Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

โรคมะเร็ง เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญของโลก องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง หรือ IARC ขององค์การอนามัยโลก เผยรายงานสถานการณ์มะเร็งประจำปี 2018 คาดการณ์ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่จะเพิ่มขึ้นกว่า 18 ล้านคนทั่วโลก และจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นเป็น 9.6 ล้านคน ภายในปีนี้

ประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน หรือมากกว่า 130,000 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 70,000 รายต่อปี

ทั้งที่ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่กลับแพร่กระจายไปทุกพื้นที่ สาเหตุเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตยุคใหม่ เร่งรีบ พักผ่อนไม่เพียงพอ อาหารการกิน ความเครียดที่ไม่อาจเลี่ยง รวมไปถึงสภาพแวดล้อม ทำให้ไม่ว่าใครก็เสี่ยงเป็นมะเร็งได้ทั้งนั้น หากไม่ดูแลรักษาสุขภาพอย่างดี

ซ้ำร้ายเมื่อป่วยเป็นมะเร็งแล้ว ยังต้องเผชิญกับความทรมานจากผลข้างเคียงระหว่างการรักษา เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยและญาติต้องอาศัยกำลังใจอย่างมากเพื่อก้าวผ่านโรคร้ายไป

ทุกวันนี้มีการพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัด ที่ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายผู้ป่วยน้อยกว่า แต่ยังมีราคาสูงเสียจนคนส่วนใหญ่ไม่อาจแตะถึง คือ 1 เข็ม ราคา 2 แสนบาท และต้องฉีดต่อเนื่อง ทุกๆ 3 สัปดาห์ เป็นเวลา 2-3 ปี

นี่จึงเป็นเหตุผลให้โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตยาแอนติบอดี้เพื่อใช้ในการรักษามะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัดเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตยารักษามะเร็งในราคาถูกลง ให้คนไทยที่ป่วยมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาที่ดีขึ้น

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์นัดหมายกับ นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยนี้ เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไป อนาคต และความคาดหวังต่อยารักษามะเร็งฝีมือคนไทย

นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตอนนี้สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยเป็นอย่างไร

ก็เป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ วัดจากการเก็บสถิติ ถือว่าเป็น 1 ใน 3 ของโรคที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ถ้าเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ส่วนผู้ชายก็มะเร็งตับ นอกจากนี้ยังมีมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด ที่เราค้นพบค่อนข้างเยอะในช่วงหลังมานี้

สาเหตุที่คนป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้นเพราะอะไร

จริงๆ แล้ว ทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทั้งนั้นครับ เพราะว่าเราสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา ไม่ว่าจะแสงแดด ฝุ่น มลพิษ พวกนี้ทำให้เรามีโอกาสเกิดมะเร็งทั้งนั้น พฤติกรรมส่วนตัวก็สำคัญ ดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่มากเกินไป อันนี้ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ แล้วก็มะเร็งปอด พวกเชื้อไวรัสที่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่าง HPV ก็เสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งด้วย

แต่นอกจากอะไรที่เห็นชัดๆ แล้วก็ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ที่คนอาจไม่ค่อยนึกถึง แต่สำคัญมากในปัจจุบัน อย่างโรคอ้วน ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายน้อย พวกนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายเราอ่อนแอลง จนไม่สามารถไปจัดการกับเซลล์มะเร็งในร่างกายได้

วิธีการรักษามะเร็งในปัจจุบันเป็นอย่างไร

หลังจากทราบว่าเป็นมะเร็งแล้ว หลักๆ ก็จะมีการรักษาที่ทุกคนเคยได้ยินกันอยู่ 3 อย่าง คือ การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด แล้วก็การฉายแสง การผ่าตัดก็อย่างที่รู้กัน ถ้าตรวจเจอก้อนมะเร็งเล็ก เราก็จะทำการผ่าตัดรักษา แต่ถ้าเจอก้อนใหญ่ก็ต้องใช้กระบวนการต่อๆ ไป ทำให้มะเร็งมันเล็กลงก่อนถึงจะตัดทิ้งได้ นอกจากนี้ก็มีสิ่งที่เรียกว่ายามุ่งเป้าซึ่งเป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่มีมา 20-30 ปีแล้ว

แต่ล่าสุดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีวิธีการรักษารูปแบบใหม่อีกชนิด ที่ทางศูนย์วิจัยผลิตยาภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็งกำลังศึกษาอยู่ ชื่อว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด’ เป็นการใช้ภูมิต้านทานของผู้ป่วยเองมาจัดการมะเร็ง

ที่จริงแล้วการรักษาแบบนี้เรียกว่าเป็นแนวทางการรักษามากกว่า เพราะมันมีวิธีการและใช้ยามากกว่า 1 วิธี คือมีทั้งการใช้ยาแอนติบอดี้ การนำเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมาทำให้มันเก่งขึ้นแล้วฉีดเข้าไปรักษามะเร็ง แล้วก็การใช้วัคซีนที่จะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ผู้ป่วยสามารถสร้างภูมิขึ้นมารักษามะเร็งเอง หลักๆ ก็มีวิธีการอยู่ประมาณนี้ที่ทางศูนย์วิจัยฯ ของเรากำลังศึกษาอยู่ครับ

ทำไมทางศูนย์วิจัยฯ จึงสนใจศึกษาวิธีการรักษานี้

เพราะว่ามันเป็นการรักษาที่ในต่างประเทศทั่วโลกมองเห็นแล้วว่าได้ผล และตอนนี้ก็มีคนไข้จำนวนมากที่ได้รับยากลุ่มนี้เข้าไปแล้วให้ผลลัพธ์ที่ดี จนองค์การอาหารและยาของทั้งสหรัฐและยุโรปอนุมัติให้ยากลุ่มนี้ไปอยู่ในวิธีการรักษามาตรฐาน ทีนี้ประเด็นก็คือทำไมเรายังต้องวิจัยเอง เหตุผลก็เพราะการนำเข้ายากลุ่มนี้มาจากต่างประเทศมีราคาสูงมาก ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นหลักหลายล้านบาท มันจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องพัฒนาของเราเอง เพื่อที่จะได้ควบคุมราคาให้มันจับต้องได้มากขึ้น

ราคายาที่ถูกลงจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งในไทยอย่างไร

ลองสมมติว่าคุณเป็นมะเร็ง แล้วสมควรได้รับยาตัวนี้มารักษา ตามมาตรฐานของวงการแพทย์ 1 เข็ม คุณต้องจ่าย 2 แสนบาท แล้วไม่ใช่ว่าฉีดเข็มเดียวแล้วจบ อีก 3 สัปดาห์คุณต้องมาฉีดใหม่ ตรงนี้ก็บวกเพิ่มเข้าไปอีก 2 แสนบาท ทำแบบนี้ไปจนครบ 3 เดือน ถ้ายาได้ผลก็จะถือว่ายาตัวนี้มันเวิร์คกับคุณ หมายความว่าคุณต้องฉีดยาทุกๆ 3 สัปดาห์ แบบนี้ต่อไปอย่างน้อย 2 ปี คิดว่าทั้งหมดนี้ราคาเท่าไหร่ หลายล้านใช่ไหม เพราะฉะนั้นมันก็แน่นอนเลยว่าคนส่วนใหญ่จะไม่สามารถเข้าถึงยากลุ่มนี้ได้

เราไม่อยากให้ตรงนี้มันมาเป็นข้อจำกัดในการรักษา เพราะการเข้าถึงการรักษามันควรจะเป็นสิทธิ์ของทุกคน

ทีนี้ ถ้าเหตุผลด้านราคามันเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาไม่ได้ เราก็ต้องทำให้ยามันถูกลง แต่เราจะไปขอให้บริษัทยาเขาลดราคาให้เราจากเข็มละ 2 แสน เหลือ 2 หมื่น สิบเท่าแบบนี้คงไม่ได้ มันก็เลยไม่มีทางออกอื่น นอกจากทำกันเอง

การรักษาแบบใหม่นี้แตกต่างจากการรักษาแบบเก่าอย่างไร

การรักษามะเร็งในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการฉายแสง เคมีบำบัด รวมทั้งยามุ่งเป้า หลักๆ แล้วการทำงานของมันคือเข้าไปฆ่าเซลล์มะเร็ง ก็ตรงไปตรงมา ฆ่าให้เซลล์มันตายไป แต่ด้วยความที่ยามันไม่ได้มีความจำเพาะเจาะจงว่าจะไปฆ่าเฉพาะเซลล์มะเร็งเท่านั้น ก็เลยไปฆ่าเซลล์ปกติของเราด้วย สิ่งที่ตามมากับการรักษาจึงเป็นผลข้างเคียง อย่างเช่น ผมร่วง ท้องเสีย เม็ดเลือดขาวต่ำ เพราะเซลล์ปกติอย่างเซลล์ผม เซลล์เยื่อบุในลำไส้ของเรามันถูกฆ่าตายไปด้วย

แล้วเราจะทำยังไงให้ไม่เกิดผลข้างเคียง ก็ต้องทำยาที่ฆ่าเฉพาะเซลล์มะเร็งอย่างเดียว ไม่ไปยุ่งกับเซลล์ร่างกายอื่นๆ ซึ่งยาตัวนั้นก็คือ ภูมิต้านทาน ครับ

ภูมิต้านทานของเรามันถูกสร้างมาโดยที่สามารถแยกแยะได้ว่าเซลล์ไหนเป็นเซลล์มะเร็ง เซลล์ไหนไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเราก็ไปทำให้เม็ดเลือดขาว ภูมิต้านทานของเรา มันกลับมาแข็งแรง มันก็จะเน้นฆ่ามะเร็งเป็นหลัก ร่างกายจะได้รับผลข้างเคียงน้อยลง

อันนี้จึงเป็นหลักการที่ว่า ทำไมการรักษาด้วยภูมิต้านทานบำบัดถึงมีผลข้างเคียงต่อร่างกายระบบอื่นน้อยกว่า เหตุผลเพราะวิธีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ มันคือการฉีดยาเข้าไปกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว ไม่ใช่การฉีดยาเข้าไปฆ่ามะเร็ง

ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยฯ ศึกษาไปถึงไหนแล้ว

ภาพคร่าวๆ ของการศึกษาตอนนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นเราจะต้องผลิตยาต้นแบบขึ้นมาในห้องแล็ป ถ้าเข้าท่าแล้วก็จะนำไปผลิตเพื่อให้ได้จำนวนเยอะขึ้นจากโรงงาน แล้วค่อยนำยาที่ผลิตได้มาทดสอบในสัตว์ทดลอง แล้วถึงจะลองนำมาใช้กับมนุษย์

ตอนนี้เราทำมาถึงขั้นที่สามารถผลิตตัวยาในแล็ปทดลองจนได้ฤทธิ์ยาที่เทียบเคียงกับยาของต่างประเทศได้แล้ว เรากำลังอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างการนำยาไปผลิตในโรงงาน ซึ่งก็ยังจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะยาทุกตัวกว่าจะผลิตมาจนได้มาตรฐานต้องใช้เวลาหลายปีทั้งนั้น มันมีขั้นตอนอะไรต้องจัดการอีกเยอะมาก แต่ก็เดินหน้ามาเรื่อยๆ ครับ

นอกจากเรื่องเวลาแล้ว เงินทุนมีส่วนสำคัญแค่ไหน

มันก็เหมือนกับทุกๆ กิจกรรมครับ ที่ต้องมีค่าใช้จ่าย อย่างค่าเจ้าหน้าที่ นักวิทยาศาสตร์ ค่าสารเคมี คือการทำยามันต้องใช้เทคโนโลยีราคาแพงมาก ไม่ว่าจะอุปกรณ์ สารเคมี น้ำยา เซลล์ต่างๆ ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเกือบหมด เจ้าหน้าที่ของเราก็ต้องมีการเรียนรู้ ต้องร่วมงานกับต่างประเทศบ่อย ค่าใช้จ่ายทั้งหมดกว่าจะได้ยามาสักตัวถือว่ามหาศาล

ในต่างประเทศ กว่ายาตัวหนึ่งจะสำเร็จได้ต้องใช้เงินประมาณ 1 พันล้านเหรียญ หรือราวๆ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากที่เราลองประเมินของเราเอง ถ้าคิดแบบค่าแรงไทย ทุกอย่างประหยัดสุดๆ ก็ยังอยู่ที่หลักพันล้าน อย่างน้อยก็ประมาณ 1,500 ล้านบาทครับ

ลงทุนมหาศาลขนาดนี้มีความเสี่ยงว่าจะไม่สำเร็จไหม

แน่นอนว่ามีความเสี่ยง แต่ถ้าเราไม่ลงทุนตรงนี้ เราต้องมารอให้วันหนึ่งราคายามันถูกลงจนถึงจุดที่ระบบประกันสุขภาพบ้านเราจับต้องได้ ซึ่งมันก็อาจจะเป็นไปได้ แต่เราก็ไม่รู้เลยว่ามันจะเป็นเมื่อไหร่ ซึ่งโดยทั่วไปถึงแม้ตัวยาจะราคาลดลง ก็ลดลงประมาณ 60-70% เท่านั้น จาก 2 แสนอาจลดลงมาเหลือประมาณ 5-6 หมื่น ยังถือว่าแพงอยู่ แถมเราไม่ได้ฉีดแค่เข็มเดียว มันต้องฉีดไปเรื่อยๆ

ดังนั้น แทนที่เราจะรอแล้วมันก็ไม่ได้ถูกลงมามาก สู้เราลงทุนศึกษาตรงนี้เอง จะเป็นแนวทางที่ดีกว่าไหม เราไม่ได้รอแค่อนาคต แต่ลงมือทำเลย มันมีข้อเสียตรงค่าใช้จ่ายเยอะก็จริง แต่การที่เราจะรอนำเข้าแต่ยานอก อนาคตมันจะไม่ใช่ยารักษามะเร็งตัวนี้ตัวเดียวแล้ว ต่อไปทั่วโลกจะผลิตยารักษาโรคอื่นๆ มาอีก ไม่ว่าจะยาโรคหัวใจ โรคความดัน ไขมันในเลือดสูง ถ้าเราไม่สร้างอะไรที่เป็นของเราเลย ต่อให้ยาตัวนี้ถูกลง สักวันก็จะยังมียาตัวใหม่ที่แพงกว่าออกมาให้เราต้องนำเข้าอีก

มองไปสู่อนาคตด้วยว่าถ้าผลิตยาตัวนี้ได้ ก็จะสามารถพัฒนาไปสู่ยาตัวใหม่ๆ

ถูกต้องครับ ยากลุ่มใหม่ที่เป็นแอนติบอดี้เนี่ย มันจะไม่เหมือนยาที่เราคุ้นชินกัน มันไม่ได้เป็นยาเม็ดสำหรับทาน แต่มาเป็นเข็มที่ต้องฉีดเข้าสายน้ำเกลือ ตอนนี้ทั่วโลกกำลังพัฒนายาประเภทนี้ออกมาเรื่อยๆ และแพงทุกตัว ไม่ใช่แค่ยารักษามะเร็ง แต่มาทั้งโรคข้ออักเสบ ไขมันในเลือดสูง โรคหอบหืดก็มี

พวกนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่หมดเลย แล้วมันจะมีแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่บอกถ้าเราไม่มีองค์ความรู้พื้นฐานของประเทศเราเลย ยาทุกตัวเราก็ต้องนำเข้า แล้วเสียเงินแพงหมด

เพราฉะนั้นสำหรับผมมันก็ชัดเจน เราเป็นหน่วยงานหนึ่งที่คิดว่าเราทำตรงนี้ขึ้นมา อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกอย่าง แต่หวังว่าถ้าทำมันขึ้นมาได้ ในอนาคตหน่วยงานรัฐบาลหรือว่าเอกชนของประเทศไทย อาจเอาองค์ความรู้เหล่านี้ไปเป็นแนวทาง ซึ่งเรายินดีมากที่จะแพร่กระจายออกไป ช่วยกันขยายให้มันมีอะไรแบบนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกให้คนไทยได้มีสิ่งที่เราผลิตเอง อาจรวมถึงส่งไปต่างประเทศ ทำกำไรกลับมาบ้านเราด้วย คือเราไม่ได้มองแค่ตรงนี้ แต่พยายามมองระยะยาวครับ

ทางศูนย์วิจัยฯ เปิดรับบริจาคเพื่อสมทบทุนการวิจัยด้วยใช่ไหม

ใช่ครับ เราจัดตั้งกองทุนของคณะแพทย์ จุฬาฯ แล้วก็เปิดบัญชีในนามของสภากาชาดไทยด้วย ซึ่งทั้งสององค์กรเป็นองค์กรที่ทางรัฐบาลอนุญาตให้ผู้บริจาคสามารถนำค่าบริจาคไปลดหย่อยภาษีได้ 2 เท่า เพราะถือเป็นการเข้ามาช่วยเหลือหน่วยงานที่ทำประโยชน์ให้สังคมทางหนึ่ง แล้วเราก็กำลังจะมีกิจกรรมวิ่งการกุศลในเร็วๆ นี้ด้วยครับ

กิจกรรมเดินวิ่งการกุศล “Chula cancer run ก้าวทันมะเร็งจัดขึ้นเพื่อให้กำลังผู้ป่วย

กิจกรรมนี้จัดขึ้นด้วยหลายเหตุผล ส่วนหนึ่งเลยคือต้องการจะให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็ง ที่จริงคนไทยหลายคนนอกจากคนที่ป่วยเองก็น่าจะมีคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็ง หรือเสียชีวิตจากมะเร็งกันทั้งนั้น ผมมองว่างานวิ่งครั้งนี้เหมือนเป็นการรวมกลุ่มของคนที่ต้องเจอกับปัญหาเดียวกัน ต้องทุกข์กับเรื่องเดียวกัน ให้มาเจอกัน มาเข้าใจและหาทางออกของปัญหาไปด้วยกัน เพราะผมเชื่อว่าทุกคนที่มางานนี้ก็คงอยากให้โรคมะเร็งหมดไป

เราอาจจะเชิญผู้ป่วยมาวิ่งด้วยถ้าเขาวิ่งไหว ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะช่วยเป็นกำลังใจให้เขาสู้กับโรคนี้ต่อได้ เพราะอย่างที่ทราบดีว่าสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนคนทางบ้านที่สนใจก็มาร่วมวิ่งกับเราได้ เพราะการวิ่งออกกำลังกายมันเป็นหนึ่งในวิธีเสริมภูมิต้านทานมะเร็ง ช่วยให้เม็ดเลือดขาวมันทำงานดีขึ้นด้วย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ CU Cancer Immunotherapy Fund

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า