SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเด็นเขย่าวงการเพลงสหรัฐฯ ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ มันไม่ใช่แค่การ Bully เท่านั้น แต่มีเรื่องของกฎหมายการถือสิทธิ Master Rights มาเกี่ยวด้วย จนทำให้ตอนนี้ ศิลปินที่อเมริกา แบ่งข้างเป็นสองขั้ว

จุดเริ่มต้นในเรื่องนี้คืออะไร และเพราะอะไรจึงเกิดดราม่าได้รุนแรงขนาดนี้ Workpoint News จะสรุปเรื่องราวทั้งหมดให้เข้าใจใน 37 ข้อ

 

1) เทย์เลอร์ สวิฟต์ เกิดที่รัฐเพนซิลวาเนีย เธอไม่ได้เกิดมาในครอบครัวนักดนตรี คุณพ่อเป็นโบรกเกอร์หุ้น คุณแม่เป็นผู้จัดการกองทุน อย่างไรก็ตามเธอเองเริ่มสนใจเรื่องดนตรี และเรียนการร้องเพลงตั้งแต่อายุ 9 ขวบ

2) ตอนอายุ 11 เทย์เลอร์กับคุณแม่เดินทางไปที่แนชวิลล์ เมืองแห่งเพลงคันทรี่ และส่งเดโมเทปเสียงร้องของเธอไปตามค่ายเพลงต่างๆ แต่ปรากฏว่าโดนปฏิเสธกลับมา สาเหตุเพราะเทย์เลอร์ ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ทำให้เธอเองต้องพัฒนาตัวเองให้ “มีจุดเด่น” อะไรสักอย่างขึ้นมาให้ได้

3) ตอนอายุ 12 เทย์เลอร์ หัดเล่นกีตาร์ และสามารถแต่งเพลงได้เป็นครั้งแรก ความสามารถเธอเริ่มโดดเด่นขึ้น เทย์เลอร์ได้โอกาสขึ้นไปเล่นดนตรีตามงานต่างๆ แต่ยังไม่มีค่ายไหนสนใจเธอ

4) อายุ 14 เทย์เลอร์ ขึ้นไปเล่นดนตรีที่บลูเบิร์ด คาเฟ่ และไปเข้าตา สกอตต์ บอร์เคตต้า วัย 42 ปี ที่ตอนนั้นทำงานอยู่กับยูนิเวอร์แซล มิวสิค ซึ่งทั้งหน้าตาและเสียงร้อง ทำให้สวิฟต์ไปโดนใจบอร์เคตต้าอย่างจัง เขาบอกเธอไปว่า อยากให้เทย์เลอร์ รอเขาก่อนไม่เกิน 1 ปี เขาจะลาออกจาก ยูนิเวอร์แซล มาตั้งค่ายเพลงเอง และเมื่อเขาตั้งค่าย อยากให้เทย์เลอร์เป็นศิลปินคนแรก

5) เทย์เลอร์ ที่ยังไม่มีใครสนใจ ตอบตกลง และ 1 ปีต่อมา บอร์เคตต้าก็ลาออกจากยูนิเวอร์แซล มาตั้งค่าย Big Machine (BM) และเซ็นเทย์เลอร์จริงๆ โดยประสบการณ์ของบอร์เคตต้าบอกตัวเองว่า สาวน้อยเทย์เลอร์สามารถเป็นสตาร์ของวงการได้ ดังนั้น เขาอยากจะครอบครองเธอเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว

6) ปัญหาคือคุณพ่อ กับคุณแม่ของเทย์เลอร์ ไม่มีประสบการณ์เรื่องวงการเพลงมาก่อนเลย ขณะที่ตัวเทย์เลอร์เองก็แค่อยากมีค่าย ที่ช่วยผลักดันผลงานของเธอ ให้ไปสู่สายตาชาวอเมริกา เธอจึงเซ็นสัญญายก Master Rights หรือลิขสิทธิ์เพลงต้นฉบับทุกเพลงที่เธอแต่งเป็นของค่าย แต่เธอจะได้รับเงินก้อนในการออกแต่ละอัลบั้ม ส่วนแบ่งจากยอดขาย และส่วนแบ่งจากคอนเสิร์ต และงานอีเวนต์

7) สิ่งที่ทั้งค่ายและตัวเทย์เลอร์ไม่คาดคิด คือผลงานของเธอโด่งดังเป็นพลุแตก และทำให้ค่ายลืมตาอ้าปากได้ จากที่มีศิลปินแค่คนเดียว ปัจจุบันค่ายขยายใหญ่ขึ้นและมีศิลปินมากกว่า 120 คน อย่างไรก็ตาม รายได้หลักของค่ายก็ยังคงมาจากเทย์เลอร์ สวิฟต์

8 ) ในปี 2015 รายงานเผยว่า รายได้ทั้งหมด 56.6% ของค่าย มาจากเทย์เลอร์ สวิฟต์ เธอเป็นตัวทำเงินเกินครึ่งของบริษัทเสียอีก

9) สัญญาของเทย์เลอร์กับค่าย เป็นสัญญาระยะยาว 12 ปี เริ่มจากอัลบั้มแรกของเธอ Taylor Swift ในปี 2006 โดยจะสิ้นสุดสัญญาในเดือนพ.ย. 2018

10) ตามกฎหมายของลิขสิทธิ์เพลงที่สหรัฐฯ ผู้ถือ Master Rights สามารถนำเพลงไปทำทุกอย่างได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็น การเอาไปรีมิกซ์, เอาเพลงไปใช้ในโฆษณา, การเอาไปให้คนอื่นคัฟเวอร์ , การรวมอัลบั้มเพลงฮิต , ศิลปินคนใดก็ตามที่เอาเพลงไปร้อง ก็ต้องจ่ายเงินให้ผู้ถือ Master Rights รวมถึงเงินจากยอดดาวน์โหลดใน iTunes หรือ เงินยอดวิวใน Youtube ก็จะตกเป็นของผู้ถือ Master Rights ทั้งหมด

11) เทย์เลอร์ ต้องการเข้าถึง Master Rights ของตัวเองมาตลอด เพราะเธอคิดว่า เธอควรมีสิทธิในผลงานของตัวเอง และขอซื้อ Master Rights กลับคืนมา แต่ค่ายไม่ยอม และยึดสัญญาที่เธอเซ็นไว้ตั้งแต่วันแรกก่อนเข้าวงการ

12) เวลาผ่านไป เทย์เลอร์ออกผลงานไป 6 อัลบั้ม ขึ้นอันดับ 1 บิลบอร์ด 5 เพลง บางเพลงมียอดวิวในยูทูประดับพันล้าน เช่น Blank Space 2.4 พันล้าน , Shake it off 2.7 พันล้าน, Bad Blood 1.2 พันล้าน ซึ่งยอดวิวมหาศาลขนาดนี้ รายได้กลับไปไม่ถึงเธอ เพราะเงินจะเข้าไปสู่ค่ายตามสัญญาที่เซ็นกันไว้

13) เมื่อใกล้หมดสัญญากับ Big Machine เทย์เลอร์ จึงเปิดโต๊ะเจรจา เรื่องสัญญาฉบับใหม่ สิ่งที่เธอเรียกร้องคือสิทธิการเข้าถึง Master Rights ในอัลบั้มที่เธอแต่งไปแล้ว

14) Big Machine รู้ดีว่าที่ผ่านมาก็รับทรัพย์กับเทย์เลอร์มาเยอะมากแล้ว และที่สำคัญพวกเขาเสียเธอไปไม่ได้ จึงตัดสินใจยื่นสัญญาฉบับใหม่ ระยะเวลา 10 ปี ให้เทย์เลอร์พิจารณา พร้อมยืนยันว่าจะยกสิทธิ Master Rights ในเพลงทั้ง 6 อัลบั้มที่เธอแต่งมาแล้วทั้งหมด แต่ว่า Master Rights ในอัลบั้มต่อไปที่จะออก จะยังคงเป็นของค่ายอยู่

15) อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ค่ายเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยูนิเวอร์แซล มิวสิค กรุ๊ป (UMG) เห็นว่าเทย์เลอร์ หมดสัญญากับ Big Machine แล้ว จึงได้ติดต่อเข้ามา เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้เทย์เลอร์ พิจารณา

16) Big Machine เป็นค่ายเล็ก ที่เทย์เลอร์ ประคองทั้งค่ายด้วยตัวเองมาตลอด ตรงข้ามกับ UMG ซึ่งเป็นค่ายใหญ่ ที่พร้อมดูแลเธอทุกๆอย่าง ศิลปินใน UMG คือตัวท็อปของโลกเช่น Lady Gaga, Eminem, Rihanna ฯลฯ ดังนั้นเธอสามารถสร้างโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ร่วมกับศิลปินชื่อดังเหล่านั้นได้

17) ขณะที่ข้อเสนอจาก UMG ก็ดีมากๆจนเกินกว่าที่เธอจะปฏิเสธได้ นั่นคือการยกสิทธิ Master Rights ให้เธอทันทีในทุกเพลงที่เธอแต่ง รวมถึงยอดส่วนแบ่งจาก Spotify แบบ 50:50 โดยสิ่งที่ค่ายต้องการจากเทย์เลอร์ ไม่ใช่เรื่องตัวเงิน แต่เป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่แข็งแกร่งขึ้นต่างหาก ในการได้ศิลปินระดับโลกมาเสริมทีม

“นี่เป็นเงื่อนไขที่มีความหมายกับฉันมากที่สุด ยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น” เทย์เลอร์ สวิฟต์ กล่าว

18) นั่นทำให้เทย์เลอร์ ปฏิเสธข้อเสนอจาก Big Machine และเซ็นสัญญากับ UMG แทน พร้อมกับส่งข้อความไปขอโทษ สกอตต์ บอร์เคตต้า และขอบคุณความหวังดีทุกอย่าง เพียงแต่เธอต้องการเดินหน้าไปสู่ความท้าทายครั้งใหม่

19) จริงๆเรื่องนี้ก็ควรจะจบลงด้วยดี โดยแฮปปี้เอ็นดิ้ง ตัวเทย์เลอร์ที่อำลา BM มา ก็ทิ้งสิทธิ Master Rights ใน 6 อัลบั้มเอาไว้ เพื่อให้ค่ายได้ทำเงินต่อไปเรื่อยๆ จากยอดขายออนไลน์ และ ยอดวิว

20) แต่ดราม่าเกิดขึ้น เมื่อค่าย BM ที่ไม่มีเทย์เลอร์ สวิฟต์แล้ว ได้ประชุมบอร์ดบริหาร และตัดสินใจว่า จะขายค่ายทิ้งให้กับ Ithaca Holdings

21) ในมุมของ Big Machine พวกเขาไม่มีคีย์แมนอย่างเทย์เลอร์อีกแล้ว การทำค่ายต่อไป โอกาสจะทำเงินมหาศาลแบบเดิมอีกก็ยากมาก ดีไม่ดีขาดทุนด้วย ดังนั้นถ้าปล่อยให้บริษัทอื่นมาเทกโอเวอร์ จะได้เงินก้อนมา 300 ล้านดอลลาร์ (9 พันล้านบาท) แล้วหุ้นส่วนบริษัท ก็จะเอาเงินเหล่านี้มาแบ่งกัน

22) แน่นอน Ithaca Holdings จริงๆไม่ได้ต้องการศิลปินคนอื่นในค่าย แต่พวกเขาต้องการสิทธิในการเข้าถึง Master Rights ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เพื่อเอาไปทำการตลาดต่อ จึงยอมจ่ายเงินก้อนนั้นในที่สุด

ปัญหาคือ Ithaca Holdings มีเจ้าของชื่อ สกู้ตเตอร์ บรอน โดยสกู้ตเตอร์คนนี้ เป็นผู้จัดการส่วนตัวของศิลปินดังๆมากมาย เช่น จัสติน บีเบอร์ ,คานเย่ เวสต์, อาเรียน่า กรันเด้, อัชเชอร์ ฯลฯ

23) ซึ่งในอดีตจัสติน บีเบอร์ กับ คานเย่ เวสต์ เคยมีประเด็นดราม่ากับเทย์เลอร์ มาตลอด ตัวอย่างเช่นในปี 2009 ในการประกาศรางวัล MTV ตอนที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ ขึ้นพูดสปีชตอนรับรางวัลมิวสิคหญิงยอดเยี่ยม ระหว่างที่เธอพูด คานเย่ เวสต์ ก็บุกขึ้นเวที แย่งไมค์จากเธอแล้วบอกว่า บียองเซ่ สมควรได้รางวัลนี้มากกว่า

ตอนที่คานเย่ เวสต์โดนสังคมกดดันมากๆ เขาออกมาขอโทษ แต่เวลาต่อมา คานเย่ ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทม์สว่า “ผมไม่ได้เสียใจกับสิ่งที่ทำไป”

24) จากนั้นในปี 2016 คานเย่ เวสต์ ออกซิงเกิ้ลที่ชื่อ Famous เป็นการเอาคนหน้าเหมือนเทย์เลอร์ แก้ผ้าหมด มาแสดงวีดีโอ โดยเนื้อร้องมีท่อนที่เขียนว่า “I made that bitch Famous” หรือฉันทำให้อีนี่มันดังขึ้นมา

25) เทย์เลอร์ พอเห็น MV ก็โมโหมาก และโจมตีคานเย่ ทันที แต่ทว่าคิม คาร์เดเชี่ยน ภรรยาของคานเย่ ก็เปิดเผยคลิป Snapchat ว่าเทย์เลอร์ “โอเคแล้วกับคอนเซ็ปต์” ซึ่งทำให้เทย์เลอร์โดนแฟนๆคานเย่ และ แฟนๆคิม คาร์เดเชียน ด่ายับว่าเป็นพวกโกหก

26) แต่เทย์เลอร์ ออกมายืนยันว่า ที่เธอโอเค ไม่ได้บอกว่าจะให้ต้องเปลือยแบบนี้ และไม่ได้โอเค ว่าจะเรียกเธอว่า Bitch ได้ แต่คนก็ด่าเทย์เลอร์ไปเรียบร้อยแล้ว มีการตั้งแฮชแท็กขึ้นมาว่า #KimExposedTaylorParty (คิมแฉเทย์เลอร์เละ) จนภาพลักษณ์ของเทย์เลอร์ จากคนดี กลายเป็นคนโกหกปลิ้นปล้อน

27) เทย์เลอร์ โกรธทั้งคานเย่ เวสต์ รวมถึงผู้จัดการส่วนตัว สกู้ตเตอร์ บรอน เพราะเรื่องแบบนี้ คนเป็นผู้จัดการต้องรู้อยู่แล้วว่า คานเย่คิดจะทำอะไรอยู่ แต่ไม่เคยคิดห้ามศิลปินของตัวเอง กลับอนุญาตให้ปล่อย MV ที่จงใจจาบจ้วงเธอแบบนี้ได้

28) หลังจากที่คิม คาร์เดเชี่ยน ปล่อยคลิปใน Snapchat ออกมา จัสติน บีเบอร์ ลงภาพเขา กำลังวีดีโอคอล กับ สกู้ตเตอร์ บรอน และ คานเย่ เวสต์ โดยเขียนแคปชั่นว่า “Taylor Swift What up” (ว่าไงจ๊ะเทย์เลอร์ สวิฟต์) ซึ่งแน่นอน มันคือการเยาะเย้ยเทย์เลอร์โดยตรง

29) เมื่อสามเซเล็บ คานเย่ ,คิม และ จัสติน บีเบอร์ รุมเธอ ทำให้เธอโดนพลังของโซเชียลเล่นงานอย่างหนัก ในอินเตอร์เน็ตเธอรู้สึกเหมือนโดนบุลลี่ หรือกลั่นแกล้งตลอดเวลา ทั้งๆที่เธอยังไม่ได้ทำอะไรผิดเลย

30) กลับมาในปัจจุบัน ความรู้สึกของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ คือเธออุตส่าห์ ทิ้ง Master Rights ให้ค่าย BM เอาไว้ เพื่อให้ค่ายหล่อเลี้ยงตัวเองต่อไปได้ในวันที่ไม่มีเธอ โอเคล่ะ ถ้าสุดท้ายค่ายจะขายให้คนอื่นเธอก็เข้าใจได้ แต่สิ่งที่เธอมึนงงที่สุดคือ ทำไมสกอตต์ บอร์เคตต้า ที่รู้จักเธอดีที่สุด กลับกล้าขายให้กับ สกู้ตเตอร์ คนที่เป็นศัตรูอันดับหนึ่งของเธอแบบนั้น

ขายใครก็ได้ แต่ทำไมต้องเป็นคนนี้?

31) เทย์เลอร์ สวิฟต์ จึงเขียนข้อความในใจลงใน Tumblr ว่าเธอเองพยายามขอซื้อ Master Rights ของตัวเองมาหลายปีแล้วแต่เขาไม่ยอมขาย แต่พอสกู้ตเตอร์ บรอน ยื่นข้อเสนอมหาศาลมาให้ ค่ายกลับขายโดยทันที ซึ่งมันทำให้เธอเสียใจมาก ที่งานของตัวเอง ต้องไปตกอยู่ในมือคนที่ชอบกลั่นแกล้งเธอแบบนั้น และเธอก็ไม่รู้เลยว่าเขาจะปู้ยี่ปู้ยำผลงานของเธออย่างไรบ้าง

32) อย่างไรก็ตาม เทย์เลอร์ ก็ทิ้งท้ายไว้ว่า “ขอบคุณสวรรค์ ที่ตอนนี้ฉันเซ็นสัญญากับค่ายใหม่ ที่ยินดีให้ฉันถือครองทุกสิ่งที่ตัวเองสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ฉันทิ้งอดีตเอาไว้ให้สกอตต์ แต่ไม่ได้ทิ้งอนาคตเอาไว้ให้เขาด้วย และหวังว่าต่อไปศิลปินรุ่นหลัง จะได้ศึกษาข้อมูลเป็นอย่างดี ก่อนจะทำสัญญาใดๆก็ตาม เพราะทุกคนสมควรจะเป็นเจ้าของสิ่งที่ตัวเองสร้างสรรค์ขึ้นมา”

33) บทสรุปของเรื่องนี้ เทย์เลอร์ สวิฟต์ จะไม่มีสิทธิ ใน 6 อัลบั้มแรกของเธออีก และการออกคอนเสิร์ต หรืออีเวนต์ หากต้องร้องเพลงใน 6 อัลบั้มแรก ก็ต้องจ่ายเงินส่วนแบ่งให้ค่าย Ithaca Holdings ที่ถือ Master Rights ของเธอไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในอัลบั้มที่ 7 ที่ชื่อ Lover ที่กำลังจะวางแผงในอนาคตกับค่าย UMG ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของเธออย่างสมบูรณ์แบบ

34) ตอนนี้วงการบันเทิงที่สหรัฐฯ จึงแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝั่งเทย์เลอร์ มีการตั้งแฮชแท็ก #WeStandWithTaylor และกระตุ้นให้สหรัฐฯมีการแก้กฎหมายเรื่องสิทธิในผลงานของศิลปิน เพราะมันยุติธรรมหรือ ที่ศิลปินที่เพิ่งเข้าวงการ ต้องยกสิทธิของเพลงตัวเองให้ค่าย เพื่อแลกกับโอกาสในการได้ออกอัลบั้ม ณ เวลานี้ ศิลปินตัวท็อปหลายคน อย่างนิคกี้ มินาจ, ริฮันน่า และ ไมลี่ย์ ไซรัส อันฟอลโลว์ IG ของ สกู้ตเตอร์ บรอน ไปเรียบร้อยแล้ว

35) แต่อีกฝ่าย สกู้ตเตอร์ บรอน ก็มีคนสนับสนุนไม่น้อยเช่นกัน เช่นจัสติน บีเบอร์, คานเย่ เวสต์ รวมถึงครอบครัว คาร์เดเชียน และ เคนดัลล์ เจนเนอร์ คนกลุ่มนี้ก็มองว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ จะเรียกร้องอะไร ในเมื่อ Ithaca Holdings ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การถือครอง Master Rights ของเทย์เลอร์ ก็ไม่ได้ไปโกงใครมา แต่จ่ายเงินอย่างถูกต้อง

36) จากเรื่องนี้ ทำให้ศิลปินในโลก มีความตื่นตัวกับเรื่องลิขสิทธิ์ขึ้นมา และรู้ว่า การทำความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ก่อนที่ตัวเองจะเซ็นสัญญานั้นมันมีความสำคัญแค่ไหน

37) สุดท้ายประเด็นนี้ คงไม่จบดราม่ากันง่ายๆ เพราะเป็นการไฟต์กันของสองฝ่ายที่มีแฟนๆเยอะทั้งคู่

จุดที่คนอยากรู้ที่สุดคือ ในอนาคต เทย์เลอร์ สวิฟต์ ยังจะร้องเพลงในอัลบั้มเก่าของเธออีกหรือไม่ ในเมื่อทุกเพลงที่เธอร้อง มันเป็นการทำเงินให้กับคนที่เป็นศัตรูของเธอ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า