SHARE

คัดลอกแล้ว

ถ้าวันนี้มีคนเดินมาบอกว่า ‘อย่าถือเงินสดนะ’ หรือ ‘ต้องลงทุนนะ’ เราคงคิดในใจว่า บ้าหรือเปล่า ในภาวะที่เศรษฐกิจก็ยังฟื้นตัวเต็มที่ แถมยังมีสงครามเข้ามาซ้ำเติม ไหนจะภาวะเงินเฟ้อตามหน้าข่าว ทำไมเราจะต้องเอาเงินไปเสี่ยงลงทุนด้วย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยิ่งในภาวะเงินเฟ้อนี่แหละ ยิ่งต้องลงทุน

แต่ขอดอกจันตัวโตๆ ว่า การลงทุนไม่ว่าจะในสินทรัพย์อะไรก็ตามล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น ดังนั้น เงินที่จะนำมาลงทุน ควรเป็นเงินเย็นที่เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หรือสามารถรับผลขาดทุนได้ในระยะเวลาหนึ่งเพื่อหวังผลตอบแทนในระยะยาว

กลับมาที่หัวข้อว่า ทำไมเงินสดถึงเป็นขยะ ทำไมต้องลงทุน ก็เพราะภาวะที่เราเรียกกันว่า ‘เงินเฟ้อ’ ทำให้มูลค่าเงินในกระเป๋าของเราลดลง ยกตัวอย่างเช่น เราเคยซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ชามละ 40 บาท แต่ในภาวะเงินเฟ้อ ก๋วยเตี๋ยวถ้วยเดิมกลับราคาเพิ่มขึ้นมาเป็น 60 บาท เป็นต้น

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเหรียญ แบงก์ หรืออยู่ในรูปแบบไหนก็ตามแต่ ดันเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้คนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ก็แค่ช่วงต้นเท่านั้น เมื่อฝั่งผู้ขายไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทัน ก็ใช้วิธีการขึ้นราคาสินค้าเพื่อแก้ปัญหา ทำให้เงินที่เราถืออยู่จำนวนเท่าเดิมมีมูลค่าที่แท้จริงลดลง เพราะของมันดันแพงขึ้น

ฝากเงินกับธนาคารดีไหม

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดในใจว่า ไม่เห็นจะยากเลย เราฝากเงินกับธนาคารก็ได้ ฝากออมทรัพย์ก็ได้ดอกเบี้ย ยิ่งฝากประจำดอกเบี้ยก็ยิ่งสูง แถมฝากเงินกับแบงก์ไว้เฉยๆ แทบจะไม่มีความเสี่ยงด้วยซ้ำ

แต่เรื่องมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ ‘ตัวเลขเงินเฟ้อ’ ประจำเดือน พ.ค. 2565 ผลปรากฏว่า เงินเฟ้อของไทยพุ่งสูงถึง 7.1%

แต่ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดาของธนาคารพาณิชย์ประจำวันที่ 17 มิ.ย. พบว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ที่ 0.23% เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 0.49% 6 เดือน 0.56% 12 เดือน 0.59% และ 24 เดือน 0.68%

อธิบายให้เข้าใจโดยง่าย คือ เรามีเงิน 100 บาท ในช่วงที่เงินเฟ้อ 7% หรือเทียบบัญญัติไตรยางค์คือ 7 บาท ทำให้เงินในกระเป๋าเรามีมูลค่าที่แท้จริงลดลงเหลือเพียง 93 บาทเท่านั้น

แต่เรารู้ว่า เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เงินที่มีอยู่ได้ด้วยการเอาเงินไปลงทุน แต่เรากลับเลือกลงทุนในเงินฝากของธนาคาร

ซึ่งในกรณีที่ดีที่สุด เช่น ธนาคาร A ให้ดอกเบี้ยสูงสุดในตลาด 2% เทียบบัญญัติไตรยางค์เร็วๆ คือ 2 บาท ทำให้เงิน 93 บาทที่เราโดนกระทบจากเงินเฟ้อ ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 95 บาท

จะเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วเงิน 100 บาทของเราก็ยังหายไป 5 บาทอยู่ดีในภาวะที่เงินเฟ้อของประเทศเราสูงถึง 7% แต่เงินฝากแบงก์ อย่างเก่งก็ได้กลับมาแค่ 2% เท่านั้น

ทำไม ‘หุ้น’ ถึงน่าสนใจที่สุด

‘Cash is still trash, and equities are trashier’ หรือแปลได้ว่า ‘เงินสดก็ยังคงเป็นขยะ แต่หุ้นเป็นขยะซะยิ่งกว่า’ โดยเป็นคำกล่าวของ ‘เรย์ ดาลิโอ’ ผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม TODAY Bizview มีโอกาสพบกับ ‘นาวิน อินทรสมบัติ’ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ที่ยังเห็นโอกาสในตลาดหุ้น

โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียที่คาดว่าปีนี้จะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นภูมิภาคอื่นๆ เพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสเติบโตตามราคาพลังงานโลก โดยให้น้ำหนักการลงทุน

  • ตลาดหุ้นเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) / ตลาดหุ้นจีน – ค่อนข้างบวกในระยะยาว (Long-term Slightly Positive)
  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่น – ค่อนข้างบวก (Slightly Positive)
  • ตลาดหุ้นไทย – ค่อนข้างบวก (Slightly Positive)
  • ตลาดหุ้นสหรัฐ – เป็นกลาง (Neutral)
  • ตลาดหุ้นอินเดีย – เป็นกลาง (Neutral)
  • ตลาดหุ้นยุโรป – ค่อนข้างลบ (Slightly Negative)

สอดคล้องกับคาดการณ์กำไรตลาดหุ้นทั่วโลกปี 2565 จะเติบโต 6.2% แต่ตลาดหุ้นเอเชียเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นอินเดีย 27.7% ตลาดหุ้นจีน 14.8% ตลาดหุ้นญี่ปุ่นและตลาดหุ้นไทย 12.9%

ลงทุนหลายอย่าง กระจายความเสี่ยง

แต่ถึงอย่างนั้น นักลงทุนก็ควรกระจายการลงทุนไปสินทรัพย์อื่นๆ ด้วย โดยให้น้ำหนักการลงทุนจากมากไปน้อย คือ

  • หุ้น – ค่อนข้างบวก (Slightly Positive)
  • น้ำมัน – เป็นกลาง (Neutral)
  • ทองคำ – เป็นกลาง (Neutral)
  • สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ (Fixed Income) – ค่อนข้างลบ (Slightly Negative)
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) – ค่อนข้างลบ (Slightly Negative)
  • เงินสด – เป็นลบ (Negative)

สาเหตุที่เงินสดเป็นสินทรัพย์ที่นักวิเคราะห์ให้มุมมองเชิงลบมากที่สุด ก็เพราะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การถือครองเงินสดมีมูลค่าที่แท้จริงลดลง

‘ถือเงินสดไม่ดี เพราะเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง 3-4% ส่วนหุ้นเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับความเสี่ยง แต่สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ตราสารหนี้ยังเป็นทางเลือกลงทุนที่น่าสนใจ แต่แนะนำตราสารที่ Duration ค่อนข้างยาว’

ขาลงของ ‘บิตคอยน์’ ยังไม่จบ

ส่วนใครที่คิดว่าจะนำเงินไปลงทุนในบิตคอยน์ (BTC) คริปโตเคอร์เรนซีอันดับหนึ่งตลอดกาลนั้น ‘ปรมินทร์ อินโสม’ ผู้ก่อตั้ง Satang ผู้นำธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชน ให้ความเห็นว่า ขาลงของบิตคอยน์ยังไม่จบ เพราะการดำเนินนโยบายด้านดอกเบี้ยอย่างรุนแรง (Hawkish) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังไปช่วยหนุนตลาดขาลงอยู่

ถามว่าตลาดตอนนี้น่าลงทุนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นนักเทรดประเภทไหน ถ้าเป็นสายทำกำไรก็อาจทำได้แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการลงแบบซิกแซ็กขึ้นๆ ลงๆ

ถ้าเป็นกลุ่มลงทุนระยะกลาง 1-3 เดือน การลงทุนในเหรียญที่มูลค่าค่อนข้างคงที่ (Stablecoin) มีสินทรัพย์หนุนหลัง ก็ยังพอให้ผลตอบแทนได้ในช่วงมราเงินดอลลาร์แข็งค่าแบบนี้

หากเป็นกลุ่มลงทุนระยะยาว หรือ DCA ก็สามารถที่จะซื้อเก็บได้ทุกๆ 2 – 3 เดือน ไม่ถึงกับต้องนั่งเฝ้าซื้อเก็บทุกสัปดาห์

ส่วน ‘ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล’ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า การที่บิตคอยน์ร่วงลงต่ำกว่า 30,000 เหรียญ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อนในปี 2561

นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับทุกคน เรากำลังเผชิญหน้ากับช่วงตลาดหมี ซึ่งไม่เพียงเกิดขึ้นกับเหรียญของเราเท่านั้น แต่สถานการณ์ยังขยายวงกว้างไปในตลาดคริปโตฯ และอุตสาหกรรมเทคฯ ต่างๆ

แต่ในช่วงเวลานี้ก็ยังเปิดโอกาสให้พวกเราใช้เวลาจังหวะนี้ในการสร้างอนาคตที่สดใสกว่าเดิม

ส่วนคนนอกวงการคริปโตฯ เช่น นักลงทุนชื่อดังอย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ มองว่า บิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีไม่ได้มีค่าอะไร และถึงเอาบิตคอยน์จากทั่วโลกมากองตรงหน้าและเสนอขายเขาในราคาที่ถูกแสนุ฿ก เขาก็ไม่คิดจะซื้ออยู่ดี 

เช่นเดียวกับ ‘บิล เกตส์’ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ บอกว่า คริปโตเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ที่ว่าด้วย ‘ทฤษฎีคนโง่กว่าแบบ 100%’ เพราะการที่สินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงโอเวอร์อยู่แล้ว จะมีมูลค่าสูงขึ้นอีกต่อเมื่อมีนักลงทุน (ที่โง่กว่า) ยินดีจะจ่ายเพิ่มเท่านั้น

ย้อนรอยภาวะเงินเฟ้อรอบล่าสุด

กลับมาที่ภาวะเงินเฟ้อรอบนี้ ต้องเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ที่หลายประเทศต้องใช้มาตรการตั้งแต่ปิดสถานที่ต่างๆ ปิดเมือง ไปจนถึงการปิดประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบก็มาตกกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้น

หลายคนตกงาน หลายบริษัทต้องปิดตัวลง ยิ่งอุตสาหกรรมที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว หรือธุรกิจที่มีขนาดเล็ก เช่น SMEs เหล่านี้ ก็ถูกผลกระทบให้ล้มไปได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ

ที่รัฐบาลแต่ละประเทศทำได้ คือ การใช้มาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการให้เงินอุดหนุน เพื่อให้ประชาชนในประเทศของตนยังใช้ชีวิตต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤต

โดยเฉพาะสหรัฐที่อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์เงิน หรือการซื้อตราสารต่างๆ เพื่อพยุงเสถียรภาพของตลาด ซึ่งก็คือมาตรการ QE (Quantitative Easing) นั่นเอง

เฉพาะปีโควิด-19 (2563) สหรัฐฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างหนัก ทำให้งบดุล (Balance Sheet) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) พุ่งทะลุ 260 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว หากเทียบให้เห็นภาพคือสูงกว่าจีดีพีของประเทศไทยในปีเดียวกันกว่า 16 เท่า

ไม่เพียงเท่านั้น ในปีถัดมา (2564) สหรัฐยังตัดสินใจฉีดสภาพคล่องเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ขนาดงบดุล Fed พุ่งทะลุ 300 ล้านล้านบาท และในปี 2565 มูลค่างบดุลของธนาคารกลางสหรัฐก็ยังทรงตัวสูงเหนือระดับ 310 ล้านล้านบาทต่อเนื่อง

เงินล้นระบบ-ผลิตไม่ทัน-ต้องขึ้นราคา

แม้ว่า Fed จะเริ่มแผนลดขนาดงบดุล หรือมาตรการ QT (Quantitative Tightening) ภายหลังเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทางหลังวิกฤตโควิด-19 โดยส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปี 2564

แต่ปริมาณเงินที่ล้นระบบ และความต้องการบริโภคที่กลับมาหลังหลายประเทศเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตตามปกตินั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาอุปทาน หรือความต้องการขาย ไม่เพียงพอกับอุปสงค์ หรือความต้องการซื้อ

เพราะยังมีหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

โดยสัญญาณแรกที่เกิดขึ้น คือ ปัญหา Supply Chain Disruption หรือปัญหาขาดแคลนสินค้า ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยจากเหตุการณ์เรือขนส่งสินค้า Evergreen ขวางคลองสุเอซในช่วงต้นปีก่อน

และในปี 2565 ปัญหาเงินเฟ้อที่หลายสำนักคาดการณ์ก็ปรากฏชัดเจนขึ้น และชัดเจนขึ้นเมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ดันให้ราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนของแทบทุกธุรกิจ ทะยานขึ้นทะลุ 100 เหรียญ ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ ราคาของแพงอย่างหนัก

แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อครั้งนี้จะคาดการณ์จุดจบได้ยาก ทั้งจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และตลาดน้ำมันที่ซ้ำเติมต้นทุนธุรกิจทั่วโลก แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ‘อย่าหยุดลงทุน’ แต่อย่าลืมว่าต้องเป็นการลงทุนที่ไม่เดือดร้อนตัวเอง

ที่มา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า