SHARE

คัดลอกแล้ว

“ถ้าเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพ จะแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังไง” ปัญหาโดนใจคนกรุงเทพฯ workpointTODAY อาสาถามผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพ แต่ละคนมีแนวคิดแก้ปัญหานี้ยังไง

หมายเลข 1 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร – ก้าวไกล

ปัญหานี้ถ้ามีผู้ว่าฯ คนไหนบอกว่าถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ ปั๊บ แล้วฝุ่น PM2.5 จะหมดไป โกหกเป็นไปไม่ได้ เพราะปัญหาที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกัน และยังไม่มีงานวิจัยงานศึกษาใดที่บ่งชี้ได้ชัดว่า ไอ้เจ้าฝุ่น PM2.5 ที่มันเกิดขึ้นเนี่ย มันมาจากไหนเป็นหลักกันแน่ มีแต่ข้อสันนิษฐานทางวิชาการทั้งสิ้นนะครับ เข้าใจว่ากรมควบคุมมลพิษ รับงบประมาณไปศึกษาเพื่อหาข้อสรุป จนป่านนี้ผลการศึกษาก็ยังไม่มีข้อสรุปซะที แต่งบประมาณใช้ไปแล้วครับ อย่างไรก็ตามให้รอผลการศึกษาเนี่ยมันไม่ทันกินแหละ

งั้นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครทำได้คือการทุเลา ทุเลาเรื่องอะไรได้บ้าง หนึ่งกับกรมการขนส่งทางบก กับรถทั้งหมดโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทำอย่างไรที่เราจะป้องกันปัญหาควันดำได้ เราทำให้ ตรอ. หรือว่าหน่วยที่ตรวจรถเอกชนเนี่ย สามารถตรวจควันดำได้อย่างถูกต้องและเราเชื่อใจได้ไหม ในการต่อทะเบียน ถูกไหม เราควบคุมและเรากำชับเรื่องนี้ได้ไหม รถทุกคันนะครับโดยเฉพาะรถของกรุงเทพมหานคร เราตรวจบำรุงรักษาก่อนได้ไหม ประสานงานไปยังรถหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้ง ขสมก. ในการบำรุงรักษารถของพวกเขาได้ไหม สองโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานที่มีแรงม้าต่ำกว่า 50 แรงม้านี่อยู่ภายใต้กรุงเทพมหานครได้หรือไม่ กรุงเทพมหานครไปตรวจก่อน

ส่วนที่เกิน 50 แรงม้า ประสานงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปตรวจ สามคุยกับกรมควบคุมมลพิษใช่ไหม ลองมาตรวจว่าตามโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น หรือตรวจโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับกรมโรงงานด้วยเลยว่ามลพิษทางอากาศหรือมลปล่อยที่ปล่อยออกมาทางอากาศเนี่ยเป็นไปตามมาตรฐานหรือเปล่า และบางครั้งต้องตั้งข้อสันนิษฐานด้วยว่า หลักเกณฑ์ ระดับมาตรฐานเนี่ย ที่กรมควบคุมมลพิษออกมาเนี่ย ปัจจุบันมันควรจะปรับให้เข้มขึ้นหรือยัง ไซต์ก่อสร้างเจ็ดชั่วโคตร บางไซต์นี่น่าเกลียดมากนะ คือเคยเห็นในไซต์เขาจะมีป้ายบอกใช่ไหมว่าระยะเริ่มต้น ระยะสิ้นสุด ระยะสิ้นสุดนี่ไปทาสีขาวแล้วนะ คือมันเลยจนไม่อยากจะบอกกำหนดเสร็จใหม่แล้วอะ มีข้อร้องเรียกติดต่อเบอร์โทรศัพท์ เอาสีขาวไปทา บางที่รื้อป้ายออกเลย ว่ามันไม่ใช่เรื่องผู้ว่าฯ ต้องเลิกเกรงใจนายทุนผู้รับเหมาได้แล้ว เรียกมาเคลียร์ว่าจะทำให้มันแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ไซต์ก่อสร้างต่างๆ เนี่ย แล้วที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องกล้าชนกับนายทุนผู้รับเหมาอะ ถ้าปล่อยปละให้เขาก่อสร้างเลยกำหนดเสร็จทุกเมื่อเชื่อวันโดยที่ไม่รู้กำหนดเสร็จเมื่อไหร่ โดยที่คุณก็ปรับก็ไม่ปรับ เรื่อยๆ มาเรียงๆ แบบนี้ คุณแก้ปัญหาไม่ได้หรอก

หมายเลข 3 สกลธี ภัททิยกุล – อิสระ

ถ้าเป็นเรื่องของ กทม. โดยตรงนะครับ ฝุ่น PM รู้อยู่แล้วว่ามาจากการสันดาปเครื่องยนต์กับการเผา ถ้าในเรื่องเผาเนี่ยมันก็มีกฎหมายตาม พ.ร.บ. กทม. สามารถไปดูได้อยู่แล้ว ก็อาจจะปรับแล้วก็มีการลงห้ามเผาให้เข้มงวด ส่วนเรื่องรถ อันนี้เป็นต้องเป็นภาพรวมของประเทศ แต่สิ่งที่ กทม. จะทําได้ก็คือว่าพยายามทําขนส่งสาธารณะ ให้คนมาใช้สาธารณะเยอะสุด ใช้รถส่วนตัวให้น้อยสุด เพราะนั้นเนี่ยเป็นหน้าที่ของเราที่จะทําให้เครือข่ายหรือการใช้ขนส่งสาธารณะของคนกรุงเทพฯ มันง่ายขึ้นเพื่อจูงใจมากขึ้นนะครับ แล้วส่วนในอนาคตก็อาจจะมีในเรื่องของการดูเรื่องไซต์งานก่อสร้างหรือการกําจัดสิ่งกีดขวางบนถนนเพื่อให้รถมันติดน้อยลงอย่างเช่นที่เห็นอยู่ตอนนี้มันจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้ามากมายหลายสายเลย ซึ่งบางทีเนี่ยถ้าเราเข้าไปจี้ดู มันสามารถทําให้พื้นผิวจราจรเนี่ยมันคืนได้มากขึ้น ทําให้รถมันวิ่งลื่น ทําให้ติดได้น้อยลง แล้วฝุ่นก็อาจจะเกิดน้อยลงครับ

หมายเลข 4 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ – ประชาธิปัตย์

ทำเรื่องนี้มาตลอดนะ ตั้งแต่ก่อนมาลงผู้ว่าฯ กทม. อะ เพราะรู้ทั้งรู้อยู่ว่า PM2.5 มันตายจริงครับ แต่ประเด็นคือที่มันแก้ไม่ได้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะไม่กลัว แล้วคิดว่ามันมาเฉพาะฤดูกาล เพราะงั้นอันดับแรก เราต้องรู้ก่อนว่า PM2.5 นั้นอันตรายตายจริง แล้วไม่ได้หนีไปไหนมันแค่ขึ้นลงเท่านั้นเองอะ มันอยู่ตรงนี้ มันไม่ได้ออกไปทางนี้ เพราะงั้นอันดับแรกจะทำยังไงให้ทุกท่านกลัว กรุงเทพฯ เนี่ย มีจุดวัด PM2.5 อยู่ไม่กี่จุด เป็นหลักร้อยจุด ทั้งที่ 1,600 ตารางกิโลเมตร ตั้งใจจะติดอย่างน้อย 2,000 จุด ไม่ใช่อยู่แถวสี่พระยา ต้องใช้จุดวัด PM2.5 แถวโรงพยาบาลจุฬาฯ มันก็ไม่ใช่ มันไกลก็ไม่สนใจ พอติดตั้งทุกจุดแล้วให้แสดง กทม. มีป้ายเยอะไปหมด

สัมปทานป้ายของ กทม. นะ บอกขอร้องคนที่รับสัมปทานไปขึ้นตัววิ่งได้ไหม ถ้าเกิดแดงเมื่อไหร่ให้ขึ้นเลย 30 วินาที ตัวแดงเลยว่า PM2.5 ปัจจุบันอยู่ที่ 100 ไมโครกรัมแล้ว วิกฤติแล้ว พอเห็นแล้วทำยังไงครับ อันดับแรก เอาหน้ากากมาปิด มาปิดให้ลูก มาปิดให้คุณพ่อคุณแม่ มันช่วยชีวิตได้เลย เท่านั้นไม่พอ บริเวณที่มี PM2.5 ขึ้นทะลุเลย อ๋อ มีการก่อสร้างใช่ไหม รถวิ่งเข้าออก PM2.5 มาจากรถใช่ไหม รถไปส่งอิฐหินดินทรายก่อสร้าง แจ้งเขาว่าเนี่ยมันมาจากไซต์งานตรงนี้ ซึ่งอยู่ข้างโรงเรียน อยู่ข้างโรงพยาบาล เข้าไปจัดการทันที

ข้อที่สองคือ รู้นะว่า PM2.5 มาจากรถ จะประกาศสงครามกับรถควันดำเลย รถควันดำไปอยู่ที่ไหน อาคารนั้นระหว่างการก่อสร้างเพิกถอนใบอนุญาตได้นะ มีอำนาจตามกฎหมายนะ สามเห็นตึกก่อสร้างใน กทม.ไหม บางตึกนี่ก็คลุมสวยงามเลยเหมือนเมืองนอก บางตึกนี่รุ่งริ่งเลย ถ้าเกิดท่านยังรุ่งริ่งนะ เพิกถอนใบอนุญาตท่านนะ แต่สำหรับท่านที่คลุมอาคาร ท่านเอาค่าคลุมของท่านนี่แหละ ที่ท่านทำดี มาลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ อีกอันนึงก็คือว่าถึงวันที่แล้วเนี่ยนะครับ กทม. ต้องเป็นผู้ริเริ่มการใช้พลังงานสะอาด ป้ายรถเมล์ของ กทม. ตรงนี้จะทำที่ชาร์จไฟ ระบบชาร์จเร็ว เขาเรียก Quick Charge เนี่ย ทำงานได้ดี กทม. ต้องเป็นผู้ริเริ่มให้บริการรถเมล์ไฟฟ้านะครับ ที่จะสามารถเข้าไปในซอย มีขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ วิ่งบนถนนเป็น Shuttle Bus มาเสริมกับรถไฟฟ้า 4 ข้อนี้ ชีวิตคนกรุงเทพฯ เปลี่ยน แน่นอนครับ

หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง – อิสระ

365 วัน อากาศที่เป็นสีเขียวมีมากกว่า ต้องมีถึง 9 เดือน หน้าฝนยังไงก็ไม่มีฝุ่น PM ถูกไหม หน้าหนาวก็ไม่มี PM มันจะมาช่วงระหว่างปลายฤดูหนาวจะเข้าฤดูร้อน อย่างเช่นตั้งแต่เดือน ธ.ค.-มี.ค. เท่านั้น ประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น ถามว่าตรงนี้ปัญหาแก้ไขได้ไหม มันก็ต้องค่อยๆ ทํากันไป ถ้าเราจะพูดถึงปัจจัยหลักก่อน ส่วนน้อยมันยังไม่มาก คือการที่มันมาจากประเทศเพื่อนบ้านหนึ่ง อันนี้เราก็จะไปเอาตัวรอดไง ไปบอกว่ามาจากเพื่อนบ้าน มีการเผาป่าจากประเทศใกล้เคียงไหม มันก็มี การเผาพืชพันธุ์ของเราอย่างเช่น บนภูเขา เขาเผาเพื่อจะปรับดินเพื่อจะปลูกใหม่

ปัจจัยที่สองคือการเผาไหม้รถ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่วนใหญ่จะเป็นดีเซล ซึ่งการสันดาป การเผาไหม้ ตอนนี้เราก็ประสานกับกรมการขนส่งทางบก ให้ตรวจคุณภาพของรถที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราจะทํายังไงให้มาใช้พวก EV ไม่ว่าจะเป็นรถหรือเรือไฟฟ้าเนี้ย กรุงเทพมหานครทําต้นแบบไป 2-3 จุดแล้วใช้รถ Shuttle Bus ใช้รถไฟฟ้าEV รถมันอาจจะมีคนอื่นทํา แต่เรือนี่ผมยืนยันเลยนะครับว่าในคลองผดุงกรุงเกษมเรือไฟฟ้า กับคลองแสนแสบ ผมยืนยันนะว่าเรือไฟฟ้าของเรามีสองจุดเป็นแห่งแรกในประเทศไทย คลองผดุง แล้วก็ช่วงคลองแสนแสบช่วงต่อ ส่วนต่อขยายแล้วไปประสานกับครอบครัวขนส่งเขาบอกว่าให้ช่วยปรับเรือเป็นไฟฟ้าได้ไหม เป็นเรื่องของเอกชนเขานี่ เขาก็ประหยัด เขาบอกมันใช้เงินเยอะเขาต้องค่อยๆ ปรับไป ตรงนี้มันก็จะลดค่าของฝุ่น PM ไปได้ด้วย

เครื่องดักเครื่องตรวจฝุ่น PM เมื่อก่อนมันมีอยู่ 30-40 จุด เราเพิ่มเป็น 70 จุดแล้ว ภายในปีนี้ เริ่มมาเพิ่มอีก 55 จุดจะเป็น 125 จุด อีกอย่างหนึ่งสิ่งที่เราทําก็คือปลูกต้นไม้ ทําพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มมากขึ้นในกรุงเทพมหานครนี้ มันก็จะทําให้พอปลูกต้นไม้เยอะๆ เนี้ย การดูดซับฝุ่นต่างๆ ค่าฝุ่น PM2.5 ก็จะลดลง ภาวะว่าโลกร้อนต่างๆ ก็จะลดลงไปตามธรรมชาติ เพราะว่ามันจะดูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปนะครับ กลางวันเนี้ยต้นไม้ก็จะคายออกซิเจนออกมาแล้วก็ดูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป ค่าฝุ่น PM ก็คือคาร์บอนไดออกไซด์แทบทั้งนั้นเนี้ย พอดูดซับเข้าไป ถ้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น มันก็จะโดยธรรมชาติของมันจะลดค่าของฝุ่น PM ลงไปด้วย

หมายเลข 7 รสนา โตสิตระกูล – อิสระ

บอกเลยว่าผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพ ในทุกๆ เรื่อง เราอาจจะไม่ได้มีอำนาจในการทำทุกอย่าง แต่ว่าในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างเป็นหน้าที่ของเราแน่นอน แต่ว่าอย่างรถที่ขับมา รถควันดำ รถอะไรพวกนี้เนี่ย มันก็เป็นรถที่อาจจะเป็นเรื่องของตำรวจจราจร เราก็ควรจะต้องมีการติดต่อ แล้วก็ประสานงานว่าต้องมีการเข้มงวดอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่ทำอีเวนต์เท่านั้น แต่ควรจะทำในแง่ของการกำราบ คิดว่าไม่ใช่แค่ปรับอย่างเดียว ควรทำระบบหักคะแนน

สมมติว่ามีคะแนนอยู่ 200 คะแนนในหนึ่งปี ถ้าเกิดว่าคุณขับรถฝ่าไฟแดง คุณถูกตัดคะแนนเท่าไหร่ คุณไม่จอดให้คนข้ามตัดคะแนนเท่าไหร่ แล้วก็คุณปล่อยเอารถควันดำมาใช้คุณถูกตัดคะแนนเท่าไหร่ ถ้าคุณทำคะแนนเนี่ยหมดภายในเวลาเท่าไหร่ คุณอาจจะถูกยึดใบขับขี่ไหม ไม่ให้คุณขับรถ เช่น 3 เดือน 6 เดือน อะไรอย่างนี้ไปเรื่อยเนี่ยนะฮะ ดิฉันคิดว่าอันนี้เนี่ยมันจะเป็นมาตรการที่เข้มงวดและจริงจังมากกว่าการที่แค่ปรับ ดิฉันเองคิดถึงเรื่องว่าเราจะมีระบบเหมือนกับว่าเราทำไอ้เซ็นเซอร์ในแต่ละจุดเนี่ยนะคะ ที่ถ้าคุณฝ่าไฟแดงตรงจุดนี้ อะไรพวกนี้เนี่ย คุณจะถูกหักคะแนนนะคะ เซ็นเซอร์นี่ก็เหมือนกับ Easy Pass ที่คุณขึ้นทางด่วนน่ะ คือรถเนี่ยควรจะต้องติดอุปกรณ์เหล่านี้

โดยเฉพาะอาจจะเริ่มต้นกับรถสาธารณะก่อน เริ่มต้นจากรถของหน่วยราชการก่อน เราจะทำ Bangkok Green Coin หมายความว่าเราจะทำ Token ขึ้นมา แล้วก็เราจะสามารถที่จะให้คนที่เขาอยากจะทำความดี เช่น ถ้าคุณแยกขยะ คุณอาจจะได้แต้ม คุณจะได้จำนวนตัวเลขของคุณ แล้วก็เมื่อถึงจำนวนหนึ่งคุณจะได้สิ่งที่เป็น Token หรือ Coin แล้วก็ไอ้เหรียญนี้จะสามารถที่จะนำไปแลกของอะไรต่างๆ ที่เราจำเป็น เช่น คุณอาจจะไปแลกเหมือนกับที่เราไปซื้อของในห้างสรรพสินค้าแล้วเราได้แต้มมา เอาแต้มนี้ไปแลก อันนี้ก็ กทม. สามารถที่จะดึงเอกชนเข้ามาทำ MOU เลย อยากจะมาร่วมมือกับ กทม. ไหม เช่น สมมติว่าเราต้องการแนะนำให้เด็กนักเรียนทำความดี เช่น คุณแยกขยะ เห็นไหม คุณทำความดีในเรื่องของคนทั่วไป เช่น คุณอาจจะขับรถที่เป็นรถไฟฟ้า เห็นไหม คุณขึ้นรถไฟฟ้า คุณขึ้นรถสาธารณะ แทนที่คุณจะขับรถ คุณจะได้ Token พวกนี้ นี่ก็เป็นระบบที่เราจะคิดต่อไปนะคะ แล้วก็อันนี้มันก็คือเราต้องการใช้ Bangkok Green Coin เพื่อกระตุ้นสำนึกในทางบวก ใช่ไหม ให้คนเนี่ยมาร่วมกันแล้วคุณก็ได้สิ่งที่จะไปแลกอะไรขึ้นมา คุณอาจจะไปขึ้นรถไฟฟ้าโดยลดราคาลงอะไรต่อมิอะไรพวกนี้ด้วย

หมายเลข 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ – อิสระ

ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน เรามี 4 ข้อ คือกำจัดต้นเหตุก่อนเลย PM2.5 จริงๆ แล้วมันก็มาจากหลักๆ 2 อย่าง คือการเผาเชื้อเพลิง ก็อาจจะเป็นน้ำมันดีเซลหรือจากโรงงาน แล้วก็มาจากเผาชีวมวล กรุงเทพฯ เชื่อว่าเผาเชื้อเพลิงเนี่ยมาเยอะ แต่ตัวเลขไม่ค่อยชัดเจนนะผมว่า งานวิจัยมันมีของ AIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย) เมื่อสัก 10 ปีที่แล้วอะ งั้นผมว่าเรื่องรถควันดำหรือรถที่ปล่อย PM2.5 ต้องเอาจริงจัง ถามว่า กทม. ทำอะไรได้ ก็ต้องร่วมกับขนส่งทางบก แต่นั่นคือระหว่างทางไง แต่จริงๆ แล้ว กทม.ทำได้อีกคือเราไปดูที่ต้นทางกับปลายทางเลย เพราะไอ้รถขนส่งเนี่ยมันต้องมาจากที่ใดที่หนึ่งอะ เช่น มาจากโรงปูนแล้วต้องไปจบที่ไซต์ก่อสร้างหรือว่าอะไร ซึ่ง กทม. มีอำนาจควบคุมทั้งต้นทางและปลายทาง งั้นไปจับที่ต้นทางปลายทางเลย เช่น โรงปูนเนี่ย รถทุกคันต้องผ่านมาตรฐานก่อนจะออกวิ่ง ถ้าไม่ผ่านก็คือเอาสเปรย์ทาหรือว่าให้หยุดโรงปูน เพราะเรามีอำนาจบังคับ ไซต์ก่อสร้าง รถทุกคันที่เข้าไซต์ก่อสร้างนี้ต้องมีมาตรฐาน PM2.5 ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ถ้าไม่ได้ก็คือให้หยุดไซต์ก่อสร้าง กทม.ต้องเอาจริงเอาจัง

ไม่ใช่ทำเฉพาะช่วงที่มี PM2.5 สูง ก็มาตื่นเต้นกัน แล้วอีกอันนึงที่สำคัญคือตัวชีวมวลที่มาจากต่างพื้นที่อะ เราก็จะไปบอกว่าไม่ใช่หน้าที่เราก็ไม่ได้ กทม.ก็ต้องเป็นเจ้าบ้านที่เข้มแข็งในการไปหาต้นตอเลยว่า ไอที่เผานี่มันมาจากโซนไหน แล้วก็ต้องตามไปลุยกัน ผมว่ามีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมอยู่แล้วว่า คนที่เป็นต้นเหตุของการก่อมลพิษเนี่ยต้องรับผิดชอบ ผมมีไอเดียนึงที่คุยกับทางนักวิชาการไว้คือน่าจะทำกลุ่มที่เป็น ‘นักสืบฝุ่น’ คือเหมือนว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สามารถวิเคราะห์ DNA ของฝุ่นได้ ว่าไอฝุ่นเนี่ยมันมาจากไหน เราจะได้ไปด่าไอต้นตอถูกใช่ไหม แต่ของเรานี่บางทีไม่รู้เลยว่า PM2.5 จริงๆ แล้วมันมาจากไหน มันมาจากฝุ่นรถกี่เปอร์เซ็นต์ มันมาอะไรอย่างนี้ อันที่สองคือก็ต้องช่วยป้องกันให้ประชาชนอะ คือสุดท้ายแล้วผมว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ความผิดประชาชน

อุปกรณ์เบื้องต้นพื้นฐานต้องมีให้เขา ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากกันฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน ในพื้นที่เปราะบาง ข้อมูลที่เราได้คือพื้นที่ที่มีต้นไม้เนี่ย ช่วยบรรเทาเรื่องฝุ่นได้ เพราะงั้นมันก็จะสอดคล้องกับเรื่องพื้นที่สีเขียวเรา การปลูกต้นไม้เพิ่ม การเพิ่มพื้นที่สีเขียว มันช่วยกรองฝุ่นได้ แล้วสุดท้ายคือต้องเตือนภัยให้ได้ เหมือนที่ไต้หวันทำอะ ติดตัวเซ็นเซอร์ฝุ่นทั่วเมืองเลย ผมไปดูเขาจะมีป้ายบอกทุกโรงเรียน ทุกป้ายรถเมล์เลยว่า ณ เวลานี้ค่า PM เป็นเท่าไหร่ ไม่ใช่ PM เมื่อวานนี้ เพราะไม่มีความหมาย มันคือ PM นาทีนี้สำคัญที่สุด

เรื่องการเตือนภัยให้ประชาชนทราบสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งการคาดการณ์ล่วงหน้า ปัจจุบันผมเชื่อว่าโมเดลมันคาดการณ์ได้แล้ว เมื่อไหร่ที่ปรากฏการณ์ฝาชีครอบ ปรากฏการณ์ที่มีชีวมวลมาจากฝั่งกัมพูชา มาจากต่างจังหวัด ทิศทางลมเป็นยังไงเนี่ย ผมว่าเราสามารถทำโมเดลคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งมันจะทำให้เกิดกิจกรรม เช่น อาจจะต้องหยุดงานบางส่วน ให้คนอยู่ work from home มากขึ้น เด็กอาจจะต้องอยู่บ้านเรียนหรืออะไรอย่างนี้ เพราะงั้นมันจะทำให้เราเตรียมตัวได้ง่ายขึ้นอะ ผมว่าทั้ง 4 มาตรการนี้ที่เราคงต้องทำ ก็คือกำจัดต้นตอ ป้องกัน บรรเทา สุดท้ายคือเตือนภัยให้ประชาชน ถ้าทำ 4 ข้อครบ จะช่วยบรรเทาได้ แต่ต้องเอาจริงเอาจังนะ

หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี – ไทยสร้างไทย

ปัญหา PM2.5 ก่อน ตนเป็นนักบินมาก่อน PM2.5 เนี่ยมันจะเกิดทุกครั้งที่เกิดความกดอากาศ เพราะฉะนั้นเนี่ยช่วงเปลี่ยนฤดูจะเกิด ศัพท์นักบินเขาเรียกว่า Haze แปลว่าหมอกแดด มันจะเกิดก็คือฝุ่นละอองที่หนัก 2.5 ถ้าความกดอากาศไม่ได้เป็นอย่างภาวะที่มันเหมาะสมที่จะเกิดเนี่ย ฝุ่นละอองเหล่านี้มันก็จะลงมาที่พื้นดินนะครับ แต่กรณีที่มีความกดอากาศพอเหมาะพอสมเนี่ย ไอพวกนี้มันจะน้ำหนักเท่ากับอากาศ เพราะฉะนั้นมันจะฟุ้งโดยที่ไม่ตกลงพื้น เมื่อก่อนมี PM2.5 แต่มันไม่เยอะเพราะมลภาวะไม่เยอะ อันนี้ประเด็นที่หนึ่ง

ประเด็นที่สองเป็น PM2.5 ตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่ทุกวันนี้ PM2.5 ที่มันเยอะเพราะว่าการใช้น้ำมันดีเซลก็มีส่วน การก่อสร้าง สร้างตึก เศษปูนเศษอะไรที่ทุบหิน หรือว่าก่อสร้างผงปูนเนี่ย มันจะมีเศษเล็กๆ ซึ่งเท่ากับ PM2.5 เนี่ย มันทำให้เพิ่ม PM2.5 ในธรรมชาติไปอีก หนึ่ง ปริมาณเยอะมาก สอง เป็น PM2.5 ที่มีพิษ เพราะฉะนั้นเนี่ยเมื่อถึงฤดูที่ 90 วัน ก็คือถึงฤดูที่จะเปลี่ยน ยังไงเนี่ยการวัด PM2.5

โดยเครื่องวัดที่อยู่ใน AirVisual ที่เด็กๆ ใช้แอปพลิเคชั่นอะไรต่างๆ จะเกิด แต่เราจะทำยังไงให้ PM2.5 มันมี PM2.5 ที่มีจำนวนน้อยลง แล้วก็ไม่ได้เป็น PM2.5 ที่มีพิษต่อสุขภาพ อันนี้เราต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนนะครับ เพราะฉะนั้นเนี่ยถึงเวลาพอวัดมาปั๊บมันขึ้นตัวแดง จะบอกว่า เฮ้ย ผู้ว่าฯ ไม่ได้เรื่อง นายกฯ ไม่ได้เรื่อง อะไรอย่างนี้ต้องให้ความเป็นธรรมเขา ว่ามันเกิดแน่ๆ แต่คุณมีหน้าที่ทำให้ฝุ่นพิษมันไม่มี เพราะฉะนั้นเนี่ยมันก็จะเกี่ยวพันกับการใช้น้ำมัน ซึ่งรัฐบาลเอง กทม.เอง ต้องเข้าไปสนับสนุนให้คนเนี่ยใช้เครื่องจักรกลอะไรต่างๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ แล้วคนคิดว่าใช้ไบโอดีเซลจะดี ไม่ใช่นะครับ ไบโอดีเซลเนี่ยอาจจะมีตัวเลขบางอย่างลดลง แต่ว่ามลภาวะที่เกิดขึ้นมีพิษต่อสุขภาพเรามากกว่าดีเซลธรรมดา เพราะว่าเป็นเครื่องยนต์ที่สร้างขึ้นมาสำหรับดีเซล ไม่ได้สร้างขึ้นมาสำหรับไบโอดีเซล

อีกแหล่งนึงก็คือเรื่องการก่อสร้าง เมืองที่มีการก่อสร้างมาก PM2.5 ก็จะเป็นแบบนี้ครับ แล้วการก่อสร้างของเราเนี่ย แทบจะไม่มีการป้องกันอะไรเลย ก็เป็นหน้าที่ของ กทม.เช่นกัน ซึ่งต้องไปดูแล แล้วก็แต่ละตึกที่ถ้าเกิดไม่มีการป้องกัน แล้วมีการไปตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ไม่มีการปิดหูปิดตา แล้วก็ไปรับผลประโยชน์ตอบแทนเนี่ย ไปดูแลตรงนี้ให้ดี แล้วก็ประชาชนในพื้นที่ก็จะโหวตผ่านระบบ DAO (Decentralized Autonomous Organization) ที่ผมบอกนะครับ ในการที่จะไปดูว่าในเขตนั้นทำได้ตามมาตรฐานที่เราเซตเอาไว้หรือไม่ เพราะฉะนั้นเนี่ยมันจะทำให้ PM2.5 เนี่ยลดลง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า