SHARE

คัดลอกแล้ว

การถล่มของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่  28 มี.ค. ที่ผ่านมา จนมีผู้สูญหายและผู้เสียชีวิต ได้ตามมาด้วยการตรวจสอบการทุจริตหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะมาตรฐานในการก่อสร้าง

กระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบพบว่าเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารบางส่วน ‘ไม่ได้มาตรฐาน’ และมาจากโรงงานที่ถูกสั่งปิดไปแล้ว

สำนักข่าวทูเดย์พูดคุยกับ วินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด เกี่ยวกับเรื่องเหล็กๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก พร้อมหาแนวทางสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการก่อสร้างอาคารในกรุงเทพฯ

[ปัญหาใหญ่คือ ‘เหล็ก’ และอาจเป็นปัจจัยตึกถล่ม]

วินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการค้าเหล็กมากว่า 20 ปี ให้ความเห็นกับสำนักข่าวทูเดย์ว่าการที่อาคาร สตง. ถล่มลงมาแบบนั้น ทำให้สงสัยได้เลยว่าตัวเหล็กมันมีปัญหา และหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำชิ้นส่วนเหล็กไปตรวจสอบก็พบว่ามีปัญหาจริงๆ

โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าโครงสร้างอาคารที่ถล่มคือคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งเหล็กเส้นมีหน้าที่ในการยึดให้คอนกรีตอยู่ด้วยกัน เป็นตัวรับแรงดึงแรงยืด ในขณะที่คอนกรีตจะเป็นตัวรับแรงอัด

กระทรวงอุตสาหกรรมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 เม.ย.​ ที่ผ่านมาหลังจากที่ได้นำเศษเหล็กของอาคาร สตง. ที่ถล่มไปตรวจสอบ พบว่าจากจำนวน 28 ท่อน 7 ขนาด ได้มาตรฐาน 15 ท่อน 5 ขนาด ไม่ได้มาตรฐาน 13 ท่อน 2 ขนาด คือแบบขนาด 20 มม. และ 32 มม. ซึ่งทั้งสองขนาดมาจากบริษัทเหล็กเดียวกันและเป็นบริษัทที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้สั่งปิดไปในช่วงเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เนื่องจากจำหน่ายเหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

“ผมก็มีตั้งคำถามว่า ตัวโรงงานที่สั่งปิดไป แล้วเหล็กที่เขาผลิตก่อนหน้านี้มันไปอยู่ในอาคารไหนอีกครับ แล้วเราต้องไปเช็กบ้างไหมว่าโครงสร้างเขาจะมีปัญหาหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าเราไปเก็บเหล็กที่เขาขายไปแต่ยังไม่ได้เอาไปใช้ เก็บมาได้หมดแล้ว แล้วไอนี้เอาไปสร้างเป็นอาคารแล้วล่ะ คนที่ไปใช้อาคารจะมั่นใจได้ยังไง” วินท์ ตั้งคำถาม

[‘เหล็กตัว T’ คืออะไร ?]

เหล็กบางส่วนที่พบในบริเวณอาคาร สตง. ถล่มคือเหล็กที่มีรหัส ‘SD50T’ โดย วินท์ ได้อธิบายว่า ‘เหล็กตัว T’ เป็นเหล็กที่ไม่เหมาะกับการสร้างอาคารสูง เนื่องจากเป็นเหล็กที่ ”แข็งนอกอ่อนใน“

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าเหล็กเส้นในตลาดมีอยู่ 2 ตัว สามารถแบ่งได้เป็นเหล็กเส้นที่ใช้กระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม เรียกกันว่า ’เหล็ก Non-T’ คือไม่มีตัว T และ ‘เหล็กตัว T’ หรือ เหล็ก Temp-Core ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตเหล็กแบบใหม่ผ่านกระบวนการรีดร้อน

“กระบวนการผลิตเหล็กเส้นตัว T ก็คือการหลอมเศษเหล็กออกมา แต่พอออกมาเป็น Billet (เหล็กเส้น) คุณภาพมันอาจจะยังไม่ได้ เขาเลยต้องอัดน้ำเย็นๆ ไปเพื่อช็อกเหล็กมัน จากร้อนๆ มาเย็นจัดๆ เปลือกมันก็จะแข็ง พอเปลือกแข็ง ถึงจะผ่านมาตรฐาน ผมก็เลยเรียกเหล็กประเภทนี้ เหล็กตัว T เนี่ย ว่า แข็งนอก อ่อนใน แปลว่าความแข็งแรงมันแข็งเฉพาะเปลือก แต่ด้านในมันนิ่ม ไม่เหมือนเหล็กเส้นแบบดั้งเดิม แบบ Non-T หรือแบบตัวเดิมๆ ที่ความแข็งแรงมันจะเสมอต้นเสมอปลายทั้งเส้น” วินท์ อธิบาย

[เหล็กตัว T เกลื่อนไทย แต่ห้ามใช้ในจีน]

วินท์ ฉายภาพให้เห็นว่าเหล็กตัว T เหล่านี้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยในหลังปี 2560 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศแบนโรงเหล็กที่ใช้เตาหลอมเศษเหล็ก Induction Furnance (IF) โดยให้เหตุผลว่าเตาหลอมเหล็กประเภทดังกล่าวนี้ มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและน้ำเหล็กที่ผลิตออกมาไม่ได้มาตรฐานของประเทศจีน

การแบนครั้งนั้นส่งผลให้โรงงานเหล็กในประเทศจีนย้ายเครื่องจักรที่ถูกแบนมาติดตั้งในประเทศอาเซียน ทั้ง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศไทย และเริ่มตีตลาดในประเทศไทยได้อย่างมหาศาล เนื่องจากราคาถูกกว่าเหล็กเส้นแบบ Non-T ที่รีดด้วยเตาหลอมเศษเหล็กแบบ Electric Arc Furnance (EAF) ซึ่งโรงเหล็กในไทยส่วนใหญ่ใช้ในขณะนั้น

เนื่องจากเหล็กตัว T สามารถทำให้แข็งขึ้นตอนปลายทาง ผู้ผลิตจึงสามารถใช้เศษเหล็กที่คุณภาพด้อยลงได้ และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาขายถูกลง วินท์ ระบุว่าทำให้ยอดขายของเหล็กตัว T มากกว่ายอดขายของเหล็กเส้นธรรมดาทั่วไปถึง 5 เท่า และทำให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มล้มหายตายจากไป

[ถึงเวลาต้องเข้มงวดไม่ให้ซ้ำรอย]

แม้เหล็กตัว T อาจเป็นเหล็กที่ใช้เศษเหล็กคุณภาพต่ำกว่า แต่ก็ยังคงสามารถผ่านมาตรฐานของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม วินท์ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาคือไม่มีข้อระบุในการห้ามใช้เหล็กตัว T กับอาคารสูง

“ถ้าถามผม เอาจริงๆ แบบแฟร์ๆ เลยนะว่ามัน (เหล็กตัว T) ใช้ได้จริงไหม ผมว่ามันใช้ได้จริงนะ ผมว่าถ้าเอาไปสร้างอาคารเตี้ย 1-5 ชั้น ผมคิดว่าไม่มีปัญหา เพราะว่าอาคาร 1-5 ชั้น เวลาเกิดแผ่นดินไหว คือมันแข็งเปราะ พอมันส่ายหนักๆ มันก็ระเบิดเลย แต่อาคารเตี้ยๆ มันส่ายน้อย มันก็ไม่เป็นไร”

วินท์ ให้ความเห็นว่า ไทยอาจมีแนวทางการดำเนินการเพื่อควบคุมการใช้งานของเหล็กตัว T ได้ 3 แนวทาง แต่ควรต้องมีการร่วมหารือกับผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ภาคส่วน ได้แก่

1.แบนเหมือนจีน — คือแบนเหล็ก T ให้หมด หากจะใช้แนวทางนี้ข้อดีคือจะมีแต่เหล็กที่มีแรงยืดได้ค่อนข้างเยอะในประเทศไทย จะสร้างอาคารเตี้ย อาคารสูงก็ปลอดภัยแน่นอน แต่ข้อเสียคืออาคารที่ไม่สูงมากก็จะมีต้นทุนในการสร้างที่สูงขึ้น ทำให้ราคาขาย/ค่าก่อสร้างก็อาจจะสูงขึ้นตามไปด้วย

2.ออกกฎหมาย — ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบระดับไหน เพื่อบังคับการใช้เหล็กประเภท T ว่าควรใช้กับอาคารประเภทใด สูงไม่เกินเท่าไหร่

3.เข้มงวดขึ้น — หากมอบอำนาจให้วิศวะกรในการเลือกใช้เหล็ก อาจจำเป็นต้องมีการอบรมและวิจัยอย่างจริงจัง ว่าเหล็กแบบใดใช้ได้หรือไม่ได้ และต้องมีความเข้มงวดในการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

“จริงๆ เราควรจะมีข้อกฎหมายหรือข้อบังคับ…ทำไมเอาชีวิตของคนหลายพัน ไปให้วิศวะกรไม่กี่คนตัดสินชีวิตของพวกเขา ทำไมนักกฎหมายไม่ออกกฎหมายมาเลย ตัวแทน ผู้แทนทั้งหลายในสภาฯ ทำไมไม่ร่วมกันเคาะกฎหมายออกมา” วินท์ กล่าวทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า