แบงก์ชาติขอธนาคารพาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยอย่าง ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ เป็นห่วงแต่ละธุรกิจฟื้นตัวไม่เท่ากัน กลุ่มเปราะบางยังอ่อนไหว หากต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น
วันนี้ (10 ส.ค. 2565) ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) โดย ‘ปิติ ดิษยทัต’ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน เปิดเผยหลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า
คณะกรรมการฯ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพราะเห็นสัญญาณเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวชัดเจน โดยมีแรงส่งไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และคาดว่าภายในปีนี้จะกลับมาฟื้นตัวเท่าก่อนเกิดโควิด-19
[ เตรียมเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปี 65 ]
โดยในการประชุมครั้งหน้า มีโอกาสที่ ธปท.จะปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 เพราะได้แรงหนุนจากการกลับมาเปิดประเทศ การกลับมาจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศที่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้น รวมถึงการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ ต่อเนื่องไปยังปีหน้า (2566)
นอกจากนี้ การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยก็เพื่อดูแลความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ เพราะยอมรับว่าตอนนี้เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ซึ่ง กนง.ก็จับตาตัวเลขเงินเฟ้อต่อเนื่อง แต่เป็นการมอร์นิเตอร์จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ไม่รวมราคาน้ำมัน เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงฝังรากในระบบ ซึ่งเห็นเทรนด์ว่าราคาสินค้ายังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นพอสมควร
อีกปัจจัยที่ทำให้คณะกรรมการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ก็เพื่อยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้า แม้ระยะสั้นในช่วง 1 ปีนี้ คาดการณ์เงินเฟ้อจะปรับขึ้นสูง แต่ระยะกลาง 5-10 ปี จากเสียงของผู้ร่วมตลาดและอัตราพันธบัตรที่ซื้อขายกันในตลาด สะท้อนว่าคาดการณ์เงินเฟ้อระยะกลางยังอยู่ในระดับที่ดี
[ ยังทยอยขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ ]
สำหรับแนวโน้มข้างหน้า แม้อัตราการขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน แต่ กนง.จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทยอยลดการผ่อนคลายของนโยบายการเงิน เพราะเข้าใจว่าระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยตอนนี้ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19
แตกต่างจากประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป และอังกฤษ ที่ฟื้นตัวไปมากไปแล้ว จึงมีความเสี่ยงชะลอตัวลงในปีหน้า ซึ่ง ธปท.มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังมาถึงจะไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
แม้จะมีกรรมการ 1 ท่านโหวตขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ก็ตาม ซึ่งกรรมการท่านดังกล่าวมีมุมมองว่า กนง.ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตอนนี้มากกว่า 0.25% เพื่อรับมือกับปัจจัยไม่แน่นอนในอนาคต ในกรณีที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมากในระยะข้างหน้า แต่การประเมินทิศทางเศรษฐกิจไม่ได้แตกต่างกัน
ในส่วนของเงินเฟ้อที่ปีนี้เพิ่มขึ้นเพราะราคาพลังงานและอาหารสดเป็นหลัก คาดว่าจะทำจุดสูงสุดในไตรมาส 3 ปีนี้ และจะทยอยปรับตัวลงในปีหน้า โดยเชื่อว่าปัญหาด้านอุปทาน ทั้งในส่วนของพลังงานและราคาอาหารสด จะทยอยคลี่คลายลง หรืออย่างน้อยก็ไม่ซ้ำเติมเงินเฟ้อจากตอนนี้
[ ขอธนาคารไม่เร่งเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก ]
อีกหนึ่งประเด็นที่อยากกล่าวถึง คือ การส่งผ่านดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไปยังระบบ ทั้งในส่วนของเงินกู้และเงินฝาก อยากให้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะแต่ละธุรกิจมีการฟื้นตัวแตกต่างกัน กลุ่มเปราะบางยังมีความอ่อนไหวต่อต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นพอสมควร
จากข้อมูลในอดีต เชื่อว่าการส่งผ่านนโยบายการเงินของธนาคารพาณิชย์จะไม่ได้เต็มที่ 100% คาดว่าจะเห็นเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เช่น ไม่ประกาศขึ้นดอกเบี้ยทันที และขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนั้น 3-4 เดือน หรือไม่ได้ปรับขึ้นในอัตรา 1 ต่อ 1 เป็นต้น
ครั้งนี้จากที่หารือกับธนาคาร แบงก์เองก็ยังเป็นห่วงกลุ่มเปราะบาง เช่น ลูกค้าสินเชื่อบุคคลรายย่อย และลูกค้า SMEs รายเล็ก โดยเฉพาะในสาขาธุรกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งหากขึ้นดอกเบี้ยแล้วกระทบกลุ่มนี้ ท้ายที่สุดก็จะกลับมาเป็นต้นทุนของธนาคารที่ต้องดูแลหนี้เสีย
ในส่วนของ ธปท.ยังคงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้หนี้เดิม การแก้หนี้ใหม่ การไกล่เกลี่ยหนี้ ฯลฯ รวมถึงมีการขยายระยะเวลามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPL) และกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย
สำหรับค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษเข้ามาดูแล เพราะเป็นการอ่อนค่าตามทิศทางเดียวกับภูมิภาค รวมถึงไม่มีสัญญาณความเสี่ยงของเงินทุนเคลื่อนย้าย
‘นโยบายการเงินที่ดำเนินต่อเนื่องมาถึง 2 ปี ตอนนี้ถึงเวลาผ่อนคันเร่งแล้ว กนง.จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% โดยยืนยันว่าในระยะถัดไป จะทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจ‘
[ มั่นใจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่กระทบเงินเฟ้อ ]
เมื่อสอบถามถึงกระแสข่าวปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเร็วกว่าคาดการณ์ ธปท.ชี้ว่า ตอนนี้ตลาดแรงงานก็มีแนวโน้มดูดีขึ้นต่อเนื่องทั้งกลุ่มรายได้ต่ำ รายได้ปานกลาง และรายได้สูง
อย่างไรก็ตาม สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คาดว่าจะไม่กระทบต่อการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้า หรือภาวะเงินเฟ้อ เพราะในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 เห็นการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปยังอาชีพอิสระ ค้าขายบน e-Commerce และอาชีพอื่นๆ มากขึ้น