SHARE

คัดลอกแล้ว

“ตอนที่ผมเรียนจบและต้องมาบริหารโรงแรมกับครอบครัว มีประโยคหนึ่งที่พูดกับแม่ ว่าผมจะต้องเจอวิกฤตสักอย่าง เหมือนที่แม่เจอตอนปี 40 ผมจะพิสูจน์ตัวเองและผ่านมันไปให้ได้ และตอนนี้ผมก็เจอโควิด-19 สมพรปากเลยครับหนักมาก” คำบอกเล่าของ วาริชัย บุญประดิษฐ์ หรือ “เฟิส” นักธุรกิจหนุ่มบัณฑิตป้ายแดงจากรั้วจามจุรีวัย 23 ปี ในฐานะกรรมการผู้จัดการโรงแรม Navakitel Design Hotel ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ Grand opening ไปเพียง 3 เดือน ก็เจอคลื่นโควิด-19 ซัดกระหน่ำไม่แพ้ธุรกิจอื่น

วาริชัย บุญประดิษฐ์ ทายาท “นวกิจ เอสเตท” บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรชายของ คุณสุชาดา นวกิจไพฑูรย์ ที่เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจของครอบครัว ในตำแหน่งหัวเรือใหญ่ดูแลด้านการบริหารการตลาดและการบริการ Navakitel Design Hotel หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Navakitel Design Hotel เกิดจากความตั้งใจของครอบครัวที่ทุ่มทุนสร้างถึง 110 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปี จุดเด่นของโรงแรมนี้ คือการดีไซน์โดยนำเอาเอกลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชมาร้อยเรียงไว้ เพื่อต้องการบอกเล่าเรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านภาษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยวางกลุ่มเป้าหมายเป็นคนที่อยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ สร้างแรงบันดาลใจใหม่ ซึ่งโรงแรมเปิดอย่างไม่เป็นทางการไปเมื่อกรกฎาคม 2562 และเปิดอย่างเป็นทางการช่วงมกราคม 2563

วาริชัย เล่าว่า ช่วงแรกที่เปิดผลตอบรับเป็นไปตามที่วางแผนไว้ แต่พอเริ่มได้ยินเรื่องของโควิด-19 เข้ามาแต่อาจจะยังไม่เข้าไทย แต่ก็เริ่มคิดไว้แล้วว่าสิ่งที่เราจะเจออยู่ข้างหน้านี้ คือการรับน้องที่หนักแน่นอน “ย้อนกลับไปช่วงแรก ๆ ที่โควิด-19 เข้ามา บอกเลยว่าเครียดครับ เพราะเราเองก็เพิ่งเปิดมันก็มีค่าใช้จ่ายมากมายที่รอเราอยู่ แต่พอเจอสถานการณ์โควิด-19 ก็เสี่ยงที่จะทำรายได้เราหายไป” เขากล่าว

 

ตั้งสติหาทางออกสู้วิกฤต

หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มเข้ามาในไทย วาริชัย บอกว่าสิ่งแรกที่ต้องมีคือสติ แล้วค่อย ๆ วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวโน้มที่จะตามมาในอนาคต “เราก็เริ่มจากการตั้งสติ ยอมรับในสิ่งที่มันเป็นก่อน แล้วก็มาดูว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นอย่างไร สถานการณ์ที่เป็นอยู่เป็นอย่างไร สถานการณ์ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร แล้วเราก็มาดูว่าเราพอจะหาวิธีรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นอย่างไร โดยวิธีการที่ผมใช้คือ วิเคราะห์สถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าก่อน เก็บข้อมูล ศึกษาข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร วันนี้มียอดติดเชื้อเท่าไหร่ ยอดติดวันนี้มีโอกาสขยายมากเท่าไหร่ และสถานการณ์ปัจจุบันนี้มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง และผลกระทบเหล่านี้จะมีบทบาทเข้าไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าเราอย่างไรได้บ้าง แล้วเราก็เอาทั้งหมดนี้มาต่อยอดคิดเป็นวิธีการต่าง ๆ รวมถึงกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการรับมือต่อไป”

สิ่งแรกที่นาวากิเทลดำเนินการ ก็คือ ความปลอดภัย สุขอนามัย สร้างความมั่นใจให้ลูกค้า และความยืดหยุ่นในการเข้าพัก ให้เปลี่ยนแปลงวันเข้าพักได้ตามต้องการ

 

อาสาดามใจชาวทริปล่ม แต่เจอคลื่นโควิดซัดล้ม

แคมเปญ “อาสาดามใจ” เกิดขึ้นช่วงมีนาคมที่สถานการณ์ในไทยยังดีและยังมีการเดินทาง ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์คนถูกยกเลิกทริป ยกเลิกเที่ยวบินเยอะมาก ซึ่งสิ่งที่วาริชัยมองเห็น คือ คนกลุ่มนี้วางแผนเที่ยวมานานแรมปี ยังมีวันหยุดอยู่ ยังมีความอยากเที่ยว แถมยังเสียเงินจากทริปที่ล่มไปแล้วไม่น้อย จึงออกกิจกรรมชวนคนเที่ยวนครศรีธรรมราช โดยให้แชร์โพสต์ระบายความในใจ เรื่องราวที่ถูกใจจะถูกเลือกมารับรางวัล ให้มาเที่ยวนครศรีธรรมราช โดยมีตั๋วเครื่องบินและที่พักให้ฟรี แคมเปญนี้ได้รับความสนใจมาก แต่ออกมาได้แค่ 2 วัน สถานการณ์ในไทยก็รุนแรงขึ้น นครศรีธรรมราชก็พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรก ก็เลยต้องปรับแผนการใหม่

 

ปรับแผนใหม่ห้องรายคืน สู่ รายเดือน ตอบโจทย์คน Work From Home

พอสถานการร์ในประเทศรุนแรงขึ้น มาตรการเข้มขึ้น ส่งผลให้คนเดินทางน้อยลง ช่วงนี้มีข่าวตามหน้าสื่อว่าโรงแรมโดนยกเลิกห้องพัก วาริชัย จึงปรับแผนใหม่จากเดิมที่รับนักท่องเที่ยวรายคืนที่ขายไม่ได้ จึงปรับเป็นโรงแรมให้พักรายเดือน “ก็เลยทำการบ้านศึกษาเพิ่มเติม ว่ามีกลุ่มไหนที่ยังต้องการห้องพักอยู่ ช่วงนี้เห็นมี การรณรงค์ Work From Home และ Social Distancing ก็เกิดเป็นแพ็กเกจรายเดือน จับกลุ่มคนในจังหวัดที่ต้องการห้องพักสำหรับทำงาน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม เป็น One Stop Service โดยจะเป็นที่ที่เขารู้สึกปลอดภัยครับ” วาริชัย กล่าว

 

อนาคตได้เที่ยว ปัจจุบันได้ช่วย อุ้มธุรกิจแบบไม่ละทิ้งสังคม

“เป็น Voucher ที่สามารถจองได้ในราคาพิเศษ โดยนำเอาค่าห้องพัก 50 เปอร์เซ็นต์ไปช่วยเหลือสถานการณ์ทางสังคม ทาง Navakitel ก็จะเอา 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ในส่วนนี้ ไปสนับสนุนกิจการสังคมในปัจจุบัน ซึ่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้นำไปสนับสนุนในส่วนของสถานการณ์โควิด-19 กับโรงพยาบาลจุฬาฯ แล้วก็ช่วยดับไฟป่าที่เชียงใหม่ กับของทุนป่าเขาลมหายใจเรา นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม ก็วางแผนไว้ว่ารายได้ที่จะเกิดขึ้นในส่วนนี้ จะนำไปสนับสนุนสถานการณ์โควิด-19 ที่ จ.ยะลา ช่วยผู้ป่วยติดถนนกับมูลนิธิกระจกเงา ช่วยช้างไทยกับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมต่อไปนะครับ” วาริชัย อธิบายถึงโครงการล่าสุด

เขาเล่าต่ออีกว่า ผลตอบรับช่วงแรกมีคนใกล้ตัวเข้ามาให้ความสนใจเยอะมาก และที่มาที่ไปของแนวคิดนี้ เกิดจากการที่ได้รับคำปรึกษาว่า สถานการณ์แบบนี้โรงแรมอาจจะต้องการสภาพคล่อง กลยุทธ์ Early bird อาจจะพอช่วยได้ เพราะก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองทาง คือลูกค้าก็ได้ที่พักราคาพิเศษ เราก็ได้สภาพคล่อง “แต่เราก็คิดว่า อยากเพิ่มทางที่ 3 ที่จะได้รับส่วนนี้ คือสังคม อย่างน้อยเขาจะได้เที่ยวในอนาคต และเรากับเขาก็จะได้ช่วยสังคมในปัจจุบันร่วมกัน”

 

โรงแรม ผู้บริหาร พนักงาน ต้องรอดไปด้วยกัน

ในส่วนของพนักงาน ทีมงาน วาริชัย กล่าวกับผู้ทุกคนเสมอว่า ในวันที่เราสุขเขาก็สุขด้วย วันที่ลำบากเราก็จะลำบากไปด้วยกัน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ทำให้ไม่สามารถทิ้งใครไว้ข้างหลังได้ และสิ่งที่พนักงานกังวลคือเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงในหน้าที่การงาน จึงสร้าความมั่นใจว่า จะไม่มีการปิดโรงแรม หรือปลดพนักงานเด็ดขาด

“ตั้งแต่ช่วงปลายมีนาคม ถึงเมษายน เราจะเห็นภาพว่ากิจการโรงแรมหลายแห่ง ปิดตัวชั่วคราว ทำพนักงานลุ่ม ๆ ดอน ๆ ก็เลยเรียกประชุมชี้แจงสถานการณ์และแนวทางปฏิบัติ เริ่มจากการบอกว่าสถานการณ์ไม่ดี กิจการหลายอย่างปิดตัว อยากให้เข้าใจว่าไม่มีเจ้าของคนไหนอยากให้พนักงานหยุดงาน หรือไม่จ่ายเงินเดือน แต่ผมบอกพนักงานว่าเราจะเดินหน้ากันต่อ เพราะตั้งแต่เปิดมาทุกคนตั้งใจทำงาน และทำงานหนักกันมาตลอด ไม่มีใครบ่น โอกาสตรงนี้ผมขอโอกาสให้โบนัสเป็นรางวัลสำหรับทุกคน และช่วงนี้แขกอาจจะไม่ค่อยมี ก็คือช่วงเวลาอันดีของเราที่จะมาช่วยกันเก็บรายละเอียด มีจุดบกพร่องอย่างไรบ้าง สร้างมาตรฐานบริการที่ดีขึ้น แต่นี่เป็นสถานการณ์ เดือนเมษายน แต่เดือนต่อ ๆ ไป ก็จะเป็นการวิเคราะห์ตามสถานการณ์ ซึ่งถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็อาจจะมีขอความร่วมมือลดผลตอบแทนบ้าง แต่ถ้าจะต้องขอลดเงินเดือน ก็จะเป็นรูปแบบการขอยืม และเมื่อผ่านพ้นวิกฤตไป ก็จะนำเงินที่ถูกหักไปนี้มาคืนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นาทีนี้ไม่ใช่ของผมคนเดียว ถ้าเราจะรอด ต้องรอดไปพร้อม ๆ กัน เราพร้อมทั้งเกมรับและเกมรุก ถ้าเราเต็มที่เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”

 

พฤติกรรมคนเปลี่ยน แต่ความต้องการเที่ยวยังเหมือนเดิม

วาริชัย มองว่า คนจะกลับมาเดินทางแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ คงต้องรอวัคซีนก่อน ซึ่งอาจจะต้องรอนานกว่า 1 ปี แต่ก็คงยังมีการเดินทางอยู่บ้าง คนยังต้องใช้ชีวิตทำมาหากิน แต่การเดินทางที่จะเกิดขึ้น เป็นการเดินทางที่คนให้ความสนใจเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือพฤติกรรมเขาจะระวังตัวเองมากขึ้น แต่ความต้องการเดิมยังอยู่ เขาจะมองหาห้องพักที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย การจะทำให้ตอบได้ 2 โจทย์ คือต้องรองระบพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง และความต้องการเรื่องท่องเที่ยวจึงต้องพัฒนาบริการ และระบบความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

 

สานต่อธุรกิจครอบครัวช่วงวิกฤต

วาริชัย เล่าว่า เพิ่งกลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว ถึงแม้ว่าโรงแรมนี้จะเป็นธุรกิจใหม่ของ นวกิจ แต่ทางฝั่งคุณแม่ ได้ทำธุรกิจกันมา 3 รุ่นแล้ว วาริชัยเป็นรุ่นที่ 3 กลับมาใหม่ ๆ เขาเล่าว่า รุ่นแม่เจอผลกระทบช่วงปี 2540 หลายอย่างก็ส่งผลมาจนถึงตอนนี้ การที่ได้มาทำตรงนี้ มันคือความท้าทายหลายอย่าง ๆ “การที่เราอายุยังน้อย ต้องมาทำงานในองค์กรในฐานะผู้นำ ในขณะที่คนงานพนักงานอายุมากกว่าเรา ก็เป็นความท้าทาย รวมถึงตัววิกฤตที่กำลังเจออยู่ ผมแซวคุณแม่ประจำนะ พอดีเป็นคนค่อนข้างอยากเอาชนะ ผมบอกว่า ม๊า เฟิสรู้สึกว่ายังไม่ชนะม๊า ม๊าผ่านวิกฤตมา คือเฟิสยังไม่เจอวิกฤตเลยมันวัดกันไม่ได้ สุดท้ายสมพรปากเกิดคนละเบอร์เลยครับ” เขาเล่าพร้อมกับหัวเราะ

วาริชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำงานกับครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะพ่อแม่กับเรามีความคิดที่ต่างกัน เด็กรุ่นใหม่มีความคิดอยากเปลี่ยน แต่บางครั้งเราเสนอ เขาอาจจะไม่เห็นด้วย แต่เราอยากลอง เราก็เลยต้องพิสูจน์ ให้เห็นว่าสำเร็จ ว่าเป็นวิธีสู่ความสำเร็จได้ ดังนั้นการเปิดใจการสร้างความเข้าใจครอบครัวจะช่วยได้ “ช่วงแรกที่กลับมา พ่อแม่มาดูเรื่อย ๆ แต่พอผ่านมาช่วงหนึ่งก็เริ่มปล่อยให้เราทำเอง ช่วงที่เจอวิกฤต ผมมีความสุขที่สุดตั้งแต่มาทำงานกับที่บ้าน เพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่เราระดมกำลังความคิดแรงกายช่วยกัน แม่เป็นนักธุรกิจ พ่อเป็นข้าราชการ ผมเป็นเด็กจบใหม่ เรามาทำโรงแรมด้วยกัน เราแบ่งหน้าที่กัน แม่ดูแลการเงิน ผมดูความเรียบร้อยโรงแรม พ่อไปจัดการเรื่องสวน ทุกคนลดอีโก้ลงและเรามีเป้าหมายเดียวกันคือเราต้องผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน มันรู้สึกอบอุ่นที่เรามาสู้วิกฤตครั้งนี้ร่วมกับพ่อแม่”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า