Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

  • การเชื่อมโยงนวนิยาย กับแบรนด์เสื้อผ้า
  • คาแรคเตอร์มาเก็ตติ้ง คนดีที่กวนตีน
  • ช้าแต่ไม่ชุ่ย
  • คุณภาพของสินค้าต้องดีก่อน
  • ศาสนาเพื่อน และศีล 4 ข้อ
  • ที่มาของชื่อ พันธุ์หมาบ้า
  • มีตัวตน แต่ไม่ยึดติด

“พันธุ์หมาบ้า” คือนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวมิตรภาพระหว่างผองเพื่อนได้อย่างลึกซึ้ง และสมจริง จนได้รับความนิยมราวกับเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของวัยรุ่นยุคหนึ่ง และยังสืบเนื่องถึงยุคต่อๆ มา เป็นผลงานของ “ชาติ กอบจิตติ” หรือที่คนในวงการหนังสือเรียกขานว่า “น้าชาติ” ที่ล่าสุดตัดสินใจลุยธุรกิจเสื้อผ้าอย่างเต็มตัว และนำ “พันธุ์หมาบ้า” มาใช้เป็นชื่อแบรนด์

สินค้าของแบรนด์นี้มีคาแรกเตอร์ของน้าชาติที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อโปโลเทคนิค garment dye ที่ให้ฟิลลิ่งดิบๆ แต่แฝงความละเมียดละไม หรือกางเกงยีนส์ที่มีลายสกรีนชวนคิดลึก ทั้งรูปใบไม้ (มั้ง) และเปลือกลูกอม (หรือเปล่า) ก็สะท้อนถึงอารมณ์ขันในแบบฉบับของเขา ราวกับน้าชาติกำลังนำเสนอพันธุ์หมาบ้าในรูปลักษณ์ใหม่ ที่ไม่ใช่การอ่าน แต่ทว่าต้องสวมใส่

จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้เกิดขึ้นเมื่อ 3 – 4 ปีที่แล้ว โดยน้าชาติร่วมกับผองเพื่อนและน้องๆ ทำเสื้อยืด ก่อนตัดสินใจดำเนินการเอง และขยับขยายไปยังสินค้าอื่นๆ อีกเพียบ ปัจจุบันมีวางขายในหลายจังหวัด ทั้งในแบบตัวแทนและสาขา โดย “พันธุ์หมาบ้า สถาน” ที่ตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์ ซึ่งนอกจากเป็นโชว์รูมแล้ว ยังมีโซนหนังสือ และลานกิจกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินในแขนงต่างๆ มาปล่อยของสำแดงพลัง

ในแวดวงหนังสือ น้าชาติได้พิสูจน์ตัวเองจนเลยคำว่าประสบสำเร็จไปแล้ว โดยได้รับรางวัลซีไรต์จาก “คำพิพากษา” ในปี 2525 ต่อมาในปี 2537 เขาก็กลายเป็นนักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์คนแรก จากเรื่อง “เวลา” ซึ่งมีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ทำได้ และในปี 2547 น้าชาติก็ได้รับการเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

ส่วนในแง่เงินๆ ทองๆ นวนิยายของน้าชาติก็อยู่ในระดับขายดี และขายได้อย่างต่อเนื่อง สวนกระแสความเชื่อที่ว่า “หนังสือดีมักขายยาก” โดยเฉพาะพันธุ์หมาบ้า มียอดพิมพ์สูงถึง 28 ครั้ง หลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ

และในวันนี้ เมื่อพันธุ์หมาบ้า นวนิยายที่หลายคนผูกพันเป็นพิเศษ (โดยเฉพาะวัยรุ่นยุค 80 และ 90) ได้กลายมาเป็นแบรนด์เสื้อผ้า จากการปลุกปั้นของผู้เขียนเอง ทำให้เหล่าแฟนพันธุ์แท้รู้สึกราวกับว่าได้เจอะเจอเพื่อนเก่า ทั้ง อ็อตโต้ , ทัย , ชวนชั่ว และเล็กฮิป ฯลฯ ซึ่งจากการพูดคุย สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์รู้สึกได้อย่างชัดเจนก็คือ การสร้างแบรนด์ในแบบ คาแรคเตอร์มาเก็ตติ้ง ที่นำเสนอตัวตนของ ชาติ กอบจิตติ ในนิยาม คนดีที่กวนตีน เพื่อเชื่อมโยงพันธุ์หมาบ้าในเวอร์ชั่นนวนิยายกับแบรนด์เสื้อผ้า ให้เป็นหนึ่งเดียว

“เขียนหนังสือ ก็มีตัวตนของเราอยู่ พอมาทำเสื้อผ้า ตัวตนของเราก็อยู่ในนั้น เพราะเป็นงานที่เราทำไง…คาแรคเตอร์พันธุ์หมาบ้า เป็นคนดี แต่กวนตีน คนดีในแง่คุณภาพดี เสื้อผ้าดี แต่ไม่เหมือนชาวบ้าน เวลาทำอะไรก็จะแตกต่างออกไป เพราะถ้าเราเหมือนชาวบ้าน เราสู้เขาไม่ได้ เพราะทุกคนเป็นคนดีหมด

“ทางใครทางมัน ไม่มีใครถูกใครผิด เพียงแต่ว่าจะให้เราไปทำอย่างเขา เราทำไม่เป็น ถึงทำเป็น ก็ไม่ทำ หรือให้เขามาทำอย่างเรา เขาอาจไม่อยากทำ ทำอย่างเรามันช้า เพราะเรื่องมันเยอะ อย่างเขียนหนังสือเราเขียนเฉพาะเรื่องที่อยากอ่าน เขียนเฉพาะเรื่องที่คิดว่ามันดี เราไม่ได้ดูถูกดูแคลนนะ แต่จะให้ไปเขียนเรื่องชิงรักหักสวาท เราไม่อยากทำ ถ้าเจ๊งก็ไม่เสียใจ เพราะว่าทำในสิ่งที่เราชอบ แต่ถ้าไปทำในสิ่งที่เราไม่ชอบแล้วเกิดเจ๊งด้วยนี่ ไม่คุ้มเลย”

โดยสิ่งที่น้าชาติเน้นย้ำก็คือ เขาไม่ได้ทำธุรกิจแฟชั่น แต่ทำธุรกิจเสื้อผ้าที่มีรสนิยม เป็นแนวคลาสสิก ไม่หวือหวา แต่ก็ไม่เชย ใส่ได้เรื่อยๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นโลโก้การันตีความเป็นชาติ กอบจิตติ นั่นก็คือ “ความเนี้ยบ” โดยงานเขียนของน้าชาติเป็นที่เลื่องลือในด้านนี้ ดังที่เขามักกล่าวบ่อยๆ ว่า “ช้าแต่ไม่ชุ่ย” และเมื่อมาทำแบรนด์เสื้อผ้า น้าชาติก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในลำดับต้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น เสื้อโปโล เขาเลือกใช้เทคนิค garment dye ที่มีกรรมวิธีค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องนำผ้าดิบมาตัดเป็นเสื้อก่อน แล้วจึงนำไปย้อมสี ต่างจากการผลิตเสื้อทั่วไปๆ ทำให้ช่วงแรกต้องทิ้งเสื้อไปเป็นจำนวนมาก กว่าจะได้คุณภาพตามที่ต้องการ

“เรามองลูกค้าเป็นเพื่อน เหมือนทำให้เพื่อนใส่ อย่างเทคนิค garment dye เขาไม่ทำกันแล้ว (เพราะทำยาก) แต่เทคนิคนี้จะทำให้ได้เนื้อผ้าที่ดีที่สุด เราก็ต้องศึกษาว่า ผ้าคอตตอนเบอร์อะไรถึงจะนำมาทำเสื้อในเทคนิคนี้ได้ แล้วจะย้อมอย่างไร มันก็สนุกตรงที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เห็นไหม เราเขียนหนังสือ แต่มารู้เรื่องนี้อีก เพราะว่ามันคืองานไง

“หรืออย่างที่เขาพูดว่า ‘หนังสือดี ขายไม่ได้’ ไม่ผิดหรอกที่คิดอย่างนั้น แต่เราว่าหนังสือต้องดีก่อน สินค้าต้องดีก่อน นี่คือพื้นฐานของทุกอย่าง ขายได้ไม่ได้อีกเรื่อง แต่ถ้าสินค้าไม่ดี คนซื้อไปเขาก็ด่า เขาก็ไม่ซื้ออีก ฉะนั้นตัวสินค้าต้องดีก่อน”

แม้ก่อนหน้านั้นน้าชาติเคยเขียนเปรยในเพจว่า ไม่อยากให้ตัวเองไปผูกติดกับแบรนด์สินค้ามากเกินไป ด้วยเกรงว่า ในระยะยาวจะมีปัญหา และต้องการให้พันธุ์หมาบ้าเติบโตได้ด้วยตัวของแบรนด์เอง แต่สิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนในวันนี้ก็คือ น้าชาติเลือกแล้วที่จะสร้างแบรนด์ตามแนวทาง “คาแรคเตอร์มาเก็ตติ้ง” อย่างเต็มที่ เพราะนอกจากตัวตนของน้าชาติที่สะท้อนผ่านผลิตภัณฑ์แล้ว เขายังรับหน้าที่เป็นนายแบบเองอีกด้วย

ซึ่งในมุมมองของผู้สัมภาษณ์คิดว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก ตรงนี้ก็เหมือนเป็นต้นทุน เป็นข้อได้เปรียบในการสร้างความโดดเด่นให้กับแบรนด์ เพราะในธุรกิจเสื้อผ้าที่มีผู้ประกอบการจำนวนมหาศาล จึงต้องแข่งขันห่ำหั่นกันอย่างดุเดือด ฉะนั้นหากตัวเองมีแต้มต่อ หรือข้อได้เปรียบในด้านใด ก็ต้องนำออกมาใช้ เพื่อทำให้แบรนด์แจ้งเกิดก่อน ส่วนจะเติบโตได้หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของการวางกลยุทธ์ในลำดับต่อไป ที่ผ่านมาก็มีหลายกิจการที่ประสบความสำเร็จจากแนวทางนี้ และสามารถเติบโตต่อไปได้ ด้วยการปรับแผนธุรกิจได้อย่างสอดคล้องในแต่ละจังหวะของการก้าวย่าง

และเมื่อได้มีโอกาสคุยกับน้าชาติ หากจะไม่ถามถึงที่มาของชื่อแบรนด์ นั่นก็คือ นวนิยายเรื่องพันธุ์หมาบ้า ก็อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า ทำไมวัยรุ่นในยุค 80 และ 90 หรือผู้ที่ได้อ่าน จึงผูกพันกับนวนิยายเล่มนี้นัก น้าชาติเล่าว่า

“มันเป็นเรื่องของเพื่อน ในสมัยวัยรุ่นเราใช้ชีวิตแบบในหนังสือ เราก็มองว่าไอ้กลุ่มอย่างนี้มันไม่ค่อยมี อาจมีกลุ่มเดียวในประเทศไทย หรือกระจัดกระจาย แต่ไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่มาก เราก็เอ๊ะ น่าเขียน เราเป็นนักเขียนไง ก็เลยเอามาเขียน

“แต่ก็นิยายน่ะ ไม่ใช่หนังสือชีวประวัติ คนนี้อาจมีบางส่วนเป็นอย่างนี้ แต่บางส่วนก็เอาเรื่องราวของอีกคนมาใส่ แต่ว่าพฤติกรรมนี่คือของจริง”

โดยในงาน  “27 ปี พันธุ์หมาบ้า” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 ที่หอศิลป์แห่งกรุงเทพมหานคร นอกจากการเล่าเรื่องราวต่างๆ ของพันธุ์หมาบ้าแล้ว น้าชาติยังได้กล่าวถึง “ศาสนาเพื่อน” ซึ่งกลายเป็นไฮไลท์ที่สร้างความประทับใจ และได้กล่าวย้ำอีกครั้งในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้

“ศาสนาเพื่อน มีศีลอยู่ 4 ข้อ ศีลข้อที่ 1 เกื้อกูลกัน หมายความว่าเวลาเพื่อนเดือดร้อน เรื่องเงิน เรื่องอะไรก็แล้วแต่ เราช่วยได้เราช่วย ศีลข้อที่ 2 ดูแลกัน ดูแลกันไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินเรื่องทองนะ หมายความว่า ตักเตือนกัน เช่น ทำอย่างนั้นไม่ดีนะ

ศีลข้อที่ 3 ปกป้องกัน ต้องปกป้องกันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าถูกหรือผิด ปกป้องก่อน ถูกผิดกูว่าของกูเอง ศีลข้อที่ 4 ยอมกัน เช่น บางทีเพื่อนมันอำ ก็ให้มันมีความสุขบ้างวะ ไม่ยอมกัน เดี๋ยวก็ทะเลาะกัน เดี๋ยวก็คบกันไม่ได้ นั่นคือ 4 ข้อที่เราสรุป เพราะเราคบเพื่อนมาเยอะ

พันธุ์หมาบ้า เริ่มต้นด้วยการทยอยลงเป็นตอนๆ ในนิยตสารลลนา เมื่อปี 2528 ก่อนจะจัดพิมพ์เป็นเล่มที่หนากว่า 700 หน้า ในปี 2531 และหากย้อนเวลาไปเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ถ้า “อ็อตโต้” เพื่อนสนิทของน้าชาติ ตัวละครที่มีบทบาทโดดเด่น ไม่ได้พูดประโยคหนึ่งขึ้นมา นวนิยายเล่มนี้อาจไม่ได้ชื่อ “พันธุ์หมาบ้า”

“ตอนแรกเราตั้งชื่อว่า ‘คนเหล่านั้น’ แต่มันนิ่งๆ แล้วเพื่อนคือ ‘อ็อตโต้’ มันบอกว่า ‘พวกเรามันพันธุ์หมาบ้า’ เออ มันใช่นี่หว่า ตอนไปลงลลนา ก็บอกพี่น้อย (นันทวัน หยุ่น บรรณาธิการ) ว่าผมมีอยู่สองชื่อคือ ‘คนเหล่านั้น’ กับ ‘พันธุ์หมาบ้า’ พี่ชอบชื่อไหน พี่น้อยก็บอกว่า ‘พันธุ์หมาบ้า’ เพราะชื่อนี้ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก”

จากการพูดคุยครั้งนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก นั่นก็ก็คือวิธีคิดในแบบน้าชาติ ที่ถึงแม้ว่าจะให้สำคัญกับคาแรคเตอร์ สไตล์ หรือตัวตน ในการกระทำสิ่งต่างๆ  แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ได้ยึดติด และนี่น่าจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็น “ชาติ กอบจิตติ” ได้อย่างแจ่มแจ้ง

“อย่าไปติดกับมัน อย่าไปยึดติดกับความสำเร็จในอดีต พูดนี่ไม่ได้ดัดจริต อย่างตอนได้ซีไรต์ 2 ครั้ง เรารู้สึกสะใจ ไม่ได้สะใจคนอื่น แต่สะใจในสิ่งที่เราคิด หรือการได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เราก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องที่เขาตัดสิน ซึ่งเขาก็ตัดสินถูกแหละนะ ใช่ไหม (หัวเราะ) แต่ถ้าเราแบกไว้ เราจะมาขายเสื้อผ้าหน้าดำอย่างนี้ได้ยังไง”

ถ่ายภาพโดย วุฒินันท์ จันโทริ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า