SHARE

คัดลอกแล้ว

เริ่มตั้งแต่ 2,000 บาทไปจนถึง 20,000 บาท คือ ราคาของคาร์ซีทในท้องตลาด 

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่ลูกอย่างน้อย 1 คน แม้จะมีรายจ่ายประจำเป็นค่าบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าใช้จ่ายประจำอื่นๆ 

แต่คุณก็จะต้องจัดหา ‘คาร์ซีท’ มาให้ลูกใช้สำหรับนั่งรถภายในสิ้นปีนี้ ก่อนที่ ‘กฎหมายคาร์ซีท’ จะเริ่มบังคับใช้ (คาดว่าน่าจะเริ่มต้น 5 ก.ย. หรือ 5 ธ.ค. นี้)

คงเป็นความเต็มใจของพ่อแม่ส่วนใหญ่อยู่แล้วที่ต้องการ 

ทั้งทำตามกฎหมายเพื่อเลี่ยงการถูกจับปรับ

และต้องการให้ ‘ลูกปลอดภัย’ ที่สุด 

แต่การประกาศบังคับใช้กฎหมายคาร์ซีท กลับเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีคนเห็นต่างมากที่สุดในช่วงนี้ ทั้งในแง่ภาระทางการเงินของพ่อแม่ ความพร้อมของสังคมไทย เมื่อความปลอดภัยมีราคาที่จะต้องจ่ายและต้องรีบหามาจ่ายให้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ

อ่านสรุปจาก TODAY Bizview ว่าด้วยเรื่องของ ‘คาร์ซีท’ ว่ามันจำเป็นแค่ไหน ทั่วโลกใครบังคับใช้บ้าง ราคาในไทยทำไมต่างกับนอก ไปจนถึงข้อเสนอถึงรัฐในการลดภาระของพ่อแม่ในภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

[ ‘คาร์ซีท’ จำเป็นจริงหรอ? ]

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ‘รถชน’ เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของ ‘เด็ก’ อันดับต้นๆ

ในปี 2546-2556 ‘อุบัติเหตุจราจร’ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของเด็กไทยรองลงมาจากการจมน้ำ 

ข้อมูลจาก ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีในปี 2557 บอกว่า ในช่วง 14 ปีหลังมานี้มีเด็กไทยอายุน้อยกว่า 15 ปี ตายจากอุบัติเหตุทางจราจร 14,669 คน หรือเฉลี่ยปีละ 104 คน 

เด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในอัตรามากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กมีศีรษะหนัก ลำตัวเล็ก มีกระดูกต้นคอ กระดูกทรวงอกที่อ่อน อวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ตับ ม้าม ค่อนข้างใหญ่ 

เมื่อเกิดอุบัติเหตุเด็กจึงมีลักษณะการเคลื่อนตัวคล้ายลูกแบดมินตันคือ ‘พุ่งแรง’ ทะลุออกนอกรถได้ง่าย ทำให้สมอง ก้านคอ และม้ามแตก

ซึ่งระบบยึดเหนี่ยวในรถออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่จึงไม่เหมาะกับเด็ก มักจะเกี่ยวบริเวณคอหรือตา ทำให้เกิดอันตรายซ้ำอีก

แต่ ‘คาร์ซีท’ สามารถ

– ลดการตายในเด็กปฐมวัยกว่า 75% 

– ลดการตายในเด็กวัยเรียนกว่า 40% 

ในประเทศพัฒนาแล้วจึงมีการกำหนด ‘กฎหมายคาร์ซีท’ ชัดเจน

ตรงกับรายงานจาก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาที่บอกว่า เทียบกับใช้เข็มขัดนิรภัยเพียงอย่างเดียว 

– คาร์ซีทช่วยลดการโอกาสบาดเจ็บได้ถึง 71-82%

– และช่วยลดการโอกาสบาดเจ็บสาหัสได้ถึง 45% 

ในเวลานั้น นพ.อดิศักดิ์ ได้เสนอให้มีการผลักดันทางด้านกฎหมาย 3 ข้อหลักๆ 

1) ผู้บริโภค ต้องมีหน่วยงานให้ความรู้เรื่อง ‘คาร์ซีท’ 

2) ผู้ผลิต ต้องให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยของเด็กในรถยนต์-ต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วน

3) ภาครัฐ ต้องแก้ไขกฎหมายจราจร และลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถยนต์ เพราะขณะนั้นภาษีเก็บในอัตรา 25-30% ทำให้ราศาสูงมากประชาชนเข้าไม่ถึง และยังต้องส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการใช้อุปกรณ์ด้วย

ก่อน 8 ปีถัดมา (ปี 2565) ประเทศไทยจะมีประกาศบังคับใช้กฎหมาย ‘คาร์ซีท’ ตามรอยหลายประเทศทั่วโลกที่มีการบังคับใช้มาก่อน

[ ทั่วโลกบังคับใช้กฎหมายคาร์ซีท ]

ใน ‘สหราชอาณาจักร’ กำหนดให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือมีความสูงน้อยกว่า 135 ซม. ต้องนั่งคาร์ซีท หรือ Booster Seat

ใน ‘ฝรั่งเศส’ ก็กำหนดให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปีและมีความสูงน้อยกว่า 135 ซม. ต้องใช้คาร์ซีทสำหรับเด็ก ที่ได้รับการรับรองจากยูเอ็น R44/R129 และเด็กที่สูงระหว่าง 135-150 ซม. สามารถใช้คาร์ซีท หรือ Booster Seat ได้ หากจำเป็น

ใน ‘เยอรมนี’ กำหนดให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี หรือสูงน้อยกว่า 150 ซม. ต้องใช้คาร์ซีทสำหรับเด็กที่ได้รับการรับรองจาก UN R44/R129 และเด็กต้องใช้คาร์ซีทในแท็กซี่อีกด้วย

ใน ‘สหรัฐอเมริกา’ กำหนดแนวทางแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ อย่างเช่นรัฐวอชิงตัน เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หรือสูงน้อยกว่า 4 ฟุต 9 นิ้ว ต้องนั่งคาร์ซีท หรือ Booster Seat เด็กทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือหนักน้อยกว่า 1 ปอนด์ ต้องนั่งคาร์ซีทแบบหันหน้าไปทางด้านหลังของรถยนต์

ฟากเอเชียเองก็มี ‘ญี่ปุ่น’ ที่กำหนดให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปีต้องนั่งคาร์ซีท โดยแนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หรือหนักน้อยกว่า 9 กก. นั่งคาร์ซีทแบบหันไปทางด้านหลัง เด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี หรือหนักน้อยกว่า 18 กก. นั่งคาร์ซีทแบบหันไปทางด้านหน้า ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หนักไม่เกิน 36 กก. ใช้ booster seat ได้

ส่วน ‘สิงคโปร์’ กำหนดให้ผู้ที่สูงน้อยกว่า 135 ซม. ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัย หรือใช้ booster seat หรือ adjustable seatbelt ผู้ที่สูง 135 ซม. ขึ้นไป ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย หากฝ่าฝืนปรับ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือจำคุก 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

จึงไม่แปลกที่จะถึงวันที่ ‘ไทย’ ตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายนี้ แต่หลังประกาศกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา สู่ประชาชนคนทั่วไปกลับเกิดข้อถกเถียงขึ้น

จริงๆ แล้วปัญหาของการบังคับใช้ ‘คาร์ซีท’ ในไทยคืออะไรกันแน่

[ คาร์ซีทในไทยทำไมราคาต่างกับเทศ ]

ปกติแล้ว ‘คาร์ซีท’ นั้นมีหลายประเภทและหลากราคา ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปกครองเป็นหลัก โดยราคาเริ่มต้นคาร์ซีทมือหนึ่งจากร้านค้า เริ่มต้นตั้งแต่หลักพันบาทไปจนถึงหลักหลายหมื่นบาท ตามวัตถุดิบ คุณภาพ มาตรฐาน และแบรนด์

จากการสำรวจตลาดของ TODAY Bizview พบว่า หากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศก็จะมีราคาแพงกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย เพราะ ‘คาร์ซีท’ จะถูกจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมราว 20% ทำให้เมื่อผู้ประกอบการนำเข้าคาร์ซีทแบรนด์เดียวกันและรุ่นเดียวกันจากต่างประเทศ ราคาคาร์ซีทจะขยับสูงขึ้นกว่า 40-100% เพราะต้องรวมต้นทุนจากภาษีนำเข้า ค่าขนส่ง และค่าดำเนินการอื่นๆ ด้วย

หากเทียบราคาในเว็บไซต์ Amazon US และ UK กับราคาบนเว็บไซต์เซ็นทรัลหรือเว็บไซต์ทางการของแบรนด์ในประเทศไทย จะเห็นว่า ราคาคาร์ซีทส่วนใหญ่สูงขึ้นจริง 

จากแบรนด์ที่สำรวจ 6 แบรนด์พบว่าสูงขึ้นทั้งหมด บางแบรนด์ในต่างประเทศขายในราคาราว 8,500 บาท แต่ในไทยราคากลับพุ่งไปถึง 15,700 บาท หรือบางแบรนด์จากราคาในต่างประเทศราว 6,900 บาท แต่ในไทยราคากลับพุ่งไปถึง 18,900 บาท 

[ เคยมีคนเสนอลด ‘ภาษีนำเข้า’ คาร์ซีท ]

ก่อนหน้านี้เคยมีบริษัทผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าเด็กอย่าง เบบี้ กิ๊ฟ (ไทยแลนด์) บอกกับ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ ว่า บริษัทฯ ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสำหรับเด็ก 

“โดยเฉพาะ ‘คาร์ซีท’ หรือเบาะที่นั่งสำหรับเด็กในรถยนต์ จากเดิมที่อัตราภาษีนำเข้า 20% ส่งผลให้สินค้ามีราคาขายที่สูง ควรจะเหลือประมาณ 0-5% เพื่อให้ราคาจำหน่ายลดต่ำลงกว่านี้ เป็นแรงจูงใจให้พ่อแม่เด็กไทยหันมาใช้มากขึ้นเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก”

ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีการปรับลดภาษีสำหรับ ‘คาร์ซีท’ ตามข้อเสนอ จนมาถึงวันที่ประกาศบังคับใช้กฎหมายคาร์ซีทในไทย

ผู้ปกครองบางส่วนจึงมองว่า ‘คาร์ซีท’ เป็นสินค้าที่มีราคาสูง ยิ่งโดยเฉพาะกับบ้านที่มีลูกหลายคน ทำให้จะซื้อมาใช้ทันที หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่ได้ ก่อนกระแสวิพากษ์วิจารณ์จะเบาบางลงบางส่วนหลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติบอกว่า จะเริ่มบังคับใช้จริงหลัง 5 ก.ย. หรือ 5 ธ.ค. 2565

[ คาร์ซีทในไทยเริ่มขึ้นราคาแล้ว ]

แต่ล่าสุดเริ่มพบปัญหาคาร์ซีทขึ้นราคาหลังประกาศใช้กฎหมายคาร์ซีทในไทย 

เพจ ‘เลี้ยงลูกอย่างมีความสุข by mommy Arpan’ ได้โพสต์ข้อความตัดพ้อผ่านโซเชียลมีเดียถึงราคาคาร์ซีทที่ปรับขึ้นจากราคาราว 6,300 เป็น 8,900 บาท ภายในสองวัน หลังมีการประกาศกฎหมายบังคับใช้คาร์ซีท

พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาซื้อคาร์ซีทใช้เองมาตลอด ตั้งแต่ลูกแรกเกิดจนถึง 8 ปี แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือผู้ปกครองด้วย เพราะราคาสินค้าที่ปรับขึ้นไม่ยุติธรรม 

จึงควรลดภาษีนำเข้า ปรับลดราคาสินค้า หรือมีแคมเปญอื่นๆ อย่างเช่น ซื้อรถแถมคาร์ซีส หรือลงทะเบียนเพื่อรับคาร์ซีทฟรีจากรัฐในช่วงแรกของการบังคับใช้ ไม่ใช่ผลักภาระให้ประชาชน เพราะราคาคาร์ซีทในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นหรือยุโรปถูกกว่ามากจริงๆ 

ทำให้ชาวเน็ตต่างพากันออกมาแสดงความคิดเห็น บ้างก็มองว่าเป็นการฉวยโอกาสของพ่อค้าแม่ขาย บ้างก็เสนอสินค้าคาร์ซีทแบรนด์ไทยหลักที่มีขายในราคาหลักพันต้นๆ บ้างก็เสนอให้ใช้สินค้ามือสองที่มีราคาถูกลง ก่อนกระทรวงพาณิชย์จะประกาศเข้ามาจับตาเป็นสินค้าที่ติดตามดูแล (Watch List) ประจำเดือน พ.ค.2565 

[ ซื้อมือสองไม่ควร ต้องเลือกงานได้มาตรฐาน ]

จริงๆ แล้วคำแนะนำของ ‘คุณแม่ลูกอ่อน’ เว็บไซต์ด้านแม่และเด็ก บอกว่า หลักการเลือกซื้อคาร์ซีทควรเป็นคาร์ซีทที่ผ่านมาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐานยุโรป ECE หรือ มาตรฐานอเมริกา FMVSS / ASTM รวมถึงควรรองรับระบบ Isofix (ระบบติดตั้งคาร์ซีทของรถยนต์) 

และยังแนะนำว่า ไม่ควรซื้อคาร์ซีทมือสอง เพราะไม่รู้ว่าผ่านการใช้งานยังไงมาบ้าง หมดอายุการใช้งานแล้วหรือยัง เพราะคาร์ซีทส่วนใหญ่มักมีวันหมดอายุที่แน่นอนกำหนดไว้ ถ้าเป็นไปได้ควรซื้อคาร์ซีทจากศูนย์ไทย เพื่อให้สามารถเคลมได้และส่งซ่อมได้ 

โดยสามารถเลือกคาร์ซีทตามงบประมาณได้ว่า ต้องการแบบหมุนได้เพื่อความสะดวกหรือไม่ หรือต้องการให้ใช้ได้ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กจนเป็นเด็กโต

[ คาร์ซีทเจตนาดี แต่ยังมีข้อถกเถียง]

มาจนถึงตรงนี้ คงไม่มีพ่อแม่คนไหนบอกว่า ‘คาร์ซีท’ ไม่จำเป็นกับความปลอดภัยของลูก และไม่ใครไม่เห็นด้วยกับกฎหมายบังคับติดคาร์ซีทสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่ออกมาด้วยเจตนาดี ช่วยลดโอกาสเสี่ยงทั้งเจ็บและตายให้กับอนาคตของชาติ

แต่ยังไงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คาร์ซีทเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้หลังจากนี้พ่อแม่ทุกคนก็คงพยายามจัดหาคาร์ซีทมาตามกำลังทรัพย์ เลือกแบบและราคาที่ตัวเองจ่ายไหว บางคนอาจเลือกวิธีผ่อนจ่าย หรือเอาของมาก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง

แต่คำถาม คือ ในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะถดถอย ยังไม่ฟื้นคืนจากโควิด-19 หลายครอบครัวพึ่งกลับมาตั้งไข่หารายได้ได้ ใครจะช่วยพ่อแม่หลายๆ คนจากภาระทางการเงินที่มาอย่างกะทันหันนี้ได้บ้าง 

หากคิดในแง่สวัสดิการและคุณภาพชีวิต พอจะเป็นไปได้ไหมที่รัฐจะช่วยหยิบยื่นให้ในเชิงโครงสร้าง ระหว่างรอให้การใช้คาร์ซีทในไทยปรับเข้าสู่จุดสมดุล ให้ราคาคาร์ซีทในตลาดหยุดเฟ้อ และให้พ่อแม่ที่กำลังจะมีลูกได้เตรียมการไว้ก่อน

พอจะเป็นไปได้ไหมที่รัฐจะขยับเข้ามาดูแลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่าง

1) ในระยะยาว รัฐบาลจะปรับลดภาษีนำเข้าคาร์ซีทได้ไหม 

2) ในระยะสั้น รัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเหลือในช่วงปรับตัวเข้าสู่กฎหมายใหม่ อย่างเช่นกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่เปิดให้ครอบครัวรายได้ไม่สูงสามารถรับคาร์ซีทแจกฟรี ยืมคาร์ซีทจากรัฐบาล หรือสามารถผ่อนซื้อคาร์ซีทในราคาถูกได้

และคำอธิบายของตำรวจบอกว่า อีก 120 วันต่อจากนี้ทางตำรวจจะต้องกำหนดว่า นอกจากใช้ ‘คาร์ซีท’ แล้ว วิธีป้องกันภัยอีกสองวิธีที่กำหนดในตัวบทกฎหมายอย่าง “หรือ ต้องจัดหาที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก หรือ จัดหาวิธีป้องกันสำหรับเด็ก” นั้นครอบคลุมถึงอะไรบ้าง ปลอดภัยและได้มาตรฐานแค่ไหน

นอกจากนั้น ตัวบทกฎหมายคาร์ซีทของไทยยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานของคาร์ซีท ว่าจะต้องผ่านเกณฑ์สากลตัวใดหรือไม่ หรือไทยจะออกเกณฑ์มาตรฐานคาร์ซีทของตัวเองมากำหนดหรือเปล่า 

เพราะถ้าไม่ก็เท่ากับว่า สามารถเลือกใช้คาร์ซีทใดก็ได้ ได้มาตรฐานหรือไม่ก็ได้ (ก่อนหน้านี้เพจ Drama-addict ได้เสนอผลทดลองเบาะนั่งคล้ายคาร์ซีทราคาถูกไม่ได้มาตรฐาน ที่แพร่หลายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งพบว่าไม่สามารถป้องกันอันตรายได้จริง) ซึ่งจะส่งผลต่อการควบคุมบริการรถเชิงพาณิชย์ อย่างเช่นรถแท็กซี่ รถตู้ หรือรถทัวร์ด้วยไหม

และยังต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาด้วยการติดคาร์ซีทเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จำเป็นจะต้องเพิ่มความปลอดภัยในด้านอื่นๆ บนท้องถนนด้วย เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีท้องถนนอันตรายที่สุดในโลกและมีอุบัติเหตุจักรยานยนต์สูงติดอันดับโลกเช่นกัน 

โดยไม่ปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระกะทันหันนี้อย่างโดดเดี่ยว…

ที่มา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า