คณะทำงานขับเคลื่อนเงินอุดหนุนถ้วนหน้าเด็กเล็ก 119 องค์กรยื่นหนังสือต่อ กรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี กลุ่มชาติพันธุ์ ฯ ที่สภาผู้แทนราษฏร เรื่อง ให้ช่วยผลักดันเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า
วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เวลา 10.30 น.คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 119 องค์กรเข้าพบมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรีฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อยื่นหนังสือเสนอเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าและช่วยเด็กเล็กในสถานการณ์โควิด-19
https://www.facebook.com/Deksukjai/videos/259595698613016/
คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 119 องค์กร นำโดยนางสุนี ไชยรส เสนอว่าในสถานการณ์โควิด-19 ควรเพิ่มเงินเลี้ยงอุดหนุนเด็กเล็ก ซึ่งเป็นสวัสดิการที่มีอยู่แล้ว จากเดือนละ 600 บาทเป็น 2,000 บาทในระยะที่มีผลกระทบจากโควิด-19 6 เดือน เนื่องจากผู้ปกครองที่มีสิทธิได้รับสวัสดิการอยู่แล้วอาจประสบความยากลำบากจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจนทำให้จำนวนเงินเท่าเดิมไม่พอในการเลี้ยงดูเด็กเล็กอีกต่อไป
นอกจานี้ยังเสนอให้ขยายการให้สวัสดิการ จากเดิมที่ให้แต่ครอบครัวที่พิสูจน์ได้ว่ามีรายได้น้อย ขยายเป็นการให้แบบถ้วนหน้าทุกครอบครัว เนื่องจากหลายครอบครัวประสบภาวะยากจนกะทันหันจากการเลิกจ้างหรือขาดรายได้อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หากต้องผ่านกระบวนการคัดกรองจะทำให้ใช้เวลานานแล้วไม่ทันการต่อความต้องการของเด็กที่เสี่ยงจะขาดอาหาร โภชนาการ และเครื่องกระตุ้นพัฒนาการทุกวัน และยังช่วยแก้ปัญหาการตกหล่นจากช่องโหว่ที่มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการคัดกรอง
ตัวเลขจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยชี้ว่า หากขยายความคุ้มครองสวัสดิการเด็กเล็กเป็นแบบถ้วนหน้าโดยให้คนละ 600 บาท จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2.2 หมื่นล้านบาท และหากมีการเพิ่มเงินเป็น 2,000 บาทในช่วง 6 เดือนจะใช้งบประมาณทั้งหมด 7.3 หมื่นล้านบาท
คณะทำงานยืนยันว่าเด็กเล็กในช่วงอายุ 0-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการรวดเร็ว หากเสียโอกาสการพัฒนาในช่วงวัยนี้ตะส่งผลไปตลอดชีวิต
“ผลการศึกษารางวัลโนเบลพบว่าการลงทุนสำหรับช่วงอายุ 0-6 ปี จะได้รับผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น การลงทุนในเด็กเล็กจะได้ผลกลับคืนมาถึง 7 เท่า”