SHARE

คัดลอกแล้ว

“จุฬาฯ เป็นหนี่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศ แต่เราไม่ควรพอใจแค่นั้น เราสามารถยกระดับไปได้ไกลมากกว่านี้”

นี่คือคำกล่าวของ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีสมัย 2 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่าตอนนี้จุฬาฯ มีการพัฒนาขึ้นจากเดิมในทุกๆ ด้าน และพร้อมจะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพมารับใช้ประเทศชาติ แต่เขายังเชื่อมั่นว่า จริงๆ จุฬาฯ ยังไปได้ไกลกว่านี้อีกมากนัก

“ในยุคนี้ โลกมันเปิดกว้างหมดแล้ว ใครอยากจะเรียนอะไร อยากจะเรียนที่ไหนก็สามารถทำได้หมด ดังนั้นถ้าหากคุณภาพของจุฬาฯ ดร็อปลงไป ไม่มีงานวิจัยอะไรดีๆ ออกมา คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่อยากส่งลูกเรียนจุฬาฯ กันแล้วก็ได้ เขาอาจส่งลูกไปเรียนต่างประเทศไปเลย ดังนั้นเราจะหยุดพัฒนาไม่ได้ เราต้องยกระดับตัวเองอยู่ตลอด ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่คนอยากจะมาเข้าเรียนอยู่เสมอ”

จากคำกล่าวของ ศ.ดร.บัณฑิต จะเห็นว่าการพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และในฐานะอธิการบดีจุฬาฯ จึงจัดให้มีโครงการต่างๆ เพื่อทำให้จุฬาฯ มีความแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เกิดวันที่ 22 กรกฎาคม 2508 ที่จังหวัดนครราชสีมา หลังจบ ม.ต้น ที่ราชสีมาวิทยาลัย เขาสอบเข้าเตรียมอุดมศึกษาในระดับ ม.ปลาย ก่อนที่จะสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในตอนแรก ศ.ดร.บัณฑิตตั้งเป้าหมายจะเป็นวิศวกร แต่หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เขาเรียนต่อปริญญาโทที่จุฬาฯ จนจบ และได้ทุนเล่าเรียนปริญญาเอก โดยมีสองทางเลือก คือไปที่ญี่ปุ่น หรืออังกฤษ แต่สุดท้าย ศ.ดร.บัณฑิตเลือกไปเรียนที่อังกฤษ ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่อิมพีเรียล คอลเลจ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ลอนดอน

ศ.ดร.บัณฑิตเรียนจบด้วยคะแนนยอดเยี่ยม ถึงตรงนี้เป้าหมายในใจเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่อยากเป็นวิศวกรในตอนเด็ก ตอนนี้เขาอยากนำความรู้ที่ได้จากอังกฤษมาส่งต่อให้เยาวชนไทยได้รู้ในสิ่งที่เขาศึกษามา

ดังนั้น ศ.ดร.บัณฑิตจึงเปลี่ยนแนวทางอาชีพ เลือกเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่ที่จบการศึกษามานั่นเอง

ศ.ดร.บัณฑิตทำงานสอนไปพร้อมกับทำงานวิจัย จนสุดท้ายได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ในปี 2551 และได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ อีกด้วย ซึ่งเส้นทางในสายบริหารเติบโตอย่างรวดเร็ว    จนในปี 2556 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในที่สุด

ช่วงที่ทำงานเป็นคณบดี ศ.ดร.บัณฑิต มีวิสัยทัศน์ในการยกระดับคณะให้มีความเป็นนานาชาติ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ต้องเป็นกำลังหลักในการสร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยี

ศ.ดร.บัณฑิตเปิดโครงการ Chula Engineering and Innovation Hub เน้นนวัตกรรมการเรียนการสอน และให้นิสิตและอาจารย์ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันนวัตกรรมให้ออกไปสู่ภายนอกได้ ไม่ใช่เรียนมาแล้ว เก็บศาสตร์ความรู้อยู่บนหิ้งอย่างเดียว

ผลงานที่จับต้องได้ ทำให้ ในปี 2559 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้ ศ.ดร.บัณฑิต ขึ้นเป็นอธิการบดีจุฬาฯ คนใหม่ และเป็นอธิการบดีคนแรกในรอบ 12 ปี ที่มาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้วย

“ตอนทำงานแรกๆ ผมไม่ได้คิดว่าจะได้รับตำแหน่งนี้เลย ผมก็ทำงานไปเรื่อยๆ” ศ.ดร.บัณฑิตกล่าว “แต่คิดว่ามันเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมมากกว่า ประกอบกับโลกยุคปัจจุบันเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ดังนั้นผมซึ่งเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้รับความไว้วางใจให้มาทำหน้าที่นี้”

ใน 4 ปีแรกของ ศ.ดร.บัณฑิต เขานำเทคโนโลยีมาใช้อย่างที่ได้รับคาดหมายจริงๆ ในด้านหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ จุฬาฯ มีการสร้างโปรแกรม CHULA MOOC (Massive Open Online Courses) เอาชุดวิชาการเรียนการสอนของจุฬาฯ ขึ้นไปอยู่บนออนไลน์

วิชาต่างๆ ที่สอนในจุฬาฯ เช่น บัญชีเบื้องต้น ภาษาอาหรับเบื้องต้น ภาษารัสเซียเบื้องต้น หลักการกฎหมายแพ่งและอาญา วิชา IT Security ฯลฯ ถูกอัพขึ้นในออนไลน์ ซึ่งนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจสามารถเรียนรู้หลากหลายวิชาได้ผ่านโปรแกรม CHULA MOOC

“ความฝันของผม จริงๆอยากให้นิสิตปี 1 เข้ามาจุฬาฯ ยังไม่ต้องเลือกคณะด้วยซ้ำ คือเรารู้ว่าคนที่สอบเข้ามาได้คือคนเก่ง แต่บางคนก็ยังไม่รู้ใจจริงๆ ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร ซึ่งถ้าเขามาศึกษาว่ามีวิชาอะไรบ้าง    ที่จุฬาฯ แล้วค่อยเลือกเดินในทางที่ตัวเองชอบ น่าจะดีที่สุด แต่ว่ามันก็ยังเป็นแค่แนวทางเท่านั้น ยังไม่สามารถทำได้จริงในตอนนี้”

“ดังนั้นเราจึงใช้นวัตกรรมนี้ เพื่อช่วยนิสิต เพราะบางคนอาจจะอยากลองเรียนวิชาอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในคณะตัวเอง การมี CHULA MOOC ก็สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้”

นอกจากนั้นยังมีการสร้าง Siam Innovation District (SID) ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้ใจกลางสยามสแควร์  ท่ามกลางแหล่งช็อปปิ้งในสยาม แต่จุฬาฯ ใช้พื้นที่ของ SID เป็นเวทีให้นิสิตได้แสดงนวัตกรรม     ที่ตัวเองสร้างขึ้น

ผลงานที่สร้างต่อเนื่องในช่วง 4 ปี ทำให้เมื่อ ศ.ดร.บัณฑิตหมดวาระ ที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติตามคณะกรรมการสรรหา เลือก ศ.ดร.บัณฑิตเป็นอธิการบดีวาระที่ 2 ติดต่อกัน

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา QS World University Rankings จัดอันดับมหาวิทยาลัย 1,604 แห่งทั่วโลก ในเรื่องชื่อเสียงด้านวิชาการ (Academic Reputation) ปรากฏว่า จุฬาฯ ติดอันดับ 96 ของโลก และเป็นอันดับดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในไทยนับตั้งแต่มีการจัดอันดับมา

อย่างไรก็ตาม แม้คุณภาพของมหาวิทยาลัยจะดีขึ้นจนติดอันดับดับท็อป 100 ของโลก แต่ ศ.ดร.บัณฑิตรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องที่จะต้องดีใจอะไรขนาดนั้น

“มองในมุมว่า เราได้อันดับ 96 มันก็เป็นตัวเลขที่ดี แต่ความจริงคือเรายังห่างไกลกับชาติอื่นๆ มากนัก เทียบใกล้ๆ กับที่สิงคโปร์ก็ได้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เขามีเงินทุนสำหรับงานวิจัยมากกว่าจุฬาฯ 30 เท่า”

“ครั้งหนึ่งผมเคยไปร่วมสัมมนากับมหาวิทยาลัยฮ่องกง เขาเชิญ 30 มหาวิทยาลัยทั่วเอเชีย ไปแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ซึ่งเราเห็นว่าจุฬาฯ มีคุณภาพยอดเยี่ยมในไทยแล้วก็จริง แต่พอไปเทียบกับตรงนั้น เราอยู่ประมาณอันดับ 27-28 หมายถึงคุณภาพทุกๆ อย่างนะ”

ในมุมของ ศ.ดร.บัณฑิต การจะยกระดับมหาวิทยาลัยได้นั้นจำเป็นต้องมีแผนงาน และแผนของจุฬาฯ ได้ช่วง 4 ปีที่ทำหน้าที่อธิการบดีสมัยที่ 2 มีแนวคิด 3 ข้อหลักที่ต้องการจะนำจุฬาฯ เดินไปในทิศทางนั้น

“ข้อแรกคือ Future Leader เราอยากสร้างนิสิตให้มีความเป็นผู้นำตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย คือ จบออกไป สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่มีความหมายต่ออนาคตของประเทศชาติได้”

“เรื่องความรู้นั้นเราเชื่อว่านิสิตของเราก็มีคุณภาพ คุณเข้าจุฬาฯได้ คุณต้องมีความรู้พื้นฐานที่เก่งอยู่แล้ว แต่คนที่จะก้าวไปอยู่ในแถวหน้าได้นั้น ความรู้ต้องลึกและกว้าง ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะเชิญวิทยากรระดับโลกในสาขาวิชาต่างๆ มาสอน และให้ความรู้กับนิสิตของเรา”

“ในช่วงโควิด-19 เป็นโอกาสอันดีที่คนเก่งๆ ในแต่ละวงการสามารถสอนนิสิตทางโลกออนไลน์ ซึ่งในอนาคตเมื่อโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว เราก็จะเชิญเขามาแบบออฟไลน์ด้วย”

“นอกจากนั้นนิสิตต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ดี ต้องมีความคิดในเชิงวิพากษ์ และกล้าที่จะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อย่ากลัวถ้าจะทดลองหรือคิดค้นอะไรใหม่ๆ”

“มหาวิทยาลัยพยายามหาช่องทางเพื่อให้นิสิตได้มีกิจกรรมทางสังคมที่สามารถเอาความรู้ไปใช้งาน    ได้จริง คนที่จะเป็น Leader ได้ ประสบการณ์จากการลงมือจริงสำคัญมาก”

ข้อที่สอง อธิการบดีกล่าวว่า นิสิตต้องเรียนรู้วิชา “ข้ามศาสตร์” มากขึ้นกว่านี้

ในโลกยุคที่เปลี่ยนไปรวดเร็วมาก บางครั้งแค่สาขาวิชาเดียวที่เรียนอาจไม่เพียงพออีกแล้ว ใครที่มีความรู้หลายๆ อย่าง ผสมผสานเข้าด้วยกัน จะกุมความได้เปรียบในโลกยุคนี้

“เราพยายามเปิดวิชาที่ให้สองคณะใช้ประโยชน์จากศักยภาพของตัวเองร่วมกัน อย่างเช่น คณะแพทยศาสตร์ จับมือกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ในเรื่องดนตรีบำบัด”

ในยุคปัจจุบันที่ความรู้ทุกอย่างผสมปนเปกันไปหมดแล้ว ผู้ที่จะยืนหยัดได้ต้องมีความรู้ที่หลากหลาย สามารถเอาทักษะของหลายๆ ศาสตร์มาผสมจนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งทางจุฬาฯ เตรียมผลักดันวิชาข้ามศาสตร์เหล่านี้ให้มีความเข้มแข็งขึ้น

และแนวคิดข้อที่สาม ศ.ดร.บัณฑิตมองว่าจุฬาฯ สมควรจะเปลี่ยนแปลงคือเรื่องเกี่ยวกับงานวิจัย

“ในแต่ละปี อาจารย์ของเราจะทำงานวิจัย จะมีการคิดค้นนวัตกรรมอะไรขึ้นมาอยู่ตลอด แต่งบประมาณสำหรับการวิจัยนั้นอาจจะต้องของบจากรัฐ ซึ่งขั้นตอนก็ใช้เวลามาก และก็ไม่รู้ด้วยว่ารัฐจะเห็นชอบที่จะสนับสนุนงานวิจัยของคุณหรือไม่”

“การขาดเงินทุนทำให้งานวิจัยในการสร้างความรู้ใหม่ๆ มักจะหยุดชะงักลงเสมอ ดังนั้นผมคิดว่าแนวทางของงานวิจัยในยุคใหม่ เราอาจไม่ต้องแบมือขอเงินจากรัฐอีกแล้ว แต่สามารถไปผูกกับบริษัทเอกชนได้เลย”

“อาจารย์แต่ละคนที่วิจัยบางสิ่ง มันก็เป็นทางเลือกที่ดีนะ ถ้าลองมองตัวเองว่าเป็นเหมือน Startup คิดค้นนวัตกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง และติดต่อให้บริษัทเอกชนเข้ามาสนับสนุนงานวิจัยนั้น ซึ่งวิธีนี้ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์หมด บริษัทเอกชนได้เอาผลจากงานวิจัยไปต่อยอด ขณะที่อาจารย์ก็ได้งบในการทำวิจัยให้ลุล่วง”

ในเวลานี้ ศ.ดร.บัณฑิต เป็นอธิการบดีของจุฬาฯ เป็นวาระที่ 2 เรื่องเป้าหมายในอนาคตอยากจะทำให้จุฬาฯ พัฒนาอย่างไร เราทราบแล้ว แต่สิ่งที่เรายังไม่รู้คือ อธิการบดีจุฬาฯ ได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นผู้นำองค์กรบ้าง?

ศ.ดร.บัณฑิตกล่าวว่ามี 3 สิ่งที่เขาได้เรียนรู้ ข้อแรกคือเรื่องของ ‘ขั้นตอนกับผลลัพธ์’

“บริษัทเอกชนจะเน้นผลลัพธ์มากที่สุด คือขั้นตอนอาจสลับได้ วิธีการไม่ต้องทำตามเป๊ะๆ ตามหลักการก็ได้ ขอแค่ผลลัพธ์ออกมาดี นั่นคือน่าพอใจแล้ว”

“แต่กับองค์กรของรัฐนั้นไม่เหมือนกัน วิธีการของหน่วยงานรัฐจะยึดขั้นตอนก่อนผลลัพธ์เสมอ คุณต้องทำทุกอย่างตามระบบไว้ก่อน ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ดังนั้นมันก็มีความยาก และช้าเหมือนกันในบางเรื่อง”

เรื่องที่สอง คือการร่วมงานกับคนเก่ง มันไม่ง่ายที่จะทำให้ทุกคนเห็นตรงกัน ต้องใช้ความใจเย็นอย่างมากในการประนีประนอม

“จุฬาฯ เต็มไปด้วยคนเก่ง นี่คือมหาวิทยาลัยลำดับต้นๆ ของประเทศ เรามีอาจารย์ที่จบปริญญาเอก และเป็นศาสตราจารย์เต็มไปหมด ดังนั้นไม่แปลกที่ต่างคนจะมีความคิดไม่เหมือนกัน”

“เวลามีแนวทางหรือนโยบายอะไรขึ้นมา เราในฐานะอธิการบดี ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์คือ มีความรู้มากพอที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจได้ และ ศิลป์ คือแนวทางการพูดการเจรจา ที่ทำให้เขายอมฟังเราได้”

“การจะอธิบายอะไร มันจะดีกว่า ถ้าไม่ไปหักกัน ค่อยๆ คุยด้วยเหตุผลจะดีที่สุด”

และสิ่งที่เรียนรู้ข้อที่สาม ของ ศ.ดร.บัณฑิต คือบางครั้งเราก็อาจต้องเลือกเส้นทางที่ถูกต้องที่สุด แม้จะไม่ใช่ทางที่ตัวเองชอบที่สุด

อธิการบดีเล่าว่า เขาเป็นแฟนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดพันธุ์แท้ ตอนที่ไปอยู่อังกฤษ เขาอยู่ที่ลอนดอน ก็จริง แต่ใจก็อยากจ่ายเงินซื้อตั๋วนั่งรถไฟไปดูบอลที่สนามเหมือนกัน แต่ในยุคนั้นที่เขาไปเรียนต่อปริญญาเอก มีข่าวเรื่องกระแสเหยียดคนเอเชียรุนแรง ประเด็นฮูลิแกนคือข่าวใหญ่ในประเทศช่วงนั้น ซึ่งเพื่อนคนอังกฤษ ก็แนะนำเขาว่าอย่าเสี่ยงเลยถ้าแล้วบาดเจ็บอะไรขึ้นมามันจะไม่คุ้ม

ด้วยความสำนึกว่าตัวเองคือนักเรียนทุน ถ้าต้องมาบาดเจ็บจนหยุดเรียนไปนานๆ มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เขาจึงยอมตัดใจไม่ไปดูบอล ทั้งๆ ที่อยากจะดูมากก็ตามที สุดท้ายเขาก็เรียนจบปริญญาเอกได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่พลาดโอกาสไปดูบอลในสนาม

ถาม ศ.ดร.บัณฑิตว่า แล้วตอนนี้ในวัย 55 ปี มีโอกาสได้ดูบอลอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง?

คำตอบของเขาคือ ก็ยังไม่ได้ดูเหมือนเดิม เพราะต้องทำงานตื่นเช้า อธิการบดีมีเรื่องต้องจัดการมากมายจริงๆ

“แต่เวลาตื่นมากลางดึก ผมก็อยากรู้ผลของแมนฯยูไนเต็ดนะครับ ก็จะคอยเช็กเว็บไลฟ์สกอร์เอาครับ”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า