SHARE

คัดลอกแล้ว

ศาลปกครองเชียงใหม่ พิพากษาคดี ‘ภาคประชาชน’ ฟ้องอดีตนายกฯ ‘ประยุทธ์’ กับ ‘คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ’ แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ล่าช้า ศาลฯ สั่งกำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน

วันนี้ (19 ม.ค. 67) ศาลปกครองเชียงใหม่ เผยแพร่คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส. 3/2566 คดีหมายเลขแดงที่ ส.3/2566 คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และเดินทางภายในพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบและประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกรัฐมนตรี) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ) ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สั่งการตามกฎหมายให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลใดกระทำหรือร่วมกระทำการใดๆ อันจะมีผลเป็นการควบคุมระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากปัญหาฝุ่น PM2.5 และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลร้ายจากปัญหาฝุ่น PM2.5 เสนอผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วน รวมถึงให้จัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการสั่งการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลใดกระทำหรือร่วมกระทำการใดๆ อันจะมีผลควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือไม่ อย่างไร

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 กำหนดให้มาตรฐานฝุ่น PM2.5ในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 39.5 มคก./ลบ.ม.

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และกรมควบคุมมลพิษปรากฏว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือมีฝุ่น PM2.5 ในปริมาณที่เกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ปี พ.ศ. 2566 ประกอบกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 1 (เชียงใหม่) ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ฝุน PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด และโรคหืดหอบ

โดยมีจำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ถึงปี พ.ศ. 2566 เมื่อพิจารณาแล้วจึงเห็นว่า พื้นที่ภาคเหนือประสบปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีค่าสูงกว่ามาตรฐานในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่ อง กรณีถือว่าพื้นที่ภาคเหนือเกิดภาวะมลพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้ดำเนินการเพื่อสั่งการให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงตกอยู่ในภาวะที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง กรณีจึงถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดล่าช้าเกินสมควร

ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลร้ายจากฝุ่น PM2.5 หรือไม่ อย่างไรข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 มาเป็นระยะเวลานานคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ

โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นกลไกหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติดังกล่าว โดยการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันทุกภาคส่วน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนในช่วงสถานการณ์วิกฤตปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยกำหนดเป็น 4ระดับ คือ ระดับที่ 1 ฝุ่น PM2.5 มีค่าไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ระดับที่ 2 ฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 มคก /ลบ.ม. ระดับที่ 3 ฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 36-100 มคก/ลบ.ม. และระดับที่ 4 ฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 100 มคก/ลบ.ม.

ซึ่งระดับที่ 4 ตามแผนดังกล่าวกำหนดให้ต้องมีการประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยนำเรียนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา พื้นที่ภาคเหนือได้ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน แม้หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติดังกล่าวตลอดมา แต่เมื่อสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของภาคเหนือยังคงมีปริมาณเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2566 ในพื้นที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูนแม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย และพิษณุโลก มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินกว่า 51 มคก./ลบ.ม. เป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายวัน และบางช่วงมีปริมาณสูงเกินกว่า 100 มคก./ลบ.ม. (ระดับที่ 4) เป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นปัญหามลพิษที่มีแนวโน้มที่ จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

โดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้กำหนดให้มีการประชุมเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤตในระดับที่ 4 และพิจารณากลั่นกรองแนวทางแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลร้ายจากฝุ่น PM2.5 เสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการเร่งด่วนในเวลานั้น ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และเดินทางในพื้นที่ภาคเหนือ ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กรณีจึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายล่าช้าเกินสมควร

เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือได้คลี่คลายลงแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ศาลจึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือโดยมากจะเกิดขึ้นประจำในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันเหตุดังกล่าวไว้ก่อนทั้งระยะสั้นและ ระยะยาวในรอบระยะเวลาข้างหน้าตามหลักการป้องกันล่วงหน้า (Preventive principle) และกฎหมายข้างต้น จึงมีเหตุผลเพียงพอ ที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข ระงับหรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายที่เกิดจากภาวะมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทา หรือระงับภยันตรายอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือให้ทันท่วงที ทั้งนี้ ให้ดำเนินการกำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ภาพปกจาก เฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า