Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ถึงแม้ราคาจะลงอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ แต่ความร้อนแรงของ ‘คริปโทเคอร์เรนซี’ กลับพุ่งถึงขีดสุดและได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางกว่ายุคไหน ทำให้ CBDC – Central Bank Digital Currency หรือ ‘คริปโท’ ที่ออกโดย ‘ธนาคารกลาง’ กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง 

แต่จริงๆ แล้ว CBDC คืออะไร ทำไมธนาคารกลางจะต้องออกเงินดิจิทัลของตัวเอง และมันแตกต่างจาก ‘คริปโทเคอร์เรนซี’ แค่ไหน TODAYBizview สรุปมาแล้วค่ะ

บิตคอยน์ คือ จุดเริ่มต้น

หลังจากสกุลเงินดิจิทัลแรกของโลกอย่าง ‘บิตคอยน์’ ปรากฏขึ้นบนโลกในปี 2009 พร้อมๆ กับเทคโนโลยีต้นกำเนิดอย่าง ‘บล็อกเชน’ ก็ทำให้ ‘โลกของการทำธุรกรรมทางการเงิน’ เปลี่ยนแปลงไปแบบไม่มีวันหวนกลับ

ด้วยคุณสมบัติพิเศษด้านความโปร่งใสปลอดภัย ทำให้ความนิยมใน ‘บิตคอยน์’ เติบโตขึ้นตามลำดับ และหลังเริ่มได้รับการยอมรับในวงกว้างก็ทำให้มูลค่าของบิตคอยน์ยิ่งพุ่งสูง 

จนในช่วงเวลาที่ ‘บิตคอยน์’ มีราคาพุ่งสูงสุดแตะ 2 ล้านบาทต่อเหรียญ มูลค่าของบิตคอยน์ในตลาดก็มีมูลค่าสูงกว่าบริษัทด้านการเงินยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง MasterCard, Visa รวมถึง Bank of America ไปแล้ว

หลังกำเนิดบิตคอยน์มี ‘สกุลเงินดิจิทัล’ เกิดขึ้นตามมามากกว่า 10,000 สกุลเงิน และบริษัทชั้นนำระดับโลกก็เริ่มให้การยอมรับ ‘คริปโทฯ’ มากขึ้น 

ทั้งในแง่ของการเปิดให้ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างที่ ‘เทสลา’ เคยทำก่อนลอยแพบิตคอยน์ และในแง่ของการลงมือพัฒนา ‘คริปโท’ ของตัวเอง อย่าง Facebook ที่เปิดตัวพัฒนา Libra สกุลเงินดิจิทัลของบริษัทในปี 2019 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Diem ในเวลาต่อมา

ถึงแม้ ‘คริปโท’ จะยังไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมายให้ใช้แทนเงินตราและไม่มีหลักประกันการล่มสลาย ทำให้ไม่สามารถใช้แทน ‘เงินสด’ ได้ แต่มูลค่าที่เพิ่มขึ้นของคริปโทก็กดทับลงมาและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ ‘ธนาคารกลาง’ เริ่มขยับตัว

เพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงิน

หลังการพุ่งสูงของบิตคอยน์ ‘ธนาคารกลาง’ หรือธนาคารที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบการเงินในแต่ละประเทศ เริ่มเล็งเห็นโอกาสที่ ‘คริปโท’ จะมีอิทธิพลเหนือระบบการเงิน จนส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบในภาพรวม และอาจสั่นคลอนระบบการเงินทั่วโลก

อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ‘ระบบการชำระเงิน’ (Online Paymemt) จากภาคเอกชนในลักษณะเดียวกับ Alipay หรือ WeChatPay ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ 

ทำให้ในประเทศที่นิยมใช้ระบบชำระเงินแทนเงินสด เริ่มประสบปัญหา ‘การผูกขาด’ จนกลายเป็น ‘ความเสี่ยง’ ที่เกิดจากการพึ่งพิงเอกชนมากเกินไป

สุดท้าย ‘ธนาคารกลาง’ จึงตัดสินใจว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ในเมื่อต่อต้านไม่ได้ เข้าร่วมไปเลยอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ธนาคารกลางในหลายประเทศจึงเริ่มคิดจะมี ‘สกุลเงินดิจิทัล’ เป็นของตัวเอง

ปัจจุบัน ณ กลางเดือน พ.ค. 2564 มีธนาคารกลางกว่า 80% ทั่วโลกที่กำลังศึกษาโอกาสในการพัฒนา ‘สกุลเงินดิจิทัล’ หรือ Digital Currency เป็นของตัวเอง 

โดยเรียกชื่อเต็มๆ ว่า Central Bank Digital Currency หรือ CBDC

ความแตกต่างของ CBDC กับ Cryptocurrency ?

หากอธิบายอย่างง่ายๆ CBDC ก็คือ ‘เงินสด’ ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปจากธนบัตรหรือเหรียญที่จับต้องได้ เข้าไปอยู่ในระบบดิจิทัลแทน แทบไม่แตกต่างอะไรกับเวลาที่เราใช้แอปพลิเคชันตัวกล่างอย่างแอปฯ ธนาคาร หรือแอป ‘เป๋าตัง’ ในการใช้จ่าย 

เพียงแต่เปลี่ยนจาก ‘บัญชีธนาคาร’ มาเป็น ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ ตามที่ธนาคารกลางกำหนด

โดยระบบและคุณค่าของ CBDC จะมี ‘ธนาคารกลาง’ หรือถ้าในประเทศไทยก็คือ ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ เป็นผู้รับรองคุณค่าและควบคุมระบบ

และมีระบบความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ในระดับเดียวกันหรือมากกว่า ‘คริปโทฯ’ เพราะใช้เทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ เช่นเดียวกันเป็นตัวกลาง

ดังนั้น ความแตกต่างระหว่าง CBDC จึงอยู่ที่ ‘คริปโทฯ’ เป็นระบบการเงินแบบ ‘ไร้ตัวกลาง’ ไม่มีผู้ควบคุมระบบ คุณค่าเกิดจากปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน คือยิ่งมีคนต้องการมาก ราคายิ่งขึ้น เมื่อมีคนต้องการน้อย ราคาก็ลด 

ไม่มีการรับรองมูลค่าให้คงที่เหมือนกับที่ ‘ธนาคารกลาง’ ทำให้กับ CBDC นั่นเอง

เปลี่ยนระบบการเงินให้ง่าย ไว ไร้ค่าธรรมเนียม

อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นว่า ‘CBDC’ ได้รับคุณสมบัติด้านเด่นแบบเดียวกับคริปโทฯ มาจากเทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) เทคโนโลยีที่ใช้ ‘บล็อก’ ในการเก็บข้อมูลเป็นส่วนๆ และนำมาร้อยต่อกันเรื่อยๆ เหมือนโซ่คล้องไว้ (Chain) พร้อมกับการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์

ทำให้ข้อมูลจะถูกบันทึกลงในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่ายในเวลาเดียวกัน โอนเงินหนึ่งครั้งทุกคนในเครือข่ายก็จะรับรู้พร้อมกัน ทั้งโปร่งใสและยากต่อการปลอมแปลง 

ที่สำคัญด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวยังทำให้ ‘ค่าธรรมเนียม’ ในการทำธุรกรรมถูกมาก รวมถึงยังสามารถทำได้รวดเร็ว ไม่มีความล่าช้าหรือดีเลย์ เมื่อมีการทำธุรกรรมจากพื้นที่ที่ห่างไกลกัน

CBDC จึงจะมีส่วนอย่างมากในการช่วยลดต้นทุนทั้งเงินและเวลาลง

นอกจากนั้น หากพูดถึงช่วงเวลาที่น่ากลัวอย่าง ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ ที่ทำให้ธนาคารล้มและพาเอาเงินของเราจากไปด้วย สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับ ‘CBDC’ เพราะเงินดิจิทัลจะถูกเก็บอยู่ภายในกระเป๋าเงินออนไลน์ของเรา โดยเชื่อมต่อกับระบบของธนาคารกลาง ไม่ต้องเก็บผ่านบัญชีธนาคารพาณิชย์

แต่ CBDC ก็ยังคงมีความท้าทายที่ยากจะข้ามผ่าน

เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงระบบการเงิน

จากรายงานของสำนักข่าว CNBC ระบุว่า ปัจจุบันบนโลกมีประชากรกว่า 1.5 พันล้านคน หรือมีคนมากกว่าประชากรทั้งหมดของจีนที่ไม่สามารถเข้าถึง ‘ระบบการเงิน’ ได้ หรือกล่าวอีกแง่คือพวกเขาไม่มีแม้แต่ ‘บัญชีธนาคาร’ 

แล้วถ้าไม่มี ‘เงินสด’ ที่จับต้องได้ ประชากรที่ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์จะใช้วิธีการใด? ในการมี ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ เป็นของตัวเอง 

นั่นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะต้องแก้ไขให้ได้ หากจะนำ CBDC เข้ามาทดแทนเงินสดแบบดั้งเดิม 100%

นอกจากนั้น อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนวิตกคือ ทันทีที่เริ่มใช้ ‘CBDC’ แปลว่า ‘รัฐ’ จะสามารถเข้าถึง ติดตาม ตรวจสอบ และระงับการใช้งานของบัญชีใดก็ได้ในระบบ ส่งผลกระทบต่อ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ของประชาชนทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีหลายฝ่ายมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับ ‘การก่อการร้ายทางไซเบอร์’ ที่อาจล้มระบบทั้งหมดให้ล่มสลายภายในเสี้ยววินาที 

เตรียมล้มแบงก์พาณิชย์?

อีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจก็คือ CBDC จะส่งผลอย่างไรต่อ ‘ธนาคารพาณิชย์’ ในเมื่อไม่มีความจำเป็นจะต้องฝากและถอนเงินสดอีกต่อไป เพราะสามารถใช้จ่ายผ่าน ‘กระเป๋าเงินออนไลน์’ ได้เลย

คำตอบนั้นอยู่ที่ว่า “มีคนมากแค่ไหนที่จะใช้ CBDC และธนาคารกลางต้องการให้ CBDC แทนที่เงินสดแบบดั้งเดิมไปเลย หรือ CBDC จะเข้ามาเป็นแค่ทางเลือกหนึ่ง”

ปิแอร์ ชิโปโลเน รองผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี อธิบายว่า ปัญหาจะเกิดตอนที่เงินฝากในบัญชีธนาคารถูกแปรรูปกลายเป็น CBDC ในปริมาณมากๆ 

เพราะธนาคารพาณิชย์จะไม่สามารถระดมทุนได้และจะเกิดปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อหรืออื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกับระบบการเงินในภาพใหญ่ 

“เพราะผู้คนสามารถย้ายเงินจากบัญชีธนาคารไปสู่ CBDC ได้แค่เพียงคลิกเดียว ชัดเจนว่านี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตราย”

สอดคล้องกับคำอธิบายของ ‘วชิรา อารมย์ดี’ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า หนึ่งในโจทย์ใหญ่ของ ธปท. ในการพัฒนา CBDC คือ ‘ผลกระทบต่อสถาบันการเงิน’ 

เพราะแม้ CBDC จะสามารถลดต้นทุนการจ่ายเงิน ค่าธรรมเนียม ทุนการถือเงินสด หรือสามารถโอนเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน แต่การพัฒนา CBDC จะต้องไม่ไปสร้างอุปสรรคหรือทดแทนการรับฝากเงินหรือการทำธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์

“เราก็เริ่มมาดูว่าหากจะนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้กับรายย่อยเหมือนประเทศอื่น อย่างจีนหรือสวีเดน จะต้องทำอย่างไร ซึ่งก็กลับมาคำถามเดิมว่า คนไทยจะต้องมาถือเงินพวกนี้กันหมดหรือไม่ และหน้าที่ของธนาคารจะเปลี่ยนไปหรือไม่ รวมถึงหน้าที่ ธปท. ในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน หากทำแล้วอุดช่องโหว่ไม่ได้จะทำอย่างไร”

ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังหาคำตอบ ธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกกำลังหาทางออก แต่ระหว่างนั้น 60 ธนาคารกลางก็เดินหน้าศึกษาและมีบางประเทศเริ่มทดลองใช้แล้ว

เริ่มใช้งานจริงแล้วในหลายประเทศ

ในขั้นตอนการพัฒนา แบ่งประเภทการบริการ CBDC เป็น 2 ระดับ ตั้งแต่ระดับระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale) จนมาถึงระดับธุรกิจรายย่อยและประชาชนทั่วไป (Retail) ซึ่งเป็นระดับที่ยากที่สุด

โดย ‘บาฮามาส’ ได้เปิดให้บริการสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลางให้กับ ‘ประชาชนทั่วไป’ ใช้อย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้วเป็นชาติแรกใต้ชื่อ ‘Sand Dollar’ ก่อน ‘กัมพูชา’ จะเปิดให้บริการ ‘Bakong’ เช่นกันในปี 2563 ที่ผ่านมา

ขณะที่มหาอำนาจอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ก็อยู่ระหว่างพัฒนา ‘หยวนดิจิทัล’ ที่ยังอยู่ในระยะทดสอบการใช้งานในหลายมณฑล โดยความคืบหน้าส่วนของ Retail เดินทางมาถึง 23% แล้ว ส่วน Wholesale คืบหน้าไปกว่า 70% และมีข่าวแว่วมาเป็นระลอกว่า หยวนดิจิทัลใกล้จะได้เปิดใช้งานจริงเร็วๆ นี้

การให้บริการ ‘หยวนดิจิทัล’ จะสร้างอิมแพคอย่างมหาศาลต่อโลก เพราะประชากรเกินกว่า 50% ของจีนคุ้นเคยกับระบบชำระเงินออนไลน์ (Online Payment) อยู่แล้ว 

แปลว่าทันทีที่ระบบพร้อมใช้จะมีประชากรโลกมากกว่า 800 ล้านคนใช้หยวนดิจิทัลในชีวิตประจำวัน ตรงตามเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่อยากจะผลักดัน ‘หยวนดิจิทัล’ ให้มีอิทธิพลแบบเดียวหรือใกล้เคียงกันกับ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายประเทศที่เปิดเผยถึงโครงการพัฒนา CBDC ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางสวีเดน ฯลฯ

รวมถึง ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ หรือ ธปท. ที่ถือว่าอยู่ในระดับท็อปของธนาคารกลางที่มีการพัฒนาโครงการ CBDC ในระดับสถาบันทางการเงิน (wholesale) ภายใต้ชื่อ ‘โครงการอินทนนท์’

โดย ธปท. มีแผนที่จะเริ่มพัฒนาตัวนำร่อง (pilot) CBDC สำหรับประชาชนทั่วไป (Retail) ในเดือน ก.ค. นี้ และคาดว่า ในไตรมาส 2/2565 จะเริ่มทดสอบการใช้งาน CBDC นำร่องในวงจำกัดในบางพื้นที่ของประเทศไทย

ส่วนการนำ CBDC มาใช้จริงนั้นอาจจะต้องใช้เวลา 3-5 ปี

พิจารณาจากปัจจัยรอบด้านและเทคโยโลยีที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในตอนนี้ พอจะตอบได้ทันทีว่า CBDC คงมาแน่แล้ว เพียงแต่จะมาเมื่อไร มาอย่างที่เราคาดไว้หรือไม่ และจะเปลี่ยนแปลงระบบการเงินโลกไปแค่ไหนก็คงต้องรอเห็นด้วยตาของเราเอง

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า