสส. และมูลนิธิไทยโรดส์ ได้ติดตามสถานการณ์และสำรวจพฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางม้าลาย 12 จุดในกทม. และสำรวจพฤติกรรมการใช้ความเร็วบริเวณทางม้าลาย พบว่ามีถึง 79% ที่ใช้ความเร็วเกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนถึงทางม้าลาย คิดเป็นรถจักรยานยนต์ถึง 90% รองลงมาคือรถยนต์และรถโดยสาร รวมถึงได้สำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มผู้ขับขี่ไรเดอร์ในเขต กทม. พบว่า 38% ผ่าไฟแดง 11% ขับรถด้วยมือข้างเดียว ในขณะที่มืออีกข้างถือโทรศัพท์ หรือถือถุงอาหาร 1 ใน 3 หยุดรถบนเส้นทางม้าลาย 56% จอดล้ำทางม้าลาย-เส้นแนวหยุด เราจึงยังคงเห็นข่าวอุบัติเหตุจากการข้ามทางม้าลายเป็นระยะ โดยที่อุบัติเหตุมักจะเกิดในกลุ่มเด็กและเยาวชนอยู่บ่อยครั้ง

กิจกรรมในครั้งนี้จึงได้ขยายความร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อเน้นย้ำและสานต่อความตั้งใจสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนกับกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีภาคีเครือข่ายมาร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ กองบังคับการตำรวจจราจร ได้มาให้ความรู้เรื่องการข้ามทางม้าลาย การดูสัญญาณไฟจราจร ป้ายจราจร กับน้องๆ ที่มาร่วมงาน การแสดงเพลงทางข้ามทางม้าลาย โดยโรงเรียนในสังกัด กทม. พร้อมกิจกรรมเดินรณรงค์แจกสื่อขอบคุณที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย เพื่อร่วมรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย

ทั้งนี้จะมีการพัฒนาโมเดลต้นแบบใน 8 พื้นที่ชุมชนกทม. และโรงเรียนนำร่องสร้างกลไกความร่วมมือ และขับเคลื่อนวัฒนธรรมขับขี่ปลอดภัย หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายอย่างต่อเนื่อง

รณรงค์ควบคู่กับเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสังคม

อย่างไรก็ตามการสร้างความปลอดภัยขณะข้ามถนนในเขตเมืองให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องทำการรณรงค์ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ของสังคม คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สสส. และภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย “Smart City : เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย” ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพิ่มเติมด้วย

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า นอกจากผลสำรวจด้านพฤติกรรมการใช้รถของคนกรุงจาก สสส. และมูลนิธิไทยโรดส์แล้ว ข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อความเสี่ยงสำหรับคนเดินถนนหรือข้ามถนนใน กทม. ด้วยเช่นกัน โดยพบว่า ถนนมีหลายช่องจราจร ทำให้มีจุดบดบังสายตา จุดข้ามไม่ชัดเจนหรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือไม่มีสัญญาณให้คนขับรถทราบก่อน ทำให้การทำทางข้ามให้ปลอดภัยจึงเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันทำงานต่อไปอย่างเป็นระบบ ด้วยการขับเคลื่อนนโยบาย Smart City: เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย

Smart City: เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย คือทางออกสู่ความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

Smart City: เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย มีแนวคิดมาจากนโยบายเมืองน่าอยู่-ปลอดภัย ของกรุงเทพมหานคร ประกอบกับการตั้งเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2570 โดยใช้แนวคิดการจัดการเชิงระบบแห่งความปลอดภัย (Safe System Approach) ที่มองว่าคนมีข้อจำกัดและผิดพลาดได้เสมอ ระบบที่ปลอดภัยจะช่วยป้องกันและลดความสูญเสีย ของรัฐบาล โดยมีข้อพิจารณาเสนอแนะสำคัญ 3 ด้าน คือ

        1. ด้านการบริหารจัดการ โครงสร้าง กฎหมาย งบประมาณ และ KPI กำกับติดตาม
  • สนับสนุนและยกระดับการทำงานของสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความปลอดภัยทางถนน ดำเนินงานโดยมีขอบเขตกว้างขวางขึ้นครอบคลุมทุกมิติ
  • กำหนดตัวชี้วัดเรื่อง “ความปลอดภัยทางถนน” ในทุกเขต ทั้งในระดับผลลัพธ์ เช่น พฤติกรรมเสี่ยงลดลง อัตราเสียชีวิตลดลง และระดับผลผลิต เช่น ร้อยละของการจัดการจุดเสี่ยง
  • จัดสรรงบประมาณเพื่อความปลอดภัยทางถนนใน กทม. เพิ่มขึ้น ซึ่งรายงานจากธนาคารโลกได้ยกตัวอย่างประเทศไทยว่า หากสามารถลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงได้ครึ่งหนึ่งประเทศไทยจะมี GDP ที่เพิ่มขึ้นถึง 1%
  • เร่งรัดติดตามการพัฒนาระบบข้อมูลด้านอุบัติเหตุทางถนนใน BMA Platform ที่ริเริ่มไว้แล้วให้สามารถนำมาใช้งานได้โดยเร็ว เพื่อการวางแผนและกำกับติดตามประเมินผล และสอบสวนสาเหตุกรณีเสียชีวิตทุกราย

2. มาตรการด้านถนนและ “ทางม้าลายมาตรฐาน-ปลอดภัย”

  • ปรับเปลี่ยนการออกแบบถนนในความรับผิดชอบของ กทม. ให้มีมาตรฐานสากล โดยแบ่งช่องทางเดินรถให้ชัดเจนสำหรับรถที่ใช้ความเร็วต่างกัน โดยเฉพาะช่องเดินรถสำหรับรถจักรยาน-จักรยานยนต์-รถบรรทุกขนาดใหญ่
  • ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน “กำหนดทางม้าลายให้มีมาตรฐาน” ที่มีองค์ประกอบที่จำเป็น เช่น ป้ายเตือน ไฟส่องสว่างและมาตรการชะลอความเร็ว (Traffic Calming)
  • มีระบบประเมินจุดเสี่ยงที่จำเป็นหรือปรับปรุงทางข้าม และระดมความร่วมมือกับภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนให้เกิดทางข้ามที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งร่วมสร้างทางข้ามทางเลือก เช่น Sky Walk ทางเดินเท้า ทางจักรยาน
  • มีการกำหนด Speed Zone (จำกัดความเร็ว 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง) โดยเฉพาะในจุดที่มีทางข้ามและเขตชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาดสด ฯลฯ

3. ด้านการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและความรับผิดชอบร่วมกัน

  • ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก วางแนวทางกำกับความปลอดภัยให้กับผู้ให้บริการต่างๆที่ กทม. กำกับดูแล เช่น ขสมก./รถร่วมบริการ วินรถจักรยานยนต์ กลุ่มไรเดอร์หรือจักรยานยนต์ส่งสินค้าต่างๆ
  • นำเทคโนโลยีเสริมการบังคับใช้ผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่ชะลอหรือหยุดให้คนข้าม โดยมีการกำกับและติดตามรายงานผลการบังคับใช้ให้สาธารณะได้รับรู้โดยเร็ว
  • สร้างการเรียนรู้ด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะทักษะการรับรู้และประเมินสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง (Hazardous Perception) เข้าในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับชั้นเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.
  • ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อทุกช่องทางที่ กทม. และเครือข่ายมีอยู่

กทม. เตรียมก้าวสู่ Smart City เมืองปลอดภัยของคนใช้ถนน

เพื่อให้จุดมุ่งหมายอันดีของทุกภาคส่วนลุล่วงไปได้ด้วยดี รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมรับข้อเสนอดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่า ความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะทางม้าลาย เป็นเรื่องที่ กทม. ต้องทำงานเชิงรุก เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชนทุกคน หนึ่งในกลุ่มคนสำคัญที่ทำให้ กทม. ต้องทำเรื่องนี้ คือ เด็กและเยาวชน เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องใช้รถ ใช้ถนนระหว่างเดินทาง และไปโรงเรียนเป็นประจำทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยความปลอดภัยบนท้องถนน คือหนึ่งในนโยบายหลักของ กทม. ที่ต้องการมุ่งพัฒนาทางเท้า ฟุตบาท ทางม้าลายให้ปลอดภัยกับทุกคน รวมถึงปลุกจิตสำนึกผู้ขับขี่รถทุกชนิด เพื่อลดอุบัติเหตุ หยุดความสูญเสีย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี สู่ เมือง Smart City เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย

“กิจกรรมหยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ของวุฒิสภา – สสส. – ภาคีเครือข่าย เป็นการรณรงค์แบบ Soft Power ต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนสร้างความสำเร็จ ในการปลุกจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยบนทางม้าลายและท้องถนน สู่การสร้างเมือง Smart City ได้ หลังจากนี้ กทม. ขอรับนโยบายเพื่อสร้างเมืองปลอดภัยให้เด็ก-เยาวชนต่อไป”

คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน สสส. และภาคีเครือข่ายทุกส่วน เชิญชวนทุกคนหยุดรถตรงทางม้าลาย ร่วมชะลอความเร็วที่ทางข้าม หน้าโรงเรียน โรงพยาบาล และเขตชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้กรุงเทพมหานครก้าวสู่การเป็น Smart City: เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย อย่างยั่งยืน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า