SHARE

คัดลอกแล้ว

งานหนังสือ, จับชีพจร

เหลืออีกเพียง 2 วันเท่านั้น (เสาร์อาทิตย์นี้ 12-13 ต.ค. 62) งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ก็จะจบลง ท่ามกลางเสียงครวญทั้งจากสำนักพิมพ์ที่มาร่วมออกงาน และแฟนหนังสือ ถึงเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทาง

แต่ในความไม่สะดวกที่หลายคนบ่น ก็มีเสน่ห์บางอย่างของงานซ่อนอยู่ ท่ามกลางการเต้นของชีพจรวงการหนังสือในปี 2019 นี้ ที่หลายคนมองว่ายังอยู่ในช่วงขาลง ที่ลงมาเรื่อยๆ จากเหตุ Digital Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากแต่หลายเสียงจากสำนักพิมพ์ผู้ผลิตยืนยันว่า แม้จะเจอผลกระทบ แต่กลุ่มแฟนนักอ่านยังเหนียวแน่น

งานหนังสือ, จับชีพจร

การจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ครั้งนี้ จัดขึ้นโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) โดยจัดงานระหว่างวันที่ 2-13 ต.ค. ภายใต้ธีมงาน หนังสือดีมีชีวิต-  Bring Content to Life” ซึ่งเป็นการนำเสนอเนื้อหาดีๆ ที่ไม่ได้มีอยู่แค่ในหนังสือ ทว่าครั้งนี้ย้ายสถานที่จัดงาน จากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งปิดปรับปรุง 3 ปี ไปจัดที่เมืองทองธานีแทน

แม้ว่าทางผู้จัดงานจะจัดรถโดยสารประเภทต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ร่วมงาน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่บ่นอุบ ซึ่งก็มีหลายแบบ ทั้งไม่มาร่วมงานเลย ทั้งฝากเพื่อนซื้อ และบ่นแต่ก็มา ตัวแทนจากหลายๆ สำนักพิมพ์บอกว่า หากเป็นแฟนนักอ่านจริงๆ ส่วนใหญ่จะมาซื้อหนังสือที่ชอบกันอยู่แล้ว

เอมอร ส่องสว่าง ผู้จัดการฝ่ายขายพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน กล่าวว่า ก่อนจัดงานมีกระแสลบว่ามาไม่สะดวก แต่วันแรกที่เปิดก็ดีกว่าที่คิด เพราะตอนแรกคิดว่าน่าจะแย่กว่านี้

เอมอร ส่องสว่าง, งานหนังสือ, จับชีพจร

เอมอร ส่องสว่าง

“วันธรรมดาคนน้อย ไม่ได้อย่างใจ แต่เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (5 ต.ค.) คนเยอะมาก โดยปกติแล้วยอดขายเราที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะพีคที่สุด แต่ที่นี่วันศุกร์ก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่พอวันเสาร์ถือว่าทุกบูธอาการดีขึ้น แล้วพอวันอาทิตย์ (6 ต.ค.) คนมาแล้วเหมือนยังไม่อยากกลับ น่าจะเพราะด้วยความที่มันเดินทางมายากด้วย เหมือนพยายามจะเดินให้ครบทุกบูธ ก็เป็นอานิสงส์ดีต่อทุกบูธไปด้วย

แต่ถ้าเทียบกับที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ มันมีความแตกต่างกันค่อนข้างเยอะ ทั้งเรื่องการเดินทาง ทั้งเรื่องความรู้สึกในการจัดโซนพื้นที่ ที่นู่นมันรู้สึกเหมือนบ้านตัวเอง มันเหนียวแน่น แต่ที่นี่พื้นที่มันทำให้เราเหมือนต้องทำความรู้จักกันใหม่ ทั้งที่เป็นกลุ่มเดิม ทั้งนักอ่าน นักเขียน สำนักพิมพ์ ซึ่งที่เมืองทองฯ พื้นที่จัดงานกว้างมาก แต่พอจัดโซนพื้นที่ใหม่ก็ทำให้นักอ่านต้องเดินหา บางทีกว่าจะหาเจอก็เหนื่อยแล้ว

จริงๆ ต้องใช้คำว่าขอบคุณนักอ่าน คือเขาก็คงอยากอ่านหนังสือของเขาอยู่แล้ว แต่ขอบคุณที่แม้จะจัดตรงนี้ แต่เขาก็มาหาเรา เรารู้ว่ามันยากแน่ๆ ที่นี่ ทางสำนักพิมพ์ก็ตั้งใจทำหนังสือที่ดีที่สุดเพื่อมามอบให้ แล้วเขาก็ตั้งใจมาเอาหนังสือที่ดีที่สุดจากเรากลับไป แต่ถ้าถามความคาดหวังเรื่องยอดขาย ก็คือต้องทำใจนิดหน่อย มันมีหลายๆ องค์ประกอบ ไม่ใช่เรื่องคนไม่อยากอ่านหนังสือ หรือเรื่องเศรษฐกิจ แต่มีเรื่องการเดินทาง เรื่องที่จอดรถ เรื่องคนมาถึงแล้วไม่ขึ้นมาเดินงานก็มี”

งานหนังสือ, จับชีพจร

ผู้จัดการฝ่ายขายพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงทิศทางการทำหนังสือของสำนักพิมพ์ด้วยว่า ปกติมติชนจะพิมพ์หนังสือแนววิชาการ แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ลองนำหนังสือจากสำนักพิมพ์อื่น ซึ่งจับกลุ่มตลาดอีกกลุ่มนึงมาขาย โดยใช้ชื่อในนามว่า Indy Book ซึ่งได้รับความสนใจจากแฟนนักอ่านไม่น้อย ปีนี้สำนักพิมพ์มติชนจึงเปิดหัวใหม่ ชื่อสำนักพิมพ์บร็อกโคลี่ ทำหนังสือแนวคนรุ่นใหม่ ตอบโจทย์คนในเมือง เป็นแนวใสๆ มีทั้งหนังสือของไทย และหนังสือแปล โดยผลิตหนังสือออกมา 2 เล่มแล้ว รวมทั้งในครั้งนี้ มติชนก็มีหนังสือที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดแฟนนักอ่านแทบทุกเล่ม ยืนยันว่ากลุ่มคนที่รักการอ่านหนังสือเล่มยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่น

เช่นเดียวกับ ชมพูนุท ดีประวัติ บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ a book ที่บอกว่า แม้จะเปลี่ยนสถานที่จัดงานมาที่เมืองทองธานี ซึ่งระบบการบริหารจัดการทุกอย่างดีหมด ติดอยู่เรื่องเดียวคือการเดินทาง แต่แฟนหนังสือก็ยังคงเดินทางมา และไม่เชื่อว่าออนไลน์จะทำลายหนังสือเล่มได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทุกสำนักพิมพ์ต้องไม่ประมาทคือเรื่องคุณภาพของหนังสือ โดยมองว่าเทรนด์การอ่านของคนสมัยนี้ไปทางหนังสือที่ให้ความรู้กันมากขึ้น

ชมพูนุท ดีประวัติ

จริงๆ เราไม่เห็นด้วยกับการที่บอกว่า ออนไลน์จะมาทำลายหนังสือเล่ม เพราะรู้สึกว่า คนอ่านหนังสือเล่มยังไงก็ยังอ่านหนังสือเล่ม เขาไม่ไปอ่าน e-book คนไทยยังไม่ค่อยอ่าน e-book ยังคงซื้อหนังสือเล่มอยู่ คิดว่าคนกำลังชอบอ่านหนังสือที่ให้ความรู้เป็นพิเศษ เช่น เรื่องราวที่ให้ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ เรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งขายดีตลอดเวลา เราก็ทำหนังสือประวัติศาสตร์มาหลายเล่มแล้ว รู้สึกว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก เกินความคาดหมายของเรา แต่ต้องนำเสนอว่าอ่านง่าย เหมือนย่อยมาแล้ว อย่าง ดาราศาสตร์ฉบับเร่งรีบ, ประวัติศาสตร์ไม่ง่วงนะ เป็นต้น

งานหนังสือ, จับชีพจร

ตอนนี้ a book โตขึ้น เมื่อก่อนกลุ่มลูกค้าจะเป็นช่วงอายุ 18-20 ต้นๆ แต่ตอนนี้เป็นประมาณ 25 – 40 ปี คือถ้าสำนักพิมพ์จับตลาดถูก สำนักพิมพ์นั้นก็จะโตขึ้น ขยายขึ้นเป็นธรรมดา อย่างถ้าเป็นหนังสือดารา จะเป็นเนื้อหาบางเบาก็ไม่มีคนอ่านแน่ๆ แต่กลุ่มคนอ่านของแต่ละสำนักพิมพ์ก็ไม่เหมือนกัน คนที่ขายการ์ตูนหรืออะไรก็อาจจะเป็นอีกแนวนึง แล้วสิ่งหนึ่งที่ประมาทไม่ได้ก็คือคุณภาพ พอเราคุณภาพตกปุ๊บ คนอ่านเขาก็จะ feedback ทันที”

อีกสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และขายดีอย่างสม่ำเสมอ ก็คือ สำนักพิมพ์ยิปซี ซึ่งก็ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดย คธาวุฒิ เกนุ้ย กรรมการผู้จัดการ บอกว่า สำนักพิมพ์ยิปซีเปิดมาประมาณ 10 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ทำหนังสือหลายแนว แต่ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่โซเชียลและดิจิตอลเข้ามาแรงๆ ก็ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ซึ่งสายที่ยิปซีถนัดมากที่สุดก็คือประวัติศาสตร์สากล และเมื่อมีแนวทางชัดเจน กลุ่มลูกค้าที่ชอบประวัติศาสตร์สากลก็มุ่งมาหา

งานหนังสือ, จับชีพจร

คธาวุฒิ เกนุ้ย

“จริงๆ ตอนนี้เราก็โดน Digital Disruption เหมือนกันหมด เรื่องยอดก็อาจจะมีหายไปบ้าง แต่ก็ยังพอรับได้ ไปต่อได้ ไม่ถึงกับขาดทุนหรือแย่ไปเลย อันนี้ของยิปซีนะครับ ของสำนักพิมพ์อื่นๆ เราไม่แน่ใจ ยิปซีแฟนคลับเหนียวแน่น ไม่ว่าจะจัดที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ หรือเมืองทองฯ แฟนคลับก็ตามมา คือหนังสือเราปกนึงพิมพ์ประมาณ 2-3 พันเล่ม กลุ่มลูกค้าที่ชอบประวัติศาสตร์สากลก็ไม่ได้โตมาก มันไม่ใช่ตลาด mass แต่เป็นตลาดที่ royalty brand ชัดเจน เป็นตลาดที่มีความเป็น Niche (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) ที่ชัดเจน ช่วงหลังประมาณปีนึงมานี่ แนวหนังสือที่พัฒนาความรู้มันเริ่มมา อย่างของเรามันเริ่มมาจากการประสบความสำเร็จของเซเปียนส์ ซึ่งเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก ทั่วโลกขายได้ถึง 90 ล้านเล่ม ซึ่งเมื่อเซเปียนส์ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยก็มียอดขายค่อนข้างสูงมาก

งานหนังสือ, จับชีพจร

ส่วนสำนักพิมพ์จะใหญ่หรือเล็ก ถ้าถามเรื่องการอยู่รอด ผมว่าขนาดไม่สำคัญเท่ากับแบรนด์หนังสือ ต่อให้สำนักพิมพ์เล็กยังไง อย่างสำนักพิมพ์ของเพื่อนผม เม่นวรรณกรรม เขาเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก แต่แบรนด์เขาชัด ทำพวกวรรณกรรมไทย นักเขียนแนวอินดี้ ซึ่งแฟนคลับเขาก็เยอะ ตามไปทุกที่ Position เขาชัด แฟนคลับก็ตามเขาไปทุกที่เหมือนกัน คือทุกคนตกจากโลกออนไลน์ พีคสุดของสำนักพิมพ์ก็คือปี 2545 หนังสือขายดีสุด ซึ่งตอนนั้นออนไลน์ยังไม่แข็งแรง แต่ตอนนี้ลูกค้ามีโอกาสเลือกจากแพลตฟอร์มใหม่ๆ มากขึ้นเยอะ เราก็ปรับตัวตามกระแสโลก มีเพจต่างๆ รองรับคอมมูนิตี้ของเราอยู่ด้วย”

งานหนังสือ, จับชีพจร

ในขณะที่ เรืองเดช จันทรคีรี นักเขียนและบรรณาธิการมาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก มองว่า ธุรกิจหนังสือหดเล็กลงอย่างรวดเร็ว ด้วยสาเหตุจาก Digital Disruption ซึ่งสำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างเขาต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์การตลาด ที่สำคัญคือต้องทำเป็นเครือข่ายจึงจะไปได้

งานหนังสือ, จับชีพจร

เรืองเดช จันทรคีรี

“ถ้าพูดถึงการอ่านที่ไม่ใช่แค่หนังสือกระดาษ คนอ่านไม่ลดแน่นอน แต่เขาไปอ่านทางโซเชียล อ่านทางจอ คือ คนอ่านตัวหนังสือมากขึ้น แต่คนอ่านหนังสือกระดาษน้อยลง แต่ก็ยังมีอยู่ ไม่มีวันสูญหาย ส่วนสำนักพิมพ์ถ้าจะรอดมันก็ต้องใหญ่ไปเลย กลางๆ นี่ไม่น่าจะรอด กับเล็กไปเลยแล้วมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งไม่ต้องมาแบกเรื่องเงินเดือน แต่เล็กๆ ถ้าจะไปได้ก็ควรทำงานเป็นเครือข่าย ปัญหาคือเราทำเครือข่ายกันไม่เป็น มันจะตายตรงนี้ ทำคนเดียวมันไม่ได้ ก็ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน ร้านหนังสืออิสระก็ยังจำเป็นอยู่ เพียงแต่ประเทศเราไม่ได้ส่งเสริมอย่างชัดเจน แต่ส่วนตัวลุง ลุงทำอยู่แล้ว

ของลุงถือเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ซึ่งพิมพ์หนังสือแนวสืบสวนสอบสวนมาตลอด แต่ในช่วงหลังจากปี 2554 ที่น้ำท่วม ลุงพยายามชวนพรรคพวกมาทำโมเดลใหม่ๆ เช่น มาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด (มวจ.) ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 โมเดลคือ พิมพ์ปกแข็งด้วยจำนวนจำกัด และแบบปกอ่อน ทั้ง 2 ระบบนี้จะเป็นหนังสือระบบหมุนเวียน ให้เปลี่ยนมือได้ อย่างปกแข็งซื้อไปอ่านจบแล้วเราก็มีการซื้อคืนได้ และจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น ส่วนปกอ่อนที่เราทำนี้ก็เพื่อจะเข้าร้านหนังสืออิสระ ซื้อแล้วก็สามารถเอาไปเปลี่ยนเล่มใหม่ได้ โดยเสียค่าเปลี่ยนเพียง 20 บาท เป็นต้น พยายามคิดโมเดลนี้ แต่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ยังไม่รู้ คือถ้าลุงจะทำต่อ ลุงก็ต้องปรับโมเดลตรงนี้ไปเลย จะมาทำแบบเก่าไม่ได้แล้ว

งานหนังสือ

อย่างการจัดงานที่นี่ แน่นอนว่าคนมันมาน้อยลง ถามว่าลุงตกใจไหม ลุงไม่ตกใจเพราะเตรียมใจมาแล้ว ถามว่าปีหน้าถ้าจัดที่นี่อีก บางสำนักพิมพ์อาจไม่มาแล้ว แต่ลุงมาแน่นอน เพราะของลุงมันไม่ได้เน้นยอดขายตั้งนานแล้ว มันขายเพื่อบางทีก็ต้องการจะมาแนะนำโครงการใหม่ๆ ที่เรากำลังจะทำ ซึ่งการจัดงานหนังสือควรเอาผู้อ่านเป็นตัวตั้ง ให้เขาสะดวกในการเดินทาง”

ด้านผู้ซื้อหนังสือที่มางานหนังสือเป็นประจำ อย่าง คุณเจนี่ อายุ 24 ปี พนักงานบริษัท ก็ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวแม้จะมางานหนังสือเป็นประจำ แต่การจัดงานที่เมืองทองฯ หากตนไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะมาซื้อหนังสือที่เป็น Limited Edition ซึ่งมีขายเฉพาะในงานนี้ ก็จะไม่มาเหมือนกัน เพราะเดินทางลำบาก ส่วนเรื่องหนังสือตนเป็นคนที่ยังอ่านอยู่ ชอบอ่านนิยาย ซื้อหนังสือมาตั้งแต่เรียน ม.ปลาย จนตอนนี้เรียนจบมหาวิทยาลัยมา 2 ปีแล้ว ก็ยังซื้อหนังสืออยู่ เพียงแต่เมื่อโตขึ้น แนวหนังสือนิยายที่เคยชอบอ่านก็เปลี่ยนไป

งานหนังสือ

คุณเจนี่ ผู้มาซื้อหนังสือ

“คือถ้ามันไม่มีอะไรที่ดึงดูดมากๆ ก็จะไม่มาถึงนี่ เพราะตอนแรกหนูก็จะไม่มาแล้ว แต่พอมันมีหนังสือที่เขาจำกัดขายแค่ที่นี่ ถึงยอมถ่อมา (หัวเราะ) ที่นี่อาจจะจัดครั้งแรกด้วย มันก็เลยงงๆ ไม่รู้ว่าบูธไหนอยู่ตรงไหน บรรยากาศไม่ได้ต่างจากงานหนังสือที่ผ่านๆ มามาก แต่หลักๆ คือเรื่องการเดินทาง

ส่วนหนังสือที่อ่าน เมื่อก่อนชอบอ่านนิยายรักหวานๆ แนววัยรุ่น แต่พอเราเริ่มโตขึ้นก็เปลี่ยนแนว เพราะนิยายที่เราเคยชอบอ่าน พล็อตเรื่องมันก็ยังเดิมๆ ไม่เปลี่ยน ก็เลยขยับมาอ่านนิยายวายของจีนซึ่งแปลมา เพราะไม่ได้มีแค่เรื่องความรัก แต่มีเรื่องอื่นๆ สอดแทรกด้วย คือตอนนี้หนังสือที่หนูตามอ่าน หนูอยากให้มันมี e-book คือมันจะมีคนประหลาดอยู่ อย่างเช่นหนูเองจะชอบอ่านจาก e-book แต่จะตามหาซื้อหนังสือเล่มมาเก็บไว้ จะไม่อ่านจากหนังสือเล่ม เพราะกลัวหนังสือยับ นอกจากซื้อมาเก็บไว้ ก็อยากสนับสนุนให้เขามีรายได้ด้วย”

งานหนังสือ

คุณแม่กับลูกสาวนักอ่าน

ขณะที่ผู้อ่านซึ่งเป็นคุณแม่และลูกก็มองอีกมุมหนึ่ง โดย คุณสุนิสา วิศิษฎ์วรพร (คุณแม่) อายุ 46 ปี บอกว่า ไม่ว่างานหนังสือจะจัดที่ไหน ก็จะพาลูกไป เพราะต้องการปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านหนังสือเล่ม มากกว่าอ่านจาก e-book เพราะเป็นห่วงลูกเรื่องสายตา และการคลิกเปลี่ยนหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อสมาธิของเด็ก โดยมองว่าการจัดงานที่เมืองทองฯ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งแน่นอนว่าเมืองทองฯ มีปัญหาเรื่องการจราจร แต่เมื่อเข้ามาเดินในงานแล้วก็รู้สึกกว้างขวาง สบายดี แม้อาจจะยังงงๆ ว่าบูธไหนอยู่ตรงไหน ซึ่งอาจเป็นเพราะเพิ่งจัดที่นี่ครั้งแรก แต่ก็ยืนยันว่าถ้าครั้งหน้าจัดที่เมืองทองฯ อีก ก็จะมา ส่วน ด.ญ.ญาดา นิคมรัตน์ (ลูกสาว) อายุ 11 ขวบ บอกว่า ชอบให้จัดงานหนังสือที่เมืองทองฯ มากกว่าที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เพราะเมืองทองฯ กว้างดี

งานหนังสือ

จากนานาทัศนะ ทั้งสำนักพิมพ์ที่พยายามปรับตัว และกลุ่มผู้อ่านที่เป็นนักอ่านจริงๆ ก็น่าจะพอสรุปได้ว่า ชีพจรของวงการหนังสือในไทยจะยังคงเต้นอย่างไม่มีวันหยุด ท่ามกลางสนามที่แวดล้อมด้วยโลกดิจิทัล หากแต่มุมหนึ่งมุมนี้เปรียบเสมือนพื้นที่ส่วนตัว ที่คนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งยังคงหลงเสน่ห์แห่งกระดาษ และเนื้อหาที่น่าอ่านจากหนังสือเล่ม

งานหนังสือ

ใครยังไม่ไป รีบไปเลย ไม่อยากให้พลาด ! หนังสือน่าอ่านเยอะมาก แถมโปรโมชั่นของแต่ละบูธก็น่าสนใจสุดๆ งานมีถึงวันอาทิตย์ที่ 13 ต.ค. 62 นี้เท่านั้น ณ ชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทั้งนี้ ทางผู้จัดงานได้เตรียมรถสาธารณะหลากหลายรูปแบบไว้อำนวยความสะดวก ลองเลือกกันดู >> https://workpointnews.com/2019/10/03/pubat-book-fair-24/

พื้นที่อ่านหนังสือ

โซนอาหาร

งานหนังสือ

เดินเมื่อยก็พักนวด

บริการขนส่งเอกชน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า