Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 30 พ.ย. 2565 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.00% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ กนง.ปรับลดมุมมองเศรษฐกิจไทยลง จากเดิมคาดว่าปี 2565-2566 จะเติบโตที่ 3.3-3.8% แต่ในประมาณการใหม่ คาดว่าเศรษฐกิจปี 2565-2567 จะเติบโต 3.2% 3.7% และ 3.9% ตามลำดับ

สำหรับสาเหตุที่ปรับลดคาดการณ์จีดีพีลง เพราะแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จึงคาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยให้ลดลง แต่ไม่ได้กระทบกับภาพใหญ่

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 6/2565

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ในปี 2566 มีแนวโน้มสูงกว่าประมาณการครั้งก่อนจากราคาพลังงานในประเทศเป็นสำคัญ แต่จะยังคงโน้มลดลงและกลับสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.2% 3.7% และ 3.9% ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวทั่วถึงมากขึ้น

โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงส่งสำคัญต่อเนื่องในปี 2566 และ 2567 แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวลดลง ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังใกล้เคียงเดิม

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ 6.3% 3.0% และ 2.1% ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยผ่านจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 สำหรับปี 2566

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเทียบกับประมาณการครั้งก่อนจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ แต่จะยังคงโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) มีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยจะทยอยลดลงอยู่ที่ 2.6% 2.5% และ 2.0% ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะทำให้อ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น

คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่โดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน โดยปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป

central-bank-increases-interest-rate-to-1-25-percent

ในวันเดียวกัน ธปท.แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค. 2565 โดยเศรษฐกิจเดือน ต.ค.ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากเดือน ก.ย. ถึงจะชะลอตัวลงบ้างจากการส่งออกสินค้าที่ลดลง แต่ยังได้แรงหนุนที่ดีจากการท่องเที่ยว

สำหรับปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยว พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 1.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐ ตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง

ส่วนปัจจัยลบจากการส่งออกสินค้า ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรยังสามารถเติบโตได้ดี เช่นเดียวกับการส่งออกรถยนต์

ทั้งนี้ การส่งออกที่ลดลง ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ขณะที่ประเด็นสำคัญ เช่น การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ภาพรวมยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะดำเนินนโยบายเข้มงวดกว่าที่คาดการณ์

อย่างไรก็ตาม ในเดือน ต.ค. ต่อเนื่องมายังเดือน พ.ย. ตลาดเริ่มเปลี่ยนมุมมองการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ส่งผลให้ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทค่อนข้างผันผวน

ในส่วนของเงินเฟ้อ ปรับลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.98% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.17%

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในเดือน พ.ย. แนวโน้มยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น อุปสงค์ในต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ต้นทุนค่าจ้างและราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ต.ค. 2565

เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะได้รับแรงกดดันจากการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลง ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ​และปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อน ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องและอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะ

1) หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า

2) หมวดเคมีภัณฑ์ที่ลดลงต่อเนื่องตามการส่งออกไปจีน หลังจากจีนมีนโยบายผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า

3) หมวดปิโตรเลียมที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน

อย่างไรก็ดี หมวดสินค้าเกษตร รวมทั้งยานยนต์และชิ้นส่วนปรับดีขึ้นในบางสินค้า อาทิ การส่งออกข้าวและรถยนต์นั่งไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียมที่ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น รวมถึงหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลงตามการชะลอตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดขายวัสดุก่อสร้างที่ปรับดีขึ้น

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่ลดลงมากตามน้ำมันดิบ เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น

นอกจากนี้ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติปรับลดลงจากราคาเป็นสำคัญ หลังจากปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในยุโรปปรับดีขึ้น

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับผู้บริโภคบางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อรอการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่

สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนลดลงเล็กน้อยจากสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนตามรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่หดตัวจากผลของฐานที่มีการเบิกจ่ายสูงในปีก่อน ขณะที่รายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านพลังงานและสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางระยะใกล้ (Short-haul) อาทิ ฮ่องกง และไต้หวัน เพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อน ตามราคาหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาอุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาดและราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ปรับดีขึ้น

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลงจากการลดลงของรายจ่ายค่าระวางสินค้า ประกอบกับรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามเงินดอลลาร์ สรอ. ที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดการณ์

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า