Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

วันที่ 28 มิ.ย. กลุ่ม CARE นำโดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์, นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ, นพ.สุรพงษ์ สืบวงค์ลี อดีต รมว.คลัง ออกแถลงการณ์ “ชุบชีวิตเศรษฐกิจไทย อัดฉีด SME 2 ล้านล้าน ลดดอก ปลอดต้น 4 ปี” เสนอมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับสภาวะที่ เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกต้องใช้เวลาอีก 3 ปีจึงฟื้นตัวเป็นปกติ ขณะที่เงินเยียวยา 3 เดือนสิ้นสุดแล้ว ส่วนโครงการใช้งบฟื้นฟู 4 แสนล้าน จากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนเป็นไปอย่างเร่งรีบ

กลุ่ม CARE เสนอให้มีการออกสินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ต่อปี และปลอดการชำระเงินต้น 4 ปี โดยขยายขอบเขตให้ SMEs ที่ไม่ใช่ลูกหนี้สถาบันการเงินเข้าถึงสินเชื่อ และช่วยให้ SMEs ล้านรายดำเนินธุรกิจและยังจ้างพนักงานกว่า 10 ล้านคนต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องพักชำระหนี้ประชาชนกว่า 10 ล้านคน และ เปิดโอกาสให้ SMEs มีเวลาเพียงพอวางแผนปรับตัว ปรับต้นทุน เพิ่มการลงทุน หรือปรับเปลี่ยนธุรกิจ

แถลงการณ์ฉบับเต็ม มีดังนี้

ตุลามหาวิกฤตเศรษฐกิจ
ประเทศไทยปราศจากผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 ในประเทศมา 34 วันแล้ว แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจยังคงเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน เพราะธุรกิจต่างๆ ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ปกติเหมือนเดิม ต้องเผชิญกับภาวะที่ยอดขายลดลงอย่างมาก หรือยังไม่มีรายได้เลย ในขณะที่ต้นทุนการดำเนินกิจการเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และมาตรการป้องกันอื่นๆ ที่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาใหม่

มาตรการเยียวยาของภาครัฐ มีข้อจำกัดทั้งในเชิงของความทั่วถึง และระยะเวลาที่สั้นอย่างมาก เช่น การเยียวยาผู้ว่างงาน 15 ล้านคน และเกษตรกร 10 ล้านคน ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อเดือนเพียง 3 เดือน ในขณะที่ประเมินกันว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกให้กลับมาสู่สภาวะปกตินั้น ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี

และที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ ผู้ได้รับผลกระทบมีจำนวนมาก เห็นได้จากลูกหนี้สถาบันการเงินที่ขอความช่วยเหลือจากมาตรการผ่อนปรนการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นซึ่งมีมากถึง 16.3 ล้านราย โดยมีมูลหนี้สูงถึง 6.84 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของสินเชื่อทั้งหมดในระบบ ในส่วนนี้มีธุรกิจที่ขอผ่อนปรนหนี้มากถึง 1.148 ล้านรายโดยมีมูลหนี้ทั้งสิ้นประมาณ 2.98 ล้านล้านบาทและมีหนี้บุคคลอีก 15.22 ล้านคน มูลหนี้ 3.87 ล้านล้านบาท

หนี้ 6.84 ล้านล้านบาทดังกล่าว ได้รับการผ่อนปรนเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน เริ่มต้นจากเดือนเมษายน 2563 และแม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 (ประมาณ 15.2 ล้านคน) โดยให้สถาบันการเงินมีมาตรการผ่อนปรนต่อไปถึง 31 ธันวาคม 2563 แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพราะ SME กว่า 1 ล้านรายที่เป็นผู้จ้างงานและผลิตสินค้าและบริการ ก็ยังอยู่ในภาวะที่คับขันมากขึ้นทุกวัน

แคร์เห็นว่า ประชาชนกว่าสิบล้านคนและธุรกิจกว่าล้านรายคาดหวังว่า เขาจะสามารถกลับมาทำงานได้เหมือนเดิมภายในเร็ววัน และธุรกิจนับล้านรายเหล่านั้นหวังว่า จะสามารถสร้างยอดขายได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโรค COVID-19 โดยเร็ว เพราะ “สายป่าน” ที่สะสมเอาไว้ได้ใช้ไปจนหมดแล้ว แต่อนาคตกลับยังดูมืดมนอย่างยิ่ง เพราะการเปิดเศรษฐกิจกระทำอย่างกระท่อนกระแท่น ประชาชนไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตตามปกติ แม้แต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ซึ่งหมายถึงประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน การรบหรือการสงคราม) ก็ยังคงอยู่

และที่สำคัญคือการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ก็ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเริ่มต้นเมื่อใด หากมองในทิศทางบวกมากที่สุดตามที่รัฐบาลเคยแถลงไว้ว่า รัฐบาลจะอนุญาตให้นักธุรกิจจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 1,000 คนต่อวัน ซึ่งหากเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ก็หมายความว่า

ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยไม่ถึง 100,000 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับภาวะปกติที่ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยถึง 10 ล้านคน เราจะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 170,000 ล้านบาทต่อเดือน

ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว จึงมีการคาดการณ์โดยภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องว่า คนไทยอาจตกงานได้มากถึง 5 ถึง 7 ล้านคน นอกจากนั้นนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาจะว่างงานอีก 400,000 คน มีข่าวต่อเนื่องว่า บางธุรกิจปิดโรงงานและย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย และบางธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์จะปลดคนงานเพราะยอดขายรถยนต์ตกต่ำ อีกทั้งต้องปรับตัวกับแนวโน้มใหม่ของอุตสาหกรรมที่หันมาผลิตรถไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้เร่งทดแทนแรงงานคนโดยการใช้หุ่นยนต์ ซึ่งทำให้พนักงานโดยเฉพาะวัยกลางคนเสี่ยงตกงานอีกนับหมื่นคน

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นั้นมีคนไทยตกงานประมาณ 1.4 ล้านคน ดังนั้นมหาวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้จึงมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่า 4 เท่าตัว ในปี 2540 เราเห็นการล่มสลายของสถาบันการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ความรุนแรงอยู่ในวงจำกัดและกระทบคนรวยเป็นส่วนสำคัญ จึงมีวลี “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” แต่ครั้งนี้ชนชั้นกลางและคนยากจนหลายสิบล้านคนตลอดจนธุรกิจ SME เป็นล้านราย มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องล้มละลายเพราะจ่ายหนี้สินคืนธนาคารไม่ได้

ความเดือดร้อนของประชาชนและธุรกิจจะปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวางตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้
มาตรการของรัฐไม่เพียงพอและขาดเอกภาพ
1. มาตรการเยียวยาประชาชน 25 ล้านคน โดยจ่ายเงินชดเชยเดือนละ 5,000 บาทใกล้สิ้นสุดลงแล้ว โดยคนไทยกลุ่มนี้ยังไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่า อนาคตของตนจะเป็นอย่างไร
2. มาตรการสินเชื่อผ่อนปรนช่วยเหลือ SME ที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ผ่านการกู้เพียง 82,701 ล้านบาทหรือเพียง 16.5 เปอร์เซ็นต์ของวงเงิน โดยมี SME ที่ได้รับการช่วยเหลือเพียง 51,991 รายจากจำนวน SME ซึ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่มีปัญหากว่า 1.1 ล้านราย นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจ หรือ SME ซึ่งไม่ได้เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่สามารถขอรับความช่วยเหลืออีกจำนวนมาก
3. โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทของรัฐบาล กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ โดยมีการเสนอโครงการมากถึง 46,411 โครงการมูลค่า 1.448 ล้านล้านบาท แต่โครงการที่เสนอเข้ามานั้นไม่มีความชัดเจนว่า จะสามารถนำพาประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศไปในทิศทางที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพราะเป็นโครงการที่ไม่มียุทธศาสตร์และขาดเอกภาพทางความคิด เนื่องจากเป็นการนำเสนอโครงการจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐด้วยความเร่งรีบ ดังนั้นจึงกล่าวกันว่า จะเป็นมาตรการที่ไร้พลัง ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”

รัฐมีหน้าที่ช่วยให้ประชาชนและธุรกิจก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจหลัง COVID-19
แคร์ยืนยันแน่วแน่ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องช่วยให้ประชาชนและธุรกิจสามารถก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจหลัง COVID-19 ไปให้ได้ โดยไม่ทอดทิ้งใคร เปรียบเสมือนกับการสร้างสะพานเพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถก้าวข้ามทั้งเหวสุขภาพที่เพิ่งผ่านพ้นมา และเหวเศรษฐกิจที่อันตรายกว่ามาก

แนวทางหลักคือ การสนับสนุนจากภาครัฐที่ต้องให้เวลาอย่างเพียงพอกับประชาชนและธุรกิจประมาณ 4 ปี เพื่อฟื้นฟูและปรับตัวเพื่อเข้าสู่ภาวะ New Normal หลังจากวิกฤต COVID-19 ผ่านพ้นไปแล้ว และพลิกสถานการณ์จากปัจจุบันที่ประชาชนกำลังไร้ความหวังและเศรษฐกิจไทยกำลังรอวันตาย

ข้อเสนอของแคร์
แคร์ ขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุน “สินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 2 ล้านล้านบาท คิดดอกเบี้ย 2 % ต่อปี ปลอดการชำระเงินต้นเป็นเวลา 4 ปี” (โดยธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี) และรัฐบาลรับความเสี่ยงของความเสียหายจากการปล่อยกู้ดังกล่าวเกือบทั้งหมด (ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อ 500,000 ล้านบาทในปัจจุบันที่เมื่อประเมินในรายละเอียดแล้ว รัฐบาลจะรับใช้ความเสียหายให้เพียงประมาณ 30%) โดยขยายขอบเขตให้ SME ที่ไม่ใช่ลูกหนี้สถาบันการเงินได้รับการสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าวด้วย

หากมีความเสียหายจากการปล่อยกู้ รัฐบาลสามารถออกเป็นพันธบัตรให้ธนาคารแห่งประเทศไทยซื้อที่ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลาใช้คืน 100 ปี เพื่อชดใช้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากหนี้เสียให้กับสถาบันการเงินในอนาคต
มาตรการ “อัดฉีด SME 2 ล้านล้าน ลดดอก ปลอดต้น 4 ปี” จะช่วยให้ SME นับล้านรายสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจและยังจ้างพนักงานกว่า 10 ล้านคนต่อไปได้ ช่วยให้ประชาชนกว่า 10 ล้านคนไม่ต้องพักชำระหนี้ และเปิดโอกาสให้ SME มีเวลาเพียงพอที่จะวางแผนปรับตัว ปรับต้นทุน เพิ่มการลงทุน หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนธุรกิจไปทำธุรกิจประเภทอื่นๆ ก็ได้

วิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นวิกฤตทั่วโลก ทำให้กำลังซื้อทั้งในประเทศและจากต่างประเทศถดถอยลงอย่างมาก (ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการมากถึง 68% ของ จีดีพี) ดังนั้น เมื่อเทียบกับภาวะปกติที่มี NPL ประมาณ 3-4% จึงมีความเป็นไปได้ว่า NPL จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

แต่การให้เวลาที่เพียงพอกับธุรกิจในการปรับตัวและหลีกเลี่ยงการปลดพนักงาน และการรอให้สถานการณ์ทั่วโลกคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี เช่น การค้นพบวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ย่อมจะช่วยลดความเสียหายดังกล่าว ต่างจากการดำเนินนโยบายแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” ในปัจจุบัน ซึ่งจะไม่สามารถยับยั้งความเสียหายทางเศรษฐกิจที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันได้เลย

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า