รถไฟฟ้าในประเทศไทย ขัดข้องบ่อยครั้ง โดยล่าสุด วันนี้ (12 ก.ย. 62) เกิดเหตุขัดข้องที่สถานีพระโขนง และระหว่างสถานีแบริ่งถึงสถานีสำโรง ช่วงเวลาประมาณ 8 นาฬิกา
ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ ได้รวบรวบข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟฟ้าขัดข้องในต่างประเทศ ว่ามีมาตรการเยียวยาผู้โดยสารอย่างไรบ้าง
สิงคโปร์ ทันทีที่รถฟ้าขัดข้องจะมีระบบแจ้งเตือนไปยังป้ายรถเมล์ในพื้นที่ใกล้เคียง ให้รับส่งผู้โดยสารระหว่างสถานี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนค่าเดินทางจะคืนให้ภายใน 14 วัน นอกจากนี้ยังมีบทลงโทษจากภาครัฐ โดยเมื่อปี 2558 บริษัทรถไฟฟ้าถูกปรับ กว่า 100 ล้านบาท เพราะขัดข้องในช่วงเวลาเร่งด่วน
ฮ่องกง รถไฟฟ้าขัดข้องบ่อยเช่นกัน มีมาตรการคล้ายๆ กับสิงคโปร์ คือมีบริการรถบัสรับส่งฟรีระหว่างสถานีที่ขัดข้อง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทผู้ให้บริการเดินรถในฮ่องกง ยังถูกปรับถึง 3 ครั้ง
ในปี 2559 รัฐบาลปรับเงิน 60 ล้านบาท เพราะล่าช้า 31 นาที ถึง 8 ครั้ง
ปี 2560 ปรับ 84 ล้านบาท เพราะล่าช้า 83 นาที
ปี 2561 ก็ถูกปรับอีก 12.6 ล้านบาท เพราะหยุดให้บริการ 2 ชั่วโมงในเวลาเร่งด่วน
เมลเบิร์น ออสเตรเลีย รัฐบาลมีข้อกำหนดเรื่องการตรงต่อเวลาว่าต้องมากกว่า 91.6 % ถ้าทำไม่ได้ จะมีค่าปรับสูงสุดเดือนละ 1.25 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 26.7 ล้านบาท ซึ่งก็เคยถูกปรับมาแล้วเช่นกัน คือเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2560 เพราะระบบควบคุมรถล่มในชั่วโมงเร่งด่วน
สหรัฐอเมริกา ก็มีมาตรการเยียวยาผู้โดยสาร ล่าช้า 15 นาที คืนเงินค่าโดยสารให้เต็มจำนวน
อังกฤษ มีมาตรการ “ดีเลย์ รีเพย์” ช้า 30-59 นาที คืนค่าเดินทางให้ครึ่งหนึ่ง ช้า 60-119 นาที คืนเต็มจำนวน ล่าช้าเกิน 120 นาทีคืนทั้งเที่ยวไปเที่ยวกลับเต็มจำนวน ที่สำคัญยังให้เงินชดเชยค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากความล่าช้า เช่น ค่าแท็กซี่ ค่าโรงแรม ค่าตั๋วหนังที่ไปดูไม่ทัน ได้อีกด้วย
ญี่ปุ่น เมื่อรถไฟฟ้าเกิดเหตุขัดข้อง จะแสดงความรับผิดชอบโดยการออกใบรับรองจากสถานีเพื่อให้ผู้โดยสาร นำไปใช้ยื่นกับที่ทำงาน หรือโรงเรียน และสิ่งที่น่าทึ่ง คือ บริษัทรถไฟฟ้าของญี่ปุ่น เคยออกมาแถลงขอโทษประชาชน เพราะรถไฟฟ้าของเขาออกจากสถานีเร็วเกินไป เช่น บริษัท เวสต์ เจแปน เรลเวย์ (West Japan Railways) ที่ออกมาขอโทษ เพราะพนักงานขับรถปิดประตูเร็วไป 1 นาที เมื่อ 1 พฤษภาคม ปี 2561
ไทย พบว่าปี 2561 ขัดข้องไปกว่า 50 ครั้ง โดยเฉพาะเดือน มิถุนายน 8 ครั้ง และ กรกฎาคม 18 ครั้ง ส่วนปี 2562 เฉพาะช่วงครึ่งปีแรก ขัดข้องมากกว่า 20 ครั้ง เนื่องจากระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขปัญหา โดยค่ายโทรศัพท์ต้องย้ายช่วงคลื่นสัญญาณหนี เพื่อไม่ให้รบกวนแล้ว แต่ปัญหาก็ไม่หมดไป ที่สำคัญบริษัทผู้ให้บริการก็ไม่เคยต้องเสียค่าปรับ
ทีมข่าวเวิร์คพอย์รวบรวมข้อมูลจากทวิตเตอร์ @BTS_SkyTrain พบว่าตั้งแต่ต้นปี 2562 รถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องแล้วอย่างน้อย 34 ครั้ง โดยเกิดเหตุขัดข้องทุกเดือน