SHARE

คัดลอกแล้ว

นิวยอร์ก มหานครใหญ่ที่มีการแข่งขันในด้านต่างๆ สูงมาก การอยู่ให้รอดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าต้องการมากกว่านั้น คือการยืนอยู่ในระดับแถวหน้า ก็ต้องผ่านการบดขยี้จากด่านทดสอบต่างๆ มากมาย

เฉลิมพล ฤทธิชัย เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่รู้ลึกและรู้ซึ้ง ถึงการต่อสู้อันหนักหน่วงและโหดหินของมหานครแห่งนี้อย่างถ่องแท้ อันเนื่องมาจากประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกว่า 20 ปี ในนิวยอร์ก ผ่านสื่อหลากหลายแขนง ทั้งนิตยสาร อินเทอร์เน็ต วิทยุ และโทรทัศน์

เขาเริ่มต้นจากการทำข่าวการเมือง ก่อนผันตัวเองมาเป็นผู้สื่อข่าวในวงการบันเทิง ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เซเลบริตี้ระดับโลกอย่างใกล้ชิด อาทิ Hugh Jackman , Adam Levine , Vin Diesel , Kylie Minogue , Arnold Schwarzenegger , Sophia Loren , Naomi Watts , James Franco , Kate Hudson และ Julianne Moore เป็นต้น

โดยสิ่งที่การันตีการยืนอยู่ในระดับแถวหน้า ก็คือการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอันทรงเกียรติ New York Emmy Awards ถึง 2 สมัยติดต่อกัน

เฉลิมพลใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา ตั้งแต่เรียนไฮสคูล (มัธยมปลาย) หลังสอบชิงทุนนักเรียนแลกเปลี่ยนได้ พอสำเร็จการศึกษาที่ University of Texas at Austin ด้าน Journalism (วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน) ในเมืองออสติน รัฐเทกซัส เขาก็มุ่งสู่นิวยอร์ก ที่มีสำนักข่าวใหญ่ๆ ระดับโลกมากมาย

ตามความใฝ่ฝัน ที่ไม่ใช่แค่เป็นผู้สื่อข่าวเท่านั้น แต่ต้องอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการอีกด้วย  

พอเรียนจบ คุณก็มุ่งไปหางานที่นิวยอร์กทันที หลังจากนั้นก็ได้เป็นผู้สื่อข่าวในหลากหลายวงการ ทั้ง นิตยสาร อินเทอร์เน็ต วิทยุ และโทรทัศน์

สายที่ผมเรียน มันไปไหนไม่ได้อีกแล้ว ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ต้องไปพิชิตนิวยอร์ก เพราะสื่อใหญ่ๆ ทั้ง ABC , CBS , NBC , Reuters และ AFP มีศูนย์กลางอยู่ที่นั่น เงินอยู่ตรงนั้น สื่อใหญ่แห่งเดียวที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น คือ CNN อยู่แอตแลนต้า แต่ก็มีสาขาอยู่ที่นิวยอร์ก ซึ่งใหญ่มาก

แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นเป็นนักข่าวในเมืองเล็กๆ สักห้าหกปีก่อน ไม่มีใครบ้าไปบุกนิวยอร์กเลย เพราะว่ามันยากมาก แต่ผมมีความคิดว่า จะอยู่อเมริกาอีก 2 ปีแล้วกลับเมืองไทย ถ้าเรามัวแต่ทำงานในเมืองเล็กๆ ก็ไม่ได้ไปนิวยอร์กเสียที

รุ่นก่อนผม ไม่เคยมีคนไทยไปทำงานสื่ออยู่ที่อเมริกาแล้วรอด หรือได้มีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลดังๆ ทำให้ผมไม่มีแบบอย่าง ช่วงแรกๆ ก็เริ่มจากเป็นผู้ช่วยกองบรรณาธิการ ที่ Show Business Weekly มีหน้าที่ตรวจปรู๊ฟ แต่ความใฝ่ฝันของผม คือเป็นผู้สื่อข่าวการเมือง ต่อมาผมก็ได้ทำงานที่ Gotham Gazette (สำนักข่าวออนไลน์) เกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นของนิวยอร์ก

Gotham Gazette เป็นสำนักข่าวที่บ่มเพาะผม บรรณาธิการโหดมาก ใครถูกเรียกเข้าคุย ออกมาต้องน้ำตาซึม เพราะว่าผิดนิดเดียวก็ไม่ได้ ผมอยู่ที่นั่น 6 ปี แล้วมาได้งานที่สถานีวิทยุ WNYC ทำให้ผมได้เริ่มเจอบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่างทางผ่านสตูดิโอ ได้เจอ Tony Blair (อดีตนายกฯ อังกฤษ) นั่งอยู่ หรือเจอ Jimmy Carter (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) พูดแล้วก็ยังขนลุก

และมีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมได้เจอ Catherine Deneuve , Audrey Tautou และ Juliette Binoche ที่ทาง WNYC เชิญมาแบบติดๆ ตกใจมาก เรามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร พอไปทำงาน ที่ CW-PIX 11 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ ก็ห่างการเมือง มาทำข่าวในวงการฮอลลีวูด กับแฟชั่น

ตอนที่ทำข่าวการเมือง ไม่มีใครสนใจผมเลย เพราะเป็นการเมืองท้องถิ่น มีแต่กงสุลฯ โทรมาขอให้ช่วยอธิบายระบบเลือกตั้งของที่นั่น เพราะเขางงมากว่า ทำไมมีหลายรอบ แล้วทำไมจึงรู้ว่าคนนี้ชนะไปแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการเลือกตั้งใหญ่

ผมก็อธิบายว่า ที่นิวยอร์ก เดโมแครตนี่ 3 ต่อ 1 ใครที่ชนะเลือกตั้งในพรรค ก็ชนะเลือกตั้งใหญ่แน่นอน ฉะนั้นการเลือกตั้งในพรรคจึงสำคัญมากกว่าการเลือกตั้งใหญ่ ได้ให้สัมภาษณ์แค่ตอนนั้น ทุกวันนี้ไม่ได้ใช้เลย

แต่พื้นฐาน 6 ปีที่ผมทำข่าวการเมืองท้องถิ่นนิวยอร์ก ก็ทำให้เข้าใจว่า ไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์ เพราะหลายคนคิดว่า โห อเมริกานี่ดี คอรัปชั่นก็ปราบได้ แต่ความจริงแล้ว ระบบท้องถิ่นแม่งโกงกันฉิบหายวายป่วง เนื่องจากนิวยอร์กมีงบประมาณมหาศาล ถ้าปีไหน Wall Street บูม ก็จะเก็บภาษีได้เยอะ และเงินเยอะตรงไหน ก็มีคอรัปชั่นตรงนั้น

แล้วสื่อมีบทบาทเข้าไปตรวจสอบอย่างไรบ้าง ?

สื่อที่ผมทำตอนนั้นเจาะเฉพาะรัฐบาลท้องถิ่น มีการติดตามสมาชิกสภาฯ กว่า 50 คน แล้วก็พบว่า งบประมาณที่เรียกว่า ลูลู่ (lulu) ให้สมาชิกสภาฯ รายละหนึ่งแสนเหรียญฯ ไปตั้ง Committee เขาก็นำญาติพี่น้องมาทำ เมื่อไปตรวจก็เจอแล้วก็ลงข่าว แต่ไม่มีคนสนใจ พอเลือกตั้ง คนพวกนี้ก็ได้รับเลือกเข้ามาอีก

เพราะที่โน่นเลือกตั้งทุกปี ปีละหลายครั้ง เขาไม่รู้จะเลือกใคร สมมติถ้าเขาชื่นชอบพรรคเดโมแครต ใครเป็นผู้สมัครจากพรรคนี้ เขาก็เลือกตลอด รายงานให้ตาย จะโชว์ว่ามีนาฬิกากี่สิบกี่ร้อยเรือน คนก็ไม่สนใจ

อย่างประเทศโลกที่สาม คนมักคิดว่านักการเมืองต้องโกงกินอยู่แล้ว จึงกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ประเทศโลกที่หนึ่ง คนคิดว่านักการเมืองไม่โกงกิน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ แต่ระบบตรวจสอบของเขามีเขี้ยวเล็บมากกว่าของเรา อย่างการใช้งบลูลู่ แล้วนำญาติเข้ามาทำงาน ถึงไม่ผิดกฎหมาย แต่มันน่าเกลียด

สัมภาษณ์ Arnold Schwarzenegger

จากที่ทำข่าวการเมือง แล้วผันตัวเองมาสัมภาษณ์เซเลบริตี้ในวงการบันเทิง คุณต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเยอะไหม ?

ผมชอบเรื่องบันเทิงอยู่แล้ว ชอบดูหนัง ชอบดูละครบรอดเวย์ แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบกับชีวิตคนเรามากที่สุด ก็หนีไม้พ้นการเมือง ลึกๆ แล้ว ผมก็อยากวกกลับไปทางนั้น แต่ถามว่าตรงนี้ชอบไหม ก็ชอบนะ

การที่คุณได้มีโอกาสสัมภาษณ์เซเลบริตี้มากมาย มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ?

ฟลุค ตอนนั้นเขาขาดคนถ่ายวีดีโอ ผมก็เสนอตัว ใครจะไม่ถ่ายล่ะ มี Bob Dylan นั่งอยู่ข้างหน้า อีกกี่ชาติจะได้เจอ พอเขาเห็นผมดิวกับเซเลบริตี้ได้ ผมไม่สั่น ก็ได้มาทำงานตรงนี้ ยอมรับว่าแรกๆ นี่สั่นมาก แต่หลังๆ เจอดาราดังบ่อยๆ ผมก็ชิน

ซึ่งเซเลบริตี้จะโดนสัมภาษณ์บ่อยมาก ถ้าเราถามแต่คำถามเดิมๆ ก็ไม่ได้ข้อมูลใหม่ แล้วเราจะกลายเป็นพีอาร์ แต่บ่อยครั้งก็ถูกผู้จัดการของเขาคอยตบให้ถามคำถามแบบพีอาร์ ก็คิดว่าน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ผมก็โอเค

เช่นตอนสัมภาษณ์  Adam Levine ผมก็ถามเกี่ยวกับหนังของเขาครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็เป็นคำถามใหม่ๆ ไม่อย่างนั้นคุณค่าของการเป็นผู้สื่อข่าว มันไม่เหลือเลย เราจะกลายเป็นกระบอกเสียงให้กับบริษัทหนังเท่านั้น แล้วเราจะไม่ใช่ผู้สื่อข่าว แต่เป็นพีอาร์

ถ้าเป็นข่าวการเมืองเราถามได้เต็มที่ อย่างทำไมเงินหายไปห้าหมื่น แต่ถ้าถามดาราว่า เรื่องที่แล้วคุณเล่นได้แย่มาก เรื่องนี้จะดีกว่าเดิมไหม คราวหน้าเขาก็ไม่ให้สัมภาษณ์แล้ว

รู้สึกอย่างไรบ้าง ตอนที่คุณได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง New York Emmy Awards ถึง 2 สมัยติดต่อกัน

ก่อนหน้านั้นก็เคยได้รางวัลอื่นๆ มาแล้ว อย่างตอนที่ทำเว็บไซต์สำนักข่าวการเมืองท้องถิ่น แต่ผมไม่เคยพูดถึง เพราะพูดไปก็ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีประโยชน์

ซึ่งก่อนกับหลังวันที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง ผมก็ยังเป็นคนที่ทำงานเหมือนเดิม แต่มันแสดงให้เห็นว่า ที่ทำนี่ เรามาถูกทางแล้ว ไม่ได้แปลว่าเราเก่งกว่า หรือด้อยกว่า แต่เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า เราอยู่ในระดับเดียวกับเขาได้

จากที่คุณได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง New York Emmy Awards ก็การันตีการยืนอยู่แถวหน้าของวงการ หากให้วิเคราะห์ คิดว่าเพราะคุณสมบัติด้านใด ทำให้คุณมาอยู่ตรงจุดนี้ได้ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจในอาชีพนี้  

ข้อแรกคือ ต้องอึด ข้อต่อมา ต้องเป็นคนที่พร้อมเสมอ และเมื่อโอกาสเข้ามา ต้องทำให้ได้ ลุยไปก่อน รับไปก่อนว่าทำได้ แล้วไปหาทางอีกที อันดับสุดท้าย ต้องอ่านเยอะ รู้เยอะ จนสามารถวิเคราะห์ได้ ซึ่งคุณสมบัติตรงนี้ ผู้สื่อข่าวทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ในระยะยาวจะไปได้ไกลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อแรก คือความอึด

ยกตัวอย่าง มีอยู่ปีหนึ่งหิมะตกหนัก ทุกคนหยุดคริสมาสต์ ตอนนั้นผมกำลังป่วยเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ แล้วไม่มีใครไปทำงาน ผมก็ต้องไปคนเดียว เพราะที่โน่นพอเกิดภัยทางธรรมชาติ คนจะดูข่าวท้องถิ่น แล้วเราต้องอัปเดตข่าวทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ถ้าไฟดับต้องเตรียมตัวอย่างไร มันคือการบริการประชาชน ผมต้องไปทำงาน 12 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่ป่วยหนัก

ตอนนั้นอายุ 30 กว่าแล้วนะ ตอนนี้พอทำเองเป็นฟรีแลนซ์ เวลาเด็กที่มาทำงานด้วย ถ้าอายุไม่ถึง 35 ปี แล้วอ้างว่าป่วยหนัก ผมไม่เคยเชื่อ แต่ถึงป่วยก็ต้องลากสังขารมา ถ้ารับงานไปแล้ว และหากเป็นงานสำคัญ บอกป่วยแล้วไม่มา ต่อไปผมไม่เรียกมาทำงานอีก เพราะผมคิดว่า ถ้าอายุยังน้อยๆ ต้องโชว์สปิริต

และ Attitude (แอตติจูด) ผมถือว่าสำคัญที่สุด ต่อให้เก่งขนาดไหน ถ้าแอตติจูดในการทำงานไม่ได้ เก่งแล้วยกกล้องยกไฟไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์

ตอนผมเรียนจบใหม่ๆ จบเกียรตินิยม ก็มั่นใจว่าตัวเองเก่งมาก แต่ที่ทำงานให้ไปพิสูจน์อักษร ก็คิดว่าอะไรวะ เราวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศได้ แต่กลับให้มาตรวจปรู๊ฟ

พอโตขึ้นผมถึงเข้าใจว่า เขาจ้างเรามาพิสูจน์อักษร ไม่ได้จ้างให้วิเคราะห์การเมือง คือแอตติจูดในการทำงานของผมในตอนนั้น ใช้ไม่ได้เลย รู้อย่างเดียวว่าเราจบเกียรตินิยม เราสามารถทำได้มากกว่านี้ แต่งานที่จ้างมัน 8 เหรียญฯ ต่อชั่วโมง เราก็ต้องพิสูจน์อักษร จะไปทำอะไรมากกว่านั้นไม่ได้

พอผมต้องเลือกคนมาทำงาน ก็มองว่าไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง แน่นอนเรียนเก่งน่ะมันดี เพราะมีข้อมูลเยอะ แต่ผมคิดว่า แอตติจูดในการทำงานสำคัญกว่า

ความหมายของแอตติจูด ไม่ใช่ทัศนคติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุดมคติ ลักษณะนิสัย มุมมองในการทำงาน เป็นคนหนักเอาเบาสู้ ทำได้ทุกอย่าง ผมมาเข้าใจเรื่องนี้ตอนอายุยี่สิบปลายๆ แล้วก็ลุยเลย จะให้ทำงานถึงตี 1 ตี 2 ก็ทำหมด เพราะถ้าเราไม่เคยทำงานเล็ก แล้วใครจะปล่อยให้เราทำงานใหญ่ ถ้าเราไม่เคยถ่ายวีดิโอกับเซเลบริตี้ที่ไม่มีชื่อเสียง ใครเขาจะให้เราไปถ่าย Tony Blair เราก็ต้องเริ่มจากงานเล็กๆ ก่อน

สิ่งที่กล่าวมา มันไม่ได้ตกตะกอนภายในวันเดียว แต่มันคือการมองย้อนกลับไป ถ้าเกิดรู้ตั้งแต่ตอนนั้น ผมไปไกลกว่านี้แล้ว

สัมภาษณ์ Adam Levine

ทำข่าวการเมือง กับสัมภาษณ์เซเลบริตี้ในวงการบันเทิง คุณชอบบทบาทไหนมากกว่ากัน ?

มันเทียบกันไม่ได้เลย เพราะตอนที่ผมทำข่าวการเมือง เป็นระดับท้องถิ่น อย่าง Barack Obama , Bill Clinton ซึ่งผมก็เจอนะ แต่ไม่ได้สัมภาษณ์ แต่พอทำข่าวบันเทิง ผมได้สัมภาษณ์ดาราดังๆ ระดับโลก มันแตกต่างกันมาก Hugh Jackman มานั่งข้างหน้าเลย ผมได้สัมภาษณ์  Adam Levine , Tom Hiddleston

แต่ตอนทำข่าวการเมือง ผมได้สัมภาษณ์เเต่นักการเมืองท้องถิ่น ที่พูดไปก็ไม่มีใครรู้จัก ถ้าได้สัมภาษณ์ Theresa May (นายกฯ อังกฤษ) ผมก็อยากทำต่อ แต่มันไม่ถึงตรงนั้น จึงเทียบกันไม่ได้

แต่ถ้าถามว่า อยากทำข่าวประเภทใด ผมก็อยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคมมากที่สุด ซึ่งมันก็ไม่พ้นเรื่องการเมือง และหากถามผมว่า ชอบความแกรนด์ของเรดคาร์เปตไหม ผมก็ชอบนะ สนุกดี ได้เจอดาราที่ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็กๆ มาอยู่ตรงหน้าเรา

เซเลบริตี้ที่เคยสัมภาษณ์ มีคนใดบ้างที่คุณประทับใจเป็นพิเศษ ?

ไม่ค่อยนะ ถ้าเจอตอนเด็กกว่านี้ บางคำพูดของเขาอาจเปลี่ยนชีวิตผมไปเลย แต่ผมเจอพวกเขาตอนอายุ 30 กว่าปี มันตกตะกอนชีวิตแล้ว สิ่งที่เขาพูดผมก็รู้อยู่แล้ว แต่เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมยืนอยู่ข้าง Oprah Winfrey แล้วมีผู้สื่อข่าวถามว่า คุณมีเคล็บลับในการประสบความสำเร็จอย่างไร ระหว่างที่ Winfrey พูด ผมรู้สึกว่าจะมีสักกี่คนในโลกวะ ที่ตอบคำถามนี้ได้ เพราะผมคิดว่าคนที่สามารถใช้คำว่า ประสบความสำเร็จได้จริงๆ มีไม่กี่คนหรอก

อย่างเคยฟังคนอื่นที่พูดว่า ตัวเองประสบความสำเร็จ ผมก็รู้สึกว่าเว่อร์ไปหรือเปล่าวะ แต่คนอย่าง Winfrey เธอกล้าพูด และพูดแล้วเรารู้สึกว่า เออว่ะ แม่งพูดได้ แม่งใช่ว่ะ มันทำให้ผมขนลุก รู้สึกว่านี่คือของจริง ซึ่งจะมีสักกี่คนที่ทำให้เรารู้สึกได้อย่างนี้

พอจำได้ไหม ตอนนั้น Winfrey พูดว่าอะไร ?

ก็พูดเหมือนที่เธอเคยพูดเป็นประจำ “สาเหตุที่ฉันประสบความสำเร็จก็คือ ฉันเป็นตัวของตัวเอง” ซึ่งมันเป็นแนวคิดพื้นฐานของคนอเมริกัน ต้องเป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าเป็นคนไทย ก็ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ที่โน่น (อเมริกา) เขาจะต้องเชื่อมั่นในตัวเอง แล้วเชื่อมั่นมากๆ

ที่นี้มันก็กลายเป็นทุกคนเชื่อมั่น เชื่อมั่น เชื่อมั่นกันหมด จนแม่งไม่มีใครเป็นผู้ตาม มีแต่ผู้นำ จะเป็นไปได้ไง ต้องมีผู้ตามด้วย ก็เลยเป็นโรคจิตกันหมด เพราะคิดว่าตัวเองต้องเป็นผู้นำ พอเข้าประชุม ทุกคนก็ยกมือเถียงกัน ไม่มีใครตามใคร ทุกคนจะนำหมด

ซึ่งก็วุ่นวายไปอีกแบบ

มันเป็นไปไม่ได้ คนเราจะเป็นผู้นำกันทั้งหมด แต่คนที่โน่นถูกสอนมาอย่างนั้น นั่นคือสิ่งที่สังคมของเขานิยม แต่สังคมของเราสอนให้เชื่อฟัง ก็จะมีคนเชื่อฟังเยอะไปหมด ไม่มีผู้นำ แต่ที่โน่นทุกคนจะนำหมด จึงเกิดอาการอีโก้ชนกัน

สัมภาษณ์ Oprah Winfrey

ที่ผ่านมา คุณได้ติดตามวงการข่าวในเมืองไทยบ้างไหม แล้วในความคิดของคุณ วงการข่าวอเมริกา กับไทย มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?

วงการข่าวเมืองไทย ผมก็ติดตามอยู่ ที่เห็นจะเน้นสไตล์เล่าข่าว ซึ่งคนที่ทำหน้าที่ตรงนี้ต้องมีบุคลิกที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ ที่เมืองนอกตอนนี้ที่มีคนตามเยอะที่สุดก็คือ  Anderson Cooper ส่วนบ้านเราจะเป็นการเล่าข่าวสไตล์พี่ยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา)

แต่ที่เมืองนอก คนจะชอบผู้สื่อข่าวสไตล์ลุยๆ ไปยืนรายงานข่าวพายุเฮอร์ริเคน ไปรายงานข่าวในสนามรบ ซึ่งผมก็ชอบนะ เพราะมีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งที่ผมชื่นชมมาก ชื่อ Elizabeth Neuffer เธอเป็นผู้สื่อข่าวในสไตล์ลุยๆ และเป็นคนแรกที่สอนงานผม ตอนนั้นผมอายุ 22 ปี เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ แล้วนัดคุยงานกัน แต่ผมไปสาย พอไปถึงผมก็ถามหาคนชื่ออลิซาเบธ คนที่นั่นก็บอกว่า กลับไปแล้ว พอได้ยินอย่างนั้น ผมก็กลับ

ปรากฏว่าหลังจากนั้น เธอเขียนเมลมาด่าผมเลย “แบบนี้จะเป็นนักข่าวได้อย่างไร ที่นี่มีอลิซาเบธ 2 คน ทำไมไม่บอกชื่อเต็มของฉัน” ผมก็ขอโทษและขอโอกาสเจอเธออีก ตอนนั้นเธอเพิ่งกลับจากอัฟกานิสถาน พอเจอกันเธอก็สอนผมว่า อย่างแรก อย่าล้มเลิกอะไรง่ายๆ ต้องสู้ให้ถึงที่สุด แล้วก็สอนอีกหลายๆ เรื่อง จนผมตัวลีบ

ผ่านไปเกือบ 10 ปี ผมเป็นนักข่าวเต็มตัวแล้ว ได้ไปงานมอบรางวัลให้กับผู้สื่อข่าวหญิงทั่วประเทศ พอเปิดสูจิบัตรเห็นรางวัลชื่อ Elizabeth Neuffer ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงนักข่าวหญิงที่เสียชีวิตในอิรัก ตอนนั้นผมตกใจมาก แม้ผมเจอเธอแค่ครั้งเดียว แต่ไม่มีวันลืมเธอชั่วชีวิต

จากการทำงานวงการสื่อหลากหลายประเภท ทั้งนิตยสาร อินเทอร์เน็ต วิทยุ โทรทัศน์ คุณคิดว่าเป็นข้อได้เปรียบในด้านใดบ้าง ?

ข้อได้เปรียบคือ ผมไม่เคยมองเรื่องใดแค่แพลตฟอร์มเดียว สมมติสื่อวิทยุ อย่างดารามา ถ้าไม่แต่งหน้าก็จะเน่ามาก ผมก็เตือนว่า เดี๋ยวมีการถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอนะ มันเป็นมัลติมีเดียแพลตฟอร์ม ถึงจะเป็นสถานีวิทยุก็จริง แต่ก็มีถ่ายวีดีโอ ฉะนั้นให้คุณแต่งหน้ามาด้วย

ซึ่งเด็กสมัยปัจจุบัน เขามองอย่างนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเรา ต้องบอกนิดหนึ่ง แต่ผมคิดรวดเดียวเลย และผมเป็นคนที่จุกจิกกับเรื่องเสียงมาก ถ้าเกิดภาพมาแล้วเสียงไม่มา จะหงุดหงิด หรืออย่างดูงานของใคร บางทีถ่ายภาพสวย แต่เสียงเน่า ก็รู้เลยว่าคนนี้ไม่ใช่มืออาชีพ หรืออย่างเขียนผิด สะกดผิดนี่ไม่ได้เลย เห็นแล้วหงุดหงิดทันที ด้วยความที่ผมได้รับการปลูกฝังมาอย่างนั้นจนกลายเป็นสันดาน จนคนอื่นก็รำคาญ

ถ้าบอกว่าเรื่องมาก ผมก็ยอมรับ แต่ผมเรื่องมากในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วคนที่ทำงานกับผม เขาก็จะได้เรียนรู้ไปด้วย เพราะผมเคยเจอบรรณาธิการที่โหดมาก ทำให้ผมไม่ความสุขในการทำงาน แต่เมื่อมองย้อนกลับไป เขาเป็นคนที่ขับเคี่ยวให้เรามีมาตรฐานในการทำงาน

มาตรฐานสูงด้วย

สูงหรือไม่สูงให้คนอื่นพูด แต่ผมรู้ว่า ผมมีมาตรฐานของผมที่จะไม่ต่ำไปกว่านี้ เช่น ถ้าเห็นนักข่าวเขียนวงเล็บแล้วไม่เว้นวรรค ผมก็จะท้วง เรียกว่าเป็นโรคจิตอ่อนๆ แล้วกัน (หัวเราะ)

สัมภาษณ์ James Franco

และมุมมองของคุณ คนที่จะเป็นผู้สื่อข่าว ต้องมีพื้นฐานทางความคิดอย่างไร ?

คนที่เป็นนักข่าว ถ้าเห็นความอยุติธรรมในสังคม แล้วต้องตีแผ่ ต้องมีความกล้า ซึ่งไม่ได้บอกว่าผมมีนะ เพราะตัวเองก็ยังทำข่าวบันเทิง แฟชั่น แต่ในอุดมคติต้องเป็นอย่างนั้น แล้วสภาพแวดล้อมก็ต้องเอื้อด้วย แต่ถ้าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พูดไม่ได้ พูดแล้วโดนจับ บ้านก็ต้องผ่อน รถก็ต้องผ่อน ใครมันจะกล้าบอกว่า มองเห็นความอยุติธรรมในสังคม

แต่อย่างน้อยๆ ถ้าเห็นความไม่ยุติธรรม ต้องรู้สึกรำคาญใจ เอาเรื่องพื้นๆ เลยนะ อย่างเด็กทุกคนต้องมีสิทธิ์เรียนหนังสือเท่าเทียมกัน เพราะเด็กกับคนแก่ในสังคม ต้องได้รับความดูแล แต่ถ้าคุณยังมองไม่เห็นความไม่ยุติธรรมตรงนี้ ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นแล้ว

ที่ผมพูดมาไม่ได้หมายว่าวงการข่าวอเมริกาดีกว่าที่อื่นนะ เน่ามาก คือเทรนด์มันไปทางเน่า แต่ของดีก็มีอยู่ อย่างผมนั่งดู CNN America ดูไม่ได้เลย ถ้า CNN International ยังดูได้

แต่ CNN America มีแต่เอาคนมาด่ากัน เถียงกันข้างๆ คูๆ ก็รู้อยู่แล้วคนนี้เอียงซ้าย อีกคนเอียงขวา แล้วจะมาเถียงกันให้เสียเวลาทำไม คือ เราก็รู้อยู่แล้วว่าคนนี้มีมุมมองแบบนี้ คนนั้นมีมุมมองอีกแบบ แล้วให้เขามาตีกันเพื่ออะไร มันไม่มีประโยชน์

ประมาณว่า เน้นขายดราม่า

ใช่ เพราะละครต้องลงทุนสูง ข่าวลงทุนต่ำ ก็เลยเอาคนมาตีกันโดยที่ไม่ต้องเขียนสคริปต์ ได้เรตติ้ง เงินค่าโฆษณา ในขณะที่ละครต้องมีโปรดักชั่น มีการเขียนบท ถ้ามองว่าข่าวคือธุรกิจอย่างหนึ่ง ก็จะสบายใจขึ้น เขาก็ทำเพื่อความอยู่รอดแหละ แล้วเราก็ไปหาอย่างอื่นที่ประเทืองปัญญาดู ไม่ใช่ผมไม่อยากดูคนตีกัน ผมก็ชอบนะ แต่ผมไม่เลือกดูจากข่าว

และคุณคิดว่า สื่อจำเป็นต้องเป็นกลางหรือไม่ ?

แนวความคิดที่ว่า การเสนอข่าวต้องเป็นกลาง มันไม่ได้มาจากการที่ผู้สื่อข่าวอยากเป็นคนดี ถ้าว่ากันตามประวัติศาสตร์ ในสมัยสงครามกลางเมืองอเมริกา ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้  AP เป็นหนังสือพิมพ์เจ้าแรกที่บอกว่า ฉันเป็นกลาง เพราะฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ คิดกันคนละแบบ ฉะนั้นจะทำอย่างไรเขาถึงจะขายหนังสือพิมพ์ได้ทั่วประเทศ เขาก็ต้องเป็นกลาง นั่นคือเหตุผลทางเศรษฐกิจ

แล้วการที่บางสื่อประกาศตัวเลยว่า “ไม่เป็นกลาง เพื่อความถูกต้อง” คุณมีความเห็นอย่างไร ?

จริงๆ สื่อเอียงซ้าย เอียงขวา แล้วประกาศตัว ผมว่าดีมากเลย ชัดเจนไปเลย แต่ไอ้ที่เคลมว่าตัวเองเป็นกลางนี่ซิ ถ้ามันไม่เป็นกลางจริงๆ ผมว่าเป็นปัญหามากกว่า

ในอเมริกาก็มีนะ สื่อเอียงซ้าย เอียงขวา แล้วก็ประกาศอย่างชัดเจน อย่างบทบรรณาธิการของ The New York Times , The Washington Post เอียงซ้าย บทบรรณาธิการของ The Wall Street Journal , New York Post เอียงขวา แต่เขารายงานข่าวอย่างเป็นกลางนะ ขนาด The Wall Street Journal ที่ว่าเอียงขวาจัดๆ เวลารายงานข่าวก็เป็นกลาง แต่พอเป็นบทบรรณาธิการก็เอียงขวาชัดเจน

ฉะนั้นผู้อ่านต้องอ่านเยอะขึ้น เพื่อให้ได้เกิดความสมดุล สมมติคุณอ่านสื่อเอียงซ้าย ก็ต้องไปอ่านสื่อเอียงขวาบ้าง แล้วนำมาวิเคราะห์ไตร่ตรอง

แต่บางที มันก็ไม่ใช่ (หัวเราะ)

ทุกที่แหละ ไม่อย่างนั้น Fake News (ข่าวปลอม) มันจะเยอะเหรอ ฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนควรเรียนรู้ก็คือ การเช็คข่าว อย่างวันก่อนมีคนส่งไลน์ว่า ห้ามใช้โทรศัพท์ระหว่างตี 1 – ตี 3 เพราะจะมีรังสีอะไรไม่รู้ BBC รายงาน ถ้าบอกอย่างนี้ปุ๊บ เราก็เช็คที่ BBC ถ้าไม่มี ก็ข่าวปลอม

และมีข่าวหนึ่ง อเมริกายกเลิกวีซ่าประเทศในเอเชีย ส่งต่อกันเยอะมาก คำว่าเอเชีย ความหมายทางการทูตมันกว้างตั้งแต่ญี่ปุ่นยันอิสราเอล ซึ่งเป็นไปไม่ได้ สำหรับคนที่มีความรู้ก็ต้องเอะใจ แล้วพอดูชื่อสำนักข่าว ก็ไม่ระบุ แค่นี้ก็รู้แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง

ฉะนั้น ในยุคที่มีข่าวสารมากมาย คนอ่านก็ต้องเสพสื่ออย่างเท่าทัน

บางสื่อมีคุณภาพสูง บางสื่อมีคุณภาพต่ำ คนอ่านก็ต้องเรียนรู้ด้วย อย่างมีอยู่ช่วงหนึ่ง คนชอบพูดว่า ทำไมเกิดระเบิดที่ปารีส ถึงมีรายงานข่าว แต่ระเบิดที่ซีเรีย ที่เลบานอน ไม่มีรายงานข่าว เเต่จริงๆ เเล้วเขาก็รายงานทุกที่ คนอ่านไม่ดูเอง เบื่อมากเลยการโทษสื่อ เหมือนไม่รู้โทษใคร ก็เลือกโทษสื่อไว้ก่อน

สื่อดีๆ ก็มีเยอะแยะ เราเลือกให้เป็นเท่านั้น แล้วข่าวไหนจริงหรือปลอม ก็เช็คไม่ยาก เช็คจากสื่อหลัก 3 เเห่ง สมมติมีข่าวว่า เกาหลีเหนือถล่มเกาหลีใต้ อันดับแรกเช็ค The New York Times ปกติที่นี่จะรายงานข่าวช้ากว่าที่อื่น เพราะเขาไม่ยอมให้เกิดความผิดพลาด อันดับต่อมา เช็ค BBC อันดับสุดท้าย เช็คสื่อเอเชีย เช่นสื่อของจีน สื่อของไต้หวัน เป็นต้น

ในมุมมองของคุณ ที่วงการสื่อได้รับผลกระทบหนักติดต่อกันมาหลายปี มันถึงที่สุดแล้วหรือยัง หรือต้องมีการปรับตัวอีก ?

ถ้ารู้ผมคงรวยไปแล้วแหละ แต่ผมสามารถพูดได้เพราะบางอย่างตัวเลขมันออกมาแล้ว เช่น วงการหนังสือ ที่อเมริกานี่ดิ่งตลอด แต่เมื่อสัก 4- 5 ปีมานี้เริ่มเป็นเส้นขนาน แปลว่าไม่ลงไปกว่านี้แล้ว หนังสือรอดแล้ว พวกที่ปิดก็ปิดไป นี่หมายถึงหนังสืออ่านนะ ไม่ใช่นิตยสาร พ็อกเก็ตบุ๊กรอดแล้ว เพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังซื้อหนังสือ เด็กรุ่นใหม่อาจอ่านหนังสือน้อยลง แต่ก็ยังมีคนที่รักหนังสืออยู่

วิทยุ อยู่ได้ ตราบใดที่คนยังขับรถ หรือเปิดฟังในที่ทำงานบ้าง ส่วนทีวี คนดูน้อยลงจนน่ากลัว น่าใจหาย แต่ก็ยังเป็นสื่อที่มีอิทธิพลที่สุด อย่างเวลาวัดเรตติ้ง สมมติมี 63 ล้านคนดู Super Bowl ผ่านทีวี มันคือ 63 ล้านคน ต่อ 1 วินาที ส่วน YouTube นี่ 500 ล้านวิว แต่มันอาจเป็น 500 ล้านวิวตลอดกาล

ต่อวินาที ต่อตา ทีวียังชนะขาด ฉะนั้นใครที่บอกออนไลน์มันมาแน่ โอเคมันมาจริง แต่คนยังดูทีวีเยอะกว่า ถ้าเทียบกันต่อวินาที โฆษณาจึงยังโปะเงินไปที่ทีวี แต่อีกไม่ช้าคงมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้ เด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครดูทีวีแล้วนะ ตัวผมเองยังไม่ดูเลย พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ถึงแม้คนจะดูทีวีน้อยลง แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่เยอะอยู่ สื่อทีวีก็ถือว่ารอด

แต่สื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์ นิตยสาร) หายนะสุดๆ เพราะคนเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการอ่านไปเลย หนังสือซื้อแล้วเก็บ นิตยสารซื้อแล้วทิ้ง พอไม่มีโฆษณา ก็พัง เพราะโมเดลของนิตยสารไม่ได้อาศัยเงินจากคนอ่าน (อาศัยเงินจากโฆษณา) แต่บางหัวก็ยังอยู่ได้ เช่น The Economist ราคานิตยสารแพงมาก เพราะลูกค้าเป็นระดับพรีเมี่ยม จึงไม่ต้องพึ่งโฆษณา เท่าที่เห็นเป็นพียงหัวเดียวที่กำหนดราคาขายคุ้มกับค่าผลิต แต่นิตยสารหัวอื่นๆ กำหนดราคาต่ำ แล้วพึ่งงบจากโฆษณา พอไม่มีโฆษณา มันก็พัง

แต่ที่เกาหลีใต้ คนยังอ่านหนังสือเยอะนะ ผมไปเกาหลีมา 3 รอบ ภายในระยะเวลา 6 เดือน พบว่าโมเดลธุรกิจหนังสือของเขาน่าสนใจมาก ที่อเมริกา Barnes & Noble เคยเป็นร้านหนังสือที่ดังมาก ก่อนถูก Amazon ที่เริ่มต้นด้วยธุรกิจขายหนังสือออนไลน์ ตีตลาด แต่ที่เกาหลีใต้ เจ้าของร้านหนังสือ เป็นคนเดียวกับเจ้าของธุรกิจขายหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด จึงไม่ตีกัน และมีโปรโมชั่นต่างๆ ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกันอีกด้วย

ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจก็คือ Jeff Bezos เจ้าของ Amazon บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ก็เติบโตมาจากธุรกิจขายหนังสือออนไลน์

แต่ตอนนี้ Amazon ขยายไปไกลมาก ขายทุกอย่าง สากกะเบือยันเรือรบ กลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตมโหฬาร และเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว Jeff Bezos ซื้อ The Washington Post ถ้าไม่ซื้อ ก็มีแนวโน้มเจ๊ง

คือสื่อใหญ่ๆ ที่อเมริกา อย่าง The New York Times , The Washington Post , The Wall Street Journal , Los Angeles Times และ  Chicago Tribune จะคล้ายคลึงกันคือ ครอบครัวเดียวเป็นเจ้าของ และไม่นึกถึงเรื่องเงินนัก แต่จะให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของครอบครัว เพราะการทำข่าวไม่ใช่งานที่ทำเพื่อเงิน แต่เป็นงานเพื่อสาธารณประโยชน์ นี่พูดกันตรงๆ นะ ไม่ใช่ผมดัดจริต

เพราะฉะนั้น นายทุนที่เข้ามาทำธุรกิจด้านนี้ เขาหวังเเค่ให้พออยู่รอด ให้มีโฆษณาบ้าง แต่ต่อมาสื่อเก่าแก่ของอเมริกาก็ค่อยๆ ถูกซื้อ อย่าง Los Angeles Times ถูกซื้อโดย Chicago Tribune ส่วน The Wall Street Journal ถูก Rupurt  Murdoch ซื้อ ส่วน The Washington Post เป็นของครอบครัวเดียวมาตลอด กระทั่งขายให้ Jeff Bezos

The New York Times ยังเป็นของครอบครัวเดียวอยู่ กำลังจะเจ๊งแลไม่เจ๊งแล แต่เขาไม่ยอมขายสักที ซึ่งต้องยอมรับว่า คุณภาพหนังสือพิมพ์ของเขาดีมาก ก็มีข่าวลือว่า Bloomberg ซึ่งตอนนี้เป็นสำนักข่าวที่ใหญ่มาก ประสบความสำเร็จมหาศาล จะเข้ามาซื้อ

แต่ผมมองว่า ยังไงคนก็ต้องพยายามรักษา The New York Times เอาไว้ เพราะเป็นสื่อสุดท้ายจริงๆ ที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องธุรกิจก่อน

ตรงนี้ถ้ามองรวมๆ มันก็สะท้อนว่า นายทุนสื่อยุคเก่า หรือคนยุคก่อน ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็อาจสืบเนื่องมาจากอุดมคติของแต่ละยุคนั้น แตกต่างกัน

ก็เป็นไปได้ คนยุคเก่าในอเมริกา เทียบง่ายๆ เลย อย่าง George Bush ประธานาธิบดีบุช ผู้เป็นพ่อ กับ George W. Bush ประธานาธิบดีบุช ผู้เป็นลูก บุชผู้เป็นพ่อไปรบในสงครามโลก เครื่องบินตก เกือบตาย แต่ก็รอดมาได้ คือค่านิยมของคนสมัยก่อน พวกผู้ดีทั้งหลาย ยิ่งรวย ยิ่งต้องทำเพื่อประเทศชาติ

ส่วนประธานาธิบดีบุช ผู้เป็นลูก ถึงไม่ได้หนีทหาร แต่ก็ไม่ได้ไปรบจริงๆ แต่ Bill Clinton (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) นี่หนีทหารเลย มันคนละยุคกัน วิธีคิดก็จะต่างกัน อันนี้ผมไม่รู้ว่ามันส่งผลต่อวิธีคิดของวงการสื่อในยุคปัจจุบันด้วยหรือไม่

เมื่อก่อนสื่อมีอิทธิพลมาก พอโลกเปลี่ยน คนทั่วไปก็สามารถรายงานข่าวได้ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป สิ่งที่ทรงอิทธิพลจริงๆ ก็คือแพลตฟอร์มอย่าง Facebook , Google (YouTube) คุณมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มันดีหรือไม่ดีอย่างไร ?

ผมยังเชื่อในระบบการมีบรรณาธิการข่าว บางข่าวอาจไม่ต้องมีบรรณาธิการ เช่น ข่าวไฟไหม้ เเต่บางเรื่องมันต้องมีการเช็คแหล่งข้อมูล ซึ่งถ้าพูดถึง Facebook กับ Google (YouTube) มันเป็นเรื่องเงินมากกว่า ทำข่าวให้ตายยังไง ก็ถูกดูดไปหมด เพราะทุกคนเข้า Facebook

จากที่ Facebook ประกาศเมื่อต้นปี จะลด reach ของเพจต่างๆ คุณคิดว่า เพราะเขาต้องการส่งเสริมมิตรภาพระหว่างกลุ่มเพื่อนและครอบครัวของผู้ใช้ ตามที่กล่าวอ้าง หรือจริงๆ แล้วเพื่อบีบให้เพจต่างๆ ซื้อโฆษณา

Facebook ก็โดนโจมตีเยอะมาก ตอนนั้นเขาไล่คนในแผนกข่าวอออกหมดเลย Facebook ไม่มีแผนกข่าว แล้ว Facebook กับ Google มีความคล้ายกันตรงที่ว่า ไม่ค่อยสนใจคอนเทนต์ Google USA นี่ ผมไปทีไรก็คอมเพลนทุกทีว่า เมื่อไหร่จะจ้างคนทำคอนเทนต์ คุณผูกคอนเทนต์คนอื่นมาฟรีตลอด

เวลาเพื่อนจากเมืองไทยมาอเมริกา เขาก็ขอให้ผมพาไปดูงานที่ Google USA พอพาไป ผมก็ขอพูดหน่อยว่า ทำไมคุณไม่มีแผนกข่าว หรือจ้างคนทำคอนเทนต์ เพราะว่า Google ทำให้สื่ออื่นตาย แต่ไม่สร้างแหล่งข้อมูลขึ้นมาทดแทน

อย่าง Yahoo ก็ไม่รอด พยายามทำออริจินอลคอนเทนต์ ก็เจ๊ง แต่ Google มีเงิน ทำได้ ทำไมไม่ทำ ผมรู้สึกว่ามันไม่แฟร์

แต่สิ่งที่ Facebook กับ Google (YouTube) ทำ ก็เป็นการกระตุ้นให้คนทั่วไปสร้างคอนเทนต์ขึ้นมา

แต่มันไม่มีคุณภาพไง ไม่รู้นะ คนทั่วไปอาจไม่คิดแบบนี้ แต่ผมถูกสอนมาว่า ก่อนที่จะรายงานอะไร คุณต้องมีมากกว่าหนึ่งแหล่งข่าว มันสำคัญนะ ไม่เช่นนั้นใครก็ปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมาได้ ผมให้ความสำคัญกับตรงนี้ และสื่อที่ได้รับความเชื่อถือ เขาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าทุกวันนี้ มันไม่ทำเงิน

จะว่าไปแล้ว สถานการณ์ในปัจจุบัน แพลตฟอร์มอย่าง Facebook , Google มีอิทธิพลในระดับสามารถกำหนดทิศทางต่างๆ ให้กับโลกได้เลย

พอ Facebook ขยับเขยื้อน ก็เจ็บปวดกันหมด

สัมภาษณ์ Hugh Jackman

ในฐานะที่คุณอยู่นิวยอร์กมากว่า 20 ปี และปัจจุบันก็ยังอยู่ที่นั่น ถ้าไม่ถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองอเมริกา ก็คงกระไรอยู่ ซึ่งการที่ Donald Trump ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง ?

ประธานาธิบดี ไม่ได้เป็นแค่หัวหน้ารัฐบาล แต่คือประมุขของประเทศ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเขาเอียงซ้ายเอียงขวานะ แต่บุคลิกลักษณะท่าทาง การพูด มันไม่น่านับถือ ไม่มีความเป็นประธานาธิบดีที่สง่า

อย่าง Barack Obama หรือแม้กระทั่ง George W. Bush ผมก็ไม่ได้ชอบมากนัก แต่รู้สึกดีกว่า Donald Trump เยอะ อันนี้ไม่อยากพูดออกสื่อ เพราะทำให้ดูเหมือนผมเลือกข้าง แต่พอมาถึงยุคนี้แล้ว ผมไม่เข้าใจคนที่ชอบเขา มองเห็นอะไรถึงได้ชอบคนแบบนี้ คนที่พูดจาไม่ได้เรื่อง ไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษ แต่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำโลกได้

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยมากมาย เช่น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ เลือก Hillary Clinton ทำให้เธอได้คะแนน Popular Vote สูงกว่า Donald Trump แต่ผู้แทนรัฐส่วนใหญ่ เลือก Donald Trump ทำให้ Trump ได้คะแนน Electoral Vote สูงกว่า และก็เป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง ซึ่งว่ากันตามความเข้าใจทั่วไป ถ้า Hillary ชนะ Popular Vote ก็น่าจะชนะ Electoral Vote ด้วย   

อธิบายระบบนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การเลือกตั้งอเมริกา มันเหมือนการเล่นกีฬา คือมีคะแนนดิบ (Popular Vote) กับคะแนนเซต (Electoral Vote) Hillary เซตหนึ่งชนะแบบมโหฬาร แต่ Trump เซตที่เขาชนะ จะเป็นแบบสูสี แต่จำนวนเซตที่ชนะเยอะกว่า ผลก็เลยออกมาว่า Hillary ชนะคะแนนดิบ (Popular Vote) แต่ Trump ชนะในจำนวนเซต (Electoral Vote) แล้วการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วัดกันที่จำนวนเซต (Electoral Vote)

ในแต่ละรัฐก็มีคะแนนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร รัฐใหญ่คะแนนก็เยอะ เช่น แคลิฟอร์เนีย , ฟลอริดา และนิวยอร์ก Hillary แพ้ในรัฐขนาดกลาง อย่าง วิสคอนซิน , เพนซิลเวเนีย และ มิชิแกน แต่แพ้น้อยมาก ไม่ถึงหมื่นเสียง

กรณีนี้ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ที่ Al Gore ชนะคะแนน Popular Vote แต่แพ้ George W. Bush ในคะแนน Electoral Vote ทำให้ George W. Bush ได้เป็นประธานาธิดีสหรัฐฯ

แต่เหตุการณ์เเบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็น 100 ปีเลยนะ ก็มีการตั้งคำถามว่า ระบบนี้ยังเวิร์กหรือเปล่า ทุกๆ 4 ปี มีคนพูดตลอดว่าต้องแก้ แต่ก็ไม่ได้แก้สักที

แล้วในมุมมองของคุณ คิดว่าระบบนี้ยังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ ?

คุณก็ลองคิดดูซิว่า ถ้าระบบที่สร้างมากว่า 200 ปี ทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้แค่ 4 ครั้ง มันก็ยังโอเคอยู่หรือเปล่า

แต่ถ้าดูจากสถิติ มันก็ไม่ห่างกันมาก (การเลือกตั้งปี 2000 กับการเลือกปี 2016)

ก็แค่ 2 ครั้งเท่านั้นเอง ห่างกัน 16 ปี แต่ก่อนหน้านั้นมันไม่เกิดขึ้นเป็นร้อยปีเลยนะ ภายในระยะเวลากว่า 200 ปี เกิดขึ้น 4 ครั้ง อาจจะแปลว่าโอเค หรือไม่โอเค ก็ไม่รู้ แต่ถ้าจะแก้ ก็แก้ลำบากมาก เพราะว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อเมริกา เป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องผ่านสภาบน สภาล่าง แล้วรัฐ 2 ใน 3 ต้องโอเค แต่ถึงแม้รัฐ 2 ใน 3 โอเค รัฐเล็กๆ ก็ไม่ยอมหรอก เพระถ้าเอา Popular Vote อย่างเดียว รัฐเล็กๆ ก็จะเสียเปรียบ

มีกรณีแบบว่า คนในรัฐส่วนใหญ่เลือกคนนี้ แต่ผู้แทนรัฐกลับไปเลือกอีกคน หรือไม่ ?

มี แต่น้อย มันก็เป็นไปตามนั้นแหละ เป็นไปตามที่ประชาชนเลือก แต่สมัยก่อนมีกรณีเช่นนี้ เพราะเขากันไม่ให้พวกมาเฟียใช้อิทธิพลขู่บังคับผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ก็ต้องมี Electoral Vote เข้ามาคาน

ลองคิดดู ถ้ายึดเอาเฉพาะ Popular Vote ก็ต้องนับทุกๆ คะแนน แล้วมันเยอะมาก คนอเมริกันมี 320 ล้านคน คนมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งประมาณ 200 กว่าล้านคน คนออกมาใช้สิทธิ์ประมาณ 100 กว่าล้านคน แบ่งเป็นเมืองเล็กๆ เต็มไปหมด กว่าจะนับกันเสร็จ ก็ใช้เวลานานมาก

จากนโยบายของ Trump ที่เข้าข่ายกีดกั้นแรงงานต่างชาติ มันส่งผลกระทบกับคนเชื้อชาติอื่น ในอเมริกามากน้อยอย่างไร ?

ทุกวันนี้ยังสู้กันไม่จบ ศาลยังไม่ยอม ส่งกันไปส่งกันมา มันเป็นอะไรที่เมืองไทยอาจไม่เข้าใจ คือที่โน่น รัฐออกกฎหมายมา มันค้านกันไปค้านกันมาได้ สุดท้ายไปจบที่ศาล อย่างนโยบายนี้ออกมาโดยฝ่ายบริหารคือ Trump ก็มีผู้ร้องไปที่ศาล คือมีการคานอำนาจกันและกัน

นโยบายเรื่องนี้ของ Trump มีคนไม่เห็นด้วยเยอะมาก เพราะขัดกับความเป็นอเมริกา ที่เป็น Land of the free นี่คือประเทศแห่งเสรีภาพ เสาหลักอเมริกาคือเสรีภาพ แต่นโยบายของ Trump ขัดหลักการของประเทศ เพราะฉะนั้น ไม่มีใครรับได้หรอก

ถ้าลองวิเคราะห์กัน แนวคิดของ Trump นี่ ถึงระดับนีโอนาซี หรือไม่ ?

การกล่าวหาว่าใครเป็นนีโอนาซี มันเป็นเรื่องใหญ่ คนพวกนี้มีอยู่จริง แต่ว่าคนที่เชื่ออย่างนั้นมีน้อยมาก จะกระจุกอยู่ในรัฐทางภาคใต้ คือคนส่วนใหญ่ไม่มีใครออกมายอมรับหรอกว่าเป็น นีโอนาซี ในอเมริกาเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมเขา

เรื่องสีผิว เรื่องฮิตเลอร์ พูดมั่วๆ ไม่ได้ คือถ้าคุณกล้าบ้าได้ขนาดนี้ ก็ต้องเสี่ยงตีน เสี่ยงตำรวจ เพราะสังคมเขาตีกันมาร้อยกว่าปีจนกระทั่งทุกวันนี้ ก็คือเรื่องสีผิว ฉะนั้นคุณจะมาพูดมั่วซั่วไม่ได้

แต่ทรัมป์ มีวิธีส่งซิกให้พวกที่มีแนวคิดอย่างนี้ออกมาเลือกเขา เขาหาเสียงด้วยการกระตุ้นความกลัวของคนขาวในเมืองเล็กๆ แล้วคนพวกนี้ก็ออกมาเลือกเขา

ถ้าบอกว่า Trump มีแนวคิดแบบนีโอนาซี อาจเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินไป แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือ Trump มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว หรือ ขวาสุดโต่ง และในสองถึงสามปีมานี้ก็เกิดปรากฏการณ์ที่พรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยม (ซึ่งอาจไม่ถึงขั้นขวาสุดโต่ง) ได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารในหลายๆ ประเทศ ตรงนี้คุณมองว่า มันส่งสัญณาณถึงทิศทางของการเมืองระดับโลก อย่างไรบ้าง ?  

ผมก็ไม่รู้นะ อย่างในยุโรปมันก็มีมานานแล้ว พวกขวาสุดโต่ง หรือว่าที่อังกฤษ ก็มีมาเป็นระยะ แต่ว่าในอเมริกา พวกขวาสุดโต่งจริงๆ จะมาไม่ถึงระดับประธานาธิบดี จะถูกเขี่ยออกไปก่อน เพราะต้องมีการเลือกกันในพรรคก่อน แต่ Trump หลุดเข้ามาได้ แสดงว่าบางอย่างในพรรครีพับลิกัน มันไม่เวิร์ก

สัมภาษณ์ Kate Hudson

ในช่วงเวลาที่ทำการสัมภาษณ์เฉลิมพล ตอนนั้นยังอึมครึมว่าการประชุมสุดยอดผู้นำ ระหว่าง Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ Kim Jong – Un ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ กระทั่งต่อมาทั้งสองได้พบกันเป็นครั้งแรกและจับมือกัน ในวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา ก็กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ทั้งคู่ได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก

ซึ่งในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรง และหนักหน่วง เป็นยุคที่ยากยิ่งในประเมินหรือคาดการณ์ การปรับตัวให้เท่าทัน แม้เป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น และหากต้องการก้าวไปไกลกว่านั้น บททดสอบที่หฤโหดก็จะถาโถมเข้ามาราวกับห่าฝน ดังเรื่องราวที่เฉลิมพลได้ถ่ายทอดมานี้ ที่กว่าเขาจะก้าวขึ้นมายืนในระดับแนวหน้าของวงการข่าวที่นิวยอร์กได้ ก็ต้องทุ่มเท เรียนรู้ ฝึกฝน และอดทนในระดับโคตรคนอึด

เเต่เมื่อผ่านพ้นไปได้ พอมองย้อนกลับไปก็จะเห็นว่า ประสบการณ์ในช่วงเวลาสุดโหดหิน ที่ก่อให้เกิดคราบน้ำตา และบาดแผลนับไม่ถ้วน ก็คือบททดสอบเพื่อพิสูจน์ว่า เราคู่ควรในการขึ้นไปยืนอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการนั้นๆ ได้หรือไม่

โดยทุกวันนี้ นอกจากการเป็นผู้สื่อข่าวอิสระในนิวยอร์กเเล้ว เฉลิมพลยังเป็นผู้บรรยายพิเศษให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯ เเละไทย เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ เเละเคล็ดวิชา ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นเป็นคนข่าวระดับคุณภาพต่อไป 

ถ่ายภาพโดย กนก สุพนารักษ์

ขอบคุณ คุณนนทลิกานต์ สุริยวัฒน์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า