Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

WorkpointTODAY มาคุยประเด็นธุรกิจ กับ หนุ่ม – ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล Managing Director ของเงินติดล้อในเรื่องประสบการณ์การทำงาน ตั้งแต่อยู่บริษัทที่ปรึกษาขนาดใหญ่ จนมาถึงทุกวันนี้ที่ ‘เงินติดล้อ’ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องทำงานกับคนจำนวนมาก 

เส้นทางการเติบโตของ หนุ่ม – ปิยะศักดิ์ นั้นเรียกได้ว่าไม่ธรรมดา เมื่อเรียนจบ BBA จากธรรมศาสตร์ ได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ที่ BCG แล้วย้ายไปทำงานที่บริษัท AIG สังกัดทีมที่ฮ่องกง ซึ่ง AIG ในส่วนที่เขาทำงานนั้นจะดูแลทางด้านการซื้อขายธุรกิจให้กับกลุ่ม AIG ที่จะสนใจกลุ่มธุรกิจด้านสถาบันการเงิน ซึ่งในส่วนของบริษัท ศรีสวัสดิ์เงินติดล้อนั้นก็เป็นคนดีลธุรกิจให้ และกลุ่มธนาคารกรุงศรีก็เข้ามาเทคโอเวอร์ต่อไปอีกครั้ง ซึ่งตั้งแต่ AIG เข้ามาซื้อศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ เขาก็เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารมาตลอด

มาดูกันว่าความเปลี่ยนผ่านนี้มาได้อย่างไร จากที่เป็นที่เป็นที่ปรึกษาสู่ผู้บริหารเงินติดล้อ เขามีวิธีพัฒนาธุรกิจเพื่อแสวงหาช่องทางใหม่ ๆ เสนอบริการใหม่ ๆ ไปสู่ลูกค้าอย่างไรบ้าง

จากที่ปรึกษาอยู่ BCG สู่ผู้บริหารเงินติดล้อ

ต้องเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านโดยธรรมชาติโดยไม่ได้วางแผน ตอนเป็นที่ปรึกษาที่ BCG เราก็ทำวางแผนเรื่องกลยุทธ์ ก็ไม่ได้มีอะไร ก็เป็นธุรกิจบริการ จัดหา – ให้คำแนะนำปรึกษาให้กับธนาคาร หรือว่า บริษัทต่าง ๆ  ก็พอออกจาก BCG ก็ไปอยู่กับ AIG

ตอนนั้น AIG อยากจะซื้อธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อ ตอนนั้น Mandate ของเราก็คือซื้อธุรกิจใน Southeast Asia ธุรกิจแรกที่เราทำคือ ศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ ที่เราเข้าไปซื้อและมันก็เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ “พอเราไปซื้อก็ดีลดิลิเจนซ์อยู่ในทีมวิเคราะห์ดูธุรกิจ ไปปลอมตัวเป็นลูกค้า ไปขอกู้ยืมเงิน เดินทางไปต่างจังหวัดไปนั่งดูว่าที่มีกี่สาขาที่ว่ามี มีจริงไหม มีผลิตภัณฑ์ตามนั้นหรือเปล่า เราก็เริ่มเห็นเสน่ห์ของธุรกิจนี้ พอจบดีลหลังจากนั้นได้ปีสองปี CEO เงินติดล้อในตอนนั้นบอกกับ Head of Marketing ว่าเรารู้จักธุรกิจอยู่แล้วเราศึกษามัน เราเป็นคนแนะนำว่าเราควรจะซื้อ หรือเราเป็นคนที่ Endorse ว่า AIG ควรที่จะซื้อ เราก็อาจจะเป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่เขาเลือกมา” 

แต่เส้นทางในสายอาชีพมันไปได้ 2 ทาง ตอนนั้นปี 2008 พอดี  AIG ทาง New York  โทรมาแล้วบอกว่า พวกคุณทำดีลในประเทศไทยได้ดีมาก อยากให้ไปทำดีลที่อเมริกาใต้ อยากไปทำดีลที่ยุโรป อยากให้ผมย้ายไปอยู่ New York และไปทำดีลจากที่นั่น เพราะเป็น Global แทนที่จะทำใน Regional ให้ไปทำ Global ในเวลาเดียวกัน CEO เงินติดล้อก็โทรมา ว่าต้องการ Head of Marketing

“ซึ่งในตอนนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือก็นึกถึงระยะยาวว่าต้องทำอะไร ระยะยาวเราคงอยากเป็น Business Person เราคงอยากเป็น CEO เราคงอยาก Run Business สักวันหนึ่ง แต่คงยาก ก็คิดว่าโอกาสไหนมันจะไปถึงปลายทางที่อยากจะไป มันก็ยากมากนะที่เราจะปฏิเสธงานที่ Wall street งานที่ New York เพราะ AIG นี่อยู่ Wall Street เลย แต่สุดท้ายเลือกที่จะไปอยู่เงินติดล้อ ซึ่งตอนนั้นสำนักงานใหญ่ก็เป็นห้องแถวอยู่ปทุมธานี ตอนนั้นไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯด้วยซ้ำ หลังจากนั้นหลายปีจึงค่อยย้ายมาอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วเราก็เปิดโอกาสให้ตัวเอง Keep an open mind และ ก็ลองเป็น Head of Marketing ของบริษัทที่ดูแลลูกค้ากลุ่มรากหญ้า ก็แตกต่างนะ จากการที่เป็นที่ปรึกษาขององค์กรระดับโลก ณ ตอนนั้น มาบริษัท Local รู้สึกตอนนั้นมันเป็น Career Path ที่ธรรมชาติมาก”

โมเม้นท์ที่ต้องเลือกระหว่าง ใช้ชีวิตอยู่ที่ Wall Street กับปทุมธานี 

การตัดสินใจเรื่องยาก ๆ บางที่เราต้องแบ่งสิ่งที่ใจเราอยากทำ กับสิ่งที่เราคิดว่ามันดี บางทีมันสวนทางกัน ใจเราอยากใส่สูทผูกไทด์ไป Wall Street คือในวงการการเงิน ถ้าจะ Make it ที่ไหน แล้ว Make it ที่ Wall Street ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ มันก็จะมี Prestige มันก็จะมีตำแหน่ง มันก็จะมีคนแบบ เห้ย ไอนี่เคยอยู่ Wall Street มา มันก็จะมีโปรไฟล์ที่ดีมาก แต่ระยะยาวเราคิดว่า ไม่รู้อะ เราเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับ Leader Ship วันหนึ่งเราคงอยากมีลูกน้อง คงอยาก Run Company , Wall Street อาจจะพาเราห่างไกลจากเป้าหมายนั้น แต่ปทุมธานีอาจจะพาเราเข้าไปใกล้ตรงนั้นมากขึ้น

จะบอกว่าการเป็นที่ปรึกษาและการทำ M&A พวกนั้นอะ เราทำอยู่ในทีมเล็ก ๆ แต่พอเราเป็น Head of Marketing คือ มาถึงปุ๊บ วันแรกก็มีลูกน้องแล้ว มีงบ คือพวกนี้มันจะบังคับให้เราฝึกการตัดสินใจไปทุกวัน เราก็คิดว่า เราก็ต้อง เบรค ความอยากของเราในระยะสั้น และมองเป้าหมายในระยะยาว ถ้าไปถึงในวันหนึ่งเราก็อยากเป็น CEO อยาก Run Company ทุกข์มากตอนนั้น โทรไปปรึกษารุ่นพี่หลาย ๆ คน โทรไปปรึกษาหัวหน้าว่าเลือกอันไหนดี สุดท้ายคนที่มีประสบการณ์บอก คุณต้องรู้จักตัวเองก่อน ระยะยาวจะมีความสุขกับตรงไหน ถึงแม้เราอาจจะต้อง Sacrifice short term gain แนวคิดก็มีประมาณนี้แหละ

มีวิธีค้นหาหรือทำความรู้จักตัวเองอย่างไร

“หลายคนชอบคิดว่าต้องหาตัวเองให้เจอ แต่ผมกลับมองอีกมุมหนึ่ง บางทีมันหาไม่เจอแต่สิ่งที่หาเจอมันกลับไม่ใช่เรา สิ่งที่ต้องทำก็คือ การเปิด ตัวเองกับหลาย ๆ สถานการณ์ลองทุกอย่างโดยธรรมชาติเราจะมี Comfort zone ของเรา แล้วก็จะ Say No กับอะไรที่เราไม่ Comfort การคิดแบบนั้นมันคือการปิดโอกาส  ฉะนั้นเบื้องต้นมันก็จะมีช่วงหนึ่งของชีวิตจริง ๆ ช่วงตั้งแต่มหาวิทยาลัยจนช่วงจบมาใหม่ ๆ เราจะ Say Yes กับทุกเรื่องเลย Say Yes เพื่อที่จะเรียนรู้ว่าอันนี้ใช่เราหรือไม่ใช่เรา เราก็จะ Process Elimination แล้วเราก็จะกำจัดทีละตัวเลือกแล้วมันก็จะแคบ ๆ ลงไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายกว่าจะเจอ ทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้กับตัวเองอยู่ มันจะง่ายขึ้นถ้าเราเปิดใจตั้งแต่ต้นแล้วเราค่อย ๆ ตัดทีละตัวเลือก การตัดแต่ละตัวเลือก ก็เหมือนกันบางทีมันฝืนความรู้สึกต้องคิดว่าปลายทางเราอยากได้มันหรือเปล่า อย่าให้ความรู้สึกในระยะสั้นเป็นตัวกำหนดชีวิตเราในระยะยาว”

ตอนนั้นคิดไหมว่าลองทำ Wall Street ไปสักปีหรือสองปี ก็ได้โปรไฟล์ 

“บางทีโอกาสมันอาจไม่กลับมา บางทีโอกาสมันมาแล้ว เราต้องชั่งใจนะ ตอนนั้นที่ได้มาเป็น Head of Marketing อายุ 26-27 เอง คือถ้าคิดไปสองปีก็ 28 , 29 แล้ว ใครจะมาเสนอตำแหน่งแบบนี้ให้กับเรา ใครจะกล้าเดิมพันกับเรา เราเดิมพันกับตัวเอง แต่อย่าลืมว่าคนอื่นก็เดิมพันกับเราด้วย ฉะนั้นมันมีคนเห็นศักยภาพเราว่าคุณน่าจะทำได้ บางทีเราเลือกจังหวะที่โอกาสมันมาไม่ได้ พอมันมาแล้ว เราก็ต้องประเมินว่าเราพร้อมหรือไม่พร้อม”

จริง ๆ ตอนจบมาใหม่ ๆ job offer อันแรกของพี่คือเป็น MD บริษัทเล็ก ๆ ตอนนั้นอายุ 21 จบมหาวิทยาลัยได้ไม่นาน และได้รับการเสนอเป็น MD บริษัท Local ที่ทำวิจัยการตลาด แล้วพี่ก็ปฏิเสธโอกาสนั้นไป แต่แนวคิดมันก็จะแตกต่างกันคือชะตากรรม ของชีวิตความต้องการมันไม่เหมือนกัน คือตอนเราจบใหม่ ๆ รู้แต่ว่าเรามีทฤษฏี มีวิชา อยากเห็นการปฏิบัติและอยากฝึกวิชาให้เก่งขึ้น ยังมีความรู้สึกที่ว่าเป็นจังหวะที่เราอยากเรียนรู้อยู่ แต่ถ้าเราไปอยู่เบอร์ 1 ขององค์กร เราต้องเป็นคนให้ แล้วเราไม่มีประสบการณ์ความรู้ก็มีแต่ทฤษฎีที่คนอื่นก็มี “แล้วเราจะไปให้อะไรให้ใคร ก็เลยปฏิเสธโอกาสนั้น ก็ผ่านไปไม่กี่ปีไปฝึกวิชาที่ BCG ที่ AIG แล้วโอกาสมันมาอีกรอบ แต่ยังไม่ถึงกับเป็นเบอร์ 1 แต่ยังเป็นเบอร์ 2 เบอร์ 3 อยู่ ก็โอเค คือจังหวะมันสำคัญ”

ตัวตนของ “เงินติดล้อ” คืออะไ

เงินติดล้อเป็นองค์กรที่อยากสร้างโอกาสให้กับคน มีความเชี่ยวชาญทางการเงิน เราก็เลยอยู่ในกรอบของธุรกิจการขายสินเชื่อและประกันภัย แต่หลักคิดของเราคือเราอยากสร้างโอกาสให้พนักงานและให้กับลูกค้า “ในมุมของลูกค้าภายนอกก็จะเห็นโฆษณาโทรทัศน์ ก็จะเห็นอะไรที่มันขำ ๆ แต่สิ่งที่เงินติดล้อมองคือ ทำให้หนี้นอกระบบในประเทศไทยมันลดลง การทำอย่างนั้นได้ก็ต้องแข่งกับหนี้นอกระบบได้ เราก็ต้องมีสินเชื่อที่ง่ายและเร็ว” แต่ความต่างของเงินติดล้อคือความโปร่งใส่และแฟร์ ลูกค้าทุกรายที่มาจากเงินติดล้อคือจะได้สิทธ์พื้นฐานต้องรู้ว่าเงื่อนไขในการขอสินเชื่อคืออะไร ต้องได้สำเนาของสัญญากลับบ้าน ทุกครั้งที่ชำระค่างวดต้องได้ใบเสร็จ แล้วเราต้องแจงว่ามีค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ก่อนทำสัญญาลูกค้าสามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ได้ว่าดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมมีอะไรบ้าง

“เรามองว่าปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ใหญ่ แล้วมันควรจะมีองค์กรหนึ่งที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่ากับลูกค้านี่ก็เป็นเงินติดล้อในมุมของลูกค้า”

ในมุมของพนักงานมองว่าเป็นเวทีเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพมากกว่าที่ตัวเองคิด แล้วเราก็เป็นองค์กรที่จะไม่ปิดกั้นไอเดีย คือไม่ Kill Idea เราอยากให้ทุกคนลองผิดลองถูก เรียนรู้ไปในองค์กร และดึงศักยภาพของตัวเองออกมาให้สุดเท่าที่จะเยอะได้ และให้ทุกคนโต นั่นก็เป็นมุมมองของเรา

วิธีการอธิบายกับลูกค้า

ถ้าเราเจอลูกค้าสิ่งที่เราต้องทำ คือวิเคราะห์ปัญหาเขาก่อน ต้องถามว่ามีความต้องการทางการเงินไหม คือต้องถามความต้องการเขาก่อน แล้วปัจจุบันเป็นอย่างไร ได้ดำเนินการผ่านช่องทางไหน หรือผ่านผู้ประกอบการแบบไหนบ้าง “เราจะวิเคราะห์ได้ว่า พี่มาตรงนี้ดีกว่า คือการคุยกับลูกค้ามันคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือพนักงานผมว่าคอนเซ็ปต์มันไม่ได้ต่างกันมาก”  อธิบายคือโจทย์ของเงินติดล้อ พอให้บริการลูกค้ากลุ่มรากหญ้ามากๆ สิ่งที่เราต้องทำคือให้ความรู้ คนที่กู้นอกระบบอาจจะหงุดหงิดกับระบบของสถาบันการเงิน หงุดหงิดกับเอกสารกับความล่าช้าของธนาคาร แต่มันจะสวนทางกัน คือเจอเอกสารตอนต้น เกิดความล่าช้าบ้างแตในระยะยาวมันคุ้ม 

“สินเชื่อคนมักมองกระบวนการก่อนที่จะได้ตัง จริง ๆ แล้วเงินกู้มันมีสัญญา 12 เดือน 36 เดือน 48 เดือน มันอยู่ด้วยกันนานกว่านั้นเยอะแต่คนมักมองแค่ช็อตแรก เพราะฉะนั้นมันมีหลายเรื่องที่ต้องให้ความรู้และต้องอธิบายลูกค้า สิ่งที่มันสำคัญคือ เราชัดเจน โปร่งใส และแฟร์ หนี้นอกระบบไม่มีตรงนี้ ก็ศึกษามาเยอะเหมือนกัน แล้วมันก็เป็นอะไรที่ทำให้คนตกอยู่ในวังวนนั้นมันไม่มีทางออก”

หลักคิดการทำโฆษณาแบบเงินติดล้อ

เงินติดล้อมีโฆษณาอยู่ 2 ประเภท หนึ่ง Product อีกอันเป็น Branding Corporate ในส่วนของ Product หลักคิดง่ายมาก คือลูกค้าของเราก็จะมีหลักคิดที่ยากและลำบาก แล้วโอกาสก็ไม่ได้เยอะ เราก็อยากให้ดูโฆษณาเราแล้วผ่อนคลาย โฆษณาจะออกแนวขำทุกอัน ก็จะตลกหน่อย อีกอันหนึ่งก็คือเราน่าจะเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่ ไม่เอาคนที่หล่อคนสวยมาเป็นมาเล่นเพราะเราอยากให้โฆษณาสะท้อนชีวิตจริง

โฆษณามันเป็นต้นทางของอะไรหลาย ๆ อย่าง ในหลาย ๆ องค์กรก็จะเอาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วก็ไปคิดโฆษณาขึ้นมาเพื่อให้โฆษณาขายสิ่งที่มีอยู่ ส่วนเราจะใช้โฆษณาในการปรับเปลี่ยนองค์กรเรา ฉะนั้นเราจะคิดแล้วว่าลูกค้าเรามีปัญหาอะไร เราอยากจะแก้ปัญหาอะไรให้ ถ้าทำโฆษณาแบบนี้ได้ลูกค้าต้องชอบแน่เลย ในขณะที่เรายังทำมันไม่ได้แล้วเราจะเอาแนวคิดนี้มารื้อกระบวนการ รื้อระบบในองค์กรเพื่อจะสร้างขึ้นมาให้ได้เราถึงจะโฆษณา หลักคิดของเราในเรื่องของโฆษณาผลิตภัณฑ์ มันก็จะกลับด้านตีลังกากับหลาย ๆ ที่เหมือนกัน แทนที่จะเอาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่มานำเสนอ เราจะหาสิ่งที่ลูกค้าอยากได้และนำเสนอและทำหนังตามนั้น

หนังที่เป็น Corporate จริง ๆ อันนั้นง่ายมากเลย เราพยายามที่จะสื่อสารตัวตนของเรา เราเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับค่านิยม ซึ่งค่านิยมของเรามีอยู่ 7 ข้อ และในนั้นมันก็จะเป็นค่านิยมที่เราคิดว่ามันจะเป็นสูตรสำเร็จของการเป็นชาวเงินติดล้อแล้วกัน

1.ต้องอยากช่วยคน

2.ต้องกล้าลองผิดลองถูก

3.ต้องมีทีมเวิร์ก

4.เฮฮาปาร์ตี้

5.ต้องมีความแปลกอยู่นิด ๆ

6.ต้องเป็นตัวของตัวเอง

7.ต้องมีความเป็นเจ้าของในสิ่งที่ทำ

ในการทำ Corporate เราแค่สื่อสารตัวตน พยายามจะเลือกหนึ่งในค่านิยมของเรา หรือ ว่าหนึ่งบรรทัดในค่านิยมที่เราเขียนและ ให้คนรู้ว่าเราเป็นคนแบบนี้ ไม่ได้ไปบรีฟเอเจนซี่ให้ไปคิดอะไรสวยหรู ให้ไปขายแล้วมาสร้างแบรนด์ เราเชื่อว่าแบรนด์มันไม่ใช่โลโก้ หรือ ไอคอนที่เห็น เราเชื่อว่าแบรนด์มันคือความรู้สึกที่สัมผัสได้ ฉะนั้นเราต้องสื่อสารความจริง เป็นยังไงก็ต้องสื่อสารอย่างนั้น แล้วจะออกมาเป็นโฆษณา Corporate ของเรา

“มีโฆษณาตัวหนึ่งที่ยังแชร์กันอยู่เราปล่อยไปตั้งหลายปีแล้วแล้วมันจบที่คำว่า ชีวิตที่มีคุณค่า คือชีวิตที่ทำเพื่อคนอื่น อันนี้คือสิ่งที่เราเชื่อมั่น ที่บอกว่าเงินติดล้อคืออะไร เราเป็นองค์กรที่สร้างโอกาสให้กับพนักงานกับลูกค้า นี่ก็เป็นหนึ่งในข้อความที่เราสร้างขึ้นมาเป็นหนังเพื่อที่จะอธิบายให้คนรู้ว่า เราเป็นคนแบบนี้นะ ถ้าอยากจะทำธุรกิจกับเราอยากเป็นพนักงานกับเรา ถ้าคุณเป็นคนแบบนี้มาเลย”

ชีวิตเขาก็ยากอยู่แล้วอย่าไปเพิ่มความยากให้ โฆษณาก็เลยให้เบา อันนี้เป็นความตั้งใจ

“หนึ่งคือโฆษณาอยากให้มันเบา อยากให้มันสนุก อยากให้มันขำ อยากให้มันเตะตา อยากให้มันจำได้ นั่นคือในมุมของโฆษณาในมุมของผลิตภัณฑ์ ที่ออกแบบคือก็อยากให้มันเบาในเรื่องของเม็ดเงินที่ต้องใช้ ลูกค้าของเราอาจไม่ต้องการสิ่งที่ถูกที่สุด แต่สิ่งที่เขาต้องการคือสิ่งที่เขามีกำลังซื้อ อย่างตอนที่เราทำคนไทยรักรถยนต์ ค่าใช้จ่ายที่ใหญ่มากคือประกัน แทบจะทุกคนที่อยากจะรักษารถด้วยการมีประกันชั้นหนึ่ง แต่ประกันชั้นหนึ่งมันก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่แพง ฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือเราก็ให้ผ่อนได้ 0% คือเราให้เขาเลือกได้จาก 10 กว่าเจ้า เราออกเงินให้ก่อนแล้วเราก็ให้ผ่อนกับเรา เขาจะได้มีกำลังในการซื้อประกันที่อยากได้เพื่อที่จะไปรักษาทรัพย์สินของเขา”

“ผลิตภัณฑ์จะเป็นประกันก็ดี หรือความแน่นอนจากการได้สินเชื่อก็ดี อย่างเราเป็นมนุษย์เงินเดือน ถ้าเราไม่ได้มีหนี้สินเยอะ หรือว่าเราไม่ได้มีพฤติกรรมที่กินเหล้า เมายา ติดการพนัน เราก็จะมีชีวิตที่ไม่ได้เครียดเท่าไหร่ เพราะเรารู้ว่าตอนสิ้นเดือนเงินเดือนก็เข้าทุกเดือน แต่ลูกค้าของเงินติดล้อส่วนใหญ่คือ ประกอบอาชีพอิสระ ฝนตกรายได้ก็หายแล้ว แดดออกร้อนเกินไปรายได้ก็อาจจะหายอีก ฝนแล้งรายได้ก็มาเป็นฤดูกาล คือมันเดาไม่ได้ เรื่องพวกนี้มันทำให้ชีวิตคนเรามีความเครียด ถ้าเราลดความเครียดพวกนั้นได้ ชีวิตพวกเขาจะดีขึ้น เราพยายามทำให้ความหนักของการตัดสินใจ ความหนักในความกังวลมันหายไป แล้วทำให้ชีวิตดีขึ้นผ่านกลไกนี้”

เรื่องของวัฒนธรรมองค์กร สิ่งนี้ลอกกันไม่ได้ ที่เงินติดล้อเป็นแบบไหน

“เดิมเราจ้างเอเจนซี่ และเอเจนซี่ช่วยเราคิด แล้วมันก็คัมอัพด้วยคำที่มันสวยหรู มันท่องง่ายและมันจำง่าย แต่พอเอา 4 คำนี้ที่เขาคิดขึ้นมาแล้วเราไปนั่งถามพนักงาน ความหมายมันไปหลายทิศทางมาก มันไปคนละทิศคนละทางนั้นคือเรามีปัญหาแล้ว ถ้าเราอยากให้ค่านิยมมันเป็นอะไรที่คนเข้าใจโดยไม่ต้องตีความมัน สิ่งที่คิดมาให้เรามันฟังดูดี  Good on paper but not in practice เราเลยต้องคิดใหม่ ซึ่งหลักการคิดใหม่เราก็ไม่ได้คิดว่ามันยากนะ สิ่งที่เราทำก็ใช้เวลาหลายเดือน คือตอนเข้าประชุม ตอนไปเจอลูกน้อง ตอนไปเจอลูกค้า สิ่งที่ทำคือ สังเกต

สังเกตการณ์ว่า อะไรมันทำให้ตอนประชุมมันสนุก อะไรมันเป็นปัจจัยที่ทำให้เราเป็นองค์กรที่ไม่ได้มีการเมือง ไม่ได้แบ่งพรรคแบ่งพวก ทำไมผู้ใหญ่ถึงคุยกับเด็ก คือเราแค่สังเกต สังเกตเสร็จเราก็จด แล้วก็ลิสต์ออกมาเป็นคำ ๆ ลิสต์เป็นหน้า ๆ เลย หลังจากนั้นก็ลองจัดหมวดหมู่ดูจัดให้ลงตัว และลองเขียนออกมาก็ให้ช่วยกันเขียนช่วยกันดราฟ แข่งกันเขียนแข่งกันดราฟ และให้แต่ละคนอ่านออกมา และสุดท้ายก็อันไหนใช่ พอใช่ เราก็รีไฟล์ สุดท้ายก็ออกมาได้ 7 ข้อ พวกนี้แหละ มันไม่ได้มาจากการจินตนาการสิ่งที่อยากเป็น มันมาจากการว่าสิ่งที่เป็นอยู่คืออะไร บันทึกมันลงไป ก็เป็นที่มาว่าทำไมถึงไม่ได้ยากสำหรับเรา

“ตอนแรกผมก็หยิบค่านิยมมาอ่าน และมันขัดแย้งกับข้อไหน แล้วเราก็เอาอันนี้มาฟีดแบค โค้ชชิ่งกันว่าอันนี้มันไม่ตรงนะจริง ๆ เราอยากได้แบบนี้ คนก็เข้าใจอันนี้ก็เป็นที่มาตอนที่เราสร้างวัฒนธรรมองค์กรสิ่งแรกที่ต้องทำคือเราต้องชัดกับตัวเองก่อนว่าเราเป็นใคร แล้วเราอยากได้อะไร พอเราชัดแล้วที่เหลือมันธรรมชาติมาก มันมหัศจรรย์มาก พอเราชัดแล้วและประกาศเราเขียนบันทึกไว้คนก็จะอ่าน ตอนมาสมัครงานแล้วเขาก็จะรู้แล้วตั้งแต่สมัครงานว่าที่นี่เหมาะกับเขาหรือไม่เหมาะ แล้วเราก็เรียกว่าชาวเงินติดล้อ คือมาถึงก็ You are one of us”

“คือตอนที่สัมภาษณ์คน เรื่อง Technical มันหาไม่ยาก คนเขียนโปรแกรมคนเก่งมีแหละ แต่สิ่งที่หาคือคนที่ใช้ได้ อาจจะไม่ต้องเก่งที่สุดก็ได้ แต่ต้องอินกับสิ่งที่เราทำ คือคนที่มี Passion ก็จะเป็นคนที่เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา และคนที่ Fit มันก็จะทำให้ Fliction ในองค์กรมันลดลง ถ้าเราชัดว่าเราเป็นใครเราประกาศรับก็เหมือนเป็น Magnet เราก็จะ Attract คนพันธ์เดียวกันเข้ามา นี่ก็คือแนวทางในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเรา”

สิ่งที่กลัวที่สุดและที่เป็นฝันร้ายคืออะไร

“มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าถามตอนนี้ คือ เรากลัวไปไม่ถึง Potential ของเรา คือตอนนี้ผมเชื่อว่าเรามีโอกาสอยู่ข้างหน้า แล้วผมว่า The future is bright แล้วเรามีองค์ประกอบครบที่จะ Maximize Opportunity ของ Company ซึ่งนั่นคือปัจจุบัน ตอนนั้นสิ่งที่กลัวคือ ทำให้ Company blow up เพราะการปล่อยสินเชื่อ ต้องบอกว่าเราปล่อยเม็ดเงินที่เยอะ เพื่อที่กำไรน้อย ๆ แล้วถ้าเกิดเราพลาดในการบริหารความเสี่ยง เม็ดใหญ่ที่มันเก็บกลับมาไม่ได้ มันก็ไปทั้งหมดเลย สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดเลยคือบริหารความเสี่ยง เรากลัวเรื่องนี้เพราะเรามีลูกน้องที่ต้องพึ่งเงินเดือนทุกเดือนอยู่ ถ้าเราพลาดสิ่งที่เกิดขึ้นคือมันกระทบหลายชีวิต”

การนั่งหัวโต๊ะและเป็นช่วงที่ต้องว่ายน้ำเร็ว แสดงว่าก็ต้องมีโมเม้นต์ที่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้

“ทุกวันเลย ตอนนี้ก็ยังยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ คือผมว่าโลกใบนี้มันมี Knowledge เยอะมาก มันไม่มีทางรู้หมดหรอก ไม่มีทาง It’s impossible สิ่งแรกที่ต้องยอมรับเลยคือ มันจะมีสิ่งที่เราไม่รู้มากกว่าสิ่งที่เรารู้ และก็มีสิ่งที่เราไม่เห็นมากกว่าที่เราเห็น คือ พี่เป็นเบอร์ 1 ขององค์กร แต่มีเป็น 1,000 สาขา จะไปรู้ได้ยังไงว่า สาขานครสวรรค์ ทำอะไรอยู่ตอนนี้ เราไม่รู้ นี่ก็เป็นที่มาว่าทำไมเราถึงทุ่มเทกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพราะพอคนมันเชื่อเหมือนกัน แล้วคนมีค่านิยมคล้ายกัน การตัดสินใจที่เขาทำอยู่ทุกวันนี้โดยที่เราไม่อยู่ มันก็จะเป็นไปในแนวทางที่เราอยากให้มันเป็น มันก็เลยเป็นที่มาว่า ไม่รู้ไม่เป็นไร แต่เราต้องจับให้ได้ว่ามันมีอะไรที่มันต้องรู้ ที่เราต้องสร้าง ที่ต้องรู้มันก็มีแหละ สิ่งที่ต้องรู้ก็คือเราต้องสร้างระบบ สร้างข้อมูล ดู Data  เพื่อจะบอกเราว่าตรงไหนมันดูแปลก ๆ เข้าไปดูหน่อย เพื่อที่จะมอนิเตอร์องค์กรที่ใหญ่ แต่ตั้งต้นทุกวันคือเราไม่รู้อะไร”

วิเคราะห์สถานการณ์คนรากหญ้าของไทย หลังจากโควิด 

“สิ่งที่แปลกคือ ตอนปี 97 ตอนต้มยำกุ้ง ถ้าไปสัมภาษณ์กลุ่มรากหญ้าส่วนใหญ่บอกไม่กระทบ ไม่ได้คิดว่าเขาไม่ถูกกระทบนะ แต่มีความรู้สึกเขาปรับตัวเร็ว กลุ่มรากหญ้าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือน ก็จะเป็นอาชีพอิสระ ซึ่งอาชีพอิสระสังเกตดูตอนโควิดมา หน้ากากขายทั่วถนนเลย คือเขาปรับตัวเร็ว เพราะเขามีความจำเป็นต้องทำ ซี่งอันนั้นเป็นสิ่งที่ชื่นชม”

“ถามว่าจะมีผลไหม ในระยะสั้นคิดว่าคงไม่มีผลอะไร ที่แตกต่างจากคนอื่นที่วิเคราะห์กัน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นคือระยะยาวประเทศไทยเราเป็นประเทศที่จากการวิจัยแล้วเรามีความเหลื่อมล้ำความกระจุกของความมั่งคั่งเยอะ รวยกระจุกจนกระจาย ซึ่งอันนั้นมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อันนั้นต้องดูหลาย ๆ อย่างเป็นองค์ประกอบ มันก็มีความหวังว่ามันจะดีขึ้น”

“ธุรกิจที่เราทำอยู่ในอดีตทุกคนก็จะมองธุรกิจที่เราทำไม่ดี มองว่ามันสีเทา แต่พอเราเริ่มทำให้มันถูกต้องเป็นพื้นฐาน มีแบรนด์คนก็เริ่มเปิดมากขึ้นเข้ามาใช้บริการ ถ้าธุรกิจในอุสาหกรรมโตมากขึ้นเราก็เชื่อว่า หนี้นอกระบบมันก็จะน้อยลง ตรงนี้พี่ก็ว่าก็เป็นประโยชน์ แต่มันคงมีเรื่องอื่น ๆ เต็มไปหมดเลย เรื่องการศึกษา เรื่องการเข้าถึง Digital คือมันมีหลายอย่าง”

คำแนะนำสำหรับคนอายุ 20 , 25 , 30 สิ่งที่ควรจะทำในแต่ละยุค คืออะไร

หลักแรกๆ เราต้องพัฒนาตัวเองทุกวัน  เราต้องเรียนรู้ทุกวัน เพราะบริบท บรรยากาสมันเปลี่ยนทุกวัน ฉะนั้นเราเป็นคนที่หาความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาทุกวัน จะเป็นผ่านการฟัง Podcast วันละ 10 นาทีก็ได้ การอ่าน Blog ซื้อหนังสือมาอ่านวันละ 10 หน้า อะไรก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องทำคือเรียนรู้ต่อเนื่อง อันนั้นเป็นสิ่งที่ Knowledge มันสะสมแล้วมัน Compound

“อย่างพี่เดิมไม่ได้เป็นคนชอบอ่านหนังสือ แต่พอกลัวแล้วก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับงานก็ต้องเริ่มอ่านหนังสือเยอะขึ้น ตั้งแต่เป็น MD ไปนั่งดูก็จะหลาย 10 เล่มแล้ว แต่พอมองย้อนกลับไปถ้าให้มานั่งอ่านหลาย 10 เล่ม เราก็คงแบบรู้สึกมีสิ่งมาขัดขวางเยอะ แต่ทุกวันนี้ อ่านทุกวัน วันละนิดวันละหน่อย มันสะสมเยอะมาก แล้วมานั่งคุยกับคนอื่นแล้วบอกให้เริ่มแล้วมาไล่เราให้ทันเขาก็คงไม่อยากทำ พวกนี้มันต้องสะสมความรู้เป็น First one”

“อีกอันหนึ่งคือมุมมองส่วนตัวมีความรู้สึกว่าคนที่จบใหม่ ทุกคนอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่มีใครอยากเป็นพนักงานบริษัท พี่ก็เป็นตัวอย่างของมนุษย์เงินเดือนที่มีโอกาสเยอะมาก เราเติบโตในโครงสร้างขององค์กร จบมาใหม่ ๆ อย่าไปมองเงินเดือน เราต้องหาองค์กรที่ดีลงทุนกับพนักงานและต้องหาเจ้านายที่ดี เราต้องได้ทั้งสองอย่าง สำหรับคนที่จบมาใหม่ ๆ ได้สองอย่างนี้แล้วชีวิตจะไปไกลมาก มันจะมีคนสอนงาน คือ อันหนึ่งที่ถ้าเกิดเราอายุน้อย ที่เราไม่อยากทำคือเรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเอง เรื่องที่คนอื่นรู้แล้ว เราควรจะดูดความรู้จากทุกที่ แล้วเอามาประมวลว่าควรเอามาใช้ยังไงกับเรา นั่นเป็นสิ่งที่อยากจะแนะนำ

“ถ้ามองไปไกล ๆ หน่อย พี่มีความเชื่อว่า ถ้าประเทศไทยจะขาด Professional Employee หรือว่าจะขาด White collar มือปืนรับจ้างหรือคนที่เป็นมืออาชีพในทุก ๆ อุสาหกรรมเลย เพราะถ้าเกิดไปดูตลาดเงินทุนบ้านเรา เราจะเห็นว่ามีบริษัทที่เป็นบริษัทครอบครัวเยอะมากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่บริหารโดยเจ้าของเดิม โดยครอบครัวเดิม แล้วพอโตในสเกลหนึ่งมันบริหารไม่ไหว แล้วโตผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์แน่นอนอยากได้คนช่วย อาจจะมองว่าเงินเดือนมันต่ำตอนจบมาใหม่ๆ หมื่นสองหมื่น แต่ผ่านไป 5 ปี 10 ปี ถ้าเราเป็นคนที่ขยัน ทำไปเรื่อยๆ แล้วเก่งขึ้นเรื่อยๆ ในด้านใดด้านหนึ่ง ต้องมีคนอยากได้ตัวเราไปแน่นอน”

“ฉะนั้นพี่คิดว่าตลาดที่เป็น Professional ตลาดที่เป็นมนุษย์เงินเดือน จริงๆระยะยาวมันเสี่ยงน้อยกว่าการทำธุรกิจตัวเอง แล้วมันมีโอกาส Up side ค่อนข้างเยอะ นั่นก็เป็นสิ่งที่พี่คิดว่าคนที่อายุ 25 , 30 มันก็ยังไม่ Too late ส่วนใหญ่ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน คนที่อายุเท่านี้ จะเริ่มมองอาชีพเสริม จะเริ่มมองไปทำอย่างอื่น ซึ่งพี่คิดว่าถ้ามุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำอยู่มันไปต่อได้แน่นอน หลัก ๆ ก็มีเรื่องนี้แหละที่อยากจะฝากไว้ พัฒนาตัวเองทุกวัน อย่ามองข้ามมนุษย์เงินเดือน เพราะพี่ก็เป็นมนุษย์เงินเดือน และจะบอกว่าโอกาศที่พี่ได้วันนี้ หรือ Option ที่มี as a มนุษย์เงินเดือนเนี่ย พี่ว่ามันน่าสนใจกว่า จบมาแล้วพยายามจะทำ Start up หรือพยายามจะเปิดธุรกิจของตัวเองมาก หรือว่าคนที่อยากจะเปิดธุรกิจตัวเอง อยากให้คิดให้สมบูรณ์ คิดให้ครบ ส่วนใหญ่เราอยากจะทำอะไรเรามองแต่ข้อดีแนวคิดที่ต้องคิดคือ ข้อเสียคืออะไร”

“อย่างเด็กจบใหม่ เซอร์เวย์เลย บอกว่าอยากเปิดร้านกาแฟ อยากเปิดเบเกอรี่ เพราะเป็นเจ้านายตัวเอง เพราะไม่ต้องทำตามคำสั่งคนอื่น นั่นคือขายดี คิดมั้ยว่าทำเบเกอรี่ต้องตื่นกี่โมง บางคนตื่นตี 4 ตี 5 คิดว่าจะเป็นเจ้านายตัวเอง แต่ถ้าเราไม่อยู่ในร้านที่เราเปิด พนักงานโกง ถ้าเราไม่ใหญ่พอเราก็ต้องนั่งเฝ้ามัน เราก็ต้องอยู่ตั้งแต่เปิดยันปิด 2 ทุ่ม ปิดเสร็จเราก็ต้องนั่งทำความสะอาดร้านตัวเอง คือถ้าเราคิดให้ละเอียดเราคิดให้ดี ข้อเสียมันเยอะมาก กับการเปิดธุรกิจตัวเอง  คนที่เปิดธุรกิจตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว แล้วยังไม่รุ่งมาก เจอโควิดก็จะรู้สึกเลย แล้วก็จะคิดเลยว่าไม่น่าเลย เพราะว่ามันไม่มั่นคง พอเศรษฐกิจมันแย่กลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเปราะบาง ถ้ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น”

คนอยากเป็นเจ้าของธุรกิจเพราะมองเศรษฐี มองคนรวย แต่จริงๆ โอกาสที่จะไปถึงตรงนั้นมันไม่ได้สูงนัก มนุษย์เงินเดือนก็เป็นทางที่ดี ความเสี่ยงต่ำ แล้วมันจะมีเราลองผิดลองถูกระหว่างทางได้ด้วยทรัพยากรของคนอื่นที่จะทำให้เราเก่งขึ้น ซึ่งอันนี้มันเป็นแนวคิด ของ หนุ่ม- ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล ฝากทิ้งท้าย เป็นแนวคิดที่ Workpoint Today คิดว่าหลายคนอาจจะไม่ได้มองมุมนี้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า