Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

จากเส้นทางของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม เบนมาสู่ถนนสาย Computer Graphic แม้จะดูเป็นการตัดสินใจที่หักมุมไม่น้อย แต่นี่ก็คือสิ่งที่ทำให้ ‘ธัชพล เลิศวิโรจน์กุล’ หรือ ‘ช้าง’ กลายมาเป็นหนึ่งในทีมงานของสตูดิโอแอนิเมชันระดับโลก อย่าง Sony Pictures

เขาเล่าว่าเริ่มสนใจด้าน Computer Graphic มาตั้งแต่สมัยเรียน หลังจากเรียนจบก็ค้นพบว่ายิ่งชอบทางนี้ จนตัดสินใจไปเรียนต่อด้าน Computer Art ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะคว้ารางวัล Student Academy Awards จากออสการ์มาด้วยการส่งประกวดผลงานธีสิสของตัวเอง

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขากลายมาเป็นฟันเฟืองคุณภาพแห่งวงการแอนิเมชัน ที่ฝากผลงานดังๆ ประดับวงการ Hollywood ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Cloudy with a Chance of Meatballs, Alice in Wonderland, Hotel Transylvania ล่าสุดกับ Spider – Man into the Spider-Verse ที่เพิ่งคว้ารางวัล ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม จากเวทีลูกโลกทองคำ และเวทีออสการ์ ครั้งที่ 91 ก็มีเขาเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้

 

คุณเข้าไปทำงานกับ Sony Pictures ได้อย่างไร

จริงๆ ก่อนหน้านั้น พอจบมาเราทำงานในบริษัทโฆษณาก่อนนะครับ เป็นบริษัทในนิวยอร์ก ทำอยู่เกือบๆ 2 ปี ระหว่างนั้นเราก็เอาธีสิสที่เราเคยทำตอบเรียนจบส่งประกวดตามงานเทศกาลหนังไปด้วย พอดีมันได้รางวัลที่มีหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ที่เป็น Vice President ของ Sony เขาก็เลยชวนเราไปสัมภาษณ์ ตรงนั้นมันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้ทำงานกับ Sony Pictures ครับ

 

ประสบการณ์ทำงานในองค์กรอย่าง Sony Pictures เป็นอย่างไร

ช่วงแรกก็ปรับตัวเยอะครับ คือมันต้องย้ายเมืองจากนิวยอร์ก ไปอยู่ LA ด้วย อาทิตย์แรกอยากกลับบ้านมาก (หัวเราะ) คือตอนอยู่บริษัทโฆษณา มันเป็นบริษัทเล็ก เราก็ยังใช้โปรแกรมที่เราคุ้นเคยใช่ไหม แต่พอเข้าไปในบริษัทที่มันสเกลใหญ่ขนาดนั้น เขาเขียนโปรแกรมใช้กันเอง มีเครื่องมืออะไรเป็นของตัวเองหมดเลย แล้วเราต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด

ตอนนั้นด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องการทำงาน มันเหมือนจับเราโยนลงน้ำ โดยที่เรายังว่ายน้ำไม่เป็น ช่วงแรกก็เลยเป็นอะไรที่ลำบากเหมือนกัน แต่ว่าพอทำไปสักพักมันก็โอเคนะ เราก็เริ่มชอบระบบของเขา ส่วนเรื่องคน เราว่าทุกบริษัทมันก็มีทั้งคนที่นิสัยดีและไม่ดี แต่ที่ Sony ยิ่งเป็นคนเก่งมากๆ เรารู้สึกว่าเขาจะยิ่งอีโก้ต่ำ ยิ่งถ่อมตัว ซึ่งมันเป็นอะไรที่เราชอบมาก รู้สึกว่าทำงานด้วยแล้วมันแฮปปี้ ไม่ได้มีแต่คนมาเบ่งกล้ามใส่

คุณรับผิดชอบงานส่วนใหนในบริษัทนี้

ทำ Lighting เป็นหลักครับ ตรงนี้มันจะเป็นแผนกนึงที่จะเริ่มทำงานหลังจากที่เราได้ตัวละคร หรือได้ฉากที่เขาทำเสร็จมาแล้ว เพราะทีแรกมันจะเป็นตัว 3 มิติ ที่ยังไม่มีแสงเงาอะไรเลย เราก็เอามันมา Lighting ต่อ ก็คือมาจัดแสง ใส่สี ใส่เงาให้มันเข้ากับอารมณ์ของภาพ อารมณ์ของเนื้อเรื่อง ในกรณีที่เป็นแอนิเมชัน หรือถ้าเป็น Visual Effect ในหนัง เราก็ต้องทำให้มันเหมือนกับฟุตเทจที่เขาถ่ายมา

จริงๆ แล้วมันก็คือการเล่าเรื่องแบบหนึ่งนะครับ แต่เป็นการเล่าเรื่องด้วยเครื่องมือของเรา ซึ่งก็คือ สี แสง เงา ถ้าเป็นแอนิเมชันเขาก็จะเล่าเรื่องด้วยการเคลื่อนไหว ท่าทางอะไรอย่างนี้ แต่สุดท้ายมันก็จะต้องเอามารวมกัน เพื่อให้ได้งานที่สมบูรณ์ขึ้นอยู่ดี

 

อะไรคือความท้าทายของการ Lighting ในงานแอนิเมชันและงานภาพยนตร์

มันก็ท้าทายตรงที่ เราจะทำยังไงให้ฉากนี้มันส่งผลต่อความรู้สึก ทำให้คนดูรู้สึกเข้าไปถึงความหมายที่เราอยากจะสื่อในช็อตนั้นๆ การ Lighting ที่ดี คือการสื่อสารกับคนดูได้ เพราะบางทีช็อตนึงมันแค่ 20 กว่าเฟรม ใช้เวลาประมาณ 1 วิ หรือบางทีก็น้อยกว่านั้นอีก คนดูที่ดูจอขนาดใหญ่ๆ เขายังไม่ทันจะเห็นรายละเอียดอะไรเลย แล้วเราจะทำยังไงให้เขาดูปราดเดียวแล้วเข้าใจความหมายของช็อตนั้นว่ามันน่ากลัว เหงา ร่าเริง เป็นทุกข์ มีความสุข มันดูเป็นนามธรรมหมดเลย แต่ตรงนี้ล่ะที่เราใช้เครื่องมือของเราเข้ามาช่วย

สมมติมีโจทย์มาว่า ฉากนี้ขอแบบหดหู่ ภาพที่ได้คือตัวละคร 2 คนกินข้าวกันอยู่ที่โต๊ะ เขาเจออะไรหนักๆ มาทั้งชีวิต มันก็อาจจะแบบ ไฟดวงเดียว สีส้มอ่อนๆ อยู่กลางโต๊ะ แล้วที่เหลือเป็นบรรยากาศมืดๆ นึกภาพแล้วดูหดหู่ยัง เราก็จะลองจัดแสงอารมณ์ประมาณนี้ ไปให้เขาเลือกว่าแบบไหนมันสื่อที่สุด

 

ฟังดูเหมือนจะเป็นการทำงานศิลปะ มากกว่างานเชิงเทคนิค

ใช่ครับ มันไม่ใช่แค่เชิงเทคนิค ค่อนข้างจะเป็นเชิงศิลปะมากกว่า เพราะเราคาดหวังผลตอบรับเชิงอารมณ์ แต่มันก็มีความเป็นเทคนิคนะ เพราะมันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย บางทีก็มีปัญหาเหมือนกันว่าแสงแบบนี้ ทำออกมาแล้วมันเรนเดอร์ไม่ได้ คือเราก็ต้องมีความรู้เชิงเทคนิคเหมือนกัน มันก็เลยเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งความรู้วิทย์และศิลป์

เล่าถึงการทำงานใน Spider – Man into the Spider-Verse ให้ฟังหน่อย

ตัวสไปเดอร์แมน มันเป็นโปรเจกต์ที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมกับทีมตอนหลังครับ คือตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีสัญญาอะไรกับ Sony แล้ว แต่เพราะเราสนิทกับหลายคนที่นั่น ตั้งแต่สมัยที่มันยังเป็นบริษัทเล็กอยู่ 600 – 700 คน นี่เล็กไหมนะ เอาเป็นว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วมันเล็กกว่านี้ เราก็เลยยังมีโอกาสได้ร่วมงานกันอยู่เรื่อยๆ ก็บินไปบินมา

ทีนี้ เราก็รู้ว่ามีเพื่อนคนนึงที่เขาคิดจะทำแอนิเมชันสไปเดอร์แมน แต่เป็นสไตล์ใหม่ ตอนแรกเราก็ยังไม่ได้สนใจหรอก แต่พอเห็นตัวอย่างแรกคืออึ้งเลย เรารู้นะ ว่าเพื่อนที่ Sony มันเก่ง แต่อันนี้มันทำยังไงวะ เราอยากรู้เพราะมันแปลกใหม่มาก คืนนั้นก็เลยอีเมลหาเพื่อนว่า เฮ้ย ทำถึงไหนแล้ว เราสนใจ วันต่อมาเขาก็ตอบกลับมา พอคุยกันเรื่องสัญญาอะไรเรียบร้อย เราก็บินไปร่วมงาน

 

ช่วยขยายความคำว่า ‘สไตล์ใหม่’ ของ Spider – Man into the Spider-Verse 

เรื่องนี้มันจะมีคำที่เรียกว่า Visual Language ก็คือภาษาภาพแบบใหม่ แต่ว่ามันก็ไม่ใช่แค่อยากจะแปลกแล้วถึงทำนะ เวลาเราจะคิดภาษาขึ้นมาสักภาษานึง นอกจากคำศัพท์ มันก็ยังจะมีแกรมมาร์ มีหลักการของมันใช่ไหม ตัวสไปเดอร์แมนภาคนี้ มันก็มีภาษาภาพของตัวเอง

อธิบายคร่าวๆ คือปกติแอนิเมชันทั่วไป เวลาเราแบ่งภาพออกเป็น 3 โทน คือ ไฮไลต์ มิดโทน ชาโดว์ มันก็จะเป็นการเกลี่ยสีจากขาวไปดำ แต่สไปเดอร์แมน ถ้าไฮไลต์ มันจะเป็นจุดเรียงกัน ถ้าเป็นมิดโทนก็จะเป็นกากบาท ส่วนตัวชาโดว์มันจะเป็นเส้นเฉียงๆ ที่เขาเรียกว่า halftone อันนี้ก็คือตัวอย่างนึงของแกรมมาร์ที่เขาคิดมานะ แต่จริงๆ มันจะยังมีรายละเอียดอีกเยอะครับ ถ้าลองกลับไปย้อนดูจะรู้ว่ามันไม่เหมือนอะไรที่เราเคยเห็นกันมาก่อน

แล้วคุณเข้ามามีส่วนร่วมในภาพยนตร์ ‘รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน’ ได้อย่างไร

คือผมเรียนสถาปัตย์ฯ รุ่นเดียวกับ โจ้ วิรัตน์ ผู้กำกับเรื่องนี้ครับ อันนี้บอกเลยว่าถ้าเพื่อนไม่มาชวนก็ไม่คิดเหมือนกัน ว่าจะได้มาทำหนังแนวนี้ ตอนนั้นเรายังอยู่ที่แคนาดา โจ้มันก็ทักมาว่า เออ มีช็อต CG สนใจไหม คือเราก็พอรู้อยู่แล้วว่าโจ้มันไม่ทำหนังยอดมนุษย์หรอก มันก็คงไม่ได้เป็น Visual Effect จ๋าอะไรขนาดนั้น แต่ว่าเราว่าคนที่ทำงานมาสักพัก มันจะโหยหาการทำงานกับเพื่อนนะ มันเหมือนเราได้กลับไปอยู่ในวัยเรียนอีกครั้ง เหมือนทำงานกลุ่มอีกรอบน่ะครับ แล้วเราเคยได้ดูหนังเรื่องแรกของโจ้ เรื่องยอดมนุษย์เงินเดือนมาก่อน ก็รู้สึกว่ามันเป็นหนังไทยที่มันดูแล้วมีไอเดียอะไรในนั้นนะ โอเคมันเป็นหนังตลก ฟีลกู๊ด แต่ว่ามันก็ได้แนวความคิดอะไรบางอย่างไปเหมือนกัน ส่วนตัวเราก็คิดว่าเรื่องนี้พล็อตมันก็น่าสนใจ แล้วก็มีกิมมิคในสไตล์หนังของโจ้อยู่

 

ในภาพยนตร์ ‘รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน’ จะได้เห็นงาน CG เยอะไหม

จริงๆ มันก็ไม่ได้เยอะครับ ต้องบอกก่อน หนังมันไม่ได้มี Visual Effect หนักๆ อะไรขนาดนั้น แต่ช็อตที่เราทำ มันก็ช่วยทำให้ฉากนั้นมันดูแตกต่างออกไปได้ ผ่านการเล่าเรื่องที่มันตลก โอเวอร์ๆ ตามสไตล์โจ้ เราว่ามันก็เป็นอะไรที่ช่วยให้หนังมันดูสนุกขึ้นได้นะ แล้วก็อาจจะมีบางช็อตเหมือนกันที่คุณอาจจะไม่รู้สึกว่ามันมี CG แต่จริงๆ มันมี CG อยู่ เพราะว่าโจทย์ของ Visual Effect จริงๆ มันคือการทำ CG ให้คนไม่เห็นอยู่แล้ว

 

ในฐานะที่เปิดบริษัทด้าน Computer Graphic คุณมองวงการนี้ในไทยอย่างไร

ตัวบริษัทเราเพิ่งเปิดได้ประมาณปีนึงนะครับ แต่ก่อนนี้ก็มีไปร่วมงานในโปรเจกต์ของคนไทยหลายเรื่องอยู่ อย่าง 9 ศาตรา ก็เป็นหนึ่งในนั้น แล้วก็มีเพื่อนที่ทำบริษัทด้านนี้อยู่เหมือนกัน จริงๆ ถ้าพูดในแง่คุณภาพ มันดีขึ้นเยอะ ถ้าเทียบกับสมัยก่อน แต่หลายๆ เทคนิคเราอาจจะยังไม่อัปเดตเท่าเขา ด้านทักษะก็ใช่ว่าเราจะเทรนด์ไม่ได้ แต่ถ้าให้มองภาพใหญ่กว่านั้น มันอาจจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่ หรือรัฐบาลเท่าไหร่ ก็เลยทำให้วงการนี้มันยังเคลื่อนไหวได้ช้า

 

อุตสาหกรรม CG ทำไมถึงต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน

สมัยที่เราเริ่มงานกับ Sony ก็คือช่วงปี 2008 ตอนนั้นอุตสาหกรรม CG ที่ใหญ่ที่สุดก็คืออเมริกา แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วนะครับ แคนาดา ออสเตรเลีย อังกฤษ ก็เริ่มใหญ่มากแล้ว และที่มันโตได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ นึกจะโตก็โต แต่จริงๆ มันเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลในประเทศพวกนี้เขามีการสนับสนุนด้วย อย่างเดี๋ยวนี้สาขาใหญ่ของ Sony ก็ย้ายไปอยู่ที่แคนาดา มันก็ไม่ใช่แค่ว่าคนแคนาดาเก่ง อุตสาหกรรมนี้ถึงโต แต่เพราะมันมีการผลักดันในตัวเลขที่ใหญ่กว่า ก็คือภาครัฐ ที่ออกนโยบายมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจนี้ มันถึงจะมีการเคลื่อนไหวในภาพที่ใหญ่ขึ้น ถ้าอยากให้วงการนี้ในบ้านเรามันโต เราก็ยังต้องการแรงสนับสนุนของนักลงทุน หรือภาครัฐอยู่ดี

มุมมองที่หลายคนมีต่อ CG จำเป็นต้องเปลี่ยนด้วยไหม

ก็ต้องเปลี่ยน คือเรามองว่าหลายคนยังมอง CG เป็นแค่การแก้ปัญหาอยู่ อันนี้เราเคยได้ยินกับหูเลย แบบถ่ายมาก่อน เดี๋ยวค่อยเอา CG มาช่วย อันนี้ถ่ายมาไม่ดี ค่อยเอา CG มาซ่อม จริงๆ แล้วมันไม่ใช่นะครับ ถ้าคุณวางแผนจะใช้ CG ในฉากนี้ คุณต้องเอาคนที่มีความรู้ด้าน CG ไปดูตอนถ่ายเลย เพราะว่าการจะทำให้มันเหมือนได้ เราต้องเก็บข้อมูลตั้งแต่ตอนถ่าย หลายคนยังมอง Visual Effect เป็นเรื่องเสริมอยู่ เราก็เลยยังไม่ค่อยเห็นหนังที่ใช้ Visual Effect จ๋าๆ ในบ้านเราเท่าไหร่นัก

เรื่องราคาที่ให้กัน ก็ถือว่าต่ำอยู่ด้วย เรามีเพื่อนที่ทำ Visual Effect ในหนังไทย พอรู้เม็ดเงินที่เขาได้ เรางงเลยว่ามันจะไปอยู่ได้ยังไง คือต่ำมาก พอคุยกันก็เข้าใจว่ามันเป็นการควักเนื้อเพื่อที่จะได้พอร์ต ได้ผลงาน เพื่อไปรับงานต่างประเทศ แต่มันก็แสดงว่าเขาก็ไม่ได้อยากอยู่ในตลาดนี้ถูกไหม เพราะราคาแบบนี้ก็อยู่ไม่ได้ อันนี้เราก็บอกเพื่อนไปเหมือนกันว่า แบบนี้มันก็ผิด เพราะเขาอาจจะทำให้คนทำหนังเข้าใจว่าราคานี้มันก็ทำได้ ก็มีคนทำมาแล้ว แล้วเขาก็จะไม่ยอมจ่ายมากกว่านี้

วงการ CG ไทยต้องการอะไรเพื่อให้เติบโตไปมากกว่านี้

ต้องบอกก่อนว่าที่จริงบ้านเรามีบริษัทที่มีฝีมืออยู่นะครับ คนไทยเก่งๆ ที่ทำงานอยู่ในบริษัทต่างชาติก็เยอะ คือเราไม่ได้ขาดคนมีฝีมือเลย แต่เหมือนเรายังต้องการอะไรบางอย่างที่จะมาจุดประกายวงการนี้ ปีที่ผ่านๆ มาเรามีแอนิเมชัน 9 ศาสตรา ใช่ไหมครับ เรื่องนี้ผมก็มีส่วนร่วมด้วย ก็ถือว่าทำได้ดีนะครับในตัวผลงาน แต่ก็ลงทุนเยอะ ในแง่รายได้ก็เลยถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่

คืออย่างตัวเราเองก็รู้ศักยภาพตัวเองนะ ว่าตอนนี้คงยังไม่ถึงกับทำ Feature Animation เต็มรูปแบบ แต่ก็ยังอยากทำแนวๆ Short Animation สักเรื่อง ไม่เน้นขาย แต่ลงทุนไม่สูงมาก แล้วก็ลองส่งประกวดดู เพราะถ้าเราได้รางวัลระดับโลกมาสักรางวัล อย่างออสการ์ก็มี สาขา Short Animation นะครับ ถ้าได้อะไรพวกนี้มา มันก็จะเหมือนเป็นไม้ขีดก้านแรก ที่จุดประกายวงการนี้ให้อะไรหลายๆ อย่างมันตามมา

ภาพ:  ณัฐสัญญ์ นัดสถาพร

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า