Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อพูดถึง ศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า แบรนด์ที่เป็นอันดับหนึ่งและเป็นที่นิยมมากที่สุดในประเทศไทย ก็คือ ‘เซ็นทรัล’ โดยสิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จนี้คือ จำนวนศูนย์การค้าที่มีกระจายทั่วประเทศมากถึง 33 สาขา และอีก 1 สาขาที่ประเทศมาเลเซีย ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมกว่า 1.2 ล้านคนต่อวัน

ซึ่งศูนย์การค้าเหล่านี้ บริหารโดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เน้นการพัฒนาโครงการ Mixed-use และศูนย์การค้า โดยเป็นบริษัทในเครือ กลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่มีประสบการณ์ด้านรีเทลมาอย่างยาวนาน

เพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้น กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งก่อตั้งมากว่า 73 ปี ปัจจุบันประกอบด้วยธุรกิจต่างๆ ที่เติบโตต่อเนื่องแข็งแรง อาทิ

  • ศูนย์การค้า ศูนย์รวมให้ผู้ประกอบการต่างๆ มาเช่าพื้นที่เพื่อค้าขายทำธุรกิจ โดยมีศูนย์การค้าที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ อาทิ เซ็นทรัลด์เวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว, เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์, เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ฯลฯ
  • และธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าและค้าปลีก อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, โรบินสัน, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น, ธุรกิจโรงแรมเซ็นทาราและร้านอาหาร (KFC, มิสเตอร์โดนัท, โอโตยะ, เปปเปอร์ลันซ์ ฯลฯ), กลุ่ม The 1 (ระบบสมาชิก Loyalty Platform ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล), และบริการด้านการเงินและฟินเทค

สำหรับธุรกิจศูนย์การค้า ซึ่งเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัลนั้น ปัจจุบันโครงการต่างๆ ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาโดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี ‘วัลยา จิราธิวัฒน์’ เป็นหนึ่งในผู้บริหารสำคัญขององค์กรในการขับเคลื่อนธุรกิจ

วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN

อาณาจักรของกลุ่มเซ็นทรัล เริ่มต้นจาก ‘เตียง จิราธิวัฒน์’ ชาวจีนที่อพยพมาจากไหหลำ หอบเสื่อผืนหมอนใบ มาตั้งรกรากในไทย และเริ่มต้นทำธุรกิจขายของเบ็ดเตล็ดที่บริเวณเขตบางขุนเทียน

ลูกๆ ของคุณเตียง ทั้ง 26 คน ทุกคนรู้ว่าเมื่อเรียนจบมา ต้องเข้ามาช่วยเหลืองานของครอบครัว โดยวัลยา จิราธิวัฒน์ มีอายุเป็นลำดับที่ 22 จาก 26 คน

วัลยา เรียนจบระดับมัธยมจากโรงเรียนมาแตร์เดอี เรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย UCLA ในแคลิฟอร์เนีย สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาร์ทฟอร์ด ในรัฐคอนเน็คติคัท สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อสุดท้ายจะได้กลับมาช่วยดูแลธุรกิจของตระกูล

พอจบปริญญาโท ในวัย 24 ปี เธอกลับมาไทย และถามพี่ใหญ่คือ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ว่าอยากให้เธอไปช่วยงานในธุรกิจใด ซึ่งในช่วงนั้น เป็นช่วงที่ห้างสรรพสินค้าเติบโตและบูมมาก เป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจ แต่สัมฤทธิ์ ผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลไปถึงธุรกิจหนึ่งที่จะเป็น ‘เรื่องใหญ่ในอนาคต’ และทุกคนยังไม่เห็นว่า มีศักยภาพ และให้วัลยาไปทำงาน นั่นคือ “ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต”

“การเริ่มต้นทำงานครั้งแรก เป็นผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ตที่เซ็นทรัลสีลม จริงๆ มีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่กว่านี้ แต่คุณสัมฤทธิ์ต้องการให้เราเรียนรู้จากสาขาเล็กก่อน เพื่อให้ทำความเข้าใจในระบบ แล้วค่อยก้าวต่อไป ไม่ใช่ว่าเห็นเราเป็นทายาทของตระกูลก็จะให้ตำแหน่งใหญ่ในธุรกิจทันที”

การให้มาทำซูเปอร์มาร์เก็ต ถือเป็นอะไรที่ไม่ถนัดนัก ประกอบกับด้วยความที่เป็นเด็กจบใหม่ ในวันนั้นจึงไม่เห็นวิสัยทัศน์ของคุณสัมฤทธิ์ที่วางไว้ในธุรกิจนี้

“วันแรกเริ่มทำงาน เราก็เศร้าว่า ทำไมท่านให้เรามาทำตรงนี้ คือตอนนั้นยังเด็กเกินไปและไม่เห็นภาพกว้างนัก”

วัลยามาทำงานที่เซ็นทรัลซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งแต่ปี 2528 แต่พอได้มาทำงานจริง ได้เรียนรู้และสนุกไปกับการทำธุรกิจนี้ ประกอบกับความมุ่งมั่นในการทำงาน จึงได้นำเอานวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเข้ามาใช้หลายอย่าง ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติปรับโฉมธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตไปอย่างแท้จริง

“ในอดีต ซูเปอร์มาร์เก็ตยังไม่มีตู้เย็นเพื่อจัดเก็บผักผลไม้ เราจึงเป็นที่แรกในประเทศที่นำเอาตู้แช่เย็นมาจัดเก็บและรักษาอุณหภูมิผักผลไม้ ให้คงความสดเอาไว้ให้ได้นานที่สุด”

“รวมถึงนวัตกรรมบาร์โค้ด ซึ่งเมื่อก่อนในไทย ยังเป็นระบบติดสติกเกอร์ราคา หรือให้พนักงานแคชเชียร์จำ และกดราคาสินค้า ซึ่งทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ”

“เราเป็นคนไปแนะนำเจ้าของสินค้าต่างๆ ว่าควรทำระบบบาร์โค้ด เพื่อสามารถเช็กยอดได้ง่ายขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเจ้าของสินค้าจะต้องเปลี่ยนแพคเกจจิ้งใส่บาร์โค้ดเข้าไปเพื่อเราโดยเฉพาะ ซึ่งในร้านค้าอื่นๆ ทั่วประเทศก็ไม่มีใครใช้บาร์โค้ด จึงต้องใช้เวลาเจรจาให้เห็นประโยชน์อยู่นานกว่าจะยอมเปลี่ยน”

ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของวัลยา ช่วยยกระดับซูเปอร์มาร์เก็ตของเซ็นทรัลให้มีความโดดเด่นมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยภายใน 3 ปี เธอก้าวขึ้นไปเป็นกรรมการผู้จัดการของเซ็นทรัลซูเปอร์มาร์เก็ต ในปี 2531 และถือตำแหน่งนี้อยู่นานจนถึงปี 2539

“ความท้าทายที่สำคัญของการทำงานที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในเวลานั้น ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี หรือระบบ แต่เป็นเรื่องของคน ด้วยความที่เราเพิ่งอายุ 24 ปี ทุกคนก็ยังมองเราเป็นเด็กมาก คนทำงานรู้สึกว่า ทำแบบนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ไม่เห็นจะมีปัญหา ดังนั้นการที่เราจะเปลี่ยนแปลง เราต้องใช้ความพยายามมหาศาล ทั้งแข็ง ทั้งอ่อน”

การที่มีโอกาสไปเริ่มต้นจากสายงานซูุเปอร์มาร์เก็ตมาก่อน ทำให้เธอมีความ “ละเอียดรอบคอบ” มากยิ่งขึ้นเป็นพิเศษ โดยวัลยาอธิบายต่อว่า

“ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นธุรกิจที่มีกำไรน้อยที่สุด สินค้าบางอย่างจะได้กำไรเพียง 2-3% ถ้าบริหารต้นทุนไม่เป็น ก็จะไม่ได้กำไรเลย จะมีแค่เงินสดหมุนเวียน ซึ่งการเริ่มต้นจากธุรกิจที่ได้กำไรน้อยเช่นนี้ ทำให้สามารถต่อยอดในการทำงานในธุรกิจค้าปลีกได้เป็นอย่างดี”

ความท้าทายต่อมาคือ ในปี 2539  บริษัท Ahold (เอโฮลด์) เจ้าของแบรนด์ Tops Supermarket มาเปิดตลาดที่ไทย และร่วมทุนกับเครือเซ็นทรัล บริษัทจึงไว้วางใจให้วัลยา ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 35 ปี มาเป็น Co-CEO ของท็อปส์ร่วมกับ CEO ชาวต่างชาติที่อาวุโสและมีประสบการณ์ระดับ International ทำให้ต้องปรับมุมมองที่แตกต่างกัน ส่งผลให้บริษัทพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง โดยมีทั้งระบบจัดการระดับอินเตอร์และมีความเข้าใจตลาดลูกค้าชาวไทยได้เป็นอย่างดี

หลังจากเป็นผู้บริหารสูงสุดของท็อปส์ได้กว่า 10 ปี ก้าวต่อมา ในปี 2545 ซึ่งในขณะนั้น เซ็นทรัลมีศูนย์การค้าทั้งหมด 9 แห่ง วัลยาได้ย้ายมาดูแลในอีกธุรกิจหนึ่งที่สำคัญ คือ ศูนย์การค้า โดยได้ดูแลเซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต ของเซ็นทรัลพัฒนา ในการพัฒนาโครงการทุกขั้นตอน จนเปิดให้บริการ และดูแลงานท้าทายใหม่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

สร้างศูนย์การค้าเหมือนเป็นบ้านของเราเอง

เซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต เปิดตัวได้อย่างน่าประทับใจในปี 2547 กลายเป็นแลนด์มาร์กของคนในพื้นที่ และได้รับการตอบรับอย่างดีมาก

ด้วยผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างดี ทำให้วัลยาได้รับมอบหมายโปรเจ็กต์ใหม่ ที่เป็น โปรเจ็กต์ยักษ์ ในชื่อ “เซ็นทรัลเวิลด์” ซึ่งเป็นศูนย์การค้าลำดับที่ 10 ของบริษัท

วัลยามีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เซ็นทรัลเวิลด์เปิดตัวได้อย่างสง่างาม ในปี 2549 นี่เป็นศูนย์การค้าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของเซ็นทรัลพัฒนา

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเซ็นทรัลเวิลด์เป็นไปอย่างน่าประทับใจ ซึ่งทำให้พื้นที่นี้กลายเป็น โครงการ Mixed-use ขนาดใหญ่ที่สุดใจกลางเมือง ที่มีทั้ง ศูนย์การค้า ออฟฟิต 2 อาคาร และโรงแรมเซ็นทารา อีกทั้ง ยังสร้างทางเชื่อม “สกายวอล์ก” ที่เชื่อมต่อพื้นที่โดยรอบในเขตแยกราชประสงค์เข้าสู่รถไฟฟ้าเพื่อความสะดวกสบายของประชาชน

ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน วัลยาเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงการ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จของทุกศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนา จาก 9 ศูนย์การค้า เป็น 34 ศูนย์การค้าในปัจจุบัน ภายใต้แบรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และเซ็นทรัล วิลเลจ และที่มาเลเซียอีก 1 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ และปัจจุบันวัลยาดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท

“เราสร้างศูนย์การค้าเหมือนสร้างบ้านของเราเอง เรารู้จักทุกซอกทุกมุม เอาใจใส่ในทุกรายละเอียด เวลาประชุมว่า อะไรเกิดขึ้นตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ทางหนีไฟ ที่จอดรถ เราก็จะนึกออกหมด เพราะเราเป็นคนออกแบบเอง เหมือนเราได้ออกแบบบ้าน 34 หลัง เป็นบ้านของเราเองทั้งหมด”

สิ่งที่พิสูจน์ความสามารถของวัลยาให้ประจักษ์แก่สังคม คือรางวัลต่างๆ ที่เธอได้รับ อาทิ รางวัลผู้ประกอบการสตรีที่มีผลงานโดดเด่นแห่งอาเซียน Outstanding ASEAN Women Entrepreneurs (AWEN) ประจำปี 2562 และรางวัลความดีตอบแทนคุณแผ่นดินและบุคคลตัวอย่างแห่งปี ประจำปี 2563 (Best Practice Awards 2020) สาขาบริหารและพัฒนาธุรกิจ (จัดโดยมูลนิธิเพื่อสังคมไทย)

นอกจากนี้ วัลยายังนำพาให้ศูนย์การค้าหลายโครงการของเซ็นทรัลพัฒนาได้รับรางวัลในระดับนานาชาติอย่าง International Council of Shopping Centers (ICSC) ซึ่งถือเป็นรางวัลออสการ์ของวงการศูนย์การค้า

กลยุทธ์ธุรกิจแบบ ‘3 WINS’

ในวงการธุรกิจมักจะมีการพูดถึง Win-Win Situation คือการชนะทั้งสองฝ่าย แต่ในการทำธุรกิจศูนย์การค้าให้ประสบความสำเร็จ วัลยามีมุมมองที่เหนือชั้นไปกว่านั้นคือ แค่ Win-Win ไม่พอ แต่ต้องเป็น Win-Win-Win ทั้ง 3 ฝ่ายจึงจะสมบูรณ์

Win แรกคือ Tenant หรือผู้เช่า ธุรกิจศูนย์การค้าเป็นธุรกิจแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า นั่นคือในฐานะที่เราบริหารและดูแลพื้นที่ศูนย์การค้า เราต้องใส่ใจดูแลพันธมิตรคนสำคัญคือร้านค้าต่างๆ อย่างดีที่สุด ดูว่าเขาต้องการอะไร อยากได้อะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ต้องดูแลรักษาน้ำใจกันให้มากที่สุด เพื่อให้ธุรกิจของผู้เช่าเติบโตไปพร้อมกันกับเรา”

Win ที่สองคือ Shopper หรือลูกค้าผู้ใช้บริการ เราต้องเข้าใจผู้บริโภคตั้งแต่พฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ สังเกต Journey ของเขา ซึ่งจะสะท้อนออกมาในการออกแบบศูนย์การค้า รวมถึงบรรยากาศของศูนย์การค้าที่เราอยากทำให้ Shopper รู้สึกสนุก ผ่อนคลาย และได้มาใช้ช่วงเวลาดีๆ ที่ศูนย์การค้าของเรา และเมื่อเราตอบโจทย์ได้ตรงจุด คนจะนึกถึงเราและมาเดินศูนย์ฯ ของเรามากขึ้น และแน่นอนว่าลูกค้าเองก็จะได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไปด้วย”

“เมื่อเราสร้าง 2 Win แรกได้แล้ว ก็จะนำมาซึ่ง Win ที่ 3 นั่นคือองค์กรของเรา เมื่อผู้เช่าอยู่ได้ ลูกค้ามีความสุข ก็ทำให้ศูนย์การค้าและองค์กรพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นทั้ง 3 ฝ่ายคือผู้เช่า ลูกค้า และศูนย์การค้า จึงเป็น 3 ห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงสนับสนุนซึ่งกันและกัน”

นอกจากนี้ การที่จะเข้าใจผู้บริโภคและผู้เช่าได้อย่างแท้จริงนั้น คนที่เป็นผู้บริหารจะมองเพียงภาพใหญ่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเป็นคนที่ใส่ใจลงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้ดีด้วย

Retail is Detail ค้าปลีกคือความใส่ใจในรายละเอียด การขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของเรา ไม่ใช่แค่การขึ้นมาเป็นหัวหน้า ทุกวันนี้เรายังต้องไปเดินศูนย์การค้าเอง ไปให้เห็นกับตา ไปทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหน้างาน”

วิกฤติ ไม่คิดค่าเช่า ตลอดช่วงล็อกดาวน์ทั้ง 33 ศูนย์การค้า

เซ็นทรัลพัฒนา เติบโตอย่างมั่นคง แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายของวิกฤติโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างแรกที่วัลยาคิดถึงก่อนอื่นคือ ผู้เช่า จึงได้บอกผู้เช่าในช่วงล็อคดาวน์เลยว่า จะไม่คิดค่าเช่าเลย 100% สำหรับร้านค้าที่ไม่สามารถเปิดขายได้ และให้ส่วนลดสำหรับร้านค้าที่ยังพอเปิดดำเนินกิจการได้

“การทำธุรกิจต้องมีเงินสดในมือ เราเข้าใจผู้เช่าในจุดนี้ ดังนั้นเราจะไปเก็บค่าเช่าในสถานการณ์แบบนี้ไม่ได้”

“ถ้าเขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เราต้องจูงมือขึ้นมาด้วยกัน ลุกขึ้นมาด้วยกัน เดินหน้าด้วยกัน และหลังล็อคดาวน์ก็จะต้องวิ่งไปด้วยกัน”

ในสถานการณ์ที่รายได้บริษัทขาดหาย แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนพนักงาน

“เราบอกพนักงานว่าจะไม่ลดเงินเดือน แต่มีการปรับวิธีการทำงาน เช่น Work From Home และไม่มีการทำโอที ขณะที่การตลาด การโฆษณาทั้งหมดต้องยกเลิกไปก่อน จากนั้นเรามาประมวลสถานการณ์ของบริษัทกันว่า ถ้าเราไม่มีรายได้เข้ามาเลย บริษัทจะประคองได้ในระยะเวลากี่เดือน”

แต่เมื่อล็อคดาวน์ผ่านมาประมาณ 2 เดือน และสถานการณ์ในประเทศเริ่มดีขึ้น ต่อมาคือ บริษัทและผู้เช่าจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างไร เพราะโควิดคงจะต้องอยู่กับเราไปอีกสักพัก ซึ่งวัลยาและทีมงานเห็นตรงกันว่าต้องเปิดศูนย์การค้าให้เร็วที่สุด และต้องทำให้ปลอดภัยที่สุด

“ไอเดียของเราคือ การสร้างแผนแม่บทขึ้นมา สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้ทุกคนปฏิบัติร่วมกันได้ว่า จะเปิดสถานประกอบการอย่างไรให้ปลอดภัย เราก็ตั้งแกนไอเดียขึ้นมา 5 แกน มีมาตรการต่างๆ 75 มาตรการ ทั้ง การคัดกรอง, Social Distancing, การติดตาม, การทำความสะอาดทุกจุด, การลดการสัมผัส”

“เราใช้เวลาออกแบบแผนแม่บท ‘เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ’ และเรายินดีจะให้ทุกห้าง ทุกร้านค้า โรงแรม หรือทุกองค์กร ภาครัฐและเอกชนได้เอาแผนแม่บทของเราไปใช้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยเร็วที่สุด”

ซึ่งสุดท้ายการนำ 75 มาตรการนี้ไปใช้จริง ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น ที่จะกลับมาเดินศูนย์การค้า และสถานการณ์ของเซ็นทรัลพัฒนา จึงเริ่มคลี่คลาย ผู้เช่าเริ่มขายของได้

“วันที่ประตูศูนย์การค้าเปิดวันแรก เราดีใจมากจริงๆ มันบรรยายไม่ถูกเลย”

ในวันนี้ เซ็นทรัลพัฒนา คือ บริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดของศูนย์การค้าสูงที่สุดในประเทศ ทั้งด้านพื้นที่และยอดขาย

จากพื้นที่ตารางเมตรรวมของศูนย์การค้าทั้งประเทศ 16.2 ล้านตารางเมตร ศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนามีเปอร์เซ็นต์สูงที่สุดถึง 25%

อีกทั้งบริษัทยังขยายไปในหลายธุรกิจ อาทิ Co-working space 2 แห่ง, โรงแรม 2 แห่ง, ออฟฟิต 7 แห่ง, โครงการที่อยู่อาศัย 14 แห่ง พร้อมร่วมทุนกับเครือดุสิตในโครงการ Mixed-use ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง Dusit Central Park อีกด้วย

การยืนหยัดเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจเช่นนี้ ทางผู้สัมภาษณ์ถามวัลยาว่า มีความมั่นใจแค่ไหน ว่าจะยืนหยัดในตลาดศูนย์การค้า และการค้าปลีกไปตลอด ทั้งๆ ที่มีสถานการณ์โลกอย่าง โควิด-19 เข้ามารุมเร้า

โดยวัลยาตอบกลับอย่างมั่นใจว่า “กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้นำในด้านค้าปลีกมาตลอด 73 ปี และ เซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้นำในด้านอสังหาริมทรัพย์มา 40 ปี ไม่ใช่แค่ธุรกิจค้าปลีก แต่เราเป็นผู้นำในทุก segment เซ็นทรัลพัฒนาเป็นบริษัทอสังหาฯ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด และยังเป็นองค์กรไทยด้านอสังหาริมทรัพย์องค์กรเดียวในประเทศที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนระดับโลก DJSI World หรือ บริษัทยั่งยืนระดับโลก ต่อเนื่องเป็นปีทื่ 2”

“และในความเป็นผู้นำ เราไม่เคยหยุดที่จะพัฒนา หากถามว่าเซ็นทรัลพัฒนา เรา “พัฒนา” อะไรบ้างนอกเหนือจากธุรกิจศูนย์การค้า แต่เราช่วย “พัฒนาสังคม” “พัฒนาผู้ประกอบการ” ทั้งร่วมกับภาครัฐ อาทิ การเปิดพื้นที่ฟรีให้ค้าขาย ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และให้ความรู้ด้านค้าปลีก และที่สำคัญคือ “พัฒนาชุมชน” ทุกๆ ที่ที่ศูนย์การค้าเราไปตั้งอยู่ เพื่อเป็น “ศูนย์กลางการใช้ชีวิต” หรือ Center of Life ของทุกที่ที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อทุกคน” วัลยา ทิ้งท้าย

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า