Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เทเรซ่า เมย์ ต้องสังเวยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร เพราะเธอไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง Brexit ได้

จากนั้นบอริส จอห์นสัน นายกฯคนใหม่ ที่เข้ามาแทน ก็มีการวิเคราะห์กันว่า เป้าหมายแรกที่เขาต้องทำคือ เคลียร์ปัญหา Brexit ให้ได้ราบรื่นที่สุด

Brexit คืออะไร และทำไมถึงเป็นปัญหาที่รุนแรงถึงขนาดนายกฯต้องประกาศลาออก Workpoint News จะสรุปให้เข้าใจภายใน 18 ข้อ

1) ในปี 1990 ฝรั่งเศส และเยอรมัน มีข้อเสนอให้จัดตั้งสหภาพยุโรป เพื่อช่วยเหลือกันเรื่องนโยบายต่างประเทศ และนโยบายความมั่นคง เพราะการรวมหลายประเทศในยุโรปด้วยกัน จะมีความเป็นปึกแผ่น และมีอำนาจในการต่อรองกับมหาอำนาจในทวีปอื่นๆ ทั้งอเมริกาเหนือ และเอเชีย

มี 12 ชาติสมาชิก ตอบตกลง รวมอยู่ในสหภาพยุโรป (EU) ในปี 1992 โดยสหราชอาณาจักร (UK) เป็นหนึ่งในนั้น

ก่อนที่ในเวลาต่อมา EU จะเพิ่มชาติสมาชิกสูงสุดถึง 28 ประเทศ

2) พอสหภาพยุโรปถูกจัดตั้งขึ้น ชาติที่อยู่ในสมาชิกของ EU สามารถเคลื่อนย้ายแรงงาน เงินทุน บริการ และสินค้าได้อย่างอิสระ โดยไม่มีกรอบของเชื้อชาติมาขวางไว้

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีพาสปอร์ตชาติใน EU คุณสามารถไปทำงานที่ไหนในยุโรปก็ได้ ไม่ต้องขอ Work Permit

เป็นคนเยอรมัน แต่มีความสามารถก็ไปทำงานที่สเปนได้ หรือเป็นคนโปรตุเกสแต่ถ้ามีโอกาสที่ฮอลแลนด์ ก็สามารถย้ายไปทำได้เลย โดยไม่ยุ่งยาก

เท่ากับว่าประชาชนในชาติ EU ก็มีโอกาสได้งานมากขึ้น จากเดิมมีโอกาสหางานแค่ในประเทศตัวเอง คราวนี้มีโอกาสหางานได้ถึง 28 ประเทศ

ขณะที่องค์กรที่ต้องการหาแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆ จากเดิมมีชอยส์ผู้สมัครแค่ในประเทศตัวเอง ก็สามารถไปดึงแรงงานชาติอื่นๆมาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะที่สินค้าไม่ว่าจะผลิตที่ไหน สามารถถูกส่งไปขายในชาติสมาชิก EU ได้หมด โดยไม่มีกำแพงภาษีมากั้น

จากเดิมถ้าผลิตสินค้าในอังกฤษ ก็สามารถขายได้แค่คนในประเทศตัวเอง 60 ล้านคน แต่เมื่อเข้าร่วมกับ EU สินค้าชิ้นเดียวกัน สามารถถูกส่งไปขายให้คนทั้ง EU กว่า 500 ล้านคนได้ โดยไม่โดนเก็บภาษี

ในทางทฤษฎีแล้วการรวมกันของ EU เป็นการเพิ่มพลังของชาติสมาชิกยุโรปให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

3) ปี 2009 EU ได้ทำสนธิสัญญาลิสบอนขึ้นมา โดย 28 สมาชิก ต้องสละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้กับสหภาพยุโรป

– เรื่องภาษี
– การแข่งขันระหว่างประเทศ
– ด้านการเงิน
– การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
– นโยบายการค้าร่วม

ในช่วงนี้ หลายประเทศเริ่มตั้งคำถามกับ EU ว่าดีหรือไม่ ถ้าประเทศของตัวเอง ต้องเสียอำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่งให้ส่วนรวม เพราะถ้า สหภาพยุโรปออกนโยบายอะไรสักอย่าง ที่ประเทศตัวเองเสียประโยชน์ก็อาจจะต้องทำใจยอมรับไป อย่างเลี่ยงไม่ได้

4) ปัญหาที่ทำให้ UK ต้องการออกจาก EU คือเรื่องของผู้อพยพ

การเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างอิสระ ข้อดีคือคนในประเทศสามารถออกไปหางานที่อื่นได้ แต่ข้อเสียคือ คนต่างชาติก็สามารถเข้ามาแย่งงานคนในอังกฤษได้เช่นกัน

UK ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ซึ่งเป็นภาษาพื้นฐาน ชาติไหนก็สามารถฝึก และเรียนรู้ได้ง่าย ส่งผลให้มีแรงงานต่างแดน แห่เข้ามาในประเทศอย่างล้นหลาม

นอกจากนั้น สหภาพยุโรปมีแผนให้ความช่วยเหลือ รับผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลาง ซึ่งคนอังกฤษส่วนหนึ่งกังวลใจว่า จะนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆอีกเพียบ ทั้งการแย่งงานคนท้องถิ่น และการก่อการร้าย

5) คนที่เริ่มสงสัยใน EU เริ่มพูดถึงข้อเสียของการเป็นสมาชิก EU อีกมากมาย เช่น UK ต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกมากกว่า 8,500 ล้านปอนด์ต่อปี (ราว 3.5 แสนล้านบาท) ซึ่งไม่รู้ว่า UK ได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน

มีการตั้งคำถามว่าถ้า UK ออกจาก EU สามารถเอาเงิน 8,500 ล้านปอนด์ก้อนนี้ มาพัฒนาสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ให้คนในประเทศ ยังจะเป็นประโยชน์เสียกว่า

6) ความเห็นของประชาชน ใน UK เริ่มแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน คือพวกต้องการออกจาก EU (Leave) และ พวกต้องการอยู่ต่อ (Remain)

Leave คือแยกตัวออกมา และให้ UK ยืนเป็นเอกเทศ ไม่โดนรุกล้ำอธิปไตย และไม่เปิดรับผู้ลี้ภัยมากไปกว่านี้ เพื่อรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศเอาไว้

Remain คือยังอยู่ใน EU ต่อ โดยมีสหภาพยุโรป คอยหนุนหลัง ทำให้การต่อรองทางการค้าของอังกฤษ กับชาติอื่นๆในโลกยังคงเข้มแข็ง ขณะที่สินค้า และแรงงานอังกฤษ ก็ยังไปตีตลาดในยุโรปได้เช่นเดิม

7) ท่ามกลางบรรยากาศการโต้เถียงที่มีมากขึ้น ปี 2015 นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม จึงเสนอสัญญาประชาคมว่าถ้าหากได้รับเลือกอีกสมัย จะจัดทำประชามติให้ชาว UK ได้ตัดสินใจกันไปเลย ว่าจะอยู่ต่อ หรือจะออกจาก EU

แม้ตัวคาเมรอน จะสนับสนุนการ Remain แต่ถ้าหากเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศเลือกจะ Leave เขาก็จะยอมรับ

8) ปี 2016 การประชามติเกิดขึ้น และเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ เลือกจะ Leave เอาชนะ Remain ไปอย่างเฉียดฉิว

ประชาชน 51.9% เลือก Leave และ 48.1 เลือก Remain นั่นทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน คือ เอาประเทศ UK ออกจาก EU ให้ได้

กระบวนการ Leave ถูกเรียกว่า Brexit ซึ่งเป็นคำสนธิ ระหว่าง Britain กับ Exit นั่นเอง

แต่เมื่อผลประชามติออกมา นายกฯ เดวิด คาเมรอน ที่สนับสนุนฝ่าย Remain มาตลอด ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง โดยเป็นเทเรซ่า เมย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน ขึ้นมารับตำแหน่งนายกฯ คนต่อไป

9) หลังจากผลโหวตออกมา คนอังกฤษหลายคนเริ่มเห็นว่า การออกจาก EU นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และมีผลเสียหลายอย่าง

จากที่เคยได้ประโยชน์จากตลาดรวม อังกฤษต้องดิ้นรนอย่างลำพัง แถมต้องไปเจรจากับ EU เพื่อนำสินค้าเข้าไปขายในยุโรป

การเลือก Leave แปลว่ารัฐบาลอังกฤษต้องจัดการเรื่องแรงงานผู้อพยพ อาจมีการส่งตัวกลับประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น แล้วตำแหน่งงานที่ว่างลง จะมีใครทำแทน

มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษก็จะถดถอย ปริมาณการซื้อก็จะลดลง จากเดิมมีลูกค้าทั่วยุโรป แต่ถ้าอังกฤษออกจาก EU ชาติอื่นๆในยุโรปก็จะลังเลในการซื้ออสังหาฯที่อังกฤษ

ส่วนกระทรวงการคลังของอังกฤษ วิเคราะห์ว่าถ้า UK ถอนตัวจาก EU แล้ว เศรษฐกิจจะถดถอย และประเทศจะยากจนลงเป็นเวลาขั้นต่ำ 15 ปี

10) สำหรับนายกฯคนใหม่ เทเรซ่า เมย์ จึงเกิดเป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก

นั่นเพราะนักวิชาการทั่วโลก และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ยืนยันว่าถ้า UK ออกจาก EU ประเทศจะสูญเสียอย่างมหาศาล

ถ้าหากเธอดึงดันจะ Leave แล้วประเทศล่มจมขึ้นมา เธอและพรรคอนุรักษนิยมก็อาจถูกตราหน้า ว่าเป็นคนสร้างความตกต่ำให้กับประเทศ

แต่ถ้าหากเธอไม่ยอม Leave มันก็แปลว่า เธอไม่ยอมเคารพเสียงของประชาชนเกินครึ่งประเทศ ที่ผ่านการทำประชามติมาแล้ว ซึ่งอังกฤษถือเป็นประเทศที่ภูมิใจในประชาธิปไตย ที่เคารพเสียงของประชาชน

11) เทเรซ่า เมย์ จึงต้องหาทางออกแบบ “ครึ่งทาง” นั่นคือ Soft Brexit ออกจาก EU แบบ “นุ่มนวล”

กล่าวคือ มีข้อตกลงบางอย่างที่เอื้อให้ประโยชน์กับ UK ไม่ใช่หักดิบออกจาก EU มาดื้อๆ

รัฐบาลของเมย์ ไปตกลงกับ EU จนได้ข้อเสนอ Soft Brexit นั่นคืออังกฤษยอมจ่ายเงิน 39,000 ล้านปอนด์สำหรับการออกจากสมาชิก แต่ยังจะได้สิทธิการค้าปลอดภาษีกับชาติในยุโรปอยู่

แต่สิทธิหลายๆอย่างที่เคยได้รับในสมัยเป็นสมาชิก EU ก็ยังคงต้องหายไปเช่นเดิม รวมถึงประเด็นแรงงานเสรีด้วย

เทเรซ่า เมย์ ยื่นร่างข้อตกลง Soft Brexit ไปให้สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ได้ลงคะแนนเสียงว่าจะยินดี “รับ” หรือไม่

ปรากฏว่า สภาอังกฤษ ลงมติไม่รับร่างของเทเรซ่า เมย์

12) สส.ในสภา มองว่าข้อตกลงที่เธอเสนอ มันย่ำแย่กว่าการ Remain และ UK จะเสียเปรียบฝั่ง EU แบบชัดเจนมาก

ทั้งฝ่ายรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม และฝ่ายค้านพรรคแรงงาน ต่างแนะนำให้เทเรซ่า เมย์ ทำข้อตกลงกับ EU ว่า ขอสิทธิประโยชน์เรื่องการค้า และแรงงาน ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด แต่ขอแค่ให้ UK ออกมาจาก EU

ซึ่งแน่นอน ทาง EU ยอมไม่ได้ เพราะถ้า UK ทำได้ ชาติอื่นๆใน EU ก็จะทำได้เช่นกัน ออกจากสหภาพไปเฉยๆ โดยไม่เสียอะไรเลย

เทเรซ่า เมย์ ปรับแก้ข้อตกลงแบบ Soft Brexit ไป 4 ครั้ง เพื่ออย่างน้อย ระบบเศรษฐกิจที่เจรจากับ EU ก็ยังคงไม่พังทลาย แต่สภาอังกฤษ โหวตปัดตกหมดทั้ง 4 รอบ

13) ความนิยมในตัวเทเรซ่า เมย์ จึงตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะเธอไม่สามารถหาข้อเสนอ Soft Brexit ที่ดีพอจะชนะใจรัฐสภาได้

อยู่ไปก็แก้ปัญหา Brexit ไม่ได้ และยิ่งทำให้ความนิยมของพรรคอนุรักษนิยมตกต่ำลงเรื่อยๆ นั่นทำให้ เทเรซ่า เมย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 มิถุนายน 2019

14) เส้นตายของการ Brexit คือวันที่ 31 ตุลาคม 2019 ถ้าหากรัฐสภาอังกฤษ ไม่เห็นชอบกับข้อเสนอใดๆเลย UK จะต้องออกจาก EU ด้วย No-Deal Brexit กล่าวคือออกแบบไร้ข้อตกลงโดยสิ้นเชิง

อังกฤษจะกลายเป็นประเทศเอกเทศ ต้องเจรจาทุกอย่างกับ ประเทศในสหภาพยุโรปใหม่หมดตั้งแต่ต้น ไม่มีข้อเสนอพิเศษใดๆเกี่ยวกับการค้า เศรษฐกิจ และแรงงาน

สื่อมวลชน ชี้ว่าถ้าหาก No-Deal Brexit เกิดขึ้น จะเป็นหายนะอย่างสิ้นเชิงต่ออังกฤษ เพราะจะเสียผลประโยชน์ทุกอย่าง และต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด

คนอังกฤษที่ไปทำงานในยุโรป จากที่เคยเป็นอิสระ ก็ต้องขอ Work Permit สินค้าที่เคยเข้าไปขายในยุโรปก็ต้องโดนกำแพงภาษี ทุกอย่างจะวุ่นวายมาก

15) ศาลยุติธรรมยุโรป ระบุว่า ถ้าอังกฤษยุติกระบวนการทั้งหมด ก็สามารถกลับมาอยู่ใน EU ได้ตามปกติ

แต่สำหรับพรรคอนุรักษนิยม ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะถ้าพวกเขายุติกระบวนการ ก็แปลว่าไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ทำการประชามติกันมาแล้วว่าอยาก Leave มากกว่า

16) 23 กรกฎาคม 2019 พรรคอนุรักษนิยม แต่งตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ได้แก่ บอริส จอห์นสัน นักการเมืองวัย 55 ปี ที่เป็นสายสนับสนุนการ Leave แบบเต็มตัว

17) ทางออกของบอริส จอห์นสัน ที่สื่อวิเคราะห์กันตอนนี้มีอยู่ 3 ข้อ

ข้อแรกคือ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ และประกาศนโยบายว่า ถ้าเลือกตั้งชนะในคราวนี้ อังกฤษจะไม่ถอนตัวจาก EU เนื่องจากได้ศึกษาข้อดีข้อเสียมาหมดแล้ว

แต่นี่ถือเป็นวิธีที่เสี่ยง เพราะเทเรซ่า เมย์ เคยใช้วิธียุบสภามาแล้วในปี 2017 และเสียงของพรรคอนุรักษนิยม ลดลง 13 เสียง ส่วนพรรคฝ่ายค้าน พรรคแรงงานเพิ่มขึ้น 30 เสียง

ดังนั้นการยุบสภา เผลอๆ อาจทำให้พรรคแพ้การเลือกตั้ง และนายกรัฐมนตรีอาจเปลี่ยนขั้ว โดยที่ตัวบอริส จอห์นสัน ยังไม่ทันได้ทำงานอะไรเลยก็ได้

ยิ่งไปกว่านั้น อย่าลืมว่าตัวบอริสมีเจตจำนงอยาก Leave แต่แรก ดังนั้นเมื่อมีโอกาสพาประเทศออกจาก EU เขาคงเดินหน้าแน่นอน

ข้อ 2 คือ หาข้อเสนอที่ดีที่สุด เพื่อทำให้ Soft Brexit เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งต้องเป็นข้อเสนอที่ทั้ง EU และ รัฐสภาอังกฤษยอมรับ

แต่วิธีนี้ก็ยากเช่นกัน เพราะเทเรซ่า เมย์ พยายามมาตลอด 2 ปีเศษที่เธอเป็นนายกฯ ก็ยังทำได้ไม่สำเร็จ ถ้าหากบอริส จอห์นสันทำได้ เขาต้องมีวิสัยทัศน์ และไอเดียที่ดีเยี่ยมจริงๆจนทุกฝ่ายยอมรับได้หมด

และข้อ 3 No-Deal Brexit คือไม่สามารถตกลงอะไรกันได้แล้ว อังกฤษต้องออกจาก EU แบบไร้เงื่อนไข

บอริส จอห์นสันยอมรับว่า No-Deal Brexit มีโอกาสเกิดขึ้นจริง แต่ก็มีข้อดีคือ อังกฤษจะได้อำนาจอธิปไตยสมบูรณ์แบบกลับมาอีกครั้ง นอกจากนั้นยังสามารถรื้อฟื้น และสานต่อนโยบายที่ชะงักไว้นานให้กลับมาคืนชีพได้อีกด้วย

บอริส ได้กล่าวว่า ถ้าสุดท้ายแล้วไม่สามารถตกลง Soft Brexit ได้ ทุกฝ่ายต้องยอมรับผลที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม

18) บทสรุปของ Brexit ว่าจะจบอย่างไร จะมีในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งเชื่อว่า ทาง EU จะไม่ยอมให้เลื่อนอีกต่อไปแล้ว

โดยทางอังกฤษต้องตัดสินใจว่า จะอยู่ต่อ หรือจะออก และถ้าออกจะออกในรูปแบบใด จะเป็นการออกแบบ No-Deal จริงๆ หรือไม่

เวลาของบอริส จอห์นสัน ในการแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ตอนนี้เหลือเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า