SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ประธานทีดีอาร์ไอ’ จี้ 3 กสทช. ลาออก ตำหนิเสียงข้างมาก โหวตกรณีควบรวม TRUE-DTAC

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich ระบุว่า มติอัปยศของ กสทช. ในการอนุญาตให้ควบรวม ทรูและดีแทค สำหรับผมแล้ว การลงมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมาของ กสทช. ซึ่งยอมให้ทรูและดีแทคควบรวมกัน โดยอ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการห้ามการควบรวมเป็น “มติอัปยศ” ของเสียงข้างมากโดยแท้ เนื่องจากเป็นมติที่ กสทช. จงใจตัดอำนาจของตน ไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนอย่างร้ายแรง เพราะทำให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยมีการผูกขาดมากขึ้น

ผลการศึกษาในภาพรวมโดยนักวิชาการไทยหลายสถาบันชี้ว่า ราคาค่าบริการหลังควบรวมอาจสูงขึ้น 2-23% ในกรณีที่ไม่มีการสมคบราคากัน (ฮั้ว) ระหว่างผู้ประกอบการ 2 รายที่เหลืออยู่ แต่หากมีการฮั้วราคากัน อัตราค่าบริการอาจสูงขึ้นถึง 120-244% และ GDP ของประเทศจะหดตัวลง 0.5-0.6%  เช่นเดียวกันกับผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศของ กสทช. เองที่ชี้ไปในทางเดียวกันว่า ไม่ควรอนุญาตให้มีการควบรวม

ผลการลงมติครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ผมเองได้เคยคาดการณ์มาแล้วว่าจะมี “การเล่นกลทางกฎหมาย” ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจห้ามควบรวม ตามที่ผู้บริหารสำนักงาน กสทช. และ กสทช. บางคน มีท่าทีชี้นำมาโดยตลอด แม้ว่าศาลปกครองกลางได้เคยพิจารณาในคดีที่เกี่ยวข้องแล้วว่า กสทช. มีอำนาจที่จะพิจารณาให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวมก็ได้  ที่อาจจะแปลกใจอยู่บ้างก็คือ มี กสทช. บางท่านไม่กล้าลงมติ ซึ่งอาจเกิดจากการกลัวความรับผิดทางกฎหมาย เพราะหากลงมติไปว่า กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณาให้ควบรวม ก็อาจจะเป็นการกลับความเห็นของตน ซึ่งแต่เดิม กสทช. ทั้งองค์คณะเคยมีมติ 3-2 ว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ก็ได้ เมื่อครั้งที่ชี้แจงต่อศาลปกครองกลาง  อย่างไรก็ตาม ผมไม่เชื่อว่าการไม่ลงมติครั้งนี้จะทำให้ท่านรอดพ้นจากความรับผิดชอบไปได้ ซึ่งหากมีการฟ้องร้องคดีว่าท่านปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็น่าสนใจว่าจะมีคำตัดสินออกมาเป็นบรรทัดฐานต่อไปอย่างไร

“ผมขอตำหนิ กสทช.เสียงข้างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มาจากตัวแทนผู้บริโภค และผู้ที่มาจากตัวแทนของผู้ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะท่านทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการถูกกลุ่มทุนผูกขาดเอาเปรียบ และประชาชนถูกริดรอนสิทธิและเสรีภาพจากการมีทางเลือกที่ลดลง เช่นเดียวกัน ผมขอตำหนิ กสทช. ท่านที่ไม่กล้าแม้แต่จะออกเสียงลงมติตามหน้าที่ ทั้งที่มีเวลาให้ศึกษาประเด็นทั้งหลายมานานพอ  ผมอยากเห็นทั้งสามท่านนี้ลาออกจากตำแหน่ง แม้จะคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ในขณะเดียวกัน ผมขอแสดงความชื่นชม กสทช. เสียงข้างน้อยคือ รศ.ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย และ ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต ที่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน และไม่อยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน” ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุ

เงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ไม่มีผลลดความเสียหาย

เมื่อยอมให้เกิดการควบรวมแล้ว กสทช. ก็ได้กำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะไว้ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันผลกระทบในด้านลบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวม ทั้งที่มาตรการเหล่านี้แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติในการคุ้มครองผู้บริโภคเลย กล่าวคือ

– การให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันลดราคาเฉลี่ยลง 12% ใน 90 วันหลังควบรวม เป็นการลดราคาที่น้อยเกินไป เพราะการศึกษาชี้แล้วว่า ราคาค่าบริการหลังควบรวมอาจสูงได้ขึ้น 120-244% ในกรณีที่มีการสมคบราคากัน (ฮั้ว) ระหว่างผู้ประกอบการ 2 รายที่เหลืออยู่  นอกจากนี้โดยทั่วไป ราคาค่าบริการโทรคมนาคมในตลาดที่มีการแข่งขันก็จะลดลงอย่างต่อเนื่องตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีอยู่แล้ว

– การสั่งให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันส่งข้อมูลต้นทุน และให้มีที่ปรึกษาไปตรวจสอบต้นทุน แสดงให้เห็นว่า กสทช. อนุญาตให้มีการควบรวม โดยไม่ทราบต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งหมายถึงการไม่ได้ทำหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างที่ควรจะเป็น

– การให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันคงแบรนด์ที่ให้บริการแยกจากกันเป็นเวลา 3 ปี ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการเลย และกลับทำให้ประโยชน์อันน้อยนิดจากการควบรวมไม่เกิดขึ้น

– การจัดให้มีผู้ให้บริการที่ไม่มีโครข่าย (MVNO) เข้ามาแข่งขันไม่น่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยอิ่มตัวแล้ว และมาตรการที่กำหนดขึ้นก็แทบไม่แตกต่างจากมาตรการเดิมที่มีอยู่

– การให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันต้องปฏิบัติตามกฎหมายในการใช้คลื่นความถี่อย่างเคร่งครัด จะเป็นได้อย่างไรในเมื่อ กสทช. ไม่ได้สั่งให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันคืนคลื่นความถี่ที่ถืออยู่เกินกว่าที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูล ซึ่งก็มีฐานะเป็น “กฎหมาย” ที่ออกโดย กสทช. เอง

– มาตรการอื่นๆ เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันรักษาคุณภาพบริการ และการให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ก็เป็นมาตรการที่มีอยู่เดิมแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการบังคับใช้ ครั้งนี้ก็เป็นเพียงการเอามาตรการเดิมมาเติมคำว่า “อย่างเคร่งครัด” เข้าไป ซึ่งเป็นการบอกในทางอ้อมว่า ที่ผ่านมา กสทช. ไม่ได้บังคับให้เกิดการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ “อย่างเคร่งครัด” เลย

– การกำหนดให้เอกชน เสนอ “แผนพัฒนานวัตกรรม” ที่เป็น “รูปธรรม” ขึ้นมา ก็ชี้ให้เห็นว่าการกล่าวอ้างของผู้ประกอบการว่าการควบรวมจะทำให้เกิดนวัตกรรมเพิ่มขึ้น เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน ที่สำคัญการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมของกลุ่มสตาร์ทอัพได้อย่างไร ?

ดังนั้น ประชาชนจึงไม่อาจคาดหวังได้ว่า การควบรวมนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อประชาชนจากการมีมาตรการต่างๆ ที่ กสทช. กำหนดขึ้น

ประชาชนควรดำเนินการอย่างไรต่อไป ?

ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ผมเคยกล่าวมาแล้วว่าคงมีแต่สำนึกของ กสทช. และพลังการตรวจสอบของประชาชนและสื่อมวลชนเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคมในครั้งนี้ไปได้  ในเมื่อ กสทช. ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงสำนึกต่อการทำหน้าที่ในการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ผมคิดว่า ประชาชนโดยเฉพาะองค์กรผู้บริโภคควรดำเนินการดังต่อนี้

1. ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลยกเลิกมติของ กสทช. ที่ปล่อยให้มีการควบรวมกิจการ และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวอย่าให้มีการควบรวมก่อนมีคำตัดสิน

2. ดำเนินการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการที่ กสทช. อนุญาตให้ควบรวมแล้วมีผลทำให้บริการโทรคมนาคมซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จะมีค่าบริการที่สูงขึ้นในอนาคตและเป็นภาระต่อประชาชนตามที่มีผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ไว้ ซึ่งจะทำให้การกระทำของ กสทช. ขัดต่อมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญก็กำลังพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าโดยอ้างมาตราเดียวกันอยู่

3. ร่วมมือกับองค์กรด้านต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นร้องเรียนให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.

4. เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะ ส.ส. ตรวจสอบ กสทช. อย่างเข้มข้น และพิจารณาแก้ไขกฎหมาย กสทช. ครั้งใหญ่เพื่อปฏิรูป กสทช. และสำนักงาน กสทช. ให้มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อประชาชน

5. รณรงค์ให้ประชาชนและผู้บริโภคแสดงออก โดยงดซื้อสินค้าและบริการจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทุนผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ อาหารและอาหารสัตว์ อินเทอร์เน็ต ระบบการชำระเงินและกิจการอื่นๆ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า