SHARE

คัดลอกแล้ว

“เรามีเงินน้อยก็ต้องเลือกใช้เลือกกินให้เหมาะสมกับสถานะของเรา” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุม คณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ก่อน (19 เม.ย. 2565)

นายกฯ ได้แสดงความเป็นห่วงการใช้จ่ายเงินของประชาชน เมื่อรายได้ลดลง ราคาสินค้า พลังงานสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายดำรงชีวิตประจำวันสูงขึ้นเกือบ 50% ทำให้แต่ละเดือนไม่เพียงพอ ก่อนจะมาลงเอยว่า “อยู่ที่พฤติกรรม”

ขอให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยน มีเงินน้อยก็ต้องเลือกใช้เลือกกินให้เหมาะสมกับสถานะของเรา จนสุดท้ายกลายเป็นโคว้ทไวรัลในโซเชียลมีเดีย

“เรามีเงินน้อยก็ต้องเลือกใช้เลือกกินให้เหมาะสมกับสถานะของเรา”

คำพูดดังกล่าว เราลองมาสรุปกันไปทีละข้อว่าถ้าจะลองทำอย่างที่นายกฯ แนะนำ มันทำได้หรือไม่ได้กันแน่

1.วันนี้ถ้าไปวัดดัชนีความกังวลของประชาชนชาวบ้านทั่วไป เราจะพบ คำค้นว่า “เงินเฟ้อ” บน Google ในประเทศไทยสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551

แปลว่า “ดัชนีวัดความวิตกกังวล” ของชาวบ้านประชาชนทั่วไปต่อ เงินเฟ้อ ข้าวของแพงมีสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคำว่า “เงินเฟ้อ” หรือ inflation ถูกพูดถึง “ทั่วโลก”

ที่สหรัฐอเมริกา คำค้นเงินเฟ้อใน Google สูงขึ้นมากเช่นกัน จนรายการทีวีดังแนวเล่าข่าวเช้าอย่าง Today Show ยังต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญมานั่งอธิบายประชาชนเรื่องทำไมเงินเฟ้อถึงพุ่งขึ้น และมันคืออะไรกันแน่ พร้อมแนะนำว่าต้องเตรียมตัวประหยัดและระมัดระวังการใช้เงินอย่างไรบ้าง

2.ในการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเข้าใจถูกที่ราคาสินค้าและบริการหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นจากเงินเฟ้อจนกระทบค่าครองชีพประชาชน แล้วนายกฯ พูดว่าส่วนหนึ่งเป็น “พฤติกรรม” ที่ต้องปรับเปลี่ยนด้วยนั้นก็ดูจะกำปั้นทุบดินเกินไป

เช่น กรณีเนื้อหมูแพงเมื่อปลายปีจนถึงต้นปีที่ผ่านมาจากกรณีโรคระบาดในหมู และว่ากันตามจริงจนถึงตอนนี้ก็ยังมีราคาสูงอยู่ แม้จะปรับลดลงมาจากช่วงแพงพีคแล้ว แต่คาดว่าแนวโน้มราคาหมูที่สูงขึ้นจะต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ปรับเปลี่ยนกินตามเงินในกระเป๋าอยู่แล้ว หันไปกินเนื้อสัตว์ โปรตีนจากแหล่งอื่น บางคนหลายเดือนมานี้กินหมูน้อยลงด้วยซ้ำ หรือถ้ากินกับข้าวหรือเมนูตามสั่งที่มีหมู ก็รู้กันดีว่าหมูในจานไม่ได้ในปริมาณเท่าเมื่อก่อน

เท่านั้นไม่พอ ขบวนพาเหรดราคาสินค้าอีกหลายชนิดโดยเฉพาะสินค้าในครัวเรือนบางรายการที่มีการขึ้นราคาขายปลีก นอกจากนี้ค่าเดินทางโดยสาร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ อย่างค่ารถไฟฟ้าก็ถูกพูดถึงอยู่แล้วว่า บ้านเราเมื่อเทียบดัชนีราคาค่าโดยสารแล้วก็เรียกว่า “แพงมาก”

3.การบอกให้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตนั้น นายกฯ ต้องเข้าใจว่า ปัจจัยราคาพลังงาน ถือว่ามีบทบาทสูงต่อเรื่องราคาสินค้า และเงินเฟ้อของไทย

พูดง่ายๆ หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 10% จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ย 1.5% และนั่นก็จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคาสินค้าและบริการบางอย่าง เช่น อาหาร ค่าโดยสาร หรือค่าขนส่ง

4.ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย ส่งผลต่อผู้คนในสังคมไม่มากก็น้อย

อย่างที่เราเคยได้ยินว่า “เงินเฟ้อของแต่ละคนไม่เท่ากัน”

บางคนไม่ได้รับผลกระทบ บางคนได้รับระดับตั้งแต่ปานกลาง ไปจนถึงอ่อนๆ แบบไม่สะดุ้งสะเทือนมากนัก

แต่กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนักจากเงินเฟ้อครั้งนี้ คือ “กลุ่มผู้มีรายได้น้อย” มากที่สุด

สาเหตุเพราะ เมื่อราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ก็จะกระทบต่อเนื่องไปยังรายจ่ายของครัวเรือนด้วย

แปลว่า ยิ่งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีสัดส่วนรายจ่ายด้านอาหารสูงขึ้น เพราะเงินเฟ้อดึงเงินในกระเป๋าออกไปนั่นเอง

ถ้าคนรายได้น้อยหาเงินมาได้เท่าไหร่ในช่วงนี้ ก็ให้หักรายจ่ายด้านอาหารไปเลย 41% จากรายได้

(อ้างอิงตัวเลขข้อมูล SCB EIC จากเรื่อง Cost-push inflation: แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานและผลกระทบต่อคนไทยในปี 2022)

ดังนั้นเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้นหากครัวเรือนบ้านไหนต้องการซื้อสินค้าเข้าบ้านให้ได้เท่าเดิม ก็ต้องใช้เงินมากขึ้นนั่นเอง

และหากบ้านไหนครัวเรือนไหนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ หรือรายได้น้อยจนถูกเงินเฟ้อจี้ตามหลัง ก็หมายถึงครัวเรือนเหล่านี้มีกำลังซื้อกำลังบริโภคลดลง

ดังนั้นเงินเฟ้อที่เราเห็นๆ รายงานออกมาจากทางการ จึงเป็นเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งที่สุดมันจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือน ต่อเงินในกระเป๋าแต่ละคนไม่เท่ากันนั่นเอง

5.ยิ่งถ้านายกฯ ไม่ลืมและนึกขึ้นได้ว่าประชาชนและแรงงานส่วนหนึ่งก็เผชิญปัญหา “รายได้ลดลง” จากช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นปีๆ อย่าลืมว่ามีประชาชนขาดรายได้/รายได้ลดลง ถูกเลิกจ้างบ้าง/ลดเงินเดือนบ้าง ตกงานกันแบบไม่ทันตั้งตัว

นับตั้งแต่ตอนนั้นเงินเฟ้อของประชาชนกลุ่มนี้ย่อมสูงกว่ากลุ่มที่พอมีรายได้หรือยังมีการจ้างงานในระดับเงินเดือนเท่าเดิม

แปลว่า วันนี้เศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 รายได้เฉลี่ยของแรงงานไทยส่วนที่ได้รับผลกระทบตอนนั้นก็ยังลากยาวมาถึงตอนนี้

ซึ่งที่ผ่านมาเราก็จะเห็นชาวบ้านปรับตัว ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อประหยัดกันมาก และล่าสุดยังมาเจอวิกฤตค่าพลังงานที่ส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้นทุกอย่าง ซึ่งมีผลกระทบต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมใครได้ยิน โคว้ทคำพูดของนายกฯแล้วถึงกับสตั๊นไป

[ แล้วนายกฯควรจะเข้าใจอะไร ] 

6.เข้าใจให้ได้ว่า มีวิกฤตหลักๆ ที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการ “จ้างงาน” และ “รายได้”

วันนี้ตลาดแรงงานไทยยังอ่อนแอ แรงงานกว่า 6 แสนคน ยังตกงาน

แปลว่ารายได้เฉลี่ยยังลดลง แถมบางส่วนยังต้องออกจากงานประจำ หันมาทำอาชีพอิสระ ที่อาจมีความมั่นคงทางรายได้น้อยกว่า ดังนั้น เมื่อรายได้จากการจ้างงานยังแย่ แต่เงินเฟ้อก็เพิ่มสูงขึ้น เรื่องนี้จึงเลยไปกว่าแค่ “ปรับพฤติกรรม” ตามที่นายกฯบอก

7.วิกฤตพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังบานปลาย มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียโดยชาติตะวันตกที่ผลปรากฏว่าไม่ได้จัดการรัสเซียได้ง่ายๆ เกิดการสู้กันหนัก เพราะรัสเซียก็สู้กลับ ทำให้เกิดผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจวงกว้าง

เกิดภาวะแหล่งวัตถุดิบที่จะผลิตสินค้าทั้งอาหารและไม่ใช่อาหารได้รับผลกระทบ เพราะรัสเซีย ยูเครน ก็เป็นตลาดส่งออกวัตถุดิบที่จะนำไปผลิตอาหาร เช่น ธัญพืช ข้าวสาลี ปุ๋ยเคมีที่จะเอาไปปลูกพืช และหลายประเทศสั่งนำเข้าจากรัสเซีย ยูเครน

นั่นทำให้เกิดความกังวลว่า เมื่อตัวตั้งต้นเกิดการช็อต การจะผลิตสินค้าบางอย่างก็จะทำได้น้อยลง และพอมีสินค้าน้อย ของก็แพงขึ้นแบบหลักดีมานด์ ซัพพลาย ซึ่งของที่แพงขึ้นนั้นก็คือ สินค้าที่เกี่ยวกับปากท้องผู้คนนั่นเอง

8.SCB EIC ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีของไทยจะสูงถึง 4.9% สูงที่สุดในรอบ 14 ปี

น่าห่วงว่า เงินเฟ้อนี้เกิดขึ้นในจังหวะที่ประเทศไทยเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ดี แม้หลายกิจกรรมทยอยฟื้นตัวหลังเปิดการเดินทางรับนักท่องเที่ยว เปิดให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ

แต่ภาพรวม กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ยัง “ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด”

9.นักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาตัวเลขการเติบโตเท่าช่วงก่อนโควิด ก็ต้องรอกันถึงครึ่งปีหลังของปี 2566

แปลว่าคร่าวๆ อีกปีกว่า และยังเป็นคาดการณ์ ยังไม่นับรวมปัจจัยภายนอก ปัญหาอื่นๆ ที่นอกเหนือการควบคุม เช่น ปัญหาสภาพอากาศ Climate Change ที่ส่งผลต่อผลผลิตตกต่ำ ปัญหาภัยพิบัติ ประเด็นความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ รวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจสหรัฐ จีน ขณะนี้

10.สุดท้ายก่อนจะบอกเรื่อง “ปรับพฤติกรรม” นายกฯ อย่าลืมว่า ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะที่ขยับสูงเกิน 60% แล้วของจีดีพี เลขกลมๆ เฉียดจะ 10 ล้านล้านบาท

หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความจำเป็นเรื่องที่จะต้องนำเงินมาใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด

ซึ่งหนี้สาธารณะ ก็คือหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากรัฐบาล เมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย แต่การกู้เพิ่มหรืออนุญาตให้เป็นหนี้ได้นั้น คนไทยก็หวังว่า มันจะถูกนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องจับต้องได้ก็คือ “เกิดการจ้างงานมากขึ้น”

ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้มาสู้กลับเงินเฟ้อ-ของแพง

และนี่คือคำตอบถึงนายกรัฐมนตรี ที่โครงสร้างปัญหาปากท้องประชาชนตอนนี้ มีมากกว่าแค่ “ปรับพฤติกรรมเลือกกินเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานะของเรา” เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ชาวบ้านคนยากลำบากผู้ได้รับผลกระทบต่อให้พยายามแล้วก็ยังเป็นเรื่องยาก

 

บทความโดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

[email protected]

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า