SHARE

คัดลอกแล้ว

“จนถึงตอนนี้ ผมไม่สามารถติดต่อกลับไปหาทางบ้านได้เลย”

90 กิโลเมตร จากตัวเมืองมัณฑะเลย์ คือที่ซึ่งครอบครัวของ โกพิว (Ko Phyu) แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย วัย 31 ปี อาศัยอยู่ เมื่อขาดการติดต่อ จากเหตุแผ่นดินไหว ในขณะที่ ภาพความเสียหายของหมู่บ้านโดยรอบ ทยอยปรากฏผ่านสื่อ ชายคนนี้จึงได้แต่ภาวนา 

และนับว่ายังโชคดีที่เวลาต่อมา พี่สาวซึ่งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ส่งข่าวว่าครอบครัวของเขาปลอดภัยแล้ว แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้เบาใจทั้งหมด หากยังไม่ได้ฟังเสียงพ่อแม่ด้วยตัวเอง

[สถานการณ์ในเมียนมา ยังฝุ่นตลบ]

การช่วยเหลือจากนานาชาติ ยังคงหลั่งไหลเขาไปในเมียนมาต่อเนื่อง นับตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาลทหาร เปิดทางขอความช่วยเหลือเต็มรูปแบบ หลังแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ราว 12.5 น. ตามเวลาท้องถิ่น ขนาดแมกนิจูด 7.7 ห่างพื้นผิว 10 กม. 

และราว 12 นาทีต่อมา เกิดซ้ำขนาดแมกนิจูด 6.4 ซึ่งทราบในเวลาต่อมา ว่าศูนย์กลางของแผ่นดินไหวห่างจาก ซะไกง์ หรือ สะกาย เมืองหลวงของภูมิภาคนี้ เพียง 18 กม. และอยู่ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ก่อนจะตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกน้อยใหญ่ถัดกันไป

จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต อย่างน้อย 1,700 คน และหลายร้อยคนยังคงสูญหาย และอย่างที่ทราบ ความซับซ้อนของพื้นที่เมียนมา ทั้งเชิงภูมิศาสตร์และการเมือง ยิ่งทำให้การช่วยเหลือล่าช้า ถึงขั้นประชาชนต้องใช้มือเปล่าขุดหาผู้รอดชีวิต ตามข่าวที่ปรากฏก่อนหน้า

[ความทุกข์ใจของคนไกลบ้าน]

ย้อนไปช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. โกพิวเล่าว่า เขาเพิ่งเสร็จสิ้นจากการทำงานที่สำเพ็ง และกำลังนอนหลับพักผ่อน เมื่อเขารู้สึกตัวจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ทำให้รีบลุกขึ้นมา

เมื่อสถานการณ์ตรงหน้าคลี่คลาย แต่ใจเขายิ่งไม่สงบลง หลังทราบข่าวว่าศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา โกพิว พยายามตรวจสอบข่าวสารผ่านทางเฟซบุ๊ก

“ตอนที่เห็นรูปและวิดีโอมันรุนแรงมากสำหรับผม ภัยพิบัติครั้งนี้รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผมเคยเจอ ภาพตึกอาคารในเมืองมัณฑะเลย์ถล่ม ทำให้ผมเป็นห่วงพ่อและแม่ของตัวเอง”

โกพิวอธิบายว่า นับตั้งแต่หลังการเกิดรัฐประหารในประเทศเมียนมา เมื่อปี 2021 ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศ ก็แทบใช้การไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเทอร์เน็ตที่ถูกตัด ระบบไฟฟ้าที่รัฐบาลทหารเมียนมาเปิดให้ประชาชนใช้เพียงแค่ 2 ชั่วโมงต่อวัน  ดังนั้น ยิ่งมาเกิดเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ทำให้โกพิวหมดหวังที่จะติดต่อกลับไปยังครอบครัว

“เราไม่เห็นความหวังว่ารัฐบาลทหารจะช่วยประชาชน ทั้งพวกเขายังไม่เปิดอนุญาตให้ความช่วยเหลือจากภายนอกเข้าไปในเขตเมืองสะกายได้”

โกพิวกล่าวว่า หมู่บ้านที่พ่อและแม่ ในวัย 60 ปีของเขาอาศัยอยู่นั้น ตั้งอยู่ระหว่าง เมืองมัณฑะเลย์และเมืองสกาย ซึ่งเป็น 2 เมืองที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวมากที่สุด 

ตามรายงานของ สำนักข่าวท้องถิ่น Mizzima ระบุว่า ภูมิภาคสะกายของประเทศเมียนมา เป็นพื้นที่ที่ฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมามีความเข้มแข็ง จนสามารถยึดครองพื้นที่ไว้ได้จำนวนมาก ทำให้ที่ผ่านมาถูกทางการเมียนมาตัดไฟฟ้า และในครั้งนี้ที่เกิดแผ่นดินไหว ความช่วยเหลือจากภายนอกก็ยังไม่สามารถส่งเข้าไปถึงได้

“วันนี้ชาวเมียนมายังคงต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก” โกพิวกล่าวหลังจากผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาแล้วเกือบ 4 วัน “ผมไม่ไว้วางใจรัฐบาลทหาร ทำไมรัฐบาลทหารเมียนมา ถึงไม่ปล่อยให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติเข้าไปมากกว่านี้ หรือพวกเขาต้องการปกปิดอะไรไว้ มันยังมีความเสียหายที่ร้ายแรงกว่านี้เกิดขึ้นในเมียนมา และยังไม่ถูกเปิดเผย”

สำหรับโกพิว ในความโชคร้ายยังพอมีความโชคดีหลงเหลืออยู่บ้าง เมื่อพี่สาวของเขาที่ทำงานอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ติดต่อมาและบอกว่า พ่อแม่ของเขายังปลอดภัยดี 

สิ่งที่โกพิวพอทำได้ตอนนี้ คือการพยายามติดตามภาพ หรือวิดีโอจากสื่อท้องถิ่นในพื้นที่ของครอบครัว เพื่อทำให้เขาแน่ใจว่าพ่อแม่ของเขายังคงปลอดภัย

“ประเทศไทยสามารถจัดการสถานการณ์ได้ดีกว่ามาก ตอนที่ตึกถล่มและมีคนสูญหาย ใช้เวลาไม่นานก็สามารถช่วยเหลือผู้คนบางส่วนออกมาได้ ทั้งผู้มีอำนาจก็ลงมาในพื้นที่รวดเร็ว มันทำให้ผู้คนมีกำลังใจในการผ่านพ้นสถานการณ์ร้ายๆ แบบนี้ไปได้”

ภาพแผ่นดินไหว เมืองมัณฑะเลย์

[หายนะซ้ำแล้วซ้ำอีก]

แม้ว่าโกพิวจะเพิ่งโยกย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เพียงแค่ 2 เดือน แต่เขาก็รู้สึกปลอดภัย และอุ่นใจกว่าการอยู่ในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง โกพิวเล่าว่า ก่อนหน้านั้นเขาทำงานอยู่ในบริษัทสินเชื่อแห่งหนึ่งในเมืองย่างกุ้ง แต่ด้วยนโยบายบังคับเกณฑ์ทหาร ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทย

“ผมรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่รู้จะถูกส่งไปที่ไหนและจะต้องตายหรือไม่ มันเลยทำให้คนเมียนมาต้องการอพยพมาอยู่ที่ไทยเยอะขึ้น”

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2020 โกพิว กล่าวว่า ชาวเมียนมาต้องเผชิญกับหลายเหตุการณ์ที่พวกเขาไม่ได้ทันตั้งตัว ตั้งแต่ การที่ประเทศเพิ่งมีประชาธิปไตย และกำลังจะพัฒนาไปข้างหน้า แต่แล้วก็มาเจอสถานการณ์โควิดในปี 2020 

ตามมาด้วยการถูกรัฐประหาร โดยกองทัพเมียนมาในปี 2021 และการสู้รบในพื้นที่ต่างๆ จนมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังมีการประกาศนโยบายบังคับเกณฑ์ทหาร และเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2024 และล่าสุดในปี 2025 ชาวเมียนมายังต้องมาเผชิญเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่

“ระยะเวลา 5 ปีในชีวิตที่ผมต้องเจอ ผมรู้สึกว่ามันหนักหนามากเหลือเกินสำหรับชีวิตคนคนหนึ่ง”

แม้วันนี้โกพิวจะผ่านทุกเหตุการณ์มาได้ และรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้นเมื่อมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ดีเขารู้ดีว่าการเข้ามาของชาวเมียนมา สร้างความไม่พึงพอใจให้กับชาวไทยบางส่วน 

“ผมอยากให้คนไทยได้เข้าใจและเห็นใจ พวกเราหนีตายกันมาเพราะในประเทศเมียนมา ไม่หลงเหลือความปลอดภัยอยู่เลย”

จากรายงานของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เมื่อต้นเดือนมีนาคมปีนี้ ระบุว่ามีผู้พลัดถิ่นภายในเมียนมาสูงถึง 3,539,400 คน และมีแนวโน้มชัดเจนว่า หลังการเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมนี้ จะยิ่งทำให้มีชาวเมียนมาต้องไร้ที่อยู่อาศัย และกลายเป็นผู้พลัดถิ่นมากยิ่งขึ้น อย่างที่ทอม แอนดรูว์ (Tom Andrews) ผู้รายงานพิเศษ ของ องค์การสหประชาชาติ ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ได้กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็น “หายนะที่เกิดขึ้นซ้ำเติมหายนะเดิม” สำหรับคนเมียนมา

“ประเทศเมียนมาไม่มีทางมีสรรพกำลังเพียงพอ ในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้”

โกพิว กล่าวในตอนท้ายของการพูดคุย ในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ว่า เขายังคงรอคอย ที่จะได้ยินเสียงพ่อแม่ผ่านทางโทรศัพท์ อีกครั้งหนึ่ง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า