ประมงจังหวัดสมุทรสาคร จัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง ครั้งที่ 1” ณ คลองท่าแร้ง บริเวณวัดยกกระบัตร ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร รวมพลนักล่ากำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ เอเลี่ยนสปีชีส์ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบนิเวศในแม่น้ำต้องเสียหาย วันนี้ (9 กรกฎาคม 2567)
‘ปลาหมอคางดำ’ เป็นวายร้ายที่น่ากลัว เป็นปลาที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วมาก อีกทั้งสามารถปรับตัวได้ดีทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด ข่าวการระบาดของพวกมันทำให้ เกษตรกรรู้สึกเป็นกังวล เนื่องจาก กุ้ง, หอย, ปู และปลา ถือเป็นอาหารชั้นดีที่เสี่ยงจะถูก ‘ปลาหมอคางดำ’ กิน
ก่อนหน้านี้ พบว่า พวกมันอยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา และนครศรีธรรมราช แม้มีประกาศจับและพยายามกำจัด แต่แล้วก็พบว่าพวกมันมาโผล่ที่ จ.สมุทรสาคร
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยความเห็นของ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ซึ่งได้เสนอวิธีจัดการ ‘ปลาหมอคางดำ’ ว่า ถ้าจะกำจัดให้เหลือศูนย์ตัว ต้องเริ่มจากจุดที่อยู่ไกลสุดก่อน เนื่องจากจะเป็นจุดที่มีการกระจายพันธุ์น้อยที่สุด ถ้าไม่ทำเช่นนั้น ไม่เกิน 10 ปี ปลาหมอคางดำ อาจกระจายถึงภูเก็ต และยาวไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านได้ อย่างไรก็ดีในส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็ยังต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมๆ กัน
“ปลาชนิดนี้ขยายพันธุ์ได้ง่าย เรียกว่าต้องกำจัดอย่างบ้าคลั่งทำทุกวิถีทางให้ปลาหมอคางดำหมดไป”
ภาพ สุภัทตรา โพล้งกล่ำ / Thai News Pix