SHARE

คัดลอกแล้ว

ความเชื่อที่ว่า เมื่อเราตัดสินใจลาออกแล้วหากยังต้องการทำงานในสายงานเดิมต่อไป จงอย่าพูดให้ร้ายหรือวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำงานและอดีตหัวหน้า เพราะนั่นเท่ากับคุณกำลังตัดโอกาส หรือที่เรียกว่า ‘เผาสะพาน’ ทันที การจบกับออฟฟิศเดิมแบบสวยๆ ผูกมิตรต่อกันเข้าไว้จะดีกับอนาคตที่สุด

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่จบลง ปรากฏการณ์ ‘ลาออกครั้งใหญ่’ ได้เกิดขึ้นทั่วโลก บรรยากาศทางความคิดของคนทำงานเริ่มเปลี่ยนไป 

หลายคนตระหนักได้ว่า การอดทนทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ทำงานที่เราเกลียด หรือมีหัวหน้าแสน toxic ช่างไม่คุ้มค่ากับสุขภาพจิตที่แย่ลงเอาเสียเลย ลำดับความสำคัญในชีวิตเปลี่ยนไป พวกเขาเริ่มค้นหาความหมายในชีวิตมากขึ้น คนทำงานรู้สึกวิตกกังวลกับการเผาสะพานน้อยลง

ทั้งยังมองด้วยว่า การฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่การเผาสะพาน แต่เป็นการแสดงความเคารพต่อตนเอง ทั้งยังได้หยุดส่งต่อความเป็นพิษเพื่อเอาตัวเองออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเหล่านี้ด้วย

[ ‘เผาสะพาน’ อุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง ทำพนักงานเฉยเมย หวั่นกระทบถึงตัวเอง ]

สำนวน ‘เผาสะพาน’ หรือ ‘Burning your bridges’ มีที่มาจากยุทธวิธีทางการทหารของกองทัพทหารโรมัน ว่ากันว่า ทหารเหล่านี้จะทำการเผาสะพานที่ข้ามมาเพื่อเป็นการ ‘ทำลาย’ ทางเลือกของตัวเอง ผลักดันการเดินหน้าแบบไม่มีการถอยหลังกลับ

และเมื่อการเผาสะพานถูกนำมาใช้ในบริบทของการทำงานจึงหมายถึงการทำลายความสัมพันธ์ไปจนถึงจุดที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม เสียชื่อเสียงในแวดวงการทำงาน ไปจนถึงสูญเสียคอนเนกชันที่จะช่วยต่อยอด ‘Career path’ ให้ดำเนินต่อไปได้

บทความจากเว็บไซต์ ‘บีบีซี’ (BBC) ยกตัวอย่างกรณีของ ‘แอบบี้’ หญิงสาวที่เคยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร 

โดยจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อครั้งหนึ่งเธอเข้าร่วมประชุมระดมความคิดสำหรับโปรเจกต์ใหม่ แต่กลายเป็นว่า ทุกครั้งที่ต้องการแสดงความคิดเห็นเธอไม่เคยได้พูดจนจบ ถูกขัดจังหวะอยู่บ่อยครั้ง 

กระทั่ง ‘แอบบี้’ ตัดสินใจพูดกลางวงประชุมขึ้นมาว่า “Can I just finish my thought?” หรือ “ฉันขอพูดจบก่อนได้ไหม?” หลังจากนั้นเธอถูกเมินเฉยจากเพื่อนร่วมงาน และสามวันให้หลังฝ่ายบุคคลโทรหาเพื่อแจ้งข่าวร้ายว่า เธอโดนไล่ออกแล้ว

ในกรณีอื่นๆ ที่ดูจะเป็นการ ‘เผาสะพาน’ อย่างชัดเจน อาทิ ลาออกโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า พูดถึงหัวหน้าในทางที่ไม่ดีในที่สาธารณะ ฯลฯ เข้าข่ายการเผาสะพานชัดเจนอยู่แล้ว

แต่กับ ‘แอบบี้’ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมองค์กรมองต่างออกไป เนื่องจากปัจจุบันคนเริ่มพูดถึงปัญหาด้านลบในที่ทำงานมากขึ้น ยกเรื่องใต้พรมขึ้นมาอภิปรายกันอย่างตรงไปตรงมา

ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างความเสียหายต่ออาชีพการงานน้อยลง นอกจากจะไม่ใช่การ ‘เผาสะพาน’ แล้ว การกระทำเช่นนี้ยังเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่ทำงานให้ดีกับทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้นด้วย

‘เอริน กัลลาเกอร์’ (Erin Gallagher) ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาองค์กรในสหรัฐฯ ระบุว่า เดิมทีแนวคิดของการ ‘เผาสะพาน’ มีไว้เพื่อปกป้องคนทำงานและอนาคตของพวกเขา แต่กลายเป็นว่า ในบางกรณีมันกลับถูกใช้ปกป้ององค์กรและพฤติกรรมของนายจ้างที่ไม่ดีได้เช่นกัน 

ความกลัวต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทำให้พนักงานที่แม้จะเห็นถึงความผิดปรกติกลับเลือกที่จะ ‘นิ่งเงียบ’ ทำให้สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ 

เธอสรุปว่า แนวคิดการเผาสะพานเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร ผู้บริหารระดับสูงไม่อาจรับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในองค์กรได้เลย

[ เผาสะพาน VS หยุดส่งต่อความเป็นพิษ ]

‘คริสเตน’ (Kristen) พนักงานหญิงผู้พิการที่เคยถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้างเล่าว่า เธออดทนต่อสิ่งที่นายจ้างกระทำทั้งการดูแคลนด้วยคำพูดรวมถึงสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม จนท้ายที่สุดเธอตัดสินใจลาออก และเลือกที่จะไม่ทำลายความสัมพันธ์กับบริษัทเดิม 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอกลับรู้สึกเสียใจต่อการตัดสินใจที่จะ ‘นิ่งเฉย’ ในครั้งนั้น คริสเตนมองว่า เธอไม่ได้สนับสนุนตัวเองอย่างเต็มที่ทำให้สูญเสียความมั่นใจ และไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเต็มที่

‘กัลลาเกอร์’ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาองค์กรบอกว่า เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้ หลายคนเลือกที่จะ ‘รักษาสะพาน’ ไว้

แต่กลายเป็นว่า เวลาผ่านไปสิ่งเหล่านั้นยังติดเป็นปมในใจเพราะมองว่า ขาข้างหนึ่งของตนเองได้ก้าวเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นพิษแล้ว

‘กัลลาเกอร์’ ระบุว่า อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมารื้อสร้างสำนวนเผาสะพานเสียใหม่ พร้อมทั้งตั้งคำถามกลับว่า เรายังต้องการที่จะสร้างสะพานเชื่อมต่อกับสถานที่แสนท็อกซิคเหล่านั้นไว้หรือไม่ และเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพิษด้วยรึเปล่า

ด้านผู้เขียนหนังสือ ‘Remotivation: The Remote Worker’s Ultimate Guide to Life-Changing Fulfilment’ ให้ความเห็นว่า ในทางกลับกันมีนายจ้างบางส่วนที่เคารพประสบการณ์เชิงลบของพนักงาน ทำให้เมื่อคนทำงานแบ่งปันเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับนายจ้างใหม่ก็ดูจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรด้วยซ้ำไป

โดยเป็นการแชร์ประสบการณ์อย่างตรงไปตรงมาที่ปราศจากการมุ่งเน้นสาธยายถึงความแค้นส่วนตัว หรือการดูถูกดูแคลนนายจ้างคนเก่าซ้ำๆ เพราะนั่นไม่ได้สร้างมูลค่าอื่นใดให้แก่คุณหรือที่ทำงานใหม่เลย 

ทว่า สิ่งที่ต้องไม่ลืมละพึงระลึกไว้เสมอ คือ คนที่สามารถควบคุมเรื่องเล่า และวิธีขับเคลื่อนเส้นทางอาชีพการงานได้ไม่ใช่นายจ้าง ไม่ใช่เจ้าของสะพานที่ไหน แต่คือตัวเราเอง ความเคารพและสนับสนุนตนเองสำคัญต่อการขับเคลื่อนชีวิตมากที่สุด

ที่มา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า