Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเด็นข่าวธุรกิจ-เศรษฐกิจต่างประเทศที่หลายคนผ่านหูผ่านตาในช่วงนี้ หนึ่งในนั้นคงเป็นกรณีข่าวที่ว่าบริษัทญี่ปุ่นหลายราย เริ่มหันมาสร้างซัพพลายเชนของตัวเองมากขึ้น ย้ายฐานการผลิตกลับญี่ปุ่นหรือไปประเทศอื่น ลดการพึ่งพาจีน

จนสื่อบางสำนักถึงขั้นตั้งคำถามว่า บริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้กำลังเตรียมตัวไปสู่แนวทาง zero-China หรือเลิกพึ่งพาจีนให้ได้อยู่หรือเปล่า?

เกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 และอันดับ 3 ของโลก? และแนวทาง zero-China จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ? TODAY Bizview ชวนวิเคราะห์ไปด้วยกัน

[ โบกมือลาแดนมังกร ]

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2022 สำนักข่าวชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง Nikkei Asia รายงานว่าบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งเริ่มหาทางสร้างซัพพลายเชนของตัวเอง ลดการพึ่งพาจีนลง

ตัวอย่างก็คือค่ายรถอย่าง Honda ที่แม้จะมียอดขายในจีนคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30% ของยอดขายรวมทั่วโลก แต่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา Honda ก็ปรับโครงสร้างแผนงานของโปรเจ็กต์ลับในจีน

โดยบอกว่าจะเลือกใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนให้น้อยที่สุด และกำลังเร่งประเมินค่าใช้จ่ายในการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในภูมิภาคอื่น เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และมากกว่าแค่ไม่ใช่ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีน แต่บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งเริ่มมีแนวคิดย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเลยด้วยซ้ำ โดยมีทั้งย้ายไปอาเซียน และกลับบ้านเกิดในญี่ปุ่น

ยกตัวอย่างคือ บริษัท Iris Ohyama ที่ผลิตสินค้าใช้ในครัวเรือน ก็บอกว่าจะย้ายการผลิตสินค้าพลาสติกประมาณ 50 รายการที่ผลิตในจีน กลับมาผลิตในโรงงานที่ญี่ปุ่น เพราะการผลิตในประเทศช่วยลดต้นทุนได้มากถึง 20%

บริษัทผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม World Co. ก็หันมาเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานในเมืองโอกายามะและเมืองอื่นๆ เพื่อป้อนตลาดในประเทศ หลังบริษัทเจอปัญหาการนำเข้าจากต่างประเทศเนื่องจากการล็อกดาวน์

หรืออีกบริษัทคือ JVC Kenwood ที่จะโอนการผลิตระบบนำทางรถยนต์จากอินโดนีเซียและจีนกลับมาญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตในโรงงานของบริษัทที่เมืองอินะเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า

[ การเมือง-โควิด-ค่าเงิน สารพัดปัญหากระทบบริษัทญี่ปุ่น ]

ถามว่าทำไมบริษัทญี่ปุ่นเริ่มหาทางที่จะลดพึ่งพาจีน เรื่องนี้มีสาเหตุหลักๆ 3 ข้อด้วยกัน คือ

1.ปัญหาการระบาดของโควิด-19 กระทบซัพพลายเชน

อย่างที่หลายคนทราบดีว่า นโยบายที่จีนนำมาใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็คือ zero-Covid หรือโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งจีนก็ดำเนินนโยบายนี้อย่างเข้มงวด ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ในเมืองต่างๆ ที่พบผู้ติดเชื้อ มีการกักกันและจำกัดการเดินทาง มีการปิดท่าเรือและโรงงานสำคัญ

ซึ่งนั่นล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดการชะงักงันของระบบซัพพลายเชน วัตถุดิบไม่สามารถส่งไปที่โรงงานผลิต หรือชิ้นส่วนจากโรงงานหนึ่งไม่สามารถส่งต่อไปยังโรงงานประกอบได้ ส่งผลกระทบกับบริษัทต่างๆ ทำให้ไม่สามารถผลิตโปรดักต์ออกมาได้นั่นเอง

2.ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหนัก

ข่าวคราวที่เราเห็นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ คือสถานการณ์ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงหนัก โดยในช่วงกลางเดือนตุลาคม เงินเยนนั้นอ่อนค่าลงมากสุดในรอบ 32 ปี โดยอยู่ที่ราวๆ 148 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่สวนทางกันระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

กล่าวคือ ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย รักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ผลตอบแทนในการฝากเงินและลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐฯ ปรับเพิ่มสูงขึ้น

ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้นักลงทุนเทขายเงินเยนและไปลงทุนดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากผลตอบแทนดีกว่า

ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงนี้เองที่ไม่ส่งผลดีต่อบริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในต่างประเทศ เพราะต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

แต่เงินเยนอ่อนค่านี้ส่งผลดีกับการส่งออกของญี่ปุ่น ทำให้สามารถแข่งขันได้เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นบางรายพลิกวิกฤตค่าเงินอ่อนตัวให้กลายเป็นโอกาสขึ้นมานั่นเอง

3.การเมืองระหว่างจีนและญี่ปุ่น

แม้สัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและญี่ปุ่นจะแน่นแฟ้นมานานหลายปี แต่ในมุมการเมืองแล้วนั้น ญี่ปุ่นกับจีนก็ไม่ค่อยจะลงรอยกันสักเท่าไหร่นัก ทั้งจากประเด็นสงครามจีน-ญี่ปุ่นในอดีตช่วงทศวรรษที่ 1930, ปัญหากรณีข้อพิพาทเรื่องดินแดนเกาะ Sensaku ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรระดับสูงของสหรัฐฯ ที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังเพิ่มสูงขึ้นจากกรณีของไต้หวัน ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องดำเนินมาตรการเพื่อตอบโต้

ที่เห็นชัดเจนคือในปี 2020 ที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศมาตรการให้เงินอุดหนุนแก่ 87 บริษัท เพื่อย้ายฐานการผลิตออกจากจีนกลับมายังญี่ปุ่น หรือย้ายไปประเทศอาเซียน รวมแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์

[ ญี่ปุ่นจะเลิกพึ่งพาจีนได้จริงหรือ? ]

แม้มีหลายปัจจัยที่ทำให้การพึ่งพาจีนให้น้อยลงอาจส่งผลบวกกับบริษัทญี่ปุ่นมากกว่า แต่ถ้าถามว่าบริษัทญี่ปุ่นจะเลิกพึ่งพาจีนได้แบบถาวรเลยหรือไม่

คำตอบคือ “เป็นไปได้ยากมาก”

สาเหตุสำคัญมาจากการที่จีนและญี่ปุ่นตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนพอสมควร โดยตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2000 มีวลีที่เรียกความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่นว่า “Hot economics, cold politics” หรือถ้าจะพูดง่ายๆ ก็ออกแนวตบจูบ

กล่าวคือ ตั้งแต่จีนและญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพตั้งแต่ปี 1952 สถานการณ์ทางการเมืองและการทูตระหว่างสองประเทศมหาอำนาจนี้ไม่ได้ดีขึ้นแถมยังแย่ลงด้วยซ้ำ

แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกลับแน่นแฟ้น มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย จนยากที่จะแยกออกจากกันได้

และถ้าดูจริงๆ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและญี่ปุ่นนั้นยิ่งนับวันก็ยิ่งดูแข็งแกร่งขึ้นด้วยซ้ำ

เพราะในปี 2020 ที่แม้จะมีโควิดระบาด การค้าขายระหว่างประเทศของญี่ปุ่นนั้นมี ‘จีน’ ครองส่วนแบ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยสัดส่วนการนำเข้าจากจีนนั้นเท่ากับระดับในปี 2016 ที่ 25.8% เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ในปี 2020 ก็เป็นครั้งแรกในรอบสองปีที่จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นผู้นำเข้าสินค้าญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่ง และในไตรมาสแรกของปี 2022 การนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นของจีนก็ทำสถิติสูงสุดด้วย

รวมถึงจีนก็ยังคงรั้งแชมป์ประเทศที่ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้ามากเป็นอันดับ 1 ด้วย โดยจีนครองสัดส่วน 26% รองลงมาคือสหรัฐฯ 19% และเยอรมนี 11%

และแม้บริษัทญี่ปุ่นจะเจอกับความเสียหายจากเรื่องซัพพลายเชนหยุดชะงัก และการควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีน แต่แนวคิด zero-China จะยังดูเป็นเรื่องห่างไกลสำหรับหลายบริษัท

เพราะในขณะที่จำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในจีนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี แต่ถึงอย่างนั้น โดยรวมแล้วก็ยังมีบริษัทญี่ปุ่นในจีนมากถึง 12,000 ราย และส่วนใหญ่เป็นบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิต

ขณะที่การสำรวจโดย Sankei Shimbun ซึ่งทำการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นในจีน 118 แห่ง พบว่า มากกว่าครึ่งบอกว่าธุรกิจกับจีนนั้นควรจะคงอยู่อย่างที่เป็น หรือพัฒนาต่อไป และในการสำรวจเดียวกันนี้ ไม่มีสักบริษัทที่บอกว่าจำเป็นต้องมีระยะห่างระหว่างจีนและญี่ปุ่น

[ ธุรกิจจีนในญี่ปุ่นก็เฟื่องฟู ]

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ แม้จะมีช่วงเวลาที่อ่อนไหวทางการเมือง แต่ชาวญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับแบรนด์และสินค้าของจีนมากขึ้น ต่างกับประเทศพันธมิตรของญี่ปุ่นที่เอนเอียงไปในทางไม่ยอมรับสินค้าจีน

ยกตัวอย่างคือ TikTok แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจากจีนที่ถูกแบนในอินเดีย และสหรัฐอเมริกาก็พยายามทำเช่นนั้นด้วย เนื่องจากกังวลเรื่องปัญหาความปลอดภัย

แต่ญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลเพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะร่วมกับ TikTok ในการเผยแพร่การตระหนักรู้แก่เยาวชนในเรื่องบัตร My number ซึ่งเป็นบัตรที่ให้ข้อมูลคล้ายๆ บัตรประชาชนของบ้านเรา

ธุรกิจอื่นๆ ของจีนที่เห็นในญี่ปุ่นยังรวมไปถึง

-ในเกียวโต รถเมล์ไฟฟ้าที่ใช้ในเมือง ก็ผลิตโดยค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนอย่าง BYD

-เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา Huawei ที่ยังถูกสหรัฐฯ และแคนาดาตรวจสอบในประเด็นความมั่นคงของชาติ ก็จัดอีเวนต์เปิดตัวโปรดักต์ใหม่ในโตเกียว

-ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทจีนรายใหญ่ๆ เช่น อาลีบาบา และ TCL ซึ่งเป็นผู้ผลิตแอลซีดีทีวีรายใหญ่อันดับสองของโลก ก็เข้ามาเจาะตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น

โดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจของจีนยังคงเฟื่องฟูในญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกับจีนยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทูตจะย่ำแย่ลงก็ตาม

[ ถ้าตัดขาดกัน ของจะแพงขึ้น ]

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเลิกพึ่งพาจีนแบบถาวรไม่ได้ เป็นเพราะนั่นอาจส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ แพงขึ้นกว่าเดิมมาก

โดยตามรายงานของ Owls Consulting Group บริษัทวิจัยซัพพลายเชนในโตเกียว ระบุว่า หากผลิตภัณฑ์หลักๆ 80 รายการ รวมถึงเครื่องใช้ในบ้านและรถยนต์ จะหยุดการนำเข้าจากจีน และเปลี่ยนไปใช้การผลิตในประเทศ หรือซื้อจากภูมิภาคอื่น ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 13.7 ล้านล้านเยนต่อปีเลยทีเดียว

ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ก็จะส่งผลให้สินค้าต่างๆ ต้องปรับราคาขึ้นด้วย โดยคาดการณ์ว่าราคาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะแพงขึ้น 50% สมาร์ทโฟนแพงขึ้น 20%

ยังไม่รวมว่ามีสถานการณ์เงินเฟ้อจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัจจัยอื่นๆ ที่จะทวีคูณให้ราคาข้างของแพงมากขึ้นไปอีก

ท้ายที่สุด ทั้งสื่อและนักวิเคราะห์หลายสำนักก็มองว่า zero-China นั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก การพยายามลดการพึ่งพิงซัพพลายเชนจากจีนลงในช่วงนี้ ก็เป็นเพราะบริษัทต่างๆ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงในจีน จึงต้องหาทางรับมือไว้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูกันต่อไปว่าท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบันที่รุนแรงจนบดบังการฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น ปรากฏการณ์ (ทางเศรษฐกิจ) ที่สม่ำเสมอนี้จะคงอยู่ได้ต่อไปหรือไม่

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ จะสามารถอยู่เหนือ หรือบรรเทาความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้งได้หรือไม่นั้น ก็เป็นสิ่งที่จะได้รับการทดสอบในอนาคตอันใกล้นี้

อ้างอิง:

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Supply-Chain/Japanese-companies-explore-how-to-go-zero-China-amid-tensions

https://thediplomat.com/2022/09/the-paradox-of-china-japan-relations/

https://www.voanews.com/a/explainer-what-s-behind-strained-china-japan-relations/6766668.html

https://asiatimes.com/2022/10/china-supply-chain-cut-would-cost-japan-10-of-gdp/

https://www.japantimes.co.jp/news/2022/09/26/business/japan-china-50-years-economic-ties/

https://www.japantimes.co.jp/news/2022/10/22/business/japanese-firms-domestic-shift/

https://www.scmp.com/news/asia/east-asia/article/3177874/japan-manufacturers-exit-china-southeast-asia-bring-production

https://www.krungsri.com/th/business/other-services/empowerment/business-insights/knowledge-trend/opportunity-thailand-japanese-investors

https://www.krungsricard.com/th/content/Japanese-yen-currency.html

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า