SHARE

คัดลอกแล้ว

เณรถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัด ปัญหาสังคมที่มีปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง แต่กลับยังไม่ได้รับการแก้ไข

– เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ อาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจ –

ไม่ทันพ้นปี 2566 มีข่าวพระสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศเณรไปแล้ว 4 เคส สืบย้อนไปพบว่าพระสงฆ์ที่ละเมิดทางเพศเณรส่วนใหญ่เป็นถึงระดับเจ้าอาวาส หรือเจ้าคณะตำบล มีการใช้อุบายล่อเหยื่อ อ้างจะซื้อของให้ หรือเป่าหูด้วยความเชื่อแปลกๆ บอกจะสะเดาะเคราะห์ มีวิญญาณตามตัว จะลงของให้ด้วยการดูดน้ำอสุจิออก

งานวิจัยที่ศึกษาการล่วงละเมิดทางเพศโดยนักบวชในสังคมไทย ระบุว่า เด็กที่บวชเป็นสามเณรเกือบทั้งหมด ต่างตกอยู่ในภาวะจำยอมต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ หลายเคสคนล่วงละเมิดทางเพศในศาสนาพุทธไม่เป็นข่าว เพราะเป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่มีอิทธิพลเป็นที่นับหน้าถือตาในหมู่ชาวพุทธ แม้จะมีกฎหมายล่วงละเมิดทางเพศเด็กแต่ก็ขาดกลไกในการป้องกัน

ไม่ตกเป็นข่าว-อยู่ในภาวะจำยอม-เป็นผู้มีอิทธิพล สุดท้ายคนทำ รอด / ไม่รอด TODAY สรุปรวมข้อมูลจากสัมภาษณ์ วิจัย และลงพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อตอบคำถามค้างคาใจในบทความนี้

 

Non-Government การตัดสินนอกเหนือภาครัฐ

การล่วงละเมิดทางเพศเด็กเกี่ยวกับรัฐหรือไม่ แน่นอนว่า เกี่ยว แต่พอผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นเด็กสามเณรที่อยู่ในศาสนา องค์กรที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย คือ ‘องค์กรศาสนา’ อันมีผลต่อบทสรุปของเคสการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างสามเณรและพระสงฆ์

ต้องพูดก่อนว่าหากมีสามเณรถูกล่วงละเมิดทางเพศ สามเณรมีแนวทางดำเนินการ 2 ทางหลักๆ ทางแรกคือ แจ้งตำรวจ เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ทางที่สอง ฟ้องพระผู้ใหญ่ (ส่วนใหญ่เป็นชอยส์แรก) หากฟ้องพระผู้ใหญ่ก็จะมีกระบวนการสืบสวนในคณะสงฆ์ โดยการตั้งคณะกรรมการที่มีตำแหน่งในศาสนาสูงกว่าผู้กระทำมาสอบสวน วิธีนี้เรียกตามมหาเถรสมาคมคือการลง นิคหกรรม

ยกตัวอย่างการนิคหกรรม หากพระสงฆ์ในตำแหน่งเจ้าอาวาสถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศเณรก็ต้องตั้งเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอมาสอบสวน แนวทางนี้จะคล้ายการพิจารณาทางกฎหมาย และหากตัดสินว่ามีความผิดจริงถึงขั้นปาราชิกพระผู้กระทำต้องสึกทันที แต่ถ้าไม่ถึงขั้นปาราชิกก็ถือเป็นแค่ อาบัติสังฆาทิเสส เช่น ตีความว่าเพียงแค่ทำน้ำอสุจิเคลื่อน

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีคลิปหลุดเด็กวัย 15 ปี ช่วยสำเร็จความใคร่ให้พระรูปหนึ่ง ที่มีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล และพระอุปัชฌาย์เพียงรูปเดียวในย่าน พอเรื่องแดง เสียงชาวบ้านก็แตกออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งบอกให้พระสงฆ์รูปนี้ย้ายไปอยู่วัดอื่น อีกฝั่งมองว่าถ้าพระสงฆ์รูปนี้ย้ายไป ก็จะขาดพระอุปัชฌาย์เวลาลูกหลานจะบวช ก็ต้องไปนิมนต์พระอุปัชฌาย์มาจากวัดอื่นก็จะลำบาก

ทีมข่าว TODAY ลงพื้นที่วัดที่เป็นสถานที่เกิดเหตุพบว่า ขณะนี้มีเจ้าอาวาสมารักษาการแทน ส่วนพระที่อยู่ในคลิปยังไม่ได้สึก แต่ถูกย้ายไปวัดอื่น พระผู้ก่อเหตุได้ให้สัมภาษณ์กับ TODAY สรุปได้ว่า ขณะนี้กรณีที่มีคลิปหลุด ได้มีการเข้าสู่กระบวนการสืบสวนตามองค์กรศาสนา (Non-government) มีการประชุมร่วมกันว่าให้ (พระในคลิป) ลาออก แต่เจ้าตัวบอกว่าเมื่อพิจารณาโทษแล้ว โทษที่ทำไปยังไม่ถึงขั้นอาบัติปาราชิก เป็นเพียงแค่อาบัติสังฆาทิเสส

 

ทำผิดจริงแต่ยังบวชได้อยู่ (?)

สมบัติ พิมพ์สอน ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า ระเบียบของมหาเถรสมาคมกำหนดว่า คนที่หนีราชการ ผู้ต้องหาคดีอาญา หรือผู้มีเพศบกพร่องห้ามบวช คุณลักษณะนอกเหนือจากนี้ หรือเป็นผู้โดนคดีอาญามาแล้ว แต่ไม่ใช่ผู้ร้ายสำคัญเมื่อพ้นคดีก็สามารถบวชได้ ซึ่งคดีล่วงละเมิดทางเพศเป็นคดีอาญา หากได้รับการลงโทษทางกฎหมายจนหมดโทษแล้ว ก็สามารถบวชได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพระอุปัชฌาย์

เมื่อสอบสวนตาม นิคหกรรม แล้วพบว่าผิดจริงถึงขั้นปาราชิก บทลงโทษสูงสุดคือให้ ลาสมณเพศ หรือ สึกภายใน 24 ชม. แต่หากไม่ถึงขั้นปาราชิกเป็นแค่ขั้น อาบัติสังฆาทิเสส (ทำน้ำอสุจิเคลื่อน) ก็ไม่ต้องสึก แม้จะถูกจับสึกก็แค่ย้ายวัดไปบวชใหม่

นี่คือคำตอบว่าทำไมเราเห็นพระสงฆ์ที่ล่วงละเมิดทางเพศยังคงเป็นพระต่อได้ แม้กฎของเถรสมาคมจะบอกให้พระอุปัชฌาย์งดบวชให้คนที่มีลักษณะต้องห้าม มีการส่งตรวจประวัติกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่บางทีก็ขึ้นกับดุลยพินิจพระอุปัชฌาย์ หรือพระอุปัชฌาย์ไปพัวพันกับการล่วงละเมิดทางเพศเสียเอง

 

บทสรุปอาจเอนเอียง

มีงานศึกษาของพระปริยะพงศ์ คุณปัญญา ศึกษาการล่วงละเมิดทางเพศจริยธรรมของพระภิกษุสงฆ์ สามเณร พบว่าผู้ปกครองของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศต่อครึ่ง เลือกไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดหลังทราบเหตุ เพราะมองว่าเด็กชายถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เสียหายเท่าเคสของเด็กหญิง

ด้าน อ.จาตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระ ระบุว่า การตัดสินอาจเอนเอียงตามระดับอำนาจ และการเข้าสู่กระบวนการกฎหมายคดีล่วงละเมิดทางเพศบางเคสจบที่การไกล่เกลี่ย เนื่องจากพระผู้ละเมิดเป็นพระชั้นผู้ใหญ่มีอิทธิพล อาจกดดันเด็กและผู้ปกครอง บางครั้งตัวเด็กเกิดความอับอาย รู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิดจึงไม่เล่าให้คนอื่นรู้

วีรวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้ง HUG Project ช่วยเหลือเหยื่อเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ระบุว่า ส่วนใหญ่สามเณรที่มาอยู่วัดเพราะต้องการเข้าถึงการศึกษา เนื่องจากครอบครัวยากจน พระส่วนใหญ่ที่ละเมิดก็เป็นพระนักพัฒนา เมื่อตำรวจเข้าไปจับก็จะถูกต่อต้านโดยคนในชุมชน แทนที่จะปกป้องเหยื่อ เมื่อไม่อยากให้เกิดเรื่อง

ทำให้เณรผู้ถูกล่วงละเมิดส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเงียบไป พอจะเข้าไปหาคนในครอบครัวของสามเณร ทุกคนก็จะปฏิเสธความร่วมมือ เพราะมองว่าตัวเองไม่มีอำนาจด้วยฐานะกลัวการคุกคามความเป็นอยู่ทำให้ลำบาก

 

ส่งเด็กเข้าวัดมาพร้อมกับความเสี่ยง (?)

อ.จาตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระ ระบุว่า ความยากจนเป็นปัจจัยให้พ่อแม่เลือกส่งลูกเข้ามา (ในวัด) แต่ก็ต้องเจอความเสี่ยง เช่น การล่วงละเมิดทางเพศทั้งจากคนที่มีอำนาจมากกว่า หรือเพื่อนร่วมกินนอนด้วยกัน อยู่ที่ว่าตัวผู้เสียหายจะจัดการยังไง เก็บเอาไว้ ฟ้อง หรือดำเนินคดี แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องมาเล่าสิ่งที่เจอซ้ำๆ กับแต่ละหน่วยงาน สุดท้ายก็จะทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกเหนื่อยล้าในกระบวนการ

อย่างไรก็ตาม วีรวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้ง HUG Project ช่วยเหลือเหยื่อเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ระบุว่า การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในสงฆ์ คือการมีนโยบายคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่กฎหมายเข้าไม่ถึง เช่น ห้ามพระสงฆ์กับเณรอยู่ด้วยกันสองต่อสอง หรือเดินทางไปไหนสองต่อสองจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กได้ แต่ยังไม่เห็นว่าที่ไหนมีนโยบายนี้

ด้าน อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการสนับสนุนงานด้านหลักนิติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มองว่า กระบวนการการไกล่เกลี่ยภายในขององค์กรสงฆ์ควรนำเอาหลักการกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา (Restorative Justice) เข้ามาปรับใช้ให้มากขึ้น ด้วยการให้ผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลางในกระบวนการ และร่วมกันหาทางออกฟื้นฟูเยียวยา โดยมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การพิจารณากันภายในคณะสงฆ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เท่ากันของอำนาจ

 

เรียบเรียงข้อมูลจากรายการ Checks And Balances

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า