SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ชัชชาติ’ สำรวจชุมชนแออัดซอยทองหล่อ พร้อมส่งเสริมโครงการบ้านมั่นคง-ระบบสาธารณสุขในชุมชน

วันที่ 29 พ.ค. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจเพื่อนชัชชาติ ลงพื้นที่เขตวัฒนา เพื่อสำรวจชุมชนหลังสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ (สน.ทองหล่อ) ชุมชนริมคลองเป้ง และชุมชนลีลานุช พร้อมเยี่ยมหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเครือข่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นายชัชชาติ กล่าวว่า ทองหล่อเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดในพื้นที่จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนหลังสน.ทองหล่อ ชุมชนคลองเป้ง และชุมชนลีลานุช มีประชากรประมาณ 400 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ตั้งที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย ก่อนหน้านี้เคยมาเยี่ยมในช่วงโควิดระบาด ทราบว่าผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ทำงานในย่านทองหล่อ-เอกมัย และจำเป็นต้องอาศัยใกล้แหล่งงาน ถือเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง เช่นประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม. สามารถมีบทบาทด้านการประสานงานกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าโครงการบ้านมั่นคงเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมระบบการออมเงินในชุมชน ตลอดจนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ 

“จะบอกว่าเขาทำผิดกฎหมายแล้วไม่ดูแลเลย ผมว่าทำไม่ได้ เราต้องช่วยหาทางขยับขยาย ผมว่าแนวคิดบ้านมั่นคงดีนะ ให้มีการออมแล้วหาที่เช่าที่ถูกกฎหมาย แล้วขยับขยายไป ขณะเดียวกันช่วงย้ายที่อยู่อาศัยก็ต้องดูแลคุณภาพชีวิต เพราะในบ้านมีทั้งเด็กและคนแก่อยู่ อย่าคิดว่าเป็นสุญญากาศ เราต้องมองเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน ที่มีความยากลำบาก ชีวิตแต่ละวันผ่านไปก็ไม่ง่าย ถ้าต้องมากังวลเรื่องที่อยู่ มันลำบาก แล้วหลายคนก็ทำงานบริเวณนี้แหละ ในทองหล่อ ในเอกมัย เป็นแม่บ้าน เป็นรปภ. เป็นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นเครื่องจักรของเมืองที่ทำให้เมืองเดินได้ เราต้องดูแลเขาด้วยความเป็นมนุษย์” ชัชชาติ กล่าว

ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดูพื้นที่ เพราะสาธารณสุขใน กทม. มีความซับซ้อน มีหลายระดับ แต่หน้าที่ กทม. คือ ขึ้นชั้นปฐมภูมิ เป็นด่านแรกที่มาเผชิญปัญหา โดยเป็นศูนย์สาธารณสุข ที่มีอยู่ 69 แห่งทั่ว กทม. แต่ศูนย์สาธารณสุข ก็อยู่ไกลชุมชน  แนวนโยบาย คือ จะต้องนำการให้บริการสาธารณสุขลงมาในพื้นที่ชุมชนโดยคนในชุมชนไม่ต้องไปที่สาธารณสุข แต่ปัญหาคือ บุคลากรของ กทม. ไม่ได้มีจำนวนมาก ดังนั้น จึงต้องมีเครือข่ายร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น 

ทั้งนี้ มองว่า หากจะให้บริการที่ทั่วถึงจะต้องมีเครือข่ายชุมชนอบอุ่น โดยร่วมกับภาครัฐ เอกชน และคนในชุมชน เพื่อมาดูแลสุขภาพในเบื้องต้น เช่น การฉีดวัคซีนในชุมชน ตรวจโควิด และหลังจากนี้ตนจะหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เพราะเป็นเจ้าของเงินว่า จะเลิกจ่ายอย่างไรให้สะดวก และ กทม. จะทำหน้าที่ร่วมได้อย่างไร โดยให้สำนักอนามัยเข้าไปดูแลในเรื่องของคุณภาพ แนวทางที่สองใช้เทคโนโลยีเทเลเมดิซีน มาเชื่อมต่อในการดูแลผู้ป่วย จากระบบทางไกล รถตรวจสุขภาพเชิงรุกถึงชุมชน เพื่อลดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการขยายเครือข่าย อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสส. ให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับพื้นที่ และจำนวนประชากรของ กทม. 

ซึ่งนี่คือตัวอย่างการบริการจัดการสาธารณสุขให้เข้มแข็งในระดับเส้นเลือดฝอย ผมเชื่อว่าทำตรงนี้ให้เข้มแข็งแล้วมันจะเป็นด่านหน้าที่ปะทะ ไม่ต้องให้คนไปป่วยโรงพยาบาลใหญ่ ช่วยลดคิวและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น

ซึ่งในวันนี้ระหว่างนายชัชชาติ ลงพื้นที่ ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า  ทำไมวันนี้ถึงใส่เสื้อสีขาวลงพื้นที่ นายชัชชาติ ตอบว่า “เมื่อวานนี้ใส่เสื้อสีน้ำเงินแล้วขี้เกลือขึ้นเต็มเลย ก็เลยอายเขา เวลาขึ้นรถไฟฟ้า สีขาวนี่ขี้เกลือไม่เห็นไง”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าไม่ได้เป็นเพราะมูเตลูใช่หรือไม่ นายชัชชาติ ตอบว่า ไม่มีๆ เมื่อวานผมไปขึ้นรถไฟฟ้า แล้วคนมาทัก โอ้โฮ รู้ว่าเป็นผม แล้วขี้เกลือขึ้นข้างหลัง ก็เลยไปไหนไม่ได้ ก็สบายด้วยสีขาวไม่ดูดแสง ไม่ร้อนด้วยไม่ต้องคิดมาก”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า