SHARE

คัดลอกแล้ว

ในช่วงชีวิตการทำงาน เรื่องจริงอย่างหนึ่งที่หลายคนปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ก่อนที่จะได้ก้าวสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจกำหนดทิศทางความเป็นไปขององค์กร จำเป็นต้องใช้เวลาเก็บสะสมประสบการณ์จนมีทักษะในการวิเคราะห์ เข้าใจภาพรวมของบริษัทตัวเอง เท่าทันคู่แข่ง และมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ

ยิ่งกว่านั้นคือในวัยเรียน นักศึกษาสาขาบริหารธุรกิจที่ต้องเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ก็ยิ่งนึกภาพไม่ออกไม่ออกไปใหญ่ ทฤษฎีมากมายที่ได้เล่าเรียนไปนั้นจะนำไปใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าจะให้ไปฝึกงานเป็นผู้บริหารบริษัทก็คงเป็นไปไม่ได้แน่

และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว บริษัท ‘แคปซิม’ (Capsim) จึงได้คิดค้นและออกแบบเกม ‘แคปสโตน’ (Capstone) เพื่อมาตอบโจทย์นั้น

‘แคปสโตน’ คือ เกมการจำลองธุรกิจ ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการเรียนการสอน ผู้เล่นที่แคปซิมมองว่าเหมาะสมที่จะเล่นแคปสโตน จึงเป็นกลุ่มนักศึกษาด้านบริหารธุรกิจเป็นหลัก โดยทำการเล่นผ่านเว็บไซต์ของแคปซิมคล้ายกับการล็อกอินโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์

ตัวเกมมีการผสมผสานทั้งส่วนงานการตลาด การผลิต การเงิน การจัดตำแหน่งข้ามสายงาน การวิเคราะห์การแข่งขัน การทำงานเป็นทีม และการเลือกกลยุทธ์ เพื่อสร้างองค์กรที่ประสบความสำเร็จ

โดยผู้เข้าร่วมเกมจะต้องตัดสินใจดำเนินเกมในฐานะผู้บริหารของบริษัท และต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วคล้ายกับชีวิตจริง

ดังนั้น จึงเรียกได้ว่าแคปสโตนเข้ามาสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุกสนานแก่นักศึกษาในสายธุรกิจจำนวนมาก อีกทั้งยังถือเป็นเกมจำลองธุรกิจระดับมาตรฐานสากล

โดยมีมหาวิทยาลัยระดับโลกหลายแห่งนำไปใช้ เช่น ฮาร์วาร์ด, วอร์ตัน, เคล​ล็อกก์, สแตนฟอร์ด, สถาบันการจัดการแห่งอินเดีย รวมถึงที่อื่นๆ ในหลักสูตร MBA ชั้นนำกว่า 800 หลักสูตรทั่วโลก

รวมถึงในประเทศไทยเองก็มีการนำมาใช้ด้วยเช่นกัน เช่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยหรืออาจารย์ประจำวิชาจะรับหน้าที่ลงทะเบียนและจ่ายค่าสมัครสมาชิก พร้อมทั้งสร้างบัญชีสำหรับล็อกอินของอาจารย์และทำการสร้างกลุ่ม คล้ายการสร้างห้องเรียน รวมถึงลงทะเบียนและจ่ายค่าสมัครสมาชิกให้แก่นักศึกษา เพื่อสร้างบัญชีสำหรับการล็อกอินเข้าไปร่วมเล่นเกมในภายหลัง

แล้วทำไมมหาวิทยาลัยหลายแห่งถึงเลือกแคปสโตนมาใช้งาน?

สาเหตุหลักๆ คงเป็นเพราะ

1.แคปสโตนเป็นของแคปซิม ผู้นำในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จำลองธุรกิจ โดยแคปซิมทำธุรกิจด้านซอฟต์แวร์จำลองธุรกิจมายาวนานเกือบ 30 ปี เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง, มีชื่อเสียง และเป็นหนึ่งในสมาชิกของสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี (AACSB) ซึ่งถือเป็นเครือข่ายที่มุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาด้านธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก

2.แคปสโตนใช้งานง่ายและสะดวก ด้วยหน้าตาซอฟต์แวร์ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้แม้แต่ผู้ใช้งานครั้งแรกยังรู้สึกสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาทำความเข้าใจนาน

3.แคปสโตนช่วยส่งเสริมการเรียนภาคปฏิบัติ สร้างประสบการณ์และการเรียนรู้ระยะยาว

โดยบาร์บาร่า ซีลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการเรียนการสอน เคยกล่าวไว้ว่า “การฝึกฝนภาคปฏิบัติเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของการสอนที่มีประสิทธิภาพ มันเร่งการเรียนรู้ ช่วยคงความทรงจำไว้ได้นาน และสามารถเรียกคืนความทรงจำได้สะดวก การสอนจะมีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อไม่มีโอกาสปฏิบัติงาน น่าเสียดายที่การสอนในห้องเรียนส่วนใหญ่ให้โอกาสในการปฏิบัติเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย”

ดังนั้น หากมีทางเลือกในที่ช่วยให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น มหาวิทยาลัยก็คงต้องพิจารณาทางเลือกนั้นอย่างแน่นอน

แล้ว ‘แคปสโตน’ เล่นยังไงกันแน่?

จากที่เล่าไปแล้วว่าผู้เข้าร่วมเกมจะรับบทเป็นผู้บริหาร โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมคือจะต้องควบคุมดูแลบริษัทมูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำธุรกิจผลิตเซ็นเซอร์ โดยแบ่งผู้เข้าร่วมเกมออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มเทียบเท่า 1 บริษัท รวมเป็น 5 บริษัท และมาทำการแข่งขันกัน

สถานการณ์ในเกมก็คือ นวัตกรรมของบริษัทเริ่มล้าหลัง เกิดปัญหาในทุกแผนก ส่งผลต่อความไม่แน่นอนในการรักษาตำแหน่งของบริษัทในตลาด เป็นโจทย์ที่ท้าทายผู้เข้าร่วมเกมว่าจะสามารถแข่งขันเพื่อให้บริษัทอยู่รอดหรือแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเติมได้หรือไม่

ผู้เข้าร่วมเกมจะต้องวางกลยุทธ์ โดยตัดสินใจทางเลือกทั้งหมด 4 แผนกหลักๆ ดังนี้

1.แผนกการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ตัดสินใจว่าจะพัฒนาเซนเซอร์สำหรับตลาดไหน และรายละเอียดของเซ็นเซอร์เป็นอย่างไร มีจุดเด่นอย่างไร ตรงตามความต้องการลูกค้ามากน้อยแค่ไหน

2.แผนกการผลิต (Production) ตัดสินใจว่าจะผลิตเซ็นเซอร์ชนิดใด จำนวนเท่าไหร่ เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ ถ้าไม่พอก็จะเสียโอกาส ถ้ามากเกินไปก็อาจมีต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าสูง รวมถึงวางแผนแรงงานคนและเครื่องจักรว่าเพียงพอในการผลิตหรือไม่

3.แผนกการตลาด (Marketing) ตัดสินใจว่าจะสื่อสารคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการไปยังลูกค้าอย่างไร ตั้งราคาสินค้าที่เท่าไหร่ ลงโฆษณารูปแบบใด

4.แผนกการเงิน (Finance) ตัดสินใจว่าจะบริหารเงินในบริษัทอย่างไร ระดมเงินทุนจากเจ้าหนี้หรือเจ้าของสัดส่วนเท่าไหร่ กำหนดนโยบายระยะเวลารับ-จ่ายเงินจากลูกหนี้-เจ้าหนี้ที่กี่วัน

โดยทั้ง 4 แผนกจะต้องประสานงานกันให้ดี  เช่น การทำการตลาดมีงบจากฝั่งการเงินเพียงพอหรือไม่ การผลิตสอดคล้องกับแผนการตลาดที่วางไว้ไหม เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้คุมเกมหรืออาจารย์ประจำวิชาสามารถเพิ่มฟังก์ชั่นสถานการณ์เพิ่มเติมได้ โดยอาจกำหนดให้มีเหตุการณ์ประท้วงจากแรงงานเพื่อเพิ่มค่าแรงพนักงานในบริษัท เราจะตัดสินใจอย่างไร กำหนดค่าแรงที่เท่าไหร่

หรืออาจเป็นฟังก์ชันการบริหารคุณภาพโดยรวม  (Total Quality Management : TQM) ซึ่งสามารถตัดสินใจเลือกจะพัฒนาการบริหารภายในองค์กรเพิ่มเติมได้ เช่น การลดต้นทุน R&D, การเร่งระยะเวลาการ R&D หรือการเพิ่มอุปสงค์ในสินค้าของบริษัท ซึ่งสามารถเลือกได้จำกัด เราจะเลือกทางใดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายมากที่สุด เป็นต้น

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงกติกาคร่าวๆ เท่านั้น แท้จริงแล้ว จุดที่น่าสนใจของแคปสโตนคือการแข่งขันกับเพื่อนทีมอื่นต่างหาก ทุกๆ รอบของเกมที่เล่น เมื่อตัดสินใจครบทุกแผนกและทำการกดส่งผลการตัดสินใจไป เราก็จะได้รู้ผลลัพธ์หลังจากจบรอบการแข่งขันแต่ละครั้ง

ซึ่งเราอาจคิดว่าเราวางแผนมาดี คาดว่าจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ แต่เพื่อนทีมอื่นอาจจะคิดเหมือนเราเป๊ะเลยก็ได้ หรือเขาอาจคิดถึงจุดที่เรามองข้ามไป ท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่เราคาดไว้อาจกลับตาลปัตร ตลาดไม่เป็นไปตามที่คิด จนเราเสียเปรียบคู่แข่งเสียอย่างนั้น

นั่นทำให้ในการเล่นจริงมักจะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่คาดการณ์ยาก เกิดปัญหาระหว่างทางที่ต้องแก้ไขอีกไม่น้อย ผู้เข้าร่วมเกมหรือนักศึกษาจึงต้องงัดเอาสิ่งที่เรียนมาออกมาใช้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ทันท่วงที

เรียกได้ว่าต้องปล่อยของกันหมดไส้หมดพุง ทั้งยังได้ประสบการณ์การเรียนรู้ระยะยาวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากประสบการณ์ในห้องเรียนยังไม่เพียงพอ แคปซิมได้มีการจัดการแข่งขัน ‘แคปสโตน ชาเลนจ์’ ปีละ 2 ครั้ง นักศึกษาสามารถนำความรู้ทางธุรกิจในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ในการแข่งระดับโลกเพิ่มเติม ลองทดสอบทักษะของตัวเองในสภาพแวดล้อมที่ดุเดือดกว่าเดิม และถือเป็นการสร้างเกียรติประวัติให้ตัวเองและมหาวิทยาลัยด้วย

สำหรับการแข่งขันในปี 2021 นี้ รอบที่ 2 กำลังใกล้เข้ามา (รับสมัครช่วงประมาณกันยายน – ตุลาคม) เอาเป็นว่าใครสนใจจะเข้าแข่งขัน ต้องติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์บริษัท ‘แคปซิม’ ต่อไป

โดย ภูมิภัค

Source:

https://www.capsim.com/blog/registration-is-open-for-the-spring-2021-capsim-challenge-a-global-student-competition

https://www.siom.in/capstone-business-simulation

https://www.capsim.com/simulations/

https://www.aacsb.edu/membership/educational

http://www.mbanewsthailand.com/2017/12/aacsb/

https://www.aacsb.edu/membership/listings/business-services/simulate

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า