SHARE

คัดลอกแล้ว

ย้อนกลับไปในปี 2018 จำได้หรือไม่ ว่ามาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Facebook ต้องขึ้นให้การกับสภาครองเกรสของสหรัฐฯ เรื่องข่าวลือ ว่าทำข้อมูลของผู้ใช้ 87 ล้านคนรั่วไหล จนส่งผลให้หุ้นของเฟซบุ๊กร่วงระนาว

 

ข่าวลือดังกล่าวเป็นจริง ข้อมูลผู้ใช้ 87 ล้านคนรั่วไหลไป เข้าสู่มือของ บริษัทเอกชนรายหนึ่งที่ชื่อเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า (Cambridge Analytica)

ซึ่งเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า ได้นำข้อมูลนั้นเอามาใช้ประโยชน์ ด้วยการช่วยในแคมเปญหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับบลิกัน ในปี 2016 จนพาทรัมป์พลิกสถานการณ์ แซงเอาชนะฮิลลารี่ คลินตัน ตัวเต็งจากเดโมแครต ไปได้แบบสุดเซอร์ไพรส์

เรื่องราวความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ของเฟซบุ๊ก, เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า และ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นอย่างไร Workpoint News จะสรุปข่าวสำคัญของโลกให้ทุกคนเข้าใจใน 17 ข้อ

1) ในปี 1990 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีบริษัทเอกชนเปิดใหม่ชื่อ SCL

บริษัทนี้ ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อประโยชน์ในเชิงการค้า เช่นถ้ามีสินค้าอะไรอยากจะโฆษณาให้ตรงเป้าหมาย ก็จะมาจ้าง SCL เพื่อทำ Target Group จะได้รู้ว่าสินค้าของตัวเอง ควรโฆษณาช่องทางไหน จะตรงกับกลุ่มลูกค้ามากที่สุด

ในเวลาต่อมา SCL เริ่มจับตลาดการเลือกตั้ง มีการไปช่วยพรรคการเมืองทำแคมเปญหาเสียงออนไลน์ และมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ พรรคการเมืองในหลายประเทศ เช่น อิตาลี, โรมาเนีย, แอฟริกาใต้, ไนจีเรีย, โคลอมเบีย และ ฟิลิปปินส์ ชนะการเลือกตั้งด้วย

2) ในปี 2012 SCL ตั้งบริษัทลูกชื่อ เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า เพื่อทำตลาดการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ โดยบริษัท มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งทั้งระดับรัฐ และระดับประเทศ ผลงานที่โดดเด่นที่สุด คือการทำให้เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกจากรัฐเท็กซัส เกือบได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ในการเลือกประธานาธิบดี ปี 2016

ผลงานของเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า นั้น ไปเข้าตาทีมหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ และดึงมาร่วมงานกัน ในศึกแย่งชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับฮิลลารี่ คลินตัน

3) ข้ามมาที่ประเทศอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ดร.อเล็กซานเดอร์ โคแกน ได้คิดค้นแอพพลิเคชั่นอัจฉริยะขึ้นมา ในชื่อ “This Is Your Digital Life” ซึ่งฉากหน้าเป็นแอพพลิเคชั่นตอบคำถามทั่วๆไป แต่ความสุดยอดเบื้องหลังของแอพนี้ คือ เมื่อมีคนตอบรับ Allow ให้แอพเข้าถึงข้อมูลได้ แอพนี้จะสามารถดูดข้อมูลของผู้ใช้ได้ทุกอย่าง ทั้งรูป แมสเซจในอินบ็อกซ์ ข้อมูลในวอลล์ รวมถึงโพรไฟล์ทั้งหมด

ไม่เพียงแค่นั้น แอพ This Is Your Digital Life จะดูดข้อมูลของ Friends “ทุกคน” ที่ผู้ใช้คนนั้นมี หมายถึง ถ้าเรามีเพื่อน 1,000 คน เจ้าของแอพ ก็จะได้ข้อมูลทั้งรูป แมสเซจ ทุกๆอย่าง ของเพื่อนทั้ง 1,000 คนของเราไปด้วย

4) มีคนสมัครใช้งานแอพพลิเคชั่น This Is Your Digital Life ทั้งหมด 270,000 คน แต่ทว่าแอพก็ดูดข้อมูลของเพื่อนๆ คนใช้แอพไปด้วย รวมแล้ว ทั้งหมดคาดว่า อยู่ที่ 50-87 ล้านยูสเซอร์

ข้อมูลส่วนตัวนั้น มีทั้งอีเมล์ที่ใช้สมัครเฟซบุ๊ก บางคนก็ทิ้งเบอร์เอาไว้ในโพรไฟล์ รวมถึงสเตตัสที่อัพเดทเรื่อยๆ ซึ่ง แอพของดร.โคแกน สามารถทะลุทะลวงข้อมูลได้ทั้งหมด

5) ในปี 2015 เฟซบุ๊กเห็นช่องโหว่ และตัดสินใจแก้ไข API ป้องกันไม่ให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อนๆได้อีก และมีการพูดคุยกับ ดร.โคแกนให้ทำลายข้อมูลเดิมทิ้ง อย่างไรก็ตาม ดร.โคแกนไม่ได้ทำลาย และเก็บข้อมูลผู้ใช้ 87 ล้านคนไว้ในมือ

ดร.โคแกน ติดต่อมาหา เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไป “ขาย” ให้กับบริษัท ซึ่งเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า ตัดสินใจซื้อทันที เพราะมีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จำนวนมาก

โดยคาดว่า 50 ล้านยูสเซอร์ในนี้ เป็นผู้มีสิทธิโหวตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ด้วย

6) รายงานจาก เดอะ การ์เดี้ยน เปิดเผยว่า เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า ได้เอาข้อมูลเหล่านี้ ใช้ประโยชน์เพื่อการเลือกตั้งหลายอย่าง ทั้งแบบตรงๆ อย่างเช่น การส่งอีเมล์โปรโมทโดนัลด์ ทรัมป์ให้ผู้ใช้โดยตรง และแบบประยุกต์ คือดูกระแสว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่กังวลใจเรื่องอะไร ก็โจมตีฮิลลารี่ คลินตันด้วยข้อมูลนั้น

ทีมหาเสียงของทรัมป์จ่ายเงินให้ เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า อย่างน้อย 90 ล้านดอลลาร์ (2700 ล้านบาท) เพื่อยิง Ads ลงโฆษณาออนไลน์ในเฟซบุ๊ก ซึ่งเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า ก็จะทำการวิเคราะห์จากสเตตัสของกลุ่มผู้ใช้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ช่วงนี้สนใจเรื่องอะไรอยู่ ก็จะอัดข้อมูลตรงนั้นให้หนักๆ

7) ในขณะที่ฮิลลารี่ ใช้งบ 200 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของการเลือกตั้ง เพื่อโฆษณาในโทรทัศน์ แต่ทรัมป์ใช้งบน้อยกว่านั้นเกินครึ่งในสื่อทีวี เพื่อเอางบ มาอัดใส่ในออนไลน์แทน

ด้วยข้อมูลจาก เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า ทำให้ทีมหาเสียงของทรัมป์ยิง Ads ได้อย่างแม่นยำ ตรง target Groups และตัวทรัมป์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการสำรวจ

8.) สุดท้ายการเลือกตั้งสหรัฐฯก็สิ้นสุด และเป็นชัยชนะอย่างพลิกความคาดหมายของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งในวันที่ทรัมป์ชนะ ซีอีโอของ เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า อเล็กซานเดอร์ นิกซ์ ก็ร่วมประกาศชัยชนะด้วย

9) จริงๆแล้ว ในปี 2016 ไม่ได้มีเพียงแค่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เซอร์ไพรส์เท่านั้น

แต่ การเลือกตั้งกรณี Brexit ของสหราชอาณาจักรก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจเช่นกัน เพราะตอนแรก เสียงของฝั่งอยู่ต่อ (Remain) ดูจะมาแรงกว่า แต่สุดท้าย ผลลัพธ์ออกมาเป็นฝั่งออกจาก EU (Leave) ที่แซงโค้ง เอาชนะไปได้สำเร็จ

10) การเลือกประธานาธิบดีที่สหรัฐอเมริกา กับ การเลือกตั้ง Brexit ที่สหราชอาณาจักร ทำให้ นักข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยน ที่ชื่อ คาโรล คัดวัลลาเดอร์ เริ่มสงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ชัยชนะที่พลิกความคาดหมาย 2 หนซ้อนๆ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เธอจึงเริ่มลงมือสืบค้น และในที่สุด ก็ค้นพบความเชื่อมโยง ระหว่าง 2 การเลือกตั้งนี้ นั่นคือ มี เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า เป็นผู้ทำฐานข้อมูลให้ฝ่ายชนะเหมือนกันทั้งคู่

11) หลังจากหาข้อมูลอยู่ 1 ปี ในที่สุดเธอก็ไปเจอ “คนใน” ชื่อ คริสโตเฟอร์ ไวลีย์ ซึ่งดูเหมือนจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวทางขององค์กรตัวเอ

ไวลีย์ คือพนักงานของเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า และรู้ข้อมูลทุกอย่าง ซึ่งคาโรลต้องพยายามเกลี้ยกล่อมขอข้อมูลจากไวลีย์อยู่นานเป็นปี โดยชี้ให้เห็นว่า ถ้าปล่อยให้ เคมบริดจ์ อะนาไลติก้าทำแบบนี้ต่อไป ก็อาจไม่เห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมอีกเลย เพราะจะมีคนใช้ข้อมูลส่วนตัว เอามาชี้นำทางการเมืองตลอดเวลา

มีนาคม 2018 ไวลีย์ตัดสินใจส่งมอบข้อมูลทั้งหมดที่เขามีให้กับ คาโรล ไม่เพียงแค่นั้น ยังกล้าเปิดหน้า เพื่อยืนยันว่าเขามีตัวตนจริงๆอีกด้วย

12) 18 มีนาคม หนังสือพิมพ์ ดิ อ็อบเซอร์เวอร์ ของประเทศอังกฤษ (ซึ่งเป็นสื่อในเครือของเดอะ การ์เดี้ยน) ได้ตีพิมพ์ข่าวเฮดไลน์เต็มหน้า โดยพาดหัวว่า “เปิดโปง : ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 50 ล้านคน โดนบันทึกข้อมูลเอาไปใช้” พร้อมลงใบหน้าของคริสโตเฟอร์ ไวลีย์ แบบเต็มๆ

โดยไวลีย์บรรยายแบบละเอียดยิบ ในขั้นกระบวนการ ว่าเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า ทำอย่างไร และอธิบายถึงแอพอัจฉริยะของดร.โคแกนด้วย

นอกจากนั้นในวันเดียวกัน คาโรล คัดวัลลาเดอร์ เขียนอีกหนึ่งบทความให้นิวยอร์ก ไทม์ส เพื่อเปิดเผยความจริงไปพร้อมๆกัน จึงกลายเป็นอิมแพ็กต์อย่างรุนแรงทั้งฝั่งอังกฤษ และฝั่งอเมริกา

13) 20 มีนาคม 2 วันหลังโดนเปิดโปง รัฐสภาสหรัฐฯ ต้องลงมาสอบสวนเรื่องนี้ เนื่องจากเหตุข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ถือเป็นวาระสำคัญของประเทศ ขณะที่ฝั่งอังกฤษ รัฐสภาอังกฤษเรียกคริสโตเฟอร์ ไวลีย์ มาให้หลักฐานเกี่ยวกับเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า

14) 21 มีนาคม นี่เป็นเรื่องใหญ่ ที่แม้แต่มาร์ก ซัคเคอเบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก ก็ไม่สามารถอยู่เฉยๆได้ เพราะข้อมูลที่ เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า เอามาใช้งาน นั้นหลุดออกมาจากเฟซบุ๊ก ตลาดหุ้นจับตาดูการเคลื่อนไหวของซัคเคอร์เบิร์กตลอดทั้งวัน เขาจำเป็นต้องยืนยันความปลอดภัยของเฟซบุ๊ก ว่าเหตุการณ์ล้วงข้อมูลแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

ถือเป็น Crisis ขององค์กร และ ถ้าหากเดินเกมผิด เฟซบุ๊กอาจร่วงหล่นได้ง่ายๆ ซึ่งนั่นทำให้ซัคเคอร์เบิร์ก ที่ปกติแทบไม่เคยโพสต์อะไรเลย จำเป็นต้องแถลงการณ์ผ่านหน้าวอลล์ของตัวเอง โดยยืนยันว่า

“ผมเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด กับสิ่งที่เกิดขึ้นในเฟซบุ๊ก ผมซีเรียสมากกับเรื่องการปกป้อง และรักษาความปลอดภัยให้กับชุมชนของเรา”

15) 10 เมษายน 2018 มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ขึ้นให้การกับวุฒิสภาสหรัฐฯ เพื่ออธิบายถึงเรื่องที่เกิดขึ้น และยืนยันว่า ได้จัดการอุดรอยรั่วทั้งหมดแล้ว

“เราไม่ได้ดูแลอย่างดีพอ ซึ่งนั่นเป็นความผิดพลาดของผมเอง ผมขอโทษกับเรื่องที่เกิดขึ้น ผมเริ่มต้นเฟซบุ๊กด้วยตัวเอง และเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้”

“ตอนที่เรารู้เรื่องของเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า เราเข้าใจว่าลบข้อมูลทั้งหมดแล้ว ซึ่งมันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ ซึ่งจากเรื่องนี้ เรามีการปรับปรุงกฎในเฟซบุ๊ก เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่เกิดอะไรแบบนี้ขึ้นอีก

มีวุฒิสมาชิกถามว่า ซัคเคอร์เบิร์กรู้หรือไม่ ว่าเฟซบุ๊กมีส่วนกับชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์

“ผมรู้ว่าเฟซบุ๊กมีส่วนช่วยในแคมเปญของทรัมป์จริงๆ เราได้ยอดซื้อโฆษณา แต่ก็เหมือนกับแคมเปญของนักการเมืองคนอื่น”

การแถลงข่าวอย่างตรงไปตรงมา และยอมรับความผิดโดยตรงทำให้ หุ้นของเฟซบุ๊กกระโดดขึ้น 4.5% ในวันเดียว

ในมุมของเฟซบุ๊ก พวกเขาก็เป็นเหยื่อของเคมบริดจ์ อะนาไลติก้าเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งปรับเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (150,000 ล้านบาท) โทษฐานทำข้อมูลส่วนตัวของประชาชนรั่วไหล ซึ่งเป็นโทษปรับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

16) แม้จะไม่สามารถมีบทลงโทษเชิงกฎหมายได้ แต่ชื่อเสียงของเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า ในการลักลอบใช้ข้อมูลส่วนตัว ก็โด่งดังไปทั่วโลก ส่งผลให้พวกเขาไม่ถูกยอมรับจากลูกค้าทั้งในสายการเมือง และสายพาณิชย์ ไม่มีใครกล้าใช้บริการของเคมบริดจ์ อะนาไลติก้าอีก

นั่นทำให้ วันที่ 2 พฤษภาคม 2018 บริษัท เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า ประกาศปิดกิจการอย่างกะทันหัน เช่นเดียวกับบริษัทแม่ SCL ก็ต้องปิดกิจการไปพร้อมกัน

17) คาโรล คัดวัลลาเดอร์ นักข่าวผู้ตีพิมพ์ประเด็นนี้เป็นคนแรก ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลพูลิตเซอร์ ในปี 2019 จากผลงานการเปิดโปงประเด็นสนั่นโลก

นอกจากนั้น เธอยังได้โอกาสไปพูดที่ Ted Talk ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ในวันที่ 15 เมษายน 2019 โดยเล่าเหตุการณ์การสืบคดี เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า ก่อน สรุปใจความสำคัญตอนท้ายว่า

“มันไม่เกี่ยวกับว่าคุณเป็นฝั่งซ้าย หรือฝั่งขวา , เป็นพวก Leave หรือ Remain ,เป็นคนรักโดนัลด์ ทรัมป์ หรือคนเกลียดโดนัลด์ ทรัมป์”

“มันเกี่ยวกับว่าท้ายที่สุดแล้ว คุณจะมีสิทธิเลือกตั้งแบบแฟร์ๆ อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมได้อีกครั้ง โดยไม่ถูกชี้นำหรือเปล่าต่างหาก”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า