ทุกวันนี้เวลาเดินเข้าห้าง เราก็จะเห็นร้าน fast food จากต่างประเทศหลายรายเรียงรายกันอยู่ในโซนร้านอาหาร
แต่รู้หรือเปล่าว่าประเทศไทยเราก็มีแบรนด์ fast food สัญชาติไทยเหมือนกัน ซึ่งเป็นแบรนด์ที่หลายคนคิดมาว่ามาจากต่างประเทศด้วย
นั่นคือ Chester’s นั่นเอง
ถ้าสำรวจร้านอาหารแห่งนี้ดีๆ จะพบว่าที่นี่มีความเป็นไทยอยู่ในเมนูอาหารที่เสิร์ฟอยู่ในจานมากมาย แต่ก็ยังมีความเป็นสากลผ่านเมนูอาหารฟิวชั่นต่างๆ เพราะ Chester’s คือร้านที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP หมายมั่นปั้นมือให้เป็นร้าน fast food สัญชาติไทยมาตรฐานระดับโลก
ล่าสุด Chester’s เพิ่งร่วมมือกับชาตรามือ สร้างปรากฎการณ์ปังๆ อย่างไก่ทอดราดซอสชาไทย ให้คนไทยได้ลองเมนูอาหารใหม่ ๆ อีกด้วย
TODAY Bizview ชวนทำความรู้จักร้านอาหารสัญชาติไทยที่ฝันอยากพา fast food ไทยไประดับโลกกัน
แบรนด์คนไทยที่เข้าใจความเป็นไทย
ในช่วงใกล้ๆ ปี 2530 เป็นช่วงที่เริ่มมีแบรนด์ fast food เจ้าดังจากต่างประเทศอย่าง KFC และ McDonals เข้ามาในประเทศไทย
เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ จากเครือเจริญโภคภัณฑ์มองว่าตลาดอาหารเป็นตลาดที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและอยากสร้างแบรนด์ร้านอาหาร fast food ของคนไทยที่มีคุณภาพระดับสากล จึงเปิดร้านอาหารชื่อ Chester’s Grill Chicken สาขาแรกที่ห้างมาบุญครองในปี พ.ศ.2531
สมัยนั้น บรรดาร้านอาหาร fast food เน้นขายเมนูไก่ทอดเป็นหลัก Chester’s Grill Chicken เลยเน้นขายเมนูไก่ย่างเป็นหลัก ทำให้ร้านนี้มีจุดขายที่โดดเด่นต่างจากร้านอื่น และอีกหนึ่งจุดขายสำคัญที่สร้างความแตกต่างคือการขายเมนูข้าว โดยเมนูข้าวแรกๆ ที่ออกมาคือข้าวอบไก่ย่างและข้าวคาราเกะราดซอสหวาน
ต่อมา Chester’s ก็ออกเมนูข้าวใหม่ ๆ มาเอาใจคนไทยเรื่อยๆ
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้ทุกคนตกหลุมรัก Chester’s คือพริกน้ำปลาที่ใส่กระเทียมสไลด์บางๆ กับพริกสีเขียวสด ทำสดใหม่วันต่อวัน กินคู่กับเมนูข้าวต่างๆ จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของร้าน
Chester’s ยังออกเมนูใหม่อย่างสปาเกตตี้ ฮอตดอก เบอร์เกอร์ ของทานเล่น และเมนูไก่อื่นๆ เพื่อสร้างความหลากหลายในเมนูและความตื่นเต้นให้ผู้บริโภคอยู่เสมอ
แต่เมนูข้าวยังคงเป็นเมนูที่ขายดีที่สุดของ Chester’s
ตอนนี้ Chester’s ไม่ได้เสิร์ฟเมนูข้าวแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ขยายสาขาไปในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเมียนมาร์เรียบร้อยแล้ว
จริงๆ สิ่งที่สร้างความแข็งแกร่งให้ Chester’s ไม่ใช่แค่เมนูที่มีความเข้ากับคนไทยสูงเท่านั้น แต่หลังบ้านของร้านอาหารแห่งนี้ก็แข่งแกร่งไม่แพ้กัน
หนึ่งในหน้าร้านของเจริญโภคภัณฑ์
หลังบ้านที่แข็งแกร่งของ Chester’s คือ CPF หรือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ดูแลเรื่องการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรและอาหารครบวงจร
โดยมีกลยุทธ์ ‘Smart Feed-Farm-Food’ หมายถึง
ธุรกิจต้นน้ำอย่างธุรกิจอาหารสัตว์ที่มีผลิตภัณฑ์หลักเป็นอาหารหมู ไก่ เป็ด กุ้ง
ธุรกิจกลางน้ำอย่างธุรกิจเลี้ยงสัตว์และแปรรูป มีเนื้อสัตว์หลักคือเนื้อ หมู ไก่ เป็น กุ้ง
สุดท้ายคือธุรกิจปลายน้ำอย่างธุรกิจอาหาร ที่นำเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นอาหาร สำหรับจำหน่ายทั้งช่องทางค้าปลีก ค้าส่ง และร้านอาหารภายในเครือ CP อย่าง Chester’s และไก่ย่างห้าดาว
เมนูเด็ดๆ ของร้าน fast food ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเนื้อสัตว์
เพราะฉะนั้น เมื่อเทียบกับเจ้าอื่นแล้ว Chester’s ถือว่ามีความเปรียบทั้งในเรื่องวัตถุดิบและเงินทุน ทำให้ธุรกิจสามารถต่อยอดได้เรื่อยๆ
ก่อนจะดูเรื่องกลยุทธ์ที่น่าสนใจของ Chester’s ลองมาดูก่อนว่าตอนนี้ยอดขายของ Chester’s กว่า 200 สาขาที่จดทะเบียนในชื่อบริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด เป็นอย่างไรบ้าง
ในปี 2565 รายได้รวม 1,565 ล้านบาท กำไร 58.8 ล้านบาท
ในปี 2564 รายได้รวม 1,246 ล้านบาท ขาดทุน 15.4 ล้านบาท
ในปี 2563 รายได้รวม 1,262 ล้านบาท ขาดทุน 28.5 ล้านบาท
ส่วนบริษัท fast food ยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง McDonald’s ของเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์กรุ๊ป กว่า 245 สาขามีรายได้ดังนี้
ในปี 2565 รายได้รวม 5,585 ล้านบาท กำไร 118 ล้านบาท
ในปี 2564 รายได้รวม 3,809 ล้านบาท ขาดทุน 207 ล้านบาท
ในปี 2563 รายได้รวม 4,116 ล้านบาท ขาดทุน 335 ล้านบาท
ด้าน KFC ร้าน fast food ชื่อดังอีกหนึ่งเจ้าที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ 3 บริษัทใหญ่อย่างเครือเซ็นทรัล ไทยเบฟ และบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลอปเม้นท์ (RD) จำกัด หากดูรายได้เฉพาะในปี 2565 จะพบว่า
ในเครือ RD มีรายได้รวม 4,991 ล้านบาท ขาดทุน 37 ล้านบาท
ในเครือเซ็นทรัลมีรายได้ประมาณ 6,300 ล้านบาท
ในเครือไทยเบฟ มีรายได้รวม 8,522 ล้านบาท กำไร 284 ล้านบาท
ซึ่งตอนนี้ KFC มี 1,040 สาขาแล้ว รายได้รวมกันก็เกือบ 2 หมื่นล้านแล้ว
ตอนนี้ ภาพรวมมูลค่าตลาดอาหารจานด่วนของไทยอยู่ที่ประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2567 นี้จะมีการแข่งขันดุเดือดขึ้นกว่าเดิม
ร้าน fast food รุ่นใหม่ เอาใจชาว Gen Z
ตอนนี้ กลุ่มลูกค้าหลักของ Chester’s ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวันทำงาน 40% ครอบครัว 30% และอีก 30% ที่เหลือคือกลุ่มวัยรุ่น
Chester’s จึงเน้นการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ตั้งแต่การทำสถานที่ใหม่ ด้วยการพัฒนาร้านอาหารออกมาเป็น Co-working space ที่มีบริการปลั๊กไฟตามจุดต่างๆ มีเก้าอี้แบบเคาน์เตอร์บาร์ ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ
รวมไปถึงการพัฒนาเมนูใหม่ๆ ให้ทันสมัย และเน้นการ collaboration กับแบรนด์อื่นๆ เช่น ในปี 2565 Chester’s x iberry เปิดตัวเมนูไอศครีมรสซอสน้ำปลาฮอตชิลลี่ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเมนูไก่กรอบซอสน้ำปลามาทำเป็นของหวาน หรือล่าสุดที่ Chester’s x ชาตรามือ ออกเมนูใหม่อย่างไก่และฟรายส์ ชาไทยตรามือ ที่เอาเมนูยอดฮิตอย่างไก่ทอดและเฟรนซ์ฟรายส์ของ Chester’s และเมนูฮิตอย่างชาไทยของชาตรามือมาผสมผสานเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นเมนูฟิวชั่นใหม่ๆ จนกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์
แต่ปีนี้ ร้านอาหาร fast food รายอื่นๆ ก็เริ่มหันมาทำการตลาดกับกลุ่ม Gen Z เหมือนกัน ปีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าจับตาดูว่าตลาดอาหาร fast food ที่ดุเดือดขึ้นทุกวันจะมีปรากฏการณ์อะไรใหม่ๆ ออกมาให้ติดตามกันอีก
Source :
https://www.cpfworldwide.com/content/en/business/other-business.pdf
https://www.brandbuffet.in.th/2020/09/chesters-thai-fast-food-chain-restaurant-case-study/
https://www.blockdit.com/posts/63341ec373229c15dbff4486
https://www.longtunman.com/12174
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1043074
https://marketeeronline.co/archives/334814