SHARE

คัดลอกแล้ว

แรงขับเคลื่อนของกระแสทางการเมืองในโลกออนไลน์ เริ่มส่งผลมาที่โลกของแบรนด์ มีการติดแฮชแท็กสนับสนุนสินค้าที่เป็นผลมาจากการแสดงความเห็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของพรีเซนเตอร์ แต่แรงกระเพื่อมจากทวิตเตอร์นั้นก็ยังยากที่จะส่งผลต่อโลกออฟไลน์

ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เรื่องราวที่ถูกหยิบยกขึ้นมาผูกกับประเด็นการเมือง จนเกิดผลไปทั่วโลกออนไลน์ของไทย คือการที่นาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ตกเป็นข่าวว่าถูกลักพาตัวที่ประเทศกัมพูชา ทำให้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในไทยพยายามใช้พื้นที่ออนไลน์ในการเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ที่มีอำนาจช่วยติดตามคดีนี้ แต่การตอบคำถามสื่อของทั้งตำรวจไทยและกัมพูชาก็ทำให้พวกเขาไม่สบายใจนักเนื่องจากรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ดูไม่มีความกระตือรือร้นที่จะคลี่คลายคดีแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ก็มีคนที่รู้สึกว่าการเรียกร้องให้รัฐต้องใช้กำลังคนหรือทรัพยากร เพื่อให้ความสำคัญเร่งด่วนในการช่วยตามหาบุคคลที่ถูกหมายจับนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการกระทบกระทั่งกันจากความเห็นที่แตกต่างบนโลกออนไลน์ ถ้าจะบอกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เห็นกันจนชินตาก็คงจะไม่ผิดนัก

แต่สิ่งที่ทำให้การเรียกร้องครั้งนี้ถูกยกระดับขึ้นมาอีกขั้น คือความพยายามที่จะกระตุ้นให้เหล่าผู้มีชื่อเสียงออกมาแสดงจุดยืนในประเด็นนี้ ด้วยความเชื่อที่ว่าบุคคลเหล่านี้สามารถเป็นกระบอกเสียงที่ทำให้สังคมเกิดความตื่นตัวมากขึ้นได้

ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก เป็นหนึ่งในผู้มีชื่อเสียงที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา จากการที่เธอมีตำแหน่งเป็นทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR คนแรกของประเทศไทยและคนแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือนม.ค. 2017

ตัวเธอเองก็ได้ทำงานร่วมกับ UNHCR มาตั้งแต่ปี 2014 ทำให้หลายคนตั้งความหวังกับเธอมาก และมองว่ากรณีของวันเฉลิมซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายในขณะที่เป็นผู้ลี้ภัยนั้น เป็นเรื่องที่เธอควรจะออกมาเรียกร้อง

ฉะนั้นเมื่อ ปู ไปรยา ออกมาบอกว่า เธอรณรงค์เพียงเรื่องสันติภาพและเรื่องที่ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เรื่องนี้มีความเป็นการเมืองสูงมาก จึงทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจจากผู้เรียกร้องที่มีความเข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทั้งตัวเธอและ UNHCR 

ส่วนอีกคนที่ชื่อของเธอนั้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ในช่วงคืนวันที่ 8 มิ.ย. ก็คือ มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 ที่การโพสต์ถึงประเด็นนี้ผ่านสตอรี่อินสตาแกรมของเธอได้ถูกบันทึก และมีคนนำไปโพสต์ต่อเป็นจำนวนมาก

โดยมารีญาได้ตั้งคำถามว่าการที่มีนักกิจกรรมชาวไทยหายตัวไปในกัมพูชา ทำไมรัฐบาลทั้งสองประเทศจึงไม่รู้เรื่องอะไรเลย แม้ตัวเธอเองจะไม่ได้รู้สึกเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับวันเฉลิมก็ตาม แต่เธอก็ขอยืนเคียงข้างคนไทยที่ต้องการคำตอบในเรื่องนี้

สถิติของทวิตเตอร์ระบุว่า #มารีญา ถูกทวีตไปแล้วกว่า 181,000 ครั้ง แม้ว่าเธอจะไม่ใช่คนเดียวที่ออกมาพูดเรื่องนี้ แต่ถ้าจะบอกว่าข้อความของเธอได้รับความสนใจเป็นอันดับต้น ๆ จากคนในสังคมออนไลน์ก็คงจะไม่ผิดนัก 

เมื่อเราลองกดไปดูข้อความที่ติดแฮชแท็กดังกล่าว พบว่าหลายข้อความเป็นการสนับสนุนสินค้าที่มารีญารับหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์อยู่ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า สรุปแล้วการถูกพูดถึงหลังการแสดงจุดยืนในประเด็นที่อ่อนไหว เป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีกันแน่

ในต่างประเทศเองก็มีกรณีที่ดาราโดนผู้คนในโซเชียลมีเดียประณามในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน

กัล กาด็อท นักแสดงที่รับบทเป็นวันเดอร์วูแมน (Wonder Woman) ได้โพสต์วิดีโอที่เธอและเหล่าดาราดังฮอลลีวูดออกมาร้องเพลง Imagine โดยเนื้อหาบางส่วนของเพลงทำให้คนฟังรู้สึกว่าเป็นการแสดงความเพิกเฉยต่อสิ่งที่สังคมกำลังเผชิญอยู่

“Imagine no possessions, I wonder if you can” ที่แปลได้ว่า ลองจินตนาการว่าไม่มีการครอบครองดูสิ สงสัยว่าคุณจะทำได้ไหม

แม้ด้วยเนื้อหาทั้งหมดของเพลงนี้จะเป็นการเรียกร้องสันติภาพ แต่ในภาวะที่คนทั่วโลกต้องระมัดระวังทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ การที่เหล่าคนดังที่มีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก พากันร้องเพลงนี้จึงทำให้หลายคนไม่สบอารมณ์เท่าใดนัก

แน่นอนว่าคลิปต้นทางถูกลบออกไปแล้วหลังจากเกิดดราม่าขึ้น แต่กฎอย่างหนึ่งของอินเตอร์เน็ตคือ สิ่งที่ถูกโพสต์แล้วจะคงอยู่ตลอดไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ทาง ET Canada ได้นำคลิปดังกล่าวมาออกอากาศและอัพโหลดขึ้นบนช่อง YouTube และก็โดนกด dislike เป็นจำนวนกว่า 6,700 ครั้ง ขณะที่มีคนกด like ประมาณ 1,500 ครั้งเท่านั้น

ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงผู้คนเกือบทั่วทุกมุมโลก ทำให้กระแสที่มีต่อตัวบุคคลทั้งเรื่องดีและไม่ดีถูกแสดงออกมาได้ชัดมาก จึงทำให้เกิดคำถามว่า กระแสเหล่านี้จริง ๆ แล้วมีผลต่อการพิจารณาเลือกคนดังไปเป็นตัวแทนของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ หรือไม่?

workpoint Today ได้ติดต่อไปยังผู้บริหารของเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งเพื่อขอความเห็นว่า เวลามีกระแสแบบนี้ออกมา จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของบริษัทในการเลือกใช้พรีเซนเตอร์หรือไม่

“ในฐานะเอเจนซี่เองคิดว่ากระแสพวกนี้มันมาไวไปไวมันไม่ได้เป็นนิสัยของบุคคลนั้น ๆ เพราะฉะนั้นเราไม่คิดว่าจะมีผลต่อการนำเสนอกับลูกค้า”

“กรณีของ ปู ไปรยา กับ มารีญา คงยังไม่เลือกทั้งคู่ในช่วงที่มีกระแสดราม่านี้อยู่ แต่ถ้ากระแสหมดแล้วก็จะนำเสนอปกติ เพราะเค้าไม่ใช่คนไม่ดี” คือคำตอบที่เราได้รับจากทางเอเจนซี่โฆษณา

กระแสการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อผู้มีชื่อเสียงในระยะสั้น เนื่องจากงานหลายงานถือเป็นงานที่ต้องการสื่อสารกับผู้คนเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ ซึ่งพอมีเรื่องที่เป็นดราม่าเข้ามา ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าประเด็นเหล่านั้นมีสิทธิ์ที่จะส่งผลต่ออารมณ์ของผู้คน

แต่สำหรับในระยะยาว แน่นอนว่าผู้ที่จะจ้างงานที่ไร้อคติย่อมมองอะไรมากกว่านั้น กระแสในตอนนี้อาจจะดูรุนแรงเนื่องจากเป็นช่วงมรสุม แต่เมื่อลมสงบแล้ว ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการพิจารณาคือผลงานที่ผ่านมาทั้งหมดของคน ๆ นั้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า