ไฟเซอร์เด็ก 3 แสนโดสถึงไทยแล้ว สธ.เปิดแผนฉีดวัคซีน ให้ฉีดที่โรงพยาบาล และที่โรงเรียน ชี้อาการข้างเคียงหลังฉีดไม่รุนแรง หายได้เองใน 1- 2 วัน
วันที่ 26 ม.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงเรื่องการจัดหาและการกระจายวัคซีนไฟเซอร์เด็กอายุ 5 – 11 ปี โดยระบุว่า เมื่อเช้าวัคซีนล็อตแรก3 แสนโดส มาถึงประเทศไทยแล้ว จากนี้จะส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพก่อนกระจายฉีดเด็กทั่วประเทศ กำหนดฉีดวันแรก 31 ม.ค.65 ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รพ.เด็กและหลังจากนี้จะมีวัคซีนไฟเซอร์เด็กทยอยเข้ามาเรื่อยๆ
สำหรับวัคซีนไฟเซอร์เด็ก จะเป็น ขวดยาฝาสีส้ม บรรจุสารเข้มข้นสำหรับกระจายตัว 1.3 มิลลิลิตร การฉีดเจือจางด้วยสารละลายโซเดียมคลอไรด์ 0.9% เมื่อเจือจางแล้ว 1 ขวด ฉีดได้ 10 โดส ปริมาณฉีดในเด็ก 0.2 มิลลิลิตร จัดเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศา เมื่อผสมแล้วต้องฉีดให้หมดภายใน 2-6 ชม.
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่าการดำเนินการฉีดวัคซีน จะแบ่งเป็นฉีดที่โรงพยาบาล และที่โรงเรียน โดยการฉีดที่โรงพยาบาลจะฉีดให้เด็กที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือโรคอ้วน, โรคทางเดินหายใจเรือรัง ,โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง, ไตวายเรื้อรัง มะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ, เบาหวาน, กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า กำหนดการฉีดวัคซีนให้ฉีดขนาด 10 ไมโครกรัม ปริมาณ 0.2 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง ระยะห่าง 3 – 12 สัปดาห์โดยให้กุมารแพทย์ผู้เชียวชาญประเมินร่วมกับผู้ปกครอง นอกจากนี้จะเป็นกลุ่มเด็กนอกระบบโรงเรียนและเด็กที่เรียนโฮมสคูล
ส่วนการฉีดที่โรงเรียน จะฉีดให้เด็กในระบบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 และก่อนประถมศึกษา กำหนดระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1-2 ไว้ที่ 8 สัปดาห์
หากเด็กอายุ 5 – 11 ปี ฉีดไฟเซอร์เด็กเข็มที่ 1 ไปแล้ว จากนั้นอายุครบ 12 ปี แนะนำให้ฉีดเข็มที่ 2 ด้วยไฟเซอร์สูตรสำหรับผู้ใหญ่ฝาสีม่วง ขนาด 30 ไมโครกรัม อย่างไรก็ตามหากได้รับเข็มที่ 2 ขนาด 10 ไมโครกรัม ก็ให้ถือว่ารับวัคซีนครบถ้วน กรณีเด็กอายุตั้งแต่ 12 ขึ้นไป ให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์สำหรับผู้ใหญ่ฝาสีม่วง
ส่วนอาการข้างเคียงหลังฉีด ส่วนมากจะอาการไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 1-2 วัน โดยอาจพบอาการ เช้น ไข้ หนาวสั่น, ปวด บวม รอยแดง บริเวรที่ฉีด, ปวดหัว, ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ, อ่อนเพลีย จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ฉีดวัคซีน