Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ท่าทีของไทยในเวทีโลก ถูกกลับมาจับตามองอีกครั้ง จากการที่ไทยเดินหน้าเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นชาติอาเซียนแรกที่เข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือนี้

แม้ในมุมหนึ่งนี่จะเป็นโอกาสในการเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยชี้ว่า เป็นการเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ แต่หลายฝ่ายก็แสดงความกังวลว่า การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ซึ่งถูกมองว่าอยู่คนละฝ่ายกับชาติตะวันตก จะทำให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชาติตะวันตกหรือไม่

วันนี้สำนักข่าวทูเดย์ จะกางรายละเอียดมาดูเพื่อช่วยกันชั่งน้ำหนักว่า การเข้าร่วมความร่วมมือนี้จะเป็นโอกาสหรือความเสี่ยงของไทยมากกว่ากัน

ไทยเดินหน้าเข้าร่วม BRICS

เมื่อวานนี้ (28 พ.ค.) ที่ประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS

โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567 จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

โดยในการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 15 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเอกสารการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS หลักการชี้แนะ มาตรฐาน หลักเกณฑ์ และกระบวนการขยายสมาชิก ซึ่งกำหนดกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จำนวน 6 ขั้นตอน และมีหลักการแนวทางสำหรับการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS เช่น วัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS ในการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ 3 เสา (1) การเมืองและความมั่นคง (2) เศรษฐกิจและการเงิน (3) ความร่วมมือทางวัฒนธรรมและในระดับประชาชน การสนับสนุนการปฏิรูปสหประชาชาติอย่างรอบด้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย และเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีตัวแทนเพิ่มขึ้นในคณะมนตรีฯ

มาตรฐานและหลักเกณฑ์สำหรับการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS เช่น มีความสัมพันธ์ทางการทูตและความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัฐสมาชิกกลุ่ม BRICS ทั้งหมด ยอมรับถ้อยแถลงและปฏิญญาต่างๆ ของกลุ่ม BRICS เป็นต้น

โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการยกร่างหนังสือแสดงความประสงค์ฯ โดยระบุวิสัยทัศน์ของไทยที่ให้ความสำคัญต่อระบบพหุภาคีนิยมและการเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกลุ่ม BRICS

โฆษกรัฐบาลระบุว่า การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อไทยในหลายมิติ เช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่

รัสเซียเดินเกมรุก ดึงนานาชาติร่วม BRICS หาเพื่อนต้านตะวันตก?

ความร่วมมือ BRICS มีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งในปี 2006 ได้แก่บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ต่อมาในปี 2010 มีแอฟริกาใต้เข้าร่วม โดยในปีนี้มีกำหนดเชิญชาติสมาชิกเข้าร่วมเพิ่มเติมในนาม BRICS+ ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนตินา และซาอุดีอาระเบีย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เพิ่งกล่าวโน้มน้าวให้ผู้แทนจากทุกประเทศที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับกลุ่ม BRICS เข้าร่วมการประชุมที่ในปีนี้รัสเซียเป็นเจ้าภาพ ประธานาธิบดีรัสเซียยังย้ำด้วยว่า รัสเซียกำลังมองไปข้างหน้าถึงการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพกับทุกประเทศที่อยู่วงโคจรของ BRICS

จากการเปิดเผยของนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเมื่อต้นปีที่ผ่านมาระบุว่า มีหลายประเทศแสดงความสนใจที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS รวมถึงเวเนซุเอลา ไทย เซเนกัล คิวบา คาซัคสถาน เบลารุส บาห์เรน และปากีสถาน

ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น ซีเรีย ตุรกี นิการากัว อินโดนีเซีย และซิมบับเว ก็ได้แสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วม BRICS เช่นกัน แต่ยังไม่ได้สมัครเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ

ในครั้งนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเชื่อว่า อนาคตที่สดใสรออยู่ข้างหน้า พร้อมให้คำมั่นว่ารัสเซียในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ปีนี้ จะช่วยให้แน่ใจว่าสมาชิกใหม่มีความเกี่ยวข้องโดยพื้นฐานกับงานร่วมกันของกลุ่ม และมีส่วนช่วยเสริมสร้างแนวโน้มเชิงบวกไม่เพียงแต่ใน BRICS เท่านั้น แต่ยังรวมถึงในเวทีระหว่างประเทศด้วย

การรวมกลุ่มตามกรอบความร่วมมือ BRICS ที่มีชาติมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย และชาติหลักในแต่ละภูมิภาคอย่างบราซิลกับแอฟริกาใต้ ทำให้ถูกมองว่าเป็นความร่วมมือที่ต้องการท้าทายชาติตะวันตก

ความร่วมมือ BRICS ยังเป็นความร่วมมือขนาดใหญ่ที่รวมเอาประชากร 3,500 ล้านคน เข้าด้วยกัน ซึ่งคิดเป็นประชากร 45% ของทั้งโลก อีกทั้งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 28% ของมูลค่ารวมเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

ในปี 2014 ชาติสมาชิกกลุ่ม BRICS ยังได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) เพื่อให้เงินกู้แก้ประเทศที่ต้องการใช้ในการพัฒนาประเทศ ท่ามกลางการจับตาว่า นี่เอาจเป็นหนึ่งในแนวทางที่จีน ชาติสมาชิกหลังของ BRICS พยายามเสริมสร้างอำนาจและอิทธิพลต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา

ขณะที่การผลักดันในกลุ่มสมาชิกให้สร้างสกุลเงินของกลุ่ม BRICS ขึ้นมาเพื่อลดอิทธิพลของสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความพยายามลดอิทธิพลของสหรัฐฯ โดยตรง อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการประกาศแผนจัดตั้งสกุลเงิน BRICS ออกมาอย่างชัดเจน ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า อาจมีการประกาศสกุลเงินดังกล่าวเร็วๆ นี้

ส่วนการมีอยู่ของชาติสมาชิกอย่างรัสเซียและอิหร่าน ยิ่งทำให้ถูกตอกย้ำภาพเป็นความร่วมมือที่อยู่คนละฝั่งกับชาติตะวันตกยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในปีนี้ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ มีการจับตาว่า ทางการรัสเซียพยายามผลักดันให้บทบาทของ BRICS เพิ่มมากขึ้นในระบบการเงินระหว่างประเทศ และแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นว่า รัสเซียยังมีเพื่อนและพันธมิตรอยู่ทั่วโลก แม้จะเดินหน้ารุกรานยูเครนจนถูกชาติตะวันตกประณามและคว่ำบาตรก็ตาม

อาร์เจนตินาถอนตัว ซาอุฯ ยังไม่ชัวร์ร่วม BRICS

แม้กรอบความร่วมมือ BRICS จะมีหลายชาติ รวมทั้งประเทศไทยเดินหน้าแสดงความจำนงจะเข้าร่วม แต่ก็มีบางชาติที่ตัดสินใจถอนตัวหรือมีสถานะไม่ชัดเจน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจาก การถูกมองว่านี่เป็นกรอบความร่วมมือที่เลือกข้าง หรือคนละฝ่ายกับชาติตะวันตกหรือไม่

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ อาร์เจนตินา ที่ประกาศถอนตัว ไม่เข้าร่วมกลุ่ม BRICS เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยเป็นการตัดสินใจของประธานาธิบดีฆาบิเอร์ มิเลย์ ที่มีจุดยืนชัดเจนว่า ต้องการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศของอาร์เจนตินาให้แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนอย่างสิ้นเชิง

การประกาศเปลี่ยนทิศทาง ไม่เข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS แทบจะเป็นนโยบายแรกๆ ของผู้นำอาร์เจนตินาคนใหม่ โดยเกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีมิเลย์ขึ้นสู่ตำแหน่งเพียง 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า อาร์เจนตินาจะยังคงเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีกับประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ต่อไป โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยไม่ขอเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

จริงๆ แล้ว ท่าทีของผู้นำอาร์เจนตินา ซึ่งอดีตทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ในการตัดสินใจนำประเทศออกจากกลุ่ม BRICS ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก เพราะในระหว่างการหาเสียง เขาแสดงท่าทีชัดเจนต่อการต่อต้านประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เช่น จีน รวมไปถึงการแสดงความไม่พอใจต่อประเทศเพื่อนบ้านของอาร์เจนตินาอย่างบราซิลด้วย

ขณะเดียวกัน เขายังแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการเป็นพันธมิตรกับชาติตะวันตกที่ถูกระบุว่าเป็นชาติเสรี

ส่วนท่าทีของซาอุดีอาระเบีย ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ชัดเจน เพราะตามกำหนดแล้ว ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในปีนี้เช่นกัน แต่ก็มีการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ซาอุฯ เองว่า รัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือนี้

รายงานของสำนักข่าวทาส (Tass) สื่อทางการรัสเซียเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา รายงานอ้างการยืนยันของเอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำรัสเซีย ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทาส ยืนยันว่า ซาอุดีอาระเบียยังไม่ได้รับรองว่าจะเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือ BRICS โดยระบุว่ายังอยู่ในกระบวนการ ก่อนจะหวังว่าในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ที่รัสเซียซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น จะมีความคืบหน้าในเรื่องนี้

ชั่งน้ำหนัก ไทยร่วม BRICS โอกาสหรือน่าห่วง?

คำถามก็คือ การแสดงความจำนงเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ของไทยจะถูกมองในมุมไหน

รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มองว่า BRICS นั้นเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจแบบกว้าง ไม่มีข้อกำหนดการเปิดตลาด และสิทธิประโยชน์เหมือน FTA ทำให้เมื่อไทยเข้าร่วมกลุ่มจะถือเป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจในอีกแง่มุม สามารถเข้าถึงกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญในแต่ละทวีปทั่วโลก เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และ นักลงทุนให้มีทางเลือกในการเข้าถึงตลาดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า และ การลงทุน

นอกจากนี้ รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังชี้ว่า การเข้าร่วม BRICS จะมีทางเลือกในการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นกับประเทศสมาชิก รวมถึงมีโอกาสเข้าถึงเม็ดเงินในการพัฒนาเศรษฐกิจในอีกฝั่งขั้วอำนาจของโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีบทบาทต่อการค้าของไทยถึงร้อยละ 22.8 ของการค้ารวมไทยทั้งหมด ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (G7) ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 26.2 ของการค้ารวมไทย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสโลกที่มีการแบ่งเศรษฐกิจออกเป็นสองขั้วที่ชัดเจนมากขึ้น โดย BRICS เป็นขั้วตรงข้ามของชาติตะวันตก ดังนั้น ทางการไทยจะต้องรักษาท่าทีในการรับข้อตกลงใหม่ ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความอ่อนไหวต่อคู่ค้าในฝั่งตะวันตก และ อาจนำมาซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมได้ในอนาคต ผู้ประกอบการ และ นักลงทุนไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ประกอบกับดำเนินแผนทางธุรกิจและการลงทุนอย่างระมัดระวัง

ที่มา
https://www.bbc.com/news/world-66525474
https://www.vietnam.vn/th/nga-noi-gan-30-nuoc-muon-gia-nhap-brics/
https://www.nasdaq.com/articles/how-would-a-new-brics-currency-affect-the-us-dollar-updated-2024
https://www.aljazeera.com/news/2023/12/29/argentina-announces-that-it-will-not-join-brics-bloc
https://tass.com/world/1751877
https://www.kasikornbank.com/th/personal/the-wisdom/articles/pages/onward82_economic-horizon_2023.aspx

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า