SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ปลดล็อก ‘พืชกระท่อม’ ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภท 5

ส่งผลให้ในตอนนี้ เรียกได้ว่าประชาชนคนไทยสามารถปลูก-ครอบครอง-ซื้อ-ขาย-บริโภค พืชกระท่อมได้อย่างเสรี ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เสรีไปเสียทั้งหมด เพราะยังมีสิ่งที่ทำไม่ได้อยู่บางประการ คือ

-การนำไปทำเป็นโปรดักต์สมุนไพร ต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562

-การขายในลักษณะของการแปรรูปเป็นน้ำต้ม​, ใบกระท่อมซุปแป้งทอด หรือเป็นอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ นั้นยังทำไม่ได้​ เนื่องจาก​ผิด​ พ.ร.บ.อาหาร​ พ.ศ. 2522

-รวมถึงการนำพืชกระท่อมไปต้มเป็นน้ำ แล้วผสมกับสารเสพติดชนิดอื่นที่เรียกว่า 4×100 (สี่คูณร้อย) ที่ยังเป็นข้อห้ามและผิดกฎหมายอยู่

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมาจากนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนสามารถใช้พืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้านได้อย่างถูกกฎหมาย

หลังจากถูกควบคุม ห้ามปลูก ห้ามเสพ ห้ามขาย มาตั้งแต่ปี 2486 เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นต้องการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าและภาษีของรัฐจาก ‘ฝิ่น’ จึงพยายามให้คนหันมาสูบฝิ่นแทนกระท่อม

ก่อนที่ต่อมา พืชกระท่อมจะถูกควบคุมอย่างต่อเนื่องให้เป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ร่วมกับพืชเสพติดอื่นๆ อีก คือ กัญชา ฝิ่น และเห็ดขี้ควาย

อย่างไรก็ตาม ที่มากไปกว่าการปลดล็อก และให้ใช้ชาวบ้านกลับมาใช้ได้อีกครั้ง อีกจุดประสงค์หนึ่งของรัฐบาลก็คือการผลักดันกระท่อมให้เป็น ‘พืชเศรษฐกิจ’ ตัวใหม่ เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย และเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

แต่คำถามคือ มีโอกาสแค่ไหนที่พืชเสพติดชนิดนี้ จะกลายไปเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ได้จริงหรือ?

[ส่องสรรพคุณ ‘พืชกระท่อม’ ทำไมถึงเป็นที่ต้องการ?]

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า ประเทศไทยเริ่มมีการควบคุมพืชกระท่อมเป็นครั้งแรกในปี 2486 หรือเมื่อ 78 ปีก่อน แต่อันที่จริงแล้ว ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการใช้พืชกระท่อมเป็นยามาหลายร้อยปี

โดยในสมัยโบราณ กระท่อมถูกนำมาใช้ในตำรับยาประเภทยาแก้ท้องเสีย ท้องเฟ้อ ท้องร่วง ปวดเมื่อย ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท

ขณะที่ในประเทศไทย พื้นที่ปลูกและใช้พืชกระท่อมส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภาคใต้ และภาคกลางบางจังหวัด คือ นนทบุรี และปทุมธานี

โดยชาวบ้านมักนำใบสดมาเคี้ยว เพื่อช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว (ไม่อยากอาหาร) กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ทำให้สามารถทำงานได้นานและทนแดดได้มากขึ้น

ด้านงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) พบว่าพืชกระท่อมมีสารสำคัญ ได้แก่ ไมทราไจนีน (Mitragynine) และ 7-ไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) มีฤทธิ์ระงับปวด รักษาอาการท้องเสีย ลดน้ำหนัก ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ต้านอาการซึมเศร้า คลายกล้ามเนื้อลาย

นอกจากนี้ยังใช้ในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด สามารถยับยั้งกลุ่มอาการถอนยาจากเอทานอล ลดอาการวิตกกังวลจากกลุ่มอาการถอนยากลุ่มสารฝิ่น ซึ่งในต่างประเทศได้นำพืชกระท่อมใช้ประโยชน์เพื่อทดแทนสารเสพติด เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ไอซ์ และยาบ้า เพื่อบำบัดผู้เสพยาติด

หากไม่นับกรณีที่นำพืชกระท่อมไปใช้ร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่น สรรพคุณเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยังมีการ (ลักลอบ) นำพืชกระท่อมมาใช้อย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่ายังมี ‘ดีมานด์’ อยู่ในท้องตลาดนั่นเอง

[ส่องตลาดต่างประเทศ]

ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศก็มีการนำพืชมาใช้เช่นกัน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ขายกันเป็นล่ำเป็นสัน และเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท

โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อช่วยรักษาโรคซึมเศร้า, บำบัดยาเสพติด, เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งรูปแบบของโปรดักต์มีทั้งแบบเป็นผง, แคปซูล, อาหารเสริม, ยาดม, ชา ทั้งยังมีหลากหลายแบรนด์ให้เลือกอีกด้วย

ขณะที่ ‘อินโดนีเซีย’ ถือเป็นประเทศที่มีการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีการประมาณการว่า 95% ของซัพพลายกระท่อมที่ใช้ในทั่วโลกมาจากอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลอินโดนีเซียมีแนวโน้มพิจารณาห้ามไม่ให้มีการส่งออกกระท่อมอีก แต่อนุญาตให้ใช้และซื้อขายได้ภายในประเทศเท่านั้น

จึงดูเหมือนว่าจะเป็นโอกาสของไทยและประเทศอื่นๆ ในการขยายส่วนแบ่ง ชิงก้อนเค้กจากแค่ 5% ที่เหลืออยู่จากอินโดนีเซีย

[เสรีแล้วการค้าการลงทุนคึกคัก]

หลังจาก ‘กระท่อมเสรี’ อย่างเป็นทางการ เรียกได้ว่าตลาดซื้อขายในไทยคึกคัก ทั้งบนช่องทางออนไลน์ และการตั้งหน้าร้านวางขายอย่างจริงจัง โดยใบสดราคาอยู่ที่เฉลี่ยกิโลกรัมละประมาณ 450-600 บาท

นอกจากนี้ในส่วนของบริษัทเอกชน ก็เดินหน้าวางแผนลงทุนสอดรับกฎหมายกันอย่างทันท่วงที อาทิ

-บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ที่ทำสัญญาซื้อใบกระท่อมจากเกษตรกรในภาคใต้ไว้เรียบร้อยแล้ว และกำลังเตรียมส่งออกผลิตภัณฑ์พืชกระท่อมจำนวน 150 ตัน ไปสหรัฐฯ ภายในเดือน ธ.ค. 2564 นี้

โดยขายผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon และช่องทางการจำหน่ายของพันธมิตรอย่างบริษัท โกลเด้น ไตรแองเกิล เฮลท์ จำกัด หรือ GTH

-บริษัท เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM ก็เตรียมนำพืชกระท่อมมาสกัดสารสำคัญ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ ยา อาหารและเครื่องดื่ม และคาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนของโปรดักต์ในปี 2565

-บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD ก็สนใจและมีแผนที่จะนำพืชกระท่อมมาพัฒนาต่อยอดในรูปของแบบของอาหารเสริม ก่อนส่งออกตีตลาดต่างประเทศ

มองดูแล้ว ‘กระท่อมไทย’ มีแววที่จะมีอนาคตสดใส และกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ได้ไม่ยาก

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีอีกหลายประเด็นให้น่าขบคิด และชวนให้ตั้งคำถามว่า เส้นทางการผลักดันกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างแท้จริง จะสวยงามดั่งโรยด้วยกลีบกุหลาบจริงหรือ?

[กฎหมายอีกฉบับที่ยังไม่คลอด และความไม่แน่นอนของตลาดสหรัฐฯ]

แม้ปัจจุบันสถานะของพืชกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติด ซื้อมาขายไปได้อย่างเสรี ยกเว้นแต่การนำไปธุรกิจยาและอาหารเสริม ที่จะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน

แต่ถึงอย่างนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อมยังเหลืออีกฉบับหนึ่งที่ยังไม่คลอด นั่นคือ พ.ร.บ. พืชกระท่อม พ.ศ. … ที่จะกำหนดรายละเอียดของการใช้พืชกระท่อม เช่น ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำว่า 18 ปี และสตรีมีครรภ์, สถานที่ห้ามจำหน่าย, รายละเอียดการใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม

รวมถึงข้อกำหนดการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จะต้องทำตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข

โดย พ.ร.บ.พืชกระท่อมดังกล่าวเพิ่งผ่านการพิจารณาของ กมธ.พืชกระท่อม เมื่อวันที่ 5 ส.ค. และอยู่ระหว่างรอการบรรจุวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 2 และวาระที่ 3

และหลังจากนั้นก็ยังต้องผ่านขั้นตอนของ สว., กมธ.สว. จึงจะไปถึงขั้นตอนที่วิปรัฐบาลเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป จึงจะได้ใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการ

นั่นเท่ากับว่า การลงทุนกับพืชกระท่อมไปในเชิงพาณิชย์ในตอนนี้ เป็นการลงทุนแบบที่ยังไม่รู้ว่ากฎหมายที่จะมาควบคุมในอนาคต มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์อะไรบ้าง

ยังไม่รวมถึงกรณีของตลาดสำคัญอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ที่แม้ตอนนี้การค้าขายจะคึกคัก และอนุญาตให้ใช้ได้หลายรัฐ แต่บางรัฐก็ยังแบนกระท่อม และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากมีข้อกังวลถึงผลข้างเคียงและการนำไปใช้ในทางที่ผิด

โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA กำลังขอความเห็นจากสาธารณชนเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ จะสนับสนุนการแบนกระท่อมระหว่างประเทศ ซึ่งสหประชาชาติ (UN) กำลังพิจารณาผ่านองค์การอนามัยโลก (WHO)

และล่าสุด FDA ก็ออกคำเตือนว่าพลเมืองหรือผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินการหรือผลิตสินค้าจากพืชกระท่อม จะต้องได้รับการอนุมัติจาก FDA ก่อน

แม้ยังไม่ชัดเจนว่าว่าท่าทีของสหรัฐฯ ต่อพืชกระท่อมจะออกไปขวาหรือซ้าย แต่หากเกิดการแบนขึ้นมา เรียกได้ว่าการผลักดันกระท่อมของไทยในเชิงพาณิชย์คงสั่นคลอน

เพราะเหมือนตอนนี้ทั้งรัฐและเอกชนมองสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกหลักเพียงตลาดเดียวเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่รัฐควรทำ นอกจากเรื่องกฎหมาย การให้ความรู้ และส่งเสริมการปลูกแล้ว (ที่ควรต้องร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ให้ดี ตรงตามความต้องการของตลาด)

ก็ยังต้อง ‘หาตลาด’ ไว้รองรับผลิตผลทางการเกษตรที่จะออกมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างดีมานด์จากในประเทศ หรือหาตลาดต่างประเทศอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง และมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ (ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์)

ไปจนถึงการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาให้ถูกนำไปใช้ในวงกว้าง เพื่อให้ท้ายที่สุด ‘กระท่อม’ จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงนั่นเอง

อ้างอิง:

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.)

https://mgronline.com/business/detail/9640000083949

https://mgronline.com/stockmarket/detail/9640000052262

https://www.thunhoon.com/article/240770

https://kratomspot.com/legal-status-of-kratom-in-indonesia-2021/

https://www.efinancethai.com/HotNews/hotnewsmain.aspx?name=h_250821h

https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2175551/kratom-production-needs-fda-approval

https://www.posttoday.com/world/661414

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า